การบ้าน ‘บิ๊กตู่’ ในสถานการณ์วิกฤต ท่ามกลางศึก พปชร.

การบ้าน ‘บิ๊กตู่’ ในสถานการณ์วิกฤต ท่ามกลางศึก พปชร.

หลังเสร็จศึกผ่าน พ.ร.ก. 4 ฉบับในวาระแรกของการประชุมในสมัยการประชุมรัฐสภาครั้งนี้ พรรคพลังประชารัฐก็เกิดการเปลี่ยนแปลง

เมื่อกรรมการบริหารพรรคพลังประชารัฐจำนวน 18 คน เข้าชื่อแสดงความจำนงลาออกจากตำแหน่ง

การลาออกจากตำแหน่งกรรมการบริหารจำนวนดังกล่าวนำไปสู่การ “ล้างไพ่”

เมื่อข้อบังคับพรรคพลังประชารัฐ ข้อที่ 15 ระบุว่า หากมีกรรมการบริหารพรรคลาออกกึ่งหนึ่งจะต้องมีการเลือกกรรมการบริหารกันใหม่

Advertisement

ขณะที่กรรมการบริหารพรรคพลังประชารัฐมี 34 คน ลาออก 18 คน จึงต้องเลือกกันใหม่

เป้าหมายการเลือกกรรมการบริหารพรรคใหม่คือการเปลี่ยนตัวหัวหน้าพรรค และเลขาธิการพรรค

เปลี่ยนตัวหัวหน้าพรรคจาก นายอุตตม สาวนายน ไปเป็น พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ

เปลี่ยนตัวเลขาธิการพรรคจาก นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ ไปเป็น นายอนุชา นาคาศัย

และหลังจากเปลี่ยนแปลงกรรมการบริหารแล้ว ก้าวต่อไปก็คือการเปลี่ยนตัวรัฐมนตรี

นั่นคือการผลักดันให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีปรับ ครม.

การเคลื่อนไหวภายในพรรคพลังประชารัฐครั้งนี้ กลุ่มสามมิตรออกตัวเดินหน้าเต็มที่

นายสมศักดิ์ เทพสุทิน แกนนำกลุ่มสามมิตร ให้สัมภาษณ์ชัดแจ้งถึงวัตถุประสงค์ของการเปลี่ยนแปลงภายใน

หนึ่ง คือ เปลี่ยนตัวหัวหน้าและเลขาธิการ

หนึ่ง คือ การเปลี่ยนตัวรัฐมนตรี

ขณะที่ นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ แกนนำอีกคนหนึ่งของกลุ่มสามมิตร ยืนยันว่า ส.ส.ของพรรคสนับสนุน พล.อ.ประวิตร เป็นหัวหน้า

แต่ทั้งหมดนี้ยังต้องผ่านขั้นตอนตามกฎหมาย นั่นคือ ต้องเลือกกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ภายใน 45 วัน

การเลือกกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ต้องรอวันดีเดย์การประชุม เพราะขณะนี้ประเทศไทยอยู่ในสถานการณ์ฉุกเฉิน การประชุมต้องขออนุญาต

และคนที่จะอนุญาตก็คือ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

ดังนั้น การเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น พล.อ.ประยุทธ์ ย่อมต้องเข้าไปมีส่วนรับทราบ

สําหรับพรรคพลังประชารัฐนั้น ถือเป็นพรรคแกนนำฝ่ายรัฐบาล ซึ่งขณะนี้มีเสียงสนับสนุนท่วมท้น

จากจำนวน ส.ส.ที่เหลืออยู่ 487 คน เป็นเสียงที่สนับสนุนฝ่ายรัฐบาล 274 เสียง เป็นเสียงที่อยู่ฝ่ายค้าน 213 เสียง

รวมแล้วรัฐบาลมีเสียงมากกว่าฝ่ายค้าน 61 เสียง

แยกแยะเสียงฝ่ายรัฐบาล พรรคพลังประชารัฐมีเสียงมากที่สุด คือ 118 เสียง พรรคภูมิใจไทย 61 เสียง พรรคประชาธิปัตย์ 52 เสียง พรรคชาติไทยพัฒนา 11 เสียง พรรครวมพลังประชาชาติไทย 5 เสียง พรรคพลังท้องถิ่นไท 5 เสียง พรรคชาติพัฒนา 3 เสียง พรรครักษ์ผืนป่าประเทศไทย 2 เสียง และพรรคเล็กพรรคละเสียง รวมจำนวน 11
เสียง

