เพื่อนแท้ของพม่านามว่า…รัสเซีย : โดย ลลิตา หาญวงษ์

เพื่อนแท้ของพม่านามว่า...รัสเซีย : โดย ลลิตา หาญวงษ์
โรงแรม Inya Lake สถาปัตยกรรมแบบโซเวียต สร้างในปี 1958

แทบทุกคนที่เคยไปย่างกุ้งคงมีโอกาสได้สัญจรผ่านถนนปเย (Pyay Road) ที่เป็นเหมือนเส้นเลือดใหญ่ที่เชื่อมย่างกุ้งตอนเหนืออันเป็นที่ตั้งของสนามบินนานาชาติย่างกุ้งและย่างกุ้งตอนใต้ ที่เป็นย่านการค้าสำคัญ มีสถานเอกอัครราชทูตหลายแห่งตั้งอยู่บนถนนปเยแห่งนี้ รวมทั้งสถานเอกอัครราชทูตไทยประจำพม่าด้วย บนถนนปเยยังเป็นที่ตั้งของสถานทูตรัสเซีย ซึ่งตั้งตระหง่านในแหล่งกินดื่มที่สำคัญของบรรดาชาวต่างชาติในยุคอาณานิคม ห่างย่านการค้าสำคัญ หรือไชน่าทาวน์ของย่างกุ้ง ที่เรียกว่า “ลันมะด่อ” (Lanmadaw) และโรงพยาบาลกลางย่างกุ้งไปเพียง 2 ช่วงถนน

ที่ต้องกล่าวถึงสถานเอกอัครราชทูตรัสเซียในย่างกุ้งเพื่อให้ผู้อ่านพอจะเห็นภาพว่าแม้รัสเซียจะไม่ใช่ประเทศที่มีอิทธิพลทางการเมืองกับพม่าอย่างจริงจัง อีกทั้งพม่าพยายามวางตัวเป็นกลางตลอดยุคสงครามเย็น แต่รัสเซียก็เป็นประเทศหนึ่งที่ไม่เคยมีข้อพิพาทกับพม่า อีกทั้งยังเป็นมิตรที่คอยสนับสนุนพม่าอย่างเงียบๆ มาโดยตลอด ทั้งในเชิงจิตวิญญาณไปจนถึงเงินสนับสนุนและอาวุธยุทโธปกรณ์ นับตั้งแต่ก่อนพม่าได้รับเอกราช จนถึงปัจจุบัน

ออง ซาน บิดาแห่งชาติของพม่าและนักปฏิวัติที่นำขบวนการปลดแอกพม่าจากการปกครองของอังกฤษชื่นชมบูชาแนวคิดแบบคอมมิวนิสต์ และยึดแนวทางการปฏิวัติของโซเวียตเป็นพื้นฐานการเรียกร้องเอกราชในพม่า แนวคิดแบบสังคมนิยมที่ผู้นำพม่ายุคหลังเอกราชก็ได้รับแรงบันดาลใจจากการพัฒนาแบบสังคมนิยมของโซเวียต ประสบการณ์ที่เลวร้ายภายใต้การปกครองของญี่ปุ่นยังทำให้พม่ามองรัสเซีย ที่เป็นไม้เบื่อไม้เมากับญี่ปุ่นมาตั้งแต่สงครามรัสเซีย-ญี่ปุ่นในปี 1905 ว่าเป็นพันธมิตรที่ดีของพม่า เคียงคู่ประเทศสังคมนิยมอื่นๆ เช่น ยูโกสลาเวีย

ผู้นำพม่าที่เยือนสหภาพโซเวียตอย่างเป็นทางการคือนายกรัฐมนตรีอู นุ ซึ่งเดินทางไปโซเวียตนานถึง 2 สัปดาห์ ในปลายปี 1955 เพื่อพบกับผู้นำโซเวียต นิกิต้า ครุชชอฟ (Nikita Khrushchev) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศคนสำคัญ วยาเชสลาฟ โมโลตอฟ (Vyacheslav Molotov) และประธานสภารัฐมนตรี นิโคไล บุลกานิน (Nikolai Bulganin) โซเวียตเรียกร้องให้พม่าสนับสนุนนโยบายการต่างประเทศของตนเองในขณะนั้น ได้แก่ การผลักดันให้จีนซึ่งเป็นชาติคอมมิวนิสต์เข้าเป็นสมาชิกองค์การสหประชาชาติ (ในเวลานั้นพื้นที่ในองค์การสหประชาชาติเป็นของรัฐบาลชาตินิยมของไต้หวัน) หลังจากนี้ ผู้นำระดับสูงของรัสเซียก็ได้ไปเยือนพม่าอีกหลายครั้ง หลังอู นุกลับจากรัสเซียไม่นาน

Advertisement

ทั้งครุชชอฟและบุลกานินก็เดินทางไปเยือนพม่า และกลับไปอีกครั้งในปี 1960 รัฐบาลพม่าประกาศ “ปิดเมือง” เพื่อต้อนรับผู้นำรัสเซีย เนื่องจากรัฐบาลอู นุต้องการเงินช่วยเหลือจำนวนมหาศาลสำหรับโครงการพัฒนาตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจแบบสังคมนิยมที่ออกมาตั้งแต่ปี 1952 ประกอบกับอู นุต้องเร่งสร้างฐานเสียงหลังเพิ่งได้รับเลือกตั้งกลับเข้ามาเป็นนายกรัฐมนตรีสมัยที่ 2

