การจ้างงานและการกระจายรายได้ ใครว่าไม่น่าห่วง โดย ดิเรก ปัทมสิริวัฒน์, เมรดี อินอ่อน

โรคระบาดจากไวรัสโควิด-19 ส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจหยุดหรือชะลอตัวอย่างมาก รวมทั้งการเลิกจ้างแรงงาน ถึงแม้ว่าการระบาดลดลงทุกวัน คนไทยเริ่มกลับเข้าสู่วิถีชีวิตปกติใหม่ แต่การจ้างงานจะไม่เหมือนเดิม หลายสำนักคาดการณ์ว่าการจ้างงานลดลง 2-3 ล้านคน เทียบกับเมื่อก่อนเกิดโรคระบาด เป็นหัวข้อวิจัยที่สำคัญและมีผลสะเทือนอย่างมากทั้งด้านเศรษฐกิจสังคม ในโอกาสนี้ขอนำข้อมูลสถิติประกอบกับการวิเคราะห์โดยอิงทฤษฎีหรือผลงานวิจัยในต่างประเทศประกอบ เล่าสู่กันฟัง

สำนักงานประกันสังคม ได้บันทึกข้อมูลขนาดใหญ่ คือ จำนวนแรงงานและจำนวนสถานประกอบการซึ่งมีหน้าที่สมทบเข้ากองทุนตามกฎหมาย เป็นรายเดือน สามารถระบุว่าอยู่ในจังหวัดใด คณะวิจัยของเรานำมาวิเคราะห์การจ้างงานกับเศรษฐกิจจังหวัด เพื่อวิเคราะห์หลายประเด็นที่น่าสนใจ เช่น ก) อัตราการขยายตัวของการจ้างงานต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมจังหวัด หรือเรียกว่าค่าความยืดหยุ่น ข) การกระจุกตัวของการจ้างงาน ค) วิเคราะห์การกระจายรายได้ เป็นข้อมูลที่แม่นตรง ไวต่อสถานการณ์ ง) ศึกษาตัวทวีคูณ (local multiplier) หมายถึง รายได้ที่ตกกับผู้ใช้แรงงานเมื่อนำไปใช้จ่ายบริโภคหรือส่งกลับจังหวัดภูมิลำเนา ช่วยครอบครัวที่อยู่ข้างหลัง เกิดผลดีต่อเศรษฐกิจจังหวัดอย่างไร

ข้อมูลแหล่งที่สองที่นำมาใช้จากบัญชีประชาชาติ โดยสำนักบัญชีประชาชาติ สภาพัฒน์ คำนวณค่าจ้างเงินเดือนเปรียบเทียบกับรายได้ประชาชาติ (national income) เป็นตัวเลขร้อยละ ดังรูปภาพที่ 1 ซึ่งสะท้อนความจริงว่า การกระจายรายได้ที่ตกกับแรงงาน (มนุษย์เงินเดือน) มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อยมา จาก พ.ศ. 2533 ถึงปี 2561 เป็นสัญญาณที่ดี ซึ่งมาจากหลายปัจจัย ก) มีการทำงานที่เป็นทางการหรือจดทะเบียนกับกองทุนประกันสังคมเพิ่มขึ้น ข) กฎหมายบังคับให้ดำเนินการตามกฎหมายทั้งฝ่ายนายจ้างและลูกจ้าง ค) การเป็นสมาชิกกองทุนช่วยให้แรงงานได้สิทธิประโยชน์ แม้แต่หน่วยงานขนาดเล็กมีคนทำงานเพียง 2-3 คน ก็สมัครเข้ากองทุน ตามสถิติปัจจุบัน ถ้าแบ่งรายได้ประชาชาติเป็น 100 ส่วน ส่วนที่ตกกับแรงงาน 40 ส่วน ส่วนที่เหลือเป็นการทำงานไม่เป็นทางการเช่นเกษตรกร อาชีพอิสระ และเป็นกำไรให้เจ้าของทุน

