แสวงโอกาสการพัฒนากาย-ใจและจิตวิญญาณ โดย โคทม อารียา

เขาบอกว่าในวิกฤตมีโอกาส แล้วการระบาดของโคโรนาไวรัสให้โอกาสอะไรแก่เราบ้าง ในช่วง 3-4 เดือนที่ผ่านมา แต่ละคนต้องเปลี่ยนวิถีชีวิตไปไม่มากก็น้อย เราได้ผ่านการ รักษาระยะห่างŽ ทางสังคม และได้รักษาระยะห่างจากนิสัยบางประการเช่นการใช้จ่ายฟุ่มเฟือยไปบ้างแล้ว ถ้าในยุคหลังโควิด เรากลับไปมีปฏิสัมพันธ์ทางสังคม แล้วเอานิสัยเดิม ๆ กลับมาโดยไม่ทบทวน-ไตร่ตรอง ก็หมายความว่าโควิดไม่ให้โอกาสการยั้งคิดและทบทวนวิถีชีวิตแก่เรา หลังโควิด วิถีชีวิตจะกลับไปเหมือนเดิม ไม่มีชีวิตปกติใหม่ (new normal) ซึ่งจะน่าเสียดาย

คนเราพัฒนากาย-ใจและจิตวิญญาณมาตั้งแต่เด็ก พัฒนาไปพัฒนามาจนอาจเกิดเป็นนิสัยอันเคยชินและแข็งตัว เหมือนเป็นใยไหมที่ห่อหุ้มตัวดักแด้ โควิดดูเหมือนจะมาถามเราว่า ถึงเวลาที่จะลดละ สละนิสัยบางประการแล้วหรือยัง สลัดเกราะที่ห่อหุ้มเราเพื่อจะได้แปลงตัวออกมาเป็นผีเสื้อได้หรือไม่ เราจะมีกาย-ใจและจิตวิญญาณที่สดใหม่และเปิดกว้างอีกครั้งเสมือนเมื่อเรายังเยาว์วัยและเปิดรับประสบการณ์ที่เกิดขึ้นที่นี่และบัดนี้อย่างตรงไปตรงมาได้หรือไม่ ถ้าไม่เกิดเหตุการณ์อย่างโควิด ชีวิตอาจดำเนินไปตามครรลองเดิม โดยไม่ถามว่าเราเป็นทุกข์เรื่องอะไร และจะเดินทางสู่ความตายด้วยใจที่สงบได้อย่างไร

ขอยกตัวอย่างจุดเปลี่ยนของกวี 3 คน ที่ผมได้อ่านในร่างวิทยานิพนธ์ของพลธรรม์ เศียรเมฆัน จันทร์คำ ที่ศึกษาการพัฒนาสันติภายในของกวี ซึ่งมีประเด็นให้ขบคิดว่า ความเป็นกวีในจิตใจเกิดขึ้นได้อย่างไร คำตอบว่าอาจเป็นว่าเกิดขึ้นเพราะชีวิตเผชิ

