ฟรีสไตล์เรื่องบ้าน-บ้าน : สายระโยงระยาง บนเสาไฟฟ้า

เหตุสะเทือนใจเกิดขึ้นที่ อ.วารินชำราบ ก็เลยชวนคุยหัวข้อนี้ค่ะ

ตัวอำเภอวารินชำราบ หากเดินทางจาก จ.ศรีสะเกษ จะถึงก่อนเข้าตัวอำเภอเมืองอุบลราชธานี 2 อำเภอนี้เขาอยู่ใกล้กัน ห่างกัน 4 กม. โดยประมาณ เรื่องของเรื่องเทศกาลวันพระใหญ่ ปีนี้วันที่ 19 กรกฎาคม 2559 เขากำหนดเป็นวันแห่เทียนเข้าพรรษา ปรากฏว่า วัดชื่อดังและเป็นเจ้าของตำแหน่งแชมป์ประกวดเทียนพรรษาปีที่แล้วก็อยู่ที่อำเภอวารินชำราบนี่เอง ได้เวลาก็อัญเชิญขบวนแห่มาตามถนนเพื่อไปยังจุดนัดพบบริเวณทุ่งศรีเมือง แต่เพิ่งเคลื่อนขบวนมาได้กลางทาง เกิดอุบัติเหตุเสาเทียนพรรษาหัก 2 ท่อน

สาเหตุเพราะต้นเทียนพรรษาที่แกะสลักอย่างประณีตถูกเกี่ยวด้วย “สายระโยงระยาง” ที่พาดสายบนเสาไฟฟ้าอีกทีหนึ่ง ถูกเกี่ยวแล้วต้นเทียนไม่ได้ล้ม ตัวรถยนต์ก็ยังเคลื่อนตัวไปข้างหน้าอย่างช้าๆ กว่าจะรู้ตัวก็คือเสาเทียนหักลงดังกล่าว เหตุการณ์นี้สะเทือนขวัญและกำลังใจประชาชนชาววารินชำราบ เพราะต่างก็มีความหวังว่าจะฝากชื่อเสียงต้นเทียนพรรษาแกะสลักในงานประกวดปีนี้

เรื่องแบบนี้พ้องกับอุบัติภัยหน้าบ้าน เพราะอย่าลืมว่าเสาไฟฟ้าไม่ได้ปักเสาพาดสายไกลปืนเที่ยงที่ไหนเลย หากแต่ปักเสาโด่เด่อยู่หน้าบ้านเราๆ ท่านๆ นี่เอง ล่าสุด ไปทำการบ้านสอบถามไปยังการไฟฟ้านครหลวง หรือ “กฟน.” กับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค หรือ “กฟภ.” สรุปใจความได้ว่า ภารกิจของการเป็นองค์กร “ไฟฟ้าฝ่ายจำหน่าย” ทำให้ต้องเป็นผู้ลงทุนปักเสาไฟฟ้า เพื่อจะได้ทำการพาดสายไฟฟ้าสำหรับลำเลียงกระแสไฟฟ้าป้อนให้กับผู้ใช้ไฟทั่วประเทศ

Advertisement

ประเด็นคือ ประเทศนี้ไม่ได้มีเพียงการไฟฟ้าที่เข้ามาใช้ประโยชน์จากเสาไฟฟ้า หากแต่ยังมีสายไฟประเภทอื่นเข้ามาร่วมแจมด้วย เรียกว่า “สายสื่อสาร” สำหรับลำเลียงคลื่นโทรศัพท์ โทรทัศน์ ฯลฯ ยังไม่พอมีบริษัทเอกชนเข้ามาแจมด้วย ทุกเครือข่ายที่เราใช้มือถืออยู่เขาก็มาพาดสายบนเสาไฟฟ้าด้วย

นอกจากนี้ ยังมี “สายเคเบิล” อีกประเภทที่สนุกยิ่งกว่า เรียกปากเปล่ากันว่า “สายตำรวจ” บ้าง “สายทหาร” บ้าง ชื่อยาวๆ ของเขาก็คือ “สายไฟเบอร์ออปติกเพื่อความมั่นคง” จริงๆ แล้วก็เป็นประเภทสายสื่อสารนั่นแหละ แต่หน่วยงานที่ใช้ประโยชน์อาจเป็นตำรวจบ้าง ทหารบ้าง เขาพาดสายเพื่อจะใช้สื่อสารกันภายในหน่วยแต่เวลาพาดสายแจ้งเจ้าของเสาไฟหรือเปล่า เป็นอีกเรื่องหนึ่ง (ฮา)

คำถามคือ จะแยกสายไฟแต่ละชนิดได้ยังไงกันล่ะ ทาง กฟน.เขาจัดทำเดโม

Advertisement

กราฟิกอธิบายว่า “เสาไฟฟ้าหนึ่งต้น… มีสายอะไรพาดผ่านบ้าง” ดูแล้วเข้าใจง่ายก็เลยนำมาบอกต่อ

เนื่องจากบ้านเรายังเป็นประเทศกำลังพัฒนา ดังนั้น งบประมาณมีจำกัด สายไฟที่ใช้จึงเลือกลงทุนแบบ “สายอากาศ” วิธีการก็ปักเสาคอนกรีตลงดินสัก 2-3 เมตร แล้วโผล่เหนือดิน 10-12 เมตร สำหรับให้สายไฟพาดผ่าน โดยที่ระยะถี่ห่างของการปักเสามีตั้งแต่ 20-40-80 เมตร