ผนวกกับ ส.ส.ที่ตัวอยู่พรรคฝ่ายค้านแต่โหวตให้รัฐบาลเสมออีก 6 เสียง

ด้วยเสียงดังกล่าว เมื่อเกิดแรงกระเพื่อมในพรรคพลังประชารัฐ ย่อมกระทบถึงรัฐบาล

เสียงเรียกร้องของ นายสมศักดิ์ ที่บอกด้วยความมั่นใจว่า ต้องมีการปรับ ครม. จึงเป็นเรื่องที่ไม่อาจมองข้าม

ยิ่งการเคลื่อนไหวของพรรคพลังประชารัฐ มี พล.อ.ประวิตร เป็นตัวละครสำคัญ

การปรับ ครม. ย่อมเป็นเรื่องที่เป็นไปได้อย่างยิ่ง

แม้ว่าเมื่อแลดูปัจจัยต่างๆ ที่จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงแล้วเห็นว่าไม่น่ายาก เพราะ พล.อ.ประวิตร สนับสนุนการเปลี่ยนแปลงภายในพรรค ความสัมพันธ์ระหว่าง พล.อ.ประวิตร กับ พล.อ.ประยุทธ์ ก็แนบแน่นไม่ใช่อื่นไกล ความเคลื่อนไหวที่เกิดขึ้นก็เป็นความเคลื่อนไหวของกลุ่มสามมิตรที่เป็น ส.ส.

การเปลี่ยนแปลงที่ตั้งเป้าหมายไว้ก็น่าจะสมปรารถนา

แต่หลังจากเปลี่ยนแปลงแล้วทุกอย่างจะเป็น “คุณ” หรือเป็น “โทษ” นั้น ต้องพิจารณาอย่างรัดกุม

การเปลี่ยนแปลงภายในพรรคพลังประชารัฐนั้น อาจจะมองไม่เห็น “คุณ” และ “โทษ” เพราะถือเป็นการเปลี่ยนแปลงภายในพรรคเหมือนดั่งที่ พล.อ.ประยุทธ์ บอกเอาไว้

แต่หากการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวขยับมาถึงการปรับ ครม. ซึ่งเป็นการบริหารราชการแผ่นดินในช่วงนี้

นี่คือโจทย์ยากที่ พล.อ.ประยุทธ์ต้องตัดสินใจอย่างรัดกุม

การบริหารราชการแผ่นดินในช่วงสถานการณ์โควิด-19 จำเป็นต้องมีบุคลากรที่สามารถนำประเทศไปสู่การฟื้นฟูได้

ปัญหาทางด้านสาธารณสุขยังคงอยู่ต่อไปอย่างน้อยต้นปี 2564

ปัญหาทางด้านเศรษฐกิจตกต่ำมีมากกว่านั้น และยาวนานกว่านั้น

ตัวบุคคลที่จะดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีจึงมีความสำคัญ

หลายคนที่มีคุณสมบัติอาจจะไม่สะดวกกับการบริหารราชการแผ่นดินในช่วงวิกฤตนี้

อีกหลายคนที่ไม่มีคุณสมบัติอาจจะอาสาเข้ามาบริหารราชการแผ่นดินในช่วงนี้อย่างไม่กลัวเกรง

แต่การเลือกบุคคลเพื่อเข้ามาบริหารราชการแผ่นดินในช่วงนี้ คือ พล.อ.ประยุทธ์

พล.อ.ประยุทธ์ ในฐานะหัวหน้ารัฐบาลย่อมต้องการให้การบริหารราชการแผ่นดินเป็น “คุณ” มากกว่า “โทษ”

พล.อ.ประยุทธ์ จึงต้องพิจารณาความต้องการของพรรคแกนนำรัฐบาล

จะปรับ ครม. หรือไม่ปรับ ครม.

ไม่ปรับ ครม. รัฐบาลจะอยู่อย่างไร หากปรับ ครม. รัฐบาลจะอยู่อย่างไร

ขณะที่บุคลิกของ พล.อ.ประยุทธ์ นั้น ไม่นิยมการปรับ ครม. แต่เมื่อการเมืองภายในพรรคพลังประชารัฐมีความเคลื่อนไหวเช่นนี้

ทุกอย่างจึงต้องรอคอยการตัดสินใจ

จังหวะเดียวกันก็มีข้อเสนอใหม่ทะลุขึ้นมา คือ ให้ “ยุบสภา” โดย พล.อ.ประยุทธ์ ยังคงเป็นนายกฯ

ณ เวลานี้ เท่ากับว่า การบ้านที่ยากกว่าการเปลี่ยนแปลงภายในพรรคพลังประชารัฐ

นั่นคือ การตัดสินใจของ พล.อ.ประยุทธ์ ว่าจะเลือกทางไหน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image