แท็งก์ความคิด : “แสง”จาก”ยุคมืด”

หนังสือของสำนักพิมพ์ศิลปวัฒนธรรม เครือมติชน ชื่อ “ยุคมืด” น่าอ่านมาก

ชื่อเต็มๆ คือ ยุคมืดของประวัติศาสตร์ไทย หลังบายน พุทธเถรวาท การเข้ามาของคนไทย

ยาวชะมัด !

ขอเรียกสั้นๆ ว่า “ยุคมืด” ก็แล้วกัน

Advertisement

หนังสือเล่มนี้เป็นพ็อคเก็ตบุ๊ก รวบรวมบทความของนักประวัติศาสตร์ที่ศึกษาหรือเขียนถึงยุคมืดประวัติศาสตร์อุษาคเนย์

มีทั้งไมเคิล ไรท สุจิตต์ วงษ์เทศ พิพัฒน์ กระแจะจันทร์ รุ่งโรจน์ ภิรมย์อนุกูล

รศ.ดร.ศานติ ภักดีคำ ธิบดี บัวคำศรี ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ

Advertisement

รวมถึงผลงานของนักวิชาการที่มากันเป็นกลุ่ม

อย่าง พจนก กาญจนจันทร สุภมมศ ดวงสกุล รำพึง สิมกิ่ง และบุษบา อ่วมเกษม

หนังสือเล่มนี้อาจารย์พิพัฒน์ เป็นบรรณาธิการเล่าว่า อ่านบทความไมเคิล ไรท มานานแล้ว

อ่านจบปุ๊บเหมือนถูกระเบิดสมอง

ใครได้อ่านบทความเกี่ยวกับ “ยุคมืดอุษาคเนย์” ของไมเคิล ไรท ก็ต้องเป็นอย่างที่อาจารย์บอกนั่นแหละ

แต่เพิ่งมีเวลาจัดเสวนาเรื่องยุคมืดของประวัติศาสตร์ไทยเมื่อปี 2557 ในวงเสวนาได้จัดทำเอกสารประกอบ

และหลังจากนั้นก็นำเอกสารบทความดังกล่าวมาเสนอให้สำนักพิมพ์ศิลปวัฒนธรรม เครือมติชนจัดพิมพ์ กระทั่งกลายเป็นรูปเล่มออกมา

บทความทั้งหมดล้วนน่าสนใจ โดยเฉพาะการกล่าวถึงช่วง ค.ศ.1200-1350 หรือ พ.ศ.1743-1893

รวมเวลา 150 ปี

ณ ช่วงเวลานั้นนักประวัติศาสตร์เวียนหัว เพราะหลักฐานเอกสารทางประวัติศาสตร์หายาก

ไมเคิล ไรท ใช้คำว่า “มืดเกือบสนิท”

ห้วงเวลานั้นวัฒนธรรมโบราณ อย่าง ทวารวดี และศรีวิชัย หดหาย

เวลานั้น อังกอร์ (เขมร) และพุกาม เสื่อมอำนาจ

กระทั่ง ค.ศ.1350 นั่นแหละ ประวัติศาสตร์เริ่มต้นใหม่จึงอุบัติ

อยุธยา สุโขทัย ล้านนา ฯลฯ เกิดขึ้น มีหลักฐานให้พิสูจน์

แล้ว 150 ปีก่อนหน้านั้นล่ะ…เกิดอะไรขึ้น

เป็นอย่างไรบ้างครับ แค่เริ่มเกริ่นก็รู้สึกน่าสนใจแล้ว

ยิ่งอ่านคำเฉลยของไมเคิล ไรท ยิ่งมันกว่านี้อีก เพราะไมเคิล ไรท เห็นว่าช่วงนั้นน่าจะเกิดสงคราม

สงครามระหว่างพราหมณ์-ฮินดูกับพุทธเถรวาท สงครามระหว่างชนชั้นปกครองกับผู้อยู่ใต้ปกครอง

กระทั่งพราหมณ์-ฮินดูลดบทบาท แล้วพุทธเถรวาทก็เข้ามาครอบคลุมทั่วดินแดน

นอกจากนี้ยังมีมุมมองของ สุจิตต์ วงษ์เทศ ที่เห็นว่า ช่วงก่อน พ.ศ.1893 หรือ ค.ศ.1350 นั้น

