หนุมาน เทพแห่งสรรพวิทยา (40)

นางสีดา ภาพจาก http://www.oocities.org/thai_lit/sida.htm

กำเนิดของนางสีดามีกล่าวกันต่างๆ แสดงว่าเป็นเรื่องที่นิยมเล่ากันมาก โดยเฉพาะผู้หญิงอินเดียนับถือนางสีดา การเล่าเรื่องเมื่อหลายปากเข้าก็ย่อมผิดเพี้ยนหรือเพิ่มเติมเสริมแต่งขึ้นบ้าง

อย่างเรื่องหนึ่งเล่าว่าท้าวราพณ์ (ชื่อหนึ่งของทศกัณฐ์มีประวัติจะได้เล่าต่อไป) ได้พรจากเทพให้เป็นผู้ไม่ตายด้วยฝีมือของเทวดา อสูรและยักษ์ ก็มีความกำเริบเที่ยวระรานใครต่อใครไปเรื่อยๆ คราวหนึ่งไปถึงป่าทัณฑทะอยู่ระหว่างแม่น้ำโคทาวารีกับแม่น้ำนรรมทา (Narmada) เห็นพวกฤษีชุมนุมกันอยู่ก็คิดว่า ปราบเทวดามามากแล้ว ถ้าไม่ปราบฤษีก็ถือว่ายังไม่ชนะทั้งสามโลก แต่จะเอาชีวิตก็เป็นการไม่สมควร ทำพอให้รู้ว่าได้ปราบสำเร็จก็แล้วกัน เมื่อคิดเช่นนั้นแล้วจึงเรียกฤษีมาแจ้งให้ทราบว่าจะขอเอาปลายลูกศรปักชักเอาโลหิตเพียงคนละหยดสองหยด ฤษีก็ไม่ได้ซักถามว่าจะเอาไปทำอะไร คิดไปในทางดีว่าคงไม่เอาไปทำในสิ่งที่ชั่วร้าย ก็ยอมให้ชักโลหิตแต่โดยดี

ก็ในครั้งนั้นฤษีตนหนึ่งมีบุตรถึง 100 คน ภรรยามีความเบื่อหน่ายเพราะไม่มีใครช่วยหุงหาอาหาร ต้องทำอยู่คนเดียวเหน็ดเหนื่อยเต็มที อยากมีลูกสาวไว้ช่วยงานบ้างและอยากให้พระลักษมีแบ่งภาคมาเกิด ฤษีเห็นชอบด้วยจึงเอาหญ้าคามามัดเป็นกำจุ่มน้ำนมอ่านมนตร์แล้วพรมน้ำนมลงในผอบใบหนึ่ง ทำอยู่อย่างนี้ทุกวันจนพระลักษมีเห็นใจแบ่งภาคลงมาสถิตอยู่ในผอบใบนั้น

ในวันที่ท้าวราพณ์มาถึงสำนักฤษีดังกล่าวข้างต้น เผอิญฤษีเจ้าของผอบไม่อยู่ ท้าวราพณ์มาเห็นผอบเปล่าวางอยู่ก็ถือโอกาสที่เจ้าของไม่อยู่ยึดเอาไปเป็นที่เก็บโลหิตของฤษีที่ชักเอาโลหิตมาได้ ต่อจากนั้นท้าวราพณ์ก็กลับเมือง มอบผอบโลหิตให้นางมณโฑแล้วสั่งว่า

Advertisement

“น้องหญิงในผอบนี้มียาพิษร้ายแรงมาก จงรักษาไว้ให้ดี อย่าให้ใครเอาไปกินจะเกิดอันตรายถึงชีวิต”

ท้าวราพณ์นั้นมีนิสัยมักมากในเรื่องกามคุณ พอใจในการประพฤติชั่ว ฉะนั้นจึงชอบเที่ยวปลุกปล้ำสาวๆ ชาวเขาชาวฟ้าให้ได้รับความเดือดร้อน จนเป็นที่อิดหนาระอาใจของนางมณโฑถึงกับคิดทำลายตนเอง เผอิญระลึกถึงผอบ “ยาพิษ” ที่้ท้าวราพณ์ให้เก็บรักษาไว้ นางจึงเปิดผอบดื่มโลหิตในผอบด้วยคิดว่าเป็นยาพิษจริงๆ แต่แทนที่นางจะตาย นางกลับรู้สึกว่าจะตั้งครรภ์และเห็นว่าถ้าปล่อยทิ้งไว้นานไป ท้าวราพณ์รู้ว่ากินโลหิตในผอบก็จะเกิดเรื่องเดือดร้อน จึงแอบไปที่ทุ่งกุรุรีดทารกในครรภ์ออกฝังดินไว้ ต่อมาท้าวชนกไปทำพิธีพลีบูชาที่ทุ่งกุรุได้ปรับพื้นที่ด้วยไถทองไปพบะกระเปาะทารกที่นางมณโฑเอาไปฝังไว้ ท้าวชนกก็นำไปเลี้ยงและตั้งชื่อว่า *สีดา* เพราะได้จากรอยไถ

ความต่างกันของเรื่องนางสีดายังมีอีก จะได้นำมาเล่าต่อไป

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image