ความเหลื่อมล้ำด้านการศึกษา : โดย ดิเรก ปัทมสิริวัฒน์, ชัยยุทธ ปัญญสวัสดิ์สุทธิ์, พุดตาน พันธุเณร

ความเหลื่อมล้ำด้านการศึกษา : โดย ดิเรก ปัทมสิริวัฒน์ ชัยยุทธ ปัญญสวัสดิ์สุทธิ์ พุดตาน พันธุเณร

ความเหลื่อมล้ำในสังคมไทยซึ่งถือว่าติดอยู่ระดับสูงมากเทียบกับประเทศต่างๆ ทั่วโลก เกิดจากหลายสาเหตุ หนึ่งในสาเหตุคือความเหลื่อมล้ำของโอกาสการศึกษา ถึงแม้ว่ารัฐได้จัดการศึกษาให้ประชาชนอย่างทั่วถึงโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย (ตามกฎหมายรัฐธรรมนูญ) โดยจัดสรรเงินอุดหนุนรายหัวเด็กอย่างเท่าเทียมกัน ดูเหมือนว่าไม่มีแตกต่าง–แต่ความจริงแต่ละครัวเรือนลงทุนในเด็กแตกต่างกันมาก ในโอกาสนี้ขอนำผลงานวิจัยบางส่วน มารายงานต่อสาธารณะ

ที่มาของข้อมูลคือสำนักงานสถิติแห่งชาติ ซึ่งจัดทำการสำรวจครัวเรือนทั่วประเทศในปี 2560 ประมวลตัวเลขสถิติที่น่าสนใจและแสดงเป็นรูปกราฟ เพื่อเชิญชวนให้ช่วยกันคิด หรือทำงานวิจัยเชิงนโยบายในโอกาสต่อไป

หนึ่งในผลงานของสำนักงานสถิติแห่งชาติที่ถูกนำมาอ้างอิงอย่างกว้างขวาง คือ การสำรวจครัวเรือนซึ่งจัดทำเป็นประจำ เป็นการสุ่มตัวอย่างขนาดใหญ่ (อย่างเป็นระบบ สุ่มทุกจังหวัดในเขตเมือง/ชนบท) ให้ข้อมูลสนเทศที่มีคุณค่าต่อการวิจัยอย่างมากมาย ในโอกาสนี้ผู้วิจัยใช้ข้อมูลรายจ่ายครัวเรือนเพื่อการศึกษาเด็ก (อายุ 6-18 ปี) รายจ่ายด้านการศึกษาจำแนกออกเป็น 4 หมวด ได้แก่ ค่าเล่าเรียน ค่าเสื้อผ้า ค่าหนังสือและอุปกรณ์และค่าเดินทาง โดยมีผลลัพธ์ที่น่าสนใจดังต่อไปนี้

หนึ่ง เมื่อเรียงครัวเรือนตามชนชั้น 1-10 จากน้อยที่สุดถึงมากที่สุด พบว่าครัวเรือนยากจน (กลุ่ม 1-2) จ่ายเพื่อการศึกษาระหว่าง 3-4 พันบาทต่อปีสำหรับเด็กหนึ่งคน ในขณะกลุ่มรวยสุด (กลุ่ม 10) ลงทุนให้เด็กสูงถึง 28,094 บาทต่อคน วัดความแตกต่างกันประมาณ 9 เท่าตัว

Advertisement

สอง ครัวเรือนในเมืองลงทุนด้านการศึกษาให้เด็ก เฉลี่ย 8,104 บาทต่อคนต่อปี เปรียบเทียบกับครัวเรือนชนบท 5,596 บาท ความแตกต่างน่าจะสืบเนื่องจากฐานะเศรษฐกิจของผู้ปกครอง สภาวะแวดล้อม และค่านิยมต่างกัน ถือว่าเป็นความแตกต่างที่มีนัยสำคัญ

สาม เพื่อให้เห็นภาพชัดเจน ขอแสดงในรูปกราฟ (เส้นลอเรนซ์) และวัดเป็นดัชนีจินี (Gini coefficient) เท่ากับ 0.55 ซึ่งตีความว่าเป็นความเหลื่อมล้ำสูงมากทีเดียว

Advertisement

ความเหลื่อมล้ำด้านการศึกษา ความจริงไม่ใช่หัวข้อใหม่ มีผลงานวิจัยในอดีตจำนวนมาก แต่การเกาะติดสถานการณ์และใช้ข้อมูลใหม่ๆ ก็ยังมีความจำเป็น เพราะเป็นนโยบายสาธารณะที่สำคัญยิ่ง ในอดีตที่ผ่านมารัฐได้ดำเนินการแก้ไขหลายมาตรการรวมทั้งตรากฎหมายเพื่อเป็นกรอบการทำงาน มาตรการสำคัญได้แก่

หนึ่ง การจัดสรรเงินอุดหนุนให้เด็กนักเรียนทุกคน (เป็นรายหัว จัดสรรผ่านสถานศึกษา ดำเนินการมาเป็นเวลากว่าสิบปีแล้ว) รายงานวิจัยโดยชัยยุทธ ปัญญสวัสดิสุทธิ์ และคณะ แห่งคณะเศรษฐศาสตร์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 2561 สรุปว่า เงินอุดหนุนรายหัวตามระดับตั้งแต่อนุบาลถึง ปวช. ระหว่าง 6 พันบาท ถึง 1 หมื่นบาทเศษ

สอง จัดสรรเงินอุดหนุนให้เด็กยากจนโดยให้สถานศึกษาคัดกรองเด็กยากจน/ไม่ยากจน เด็กยากจนระดับประถมได้รับ 1 พันบาทต่อคน ระดับมัธยมตอนต้น 3 พันบาท จำนวนเด็กที่ได้รับสิทธิยากจนจำนวน 2 ล้านคนเศษ

สาม กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา เป็นมาตรการใหม่ จัดตั้งโดยอาศัยกฎหมายในปี พ.ศ.2561 ถือว่าเพิ่งเริ่มดำเนินการ เป็นมาตรการที่สนใจยิ่งและจะต้องติดตามกันต่อไป เท่าที่ทราบกองทุนจะพยายามทำให้ความช่วยเหลือของรัฐตรงกลุ่มประชากรเป้าหมาย เด็กด้อยโอกาสให้มากที่สุด

ประเทศไทยกำหนดยุทธศาสตร์การพัฒนาคนไทย 4.0 หนึ่งในปัจจัยสำคัญคือ ประชากรที่ผ่านการฝึกฝนอบรมความรู้และทักษะเพื่อการทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ ช่วยสร้างมูลค่าเพิ่ม สร้างสรรค์นวัตกรรมเพื่อแข่งขันได้และบรรลุเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยรัฐบาลสนับสนุนส่งเสริมและให้อุดหนุนทุกภาคส่วน โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มคนจนและด้อยโอกาสทางสังคม

ดิเรก ปัทมสิริวัฒน์
ชัยยุทธ ปัญญสวัสดิ์สุทธิ์
พุดตาน พันธุเณร

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image