Advertisement

คำถามวิจัยที่น่าค้นคว้า หนึ่ง การจ้างงานหลังโรคระบาดลดลงไปมากน้อยเพียงใดเมื่อเทียบกับก่อนเกิดเหตุการณ์ ไม่ว่าคำตอบจะเป็น 1-3 ล้านคน ล้วนส่งสัญญาณทางลดต่อการกระจายรายได้ของประเทศอย่างแน่นอน สอง รายได้ของมนุษย์เงินเดือนที่ลดลง ซ้ำเติมภาวะเศรษฐกิจของจังหวัดและประเทศ แต่ว่าผลกระทบจะรุนแรงแตกต่างกัน เนื่องจากการจ้างงานมีลักษณะกระจุกตัวสูง เมื่อแรงงานหายไป-กำลังซื้อในจังหวัดย่อมจะหดหายไป ในกลุ่มมนุษย์เงินเดือนมีทั้งคนมีรายได้สูง ปานกลาง และต่ำ เกินกว่า 70% รายได้น้อยหรือปานกลาง ซึ่งรายได้เกือบทั้งหมดใช้จ่ายบริโภค กำลังซื้อในจังหวัดที่เคยเป็นฐานการจ้างงานจะหดหายไป มาตรการเยียวยาของรัฐบาลมีส่วนดีแต่เป็นเพียงชั่วคราว สาม แรงงานย้ายถิ่นซึ่งมีจำนวนหลายล้านคน เคยส่งเงินกลับไปให้ครอบครัวในจังหวัดภูมิลำเนา ผลสำรวจครัวเรือนของสำนักงานสถิติแห่งชาติ สรุปว่า 35% ของครัวเรือนทั่วประเทศมีสมาชิกที่ออกมาทำงานนอกพื้นที่ (โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาคเหนือและอีสาน สถิติเกินกว่า 40%) ค่าเฉลี่ยเงินโอนที่ครัวเรือนได้รับ 5 หมื่นบาทต่อปี (การสำรวจในปี 2560 อาจจะต้องปรับให้เป็นค่าปัจจุบัน) หรือเดือนละ 4 พันบาท เป็นรายได้ที่มีความสำคัญทีเดียวสำหรับครัวเรือนรายได้น้อยถึงปานกลาง

มีผลงานวิจัยหลายชิ้นจากต่างประเทศที่ค้นพบว่า หนึ่ง การพัฒนาเศรษฐกิจอาจจะไม่เป็นผลดีต่อลูกจ้างพนักงาน คือ การผลิตเติบโต 100% แต่ว่าการจ้างงานเพิ่มขึ้นเพียง 60-80% ถ้าแนวโน้มเป็นเช่นนี้ ส่วนแบ่งของกำลังแรงงานในรายได้ประชาชาติจะลดลงในระยะยาว สอง งานวิจัยระบุว่า ในหลายประเทศในทวีปยุโรป ส่วนแบ่งของแรงงานเคยสูงถึง 70% (1970) ลดเหลือ 65% (2005) สาม นักวิจัยค้นคว้าสาเหตุสรุปว่ามีหลายปัจจัย ก) หน่วยธุรกิจจำนวนหนึ่งย้ายทำเลผลิตไปที่ค่าจ้างต่ำ โรงงานในประเทศสหรัฐหรือยุโรปย้ายไปผลิตที่อื่นๆ คนงานอเมริกันหรือยุโรปตกงานอย่างมาก พลอยโกรธคนจีนทำให้พวกเขาตกงาน หน่วยผลิตใช้เทคโนโลยีใหม่ที่ประหยัดแรงงาน การเปิดเสรีทางการค้าทำให้หน่วยผลิตที่ด้อยประสิทธิ์เจ๊งต้องเลิกกิจการในท้ายที่สุด

หันมาดูสถิติในรูปกราฟข้างต้น สะท้อนว่าที่ผ่านมา ส่วนแบ่งที่ตกกับแรงงานของไทยเราเพิ่มขึ้น แต่ก็เป็นไปได้ว่าอาจจะถึงจุดเปลี่ยน (turning point) โรคไวรัสโควิดระบาดครั้งนี้ ถ้าแรงงานหายไปไม่ว่าจะเป็น 1-3 คน เราอาจจะเห็นจุดเปลี่ยนเร็วกว่าที่คาดไว้ก่อนหน้า จึงต้องร้องอุทานว่า ใครว่าน่าเป็นห่วงŽ

ที่ผ่านมารัฐบาลใช้มาตรการแจกเงินช่วยเหลือผู้คน โดยกระทรวงการคลังและหน่วยงานของรัฐ โดยออกพระราชกฤษฎีกาใช้เงินนับล้านล้านบาทเพื่อการนี้ เป็นสิ่งที่เข้าใจได้ ในช่วงต่อไปรัฐบาลควรจะหาทางเลือกใหม่ นโยบายจ้างงานเป็นข้อเสนอที่น่าสนใจ โดยมีหลายทางเลือกหลายวิธี การอุดหนุนผ่านองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจำนวนกว่า 7,851 แห่งทั่วประเทศ ทั้งในเขตเมือง/ชนบท โดยอาจจะลงทุนร่วมกัน รัฐออก 70% ท้องถิ่นออก 30% เพราะว่าฐานภาษีและกำลังเงินของรัฐบาลใหญ่กว่าท้องถิ่น อปท. สามารถเป็นมือเป็นไม้ในการรับสมัครคนมาช่วยทำงานสาธารณะหรืองานอื่นๆ ตามที่จะคิดกันได้ น่าจะเป็นการดีกว่าแจกเงิน คนที่จะสมัครเข้ามาทำงานเพื่อแลกเงินน่าจะคัดกรองคนที่มีฐานะดี สุดท้ายควรจะคิดถึงระบบกำกับติดตาม เพื่อให้การใช้จ่ายเงินบรรลุเป้าหมายได้ผลงาน ได้โอนเงินให้ประชาชนที่จำเป็นและสมควรได้รับความช่วยเหลือจากรัฐ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image