อุษาคเนย์เกิดกาฬโรคขึ้น

กาฬโรคมาจากหมัดหนูที่ติดมากับสำเภา…จากเมืองจีน

กาฬโรคทำให้คนชั้นสูงในเมืองตายมาก แต่สามัญชนชาวนาชาวไร่อยู่นอกเมืองไม่ตาย

จากนั้นสามัญชนก็ขึ้นเป็นใหญ่สืบแทนคนชั้นสูง โดยอ้างอิงเถรวาทเกี่ยวกับผู้มีบุญ

กระทั่ง พ.ศ.1900 กรุงศรีอยุธยาที่สืบทอดจิตวิญญาณรัฐรุ่นเก่าก็เปลี่ยนเป็นรัฐรุ่นใหม่

เท่ากับฝังโลกเก่าไว้กับอดีต แล้วฟื้นโลกใหม่เพื่อปัจจุบันและอนาคต

ร่วมกันสถาปนาราชอาณาจักรสยามแห่งแรกอย่างสมบูรณ์

ข้อมูลที่ปรากฏ อ่านแล้ว มันป่ะ !

ยังมีข้อมูลสนุกๆ ในหนังสือเล่มนี้ จากบทความของ พิพัฒน์ กระแจะจันทร์

พิพัฒน์ได้ศึกษาถึงยุคมืดในอุษาคเนย์ และมีข้อสันนิษฐาน

ข้อสันนิษฐานเกี่ยวกับอำนาจเขมรที่เสื่อมทรุดนั้นมีหลายประการ

อาทิ มีเหตุจากทัพ “เสียน” หรือสยามที่ควบคุมเส้นทางการค้า

ทำให้เขมรถูกตัดขาดจากเส้นทางการค้าด้านตะวันตกและเหนือ

ส่งผลให้อิทธิพลของเขมรถดถอย

ข้อสันนิษฐานว่าพุกามเสื่อมลง เพราะการค้ากับอินเดียต้องหยุดลง เนื่องจากอินเดียต้องต่อต้านการรุกรานจากกองทัพมุสลิม

ขณะที่การค้ากับจีนชะงักงัน เพราะราชวงศ์ซ่งหรือซ้อง กำลังสู้กับกองทัพมองโกล

ทั้งหมดนี้ทำให้รัฐใหญ่อย่างเขมรและพุกามเเสื่อม

รัฐใหญ่เสื่อมทำให้รัฐอื่นๆ สามารถตั้งตัวเป็นอิสระและสถาปนาตนเองขึ้นมาได้

ว้าว! สนุก

ความสนุกปนมากับความรู้ อย่างน้อยหนังสือเล่มนี้ก็ทำให้รู้ว่า “ยุคมืด” ที่ว่านั้นน่าจะมาจากเหตุอะไร

เหตุหนึ่งก็อย่างที่ไมเคิล ไรท ว่าคือหลักฐานหายาก

หายากเพราะมีสงคราม หายากเพราะเกิดโรคระบาด หายากเพราะ….

ขณะเดียวกัน “ยุคมืด” ก็ยังเกิดจากกลุ่มนักวิชาการบางกลุ่มในอดีตด้วย

อันนี้หนังสือเขาบอกนะ

เขาบอกว่านักวิชาการบางกลุ่มไม่สนใจศึกษาประวัติศาสตร์ก่อนอยุธยา

บางคนเชื่อและเขียนในสิ่งที่ไม่เป็นจริง เช่น คนไทยมาจากเทือกเขาอัลไต

นักวิชาการบางกลุ่มยังเหยียดหลักฐานและร่องรอยพื้นเมือง

ไม่ให้ความสำคัญกับ ตำนาน นิทาน วรรณกรรม นาฏศิลป์ ประเพณี วัฒนธรรม เป็นต้น

ทำให้เสียโอกาสที่จะได้รับข้อมูลบางประการ

เสียโอกาสที่จะพบข้อมูลที่ทำให้เห็น “แสงไฟ” จาก “ยุคมืด”

อ่านหนังสือ “ยุคมืด” รวดเดียวจบ แล้วสนุกสนาน

หากจะได้ความรู้ก็ต้องอ่านอีกรอบ เพื่อทำความเข้าใจ

ทำความเข้าใจความเป็นไปของ “ยุคมืด” ในอุษาคเนย์

อ่านเพื่อหาสาเหตุว่าทำไมจึง “มืด”

อ่านเพื่อหาหนทางของความสว่าง

อ่าน “ยุคมืด” เล่มนี้แล้วเห็น “ทางสว่าง” ครับ

ส่วนจะสว่างได้เช่นไร คงต้องลองหยิบหามาอ่านกันดู

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image