กับวิกฤต กวีคนแรกเคยมีความเครียดกับงาน แม้จะเที่ยวเตร่และหาทางผ่อนคลายอย่างไรก็ไม่สำเร็จ เลยตัดสินใจบวชท่ามกลางความลังเลสงสัย ข้อดีของกวีคนนี้คือการรักษาคำพูด แรกทีเดียวก็รักษาคำพูดที่ให้ไว้แก่พระอาจารย์ว่าจะฝึกเจริญสติแบบเคลื่อนไหวให้ครบ 3 เดือน การฝึกไม่ก้าวหน้า คิดอยากจะเลิกไม่รู้กี่ครั้ง พอครบ 3 เดือนก็เกรงใจพระอาจารย์ เลยกล่าวกับตัวเองว่าจะฝึกให้ครบหนึ่งปี พอครบหนึ่งปีก็ต่อสัญญากับตัวเองทีละปี แม้เผชิญการรบเร้าของตัณหา มานะ และทิฏฐิ และไม่แน่ใจว่าจะอยู่ในเพศบรรชิตได้นานเพียงใด แต่หนึ่งปีคิดว่าพออดทนการทดสอบตัวเองได้ พอต่อสัญญาทีละปีได้หลายปี ก็มีความมั่นใจมากขึ้น จึงต่อสัญญาทีละ 5 ปี คิดจะสึกทีไร ก็หวนนึกถึงความทุกข์ตอนเป็นฆราวาส ความอยากสึกก็มลายไป ทำเช่นนี้เรื่อยมาจนบัดนี้บวชได้กว่าสามสิบพรรษาแล้ว ตลอดเวลาก็เจริญสติแบบเคลื่อนไหว ประสานกายกับใจจนเกิดเป็นปัญญา แก้ปัญหาการบริหารวัดในฐานะเจ้าอาวาสโดยให้พระใหม่ได้แสดงบทบาทอย่างรับผิดชอบ แก้ปัญหาการปวดหลังด้วยการฝึกโยคะในท่าที่ทำให้กล้ามเนื้อหลังยืดหยุ่น ศึกษาค้นคว้าพุทธศาสนาทั้งฝ่ายเถรวาทและมหายาน สามารถถ่ายทอดความรู้ในมุมมองใหม่ ๆ เห็นความทุกข์ของผู้อื่นโดยเฉพาะผู้ที่กำลังเผชิญกับความตาย มีความสนใจเรื่องการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม มีจิตอาสาที่จะลดความรุนแรงในสังคม รวมความแล้ว วิกฤตความเครียดเป็นโอกาสที่จะพัฒนาร่างกายให้แข็งแรง จิตใจให้เบิกบาน เปิดกว้างสู่สังคม และมีเป้าหมายในชีวิตที่จะเข้าใกล้นิพพาน ได้เท่าไรก็เท่านั้นโดยไม่เครียด

Advertisement

กวีที่เป็นกรณีศึกษาคนที่สองเกิดอยู่ในครอบครัวฐานะปานกลาง ญาติผู้ใหญ่หลายคนเป็นศิลปิน ได้ซึมซับบรรยากาศและเกิดความมุ่งมั่นที่จะเป็นศิลปิน แต่มีปมด้อยที่ตอนเป็นเด็กสุขภาพไม่ค่อยดี แม่จึงฟูมฟักและเป็นห่วงเป็นใยมาตลอด จุดเปลี่ยนทางความคิดเกิดขึ้นเมื่อซ้อนรถจักรยานยนต์มากับน้า ผ่านมาเจอเด็กหญิงขาพิการ น้าจะให้ซ้อนรถมาด้วย แต่ด้วยความคิดแบบเด็กที่เขินอายเลยปฏิเสธไม่ยอมให้ซ้อนรถ ต่อมาเกิดความรู้สึกเห็นใจว่าเด็กพิการคนนั้นคงลำบากมากกว่าจะเดินไปถึงจุดหมาย รู้สึกผิดและจำเรื่องนี้มาตลอด จุดเปลี่ยนอีกจุดหนึ่งคือเมื่อออกจากบ้านมาเข้าโรงเรียนมัธยม ไม่ยอมไปอยู่กับญาติ ยืนยันที่จะมาอยู่วัดที่ลำบากกว่ามากเพราะมีเด็กวัดหลายคน ทั้งนี้เพื่อพิสูจน์ว่าไม่ใช่เป็นเด็กอ่อนแอ เมื่อเรียนจบโรงเรียนศิลปะ ก็ยอมตามใจแม่ไปรับราชการเป็นครู แม้จะไม่ชอบกฎระเบียบของทางราชการ อีกทั้งงานเขียนที่เป็นชีวิตจิตใจก็ทำได้น้อยลง ครั้งหนึ่งเมื่อเกิดความเครียด ก็ใช้วิธีปั่นจักรยานเป็นระยะทางไกล เพื่อให้โอกาสแก่ตนในการไตร่ตรองชีวิตในระหว่างที่ปั่นจักรยาน กวีมีโอกาสที่เปิดให้ในชีวิต คือการได้ไปอยู่กับศิลปินรุ่นอาวุโสคนหนึ่งอยู่หลายปี ที่คอยช่วยเหลือเกื้อกูลในงานศิลปะอย่างเป็นกัลยาณมิตร จนกวีประสบความสำเร็จในงานวรรณศิลป์ ได้รับรางวัลสำคัญ แม่จึงไม่ขัดที่จะลาออกจากราชการ เพื่อมาพัฒนาตนได้เต็มตามศักยภาพและความปรารถนา