เสาไฟฟ้ายิ่งสูงเป็นเพราะถูกคำนวณให้ทำงานหนักหรือให้มารองรับสายไฟพาดผ่านเยอะๆ เช่น ต่างจังหวัดชุมชนไม่หนาแน่นอาจเป็นเสาไฟความสูง 8-9 เมตร รองรับสายไฟแรงดันต่ำหรือสายแรงต่ำไม่เกิน 400 โวลต์ ภาษาช่างไฟฟ้าเขาเรียก “ระบบที่เดียว”

กับอีกแบบหนึ่งที่เรียกว่า “ระบบที่รวม” ความสูงเสาไฟ 12-14.30 เมตร รองรับสายไฟทั้งแรงต่ำและแรงสูง ในเขตของ กฟน. เป็นขนาด 12 กับ 24 กิโลโวลต์หรือเควี ขณะที่สายไฟแรงสูงของ กฟภ. เดิมมี 3 ขนาดคือ 11, 22 และ 33 เควี ปัจจุบันเห็นว่ายกเลิก 11 เควี เหลือในเขตภาคใต้ 33 เควี กับภาคอื่นๆ ขนาด 22 เควี

อีกประเภทคือ “สายไฟฟ้าลงดิน” เป็นรูปแบบที่ใครๆ ก็ฝันถึงเพราะบ้านเมืองจะมีทัศนียภาพที่สวยงาม แต่ระบบสายอากาศเวลาคำนวณของบประมาณมีค่าถัวเฉลี่ยกิโลเมตรละ 2.5-3 ล้านบาท เปรียบเทียบกับระบบสายไฟฟ้าลงดิน ตกกิโลละ 50 ล้านบาท เอิ่ม… ห่างกัน 15-20 เท่า

ในขณะที่เสาไฟฟ้า 1 ต้น ตีความสูงสัก 12 เมตรก็แล้วกัน กฟน.ทั่นอธิบายว่า สายไฟฟ้าจะพาดที่ความสูง 2 ระดับ กล่าวคือ สูงที่สุดประมาณ 10 เมตรขึ้นไปเป็นจุดของสายไฟแรงสูง (12-24 เควี)

ถัดลงมาความสูงปานกลางจากพื้นดิน 7 เมตร เป็นจุดของสายไฟแรงต่ำ (230-400 โวลต์) การพาดสายจะสวยงามเป็นระเบียบเรียบร้อยน่ารัก

ส่วนที่เหลือจึงเป็นสารพัดสาย ทั้งสายสื่อสาร สายตำรวจ สายทหาร สายเคเบิลโดยอัตโนมัติ ความสูงจากพื้นดินคะเนไว้ที่ 5 เมตร และยิ่งคอนเฟิร์มมากขึ้นไปอีกถ้าหากสายที่พาดเสาและอยู่ต่ำสุดจะม้วนพันกันไม่เป็นระเบียบ บางทีโชว์เสียวมีสายไฟเปลือยห้อยเรี่ยราดบนพื้นก็มี

สำหรับอันตรายของเสาไฟคอนกรีต ไม่ค่อยมีปัญหาถูกลักขโมยเหมือนกับเสาไฟเหล็ก แต่มีปัญหาก็ตอนที่ประชาชนเข้ามา “ครอบสิทธิ์” หรือภาษาชาวบ้านก็คงเรียกว่าละเมิดนั่นเอง ตัวอย่างเช่น เสาไฟอยู่หน้าบ้าน ตัวเองขายของ พอนานๆ เข้าแดดแรง ฝนตกก็เลยทำหลังคาครอบจากบ้านตัวเองมาชิดรั้วหรือชิดเสาไฟ เวลาเกิดไฟฟ้าลัดวงจรมีไฟไหม้ขึ้นมา พาลมาฟ้องการไฟฟ้าฯว่าเป็นต้นเหตุไฟไหม้ก็มี

ทั้งนี้ทั้งนั้น การผลิตเสาไฟคอนกรีตอยู่ภายใต้การควบคุมและคำนวณทางวิศวกรรมทุกอย่าง วัตถุประสงค์หลักเพื่อควบคุมด้านความปลอดภัย ถ้าลำพังมีแต่สายไฟ เวลาเกิดอุบัติเหตุถูกรถเกี่ยวสายไฟก็จะหลุดออกมาโดยไม่ทำความเสียหายเสาไฟ แต่ปัจจุบันมีเหตุการณ์เสาไฟล้มด้วย เป็นเพราะรถบรรทุกไปเกี่ยวสายสื่อสารที่พันม้วนกันเป็นก้อนหนาๆ ทำให้มีความเหนียวจนฉุดเสาไฟให้ล้มด้วยนั่นเอง

คำแนะนำสำหรับประชาชน ถ้าเห็นมีสายระโยงระยางขึ้นมาเมื่อไหร่ให้ยกหูโทรศัพท์แจ้งได้ที่การไฟฟ้าในเขตรับผิดชอบได้ทันที ไม่ต้องโทรแจ้งตำรวจให้เสียเวลา

ก่อนจบนะคะ รู้อย่างนี้แล้วอย่าเพิกเฉย ขอรณรงค์ให้สวมบทบาทเป็น “สายตรวจเสาไฟฟ้า” เพื่อความผาสุกของทุกท่านค่ะ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image