กวีที่เป็นกรณีศึกษาคนที่สามเกิดในครอบครัวที่พ่อเวลาเมาเหล้าแล้วจะอาละวาดใช้ความรุนแรงกับลูกและเมีย สิ่งที่ช่วยให้เอาตัวรอดได้คือการหลบไปอ่านหนังสือในห้องสมุดโรงเรียน ที่สำคัญกว่าการอ่านคือการเขียน การเรียบเรียงความทุกข์เป็นข้อเขียน เป็นบทกวี ซึ่งช่วยบรรเทาความทุกข์ลงส่วนหนึ่ง ได้สมัครเป็นทหารโดยคิดว่าจะช่วยลดความทุกข์ แต่โชคไม่ดี ถูกรังแกต่าง ๆ นานา ถึงขนาดโยนลงบ่อเกรอะ หกเดือนที่ ฝึกŽ หนักกลายเป็นช่วงเวลาที่ทุกข์มาก จุดเปลี่ยนในชีวิตคือมีผู้มีอุปการคุณรับเข้าทำงาน และไว้ใจให้คุมงานและมาพักอยุ่ด้วย จึงเป็นโอกาสดีที่จะสร้างวินัยและการตรงต่อเวลา กินเหล้าเวลา 5-6 โมงเย็น ตื่นตอนประมาณ 6-7 โมงเช้า ช่วยล้างจาน เก็บกวาด ให้อาหารหมาแมว เขียนงาน ซักผ้า ไปตลาด อ่านหนังสือ ผ่อนคลาย ออกมาเดินเที่ยวดูเมือง ฯลฯ กิจการต่าง ๆ เสร็จตามเวลาไม่สะสม พบว่าพอมีวินัย ชีวิตง่ายขึ้น มีวินัยกลายเป็นมีอิสระ ไม่ต้องกังวลเรื่องโน้นนี้ ปฏิบัติบ่อย ๆ กลายเป็นอัตโนมัติ จึงมีโอกาสผลิตผลงานวรรณศิลป์ที่สะท้อนส่วนลึกของจิตวิญญาณและประสบการณ์ตรงของตนได้อย่างสร้างสรรค์

เราจะถือการระบาดของโควิดสามารถช่วยให้คิดอะไรใหม่หรือเป็นจุดเปลี่ยนอะไรในชีวิตได้บ้างไหม เช่น จะให้สัญญาบางอย่างแก่ตัวเองเหมือนกวีคนแรก จะไม่เคอะเขินกับการช่วยเหลือคนพิการเหมือนกวีคนที่สอง หรือจะสร้างวินัยในตนเองที่กลายเป็นมีอิสระเหมือนกวีคนที่สาม หรือจะมาดูแลเอาใจใส่ร่างกายของเราให้มากขึ้น ในเรื่องพื้นฐานคือ กิน ขี้ … นอนŽ เช่น กินผักและผลไม้ให้มากขึ้น ตากแดดยามเช้าเพื่อรับวิตามินดีบ้าง และนอนให้ได้อย่างน้อย 6 ชั่วโมง หรือถ้าสนใจการบริหารกายจิตแบบชี่กง ก็อาจหาข้อมูลได้จาก สสส. หรือกรมสุขภาพจิต ผมมีโอกาสดูคลิปวีดิโอของ นพ. เทอดศักดิ์ เดชคง ที่แนะนำหลักการ 3 ข้อของชี่กงคือ หายใจให้ลึกและยาวให้ท้องพองและยุบ เคลื่อนไหวช้า ๆ สม่ำเสมอ และมีสมาธิพร้อมการเคลื่อนไหวของร่างกาย คุณหมอสอน 4 ท่าพื้นฐานง่าย ๆ ที่มีชื่อไพเราะคือ 1) ปรับลมปราณ 2) ยืดอกขยายทรวง 3) อินทรีทะยานฟ้า 4) ลมปราณซ่านกายา ท่าเหล่านี้ฝึกไม่ยากเลย ที่ยากคือการมีวินัยในการฝึกอย่างสม่ำเสมอ การฝึกใดที่ประสานกาย-ใจ-จิตวิญญาณอย่างชี่กง การฝึกนั้นจะยังประโยชน์แก่ชีวิตอย่างแน่นอน

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image