การต้อนรับครุชชอฟและบุลกานินอย่างสมเกียรติทำให้พม่าได้รับทั้งเงินให้เปล่าและเงินกู้จากรัสเซีย รัฐบาลโซเวียตยังสร้างโรงแรมขนาดใหญ่ 206 ห้องริมทะเลสาบอินยา ใช้ชื่อว่า Inya Lake Hotel ที่ยังเปิดดำเนินการมาถึงปัจจุบัน และยังช่วยสร้างโรงพยาบาลอีกแห่งหนึ่งที่เมืองตองจีในรัฐฉานด้วย รัฐบาลพม่าตกลงจะใช้คืนเงินที่กู้โซเวียตมาโดยส่งออกข้าวไปให้ แต่ก็มีอุปสรรคนานัปการเนื่องจากมีปริมาณข้าวไม่เพียงพอ และราคาข้าวในตลาดโลกในทศวรรษ 1956-1960 ที่พุ่งสูงขึ้นไปมาก

ในระหว่างสงครามเย็น พม่าประกาศก้องว่าตนต้องการวางตัวเป็นกลาง และไม่ต้องการเข้าไปเกี่ยวข้องกับความขัดแย้งของสหภาพโซเวียตและสหรัฐอเมริกา แต่ในความเป็นจริง ผู้นำของพม่าโน้มเอียงเข้าหาสหภาพโซเวียตเป็นอย่างมาก อู นุ และบุลกานินออกแถลงการณ์ร่วมที่ย่างกุ้งในปี 1960 เพื่อสนับสนุนเจตจำนงของโซเวียต เช่น การสนับสนุนให้ไต้หวันเป็นของจีน และการสนับสนุนเกาหลีเหนือหลังการแยกประเทศในปี 1953

Advertisement

เมื่อนายพล เน วินทำรัฐประหารล้มล้างรัฐบาลประชาธิปไตยแบบรัฐสภาของอู นุ ซึ่งแท้จริงแล้วเป็นรัฐบาลที่ผสมแนวคิดสังคมนิยมแบบโซเวียตเข้ากับกุศโลบายการฟื้นฟูพุทธศาสนาและการทำให้พุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ อุดมการณ์แบบโซเวียตกลับเข้ามามีบทบาทในพม่าอีกครั้ง ด้วยเน วินชูนโยบายสังคมนิยมเป็นหมุดหมายการขับเคลื่อนประเทศ ในยุคนี้เองที่รัฐบาลสหภาพโซเวียตเข้าไปตั้งสถานเอกอัครทูตในย่างกุ้ง และเป็นสถานเอกอัครทูตที่ใหญ่ที่สุดเป็นอันดับต้นๆ ในย่างกุ้ง จุดประสงค์ของมอสโกในการขยายความสัมพันธ์ทางการทูตกับรัฐบาลเผด็จการของเน วิน ไม่ใช่เพียงเพราะโซเวียตต้องการมอนิเตอร์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แต่พม่ายังเป็นแหล่งระบายอาวุธของรัสเซียด้วย

หลังสหภาพโซเวียตล่มสลายในปลายปี 1991 รัสเซียเริ่มกลับมาให้ความสนใจพม่าอีกครั้ง รัฐบาลรัสเซียภายใต้การนำของวลาดิเมียร์ ปูตินมีนโยบายไม่แทรกแซงกิจการภายในของพม่า และยังในอำนาจการยับยั้ง (veto) ในคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (United Nations Security Council) เพื่อช่วยพม่าในประเด็นความมั่นคงเป็นหลัก

ในช่วงหลังนี้ บทบาทของรัสเซียในพม่าเพิ่มขึ้นด้วยโครงการพัฒนาพลังงานนิวเคลียร์ และยังส่งอาวุธยุทโธปกรณ์ให้กับพม่ามากเป็นอันดับต้นๆ ร่วมกับจีนและเกาหลีเหนือ ความสัมพันธ์ระหว่างพม่ากับรัสเซียในปัจจุบันยิ่งเข้มแข็งขึ้น พลเอกอาวุโส มิน อ่อง หล่าย (Min Aung Hlaing) ผู้บัญชาการทหารสูงสุดพม่า เพิ่งเดินทางไปเยือนรัสเซียเป็นเวลา 1 สัปดาห์ เพื่อเข้าร่วมการเฉลิมฉลองชัยชนะของรัสเซียในสงครามโลกครั้งที่ 2 ในปีนี้ รัสเซียเชิญประธานาธิบดีจากประเทศที่ได้ชื่อว่ามีความสัมพันธ์เหนียวแน่นกับตน 10 ประเทศ และยังเชิญผู้บัญชาการทหารระดับสูงในอีกหลายปะเทศ ที่ผ่านมา พลเอกอาวุโส มิน อ่อง หล่ายเดินทางไปเยือนรัสเซียถึง 6 ครั้งตั้งแต่ปี 2003 เป็นประเทศที่เขาเดินทางไปเยือนบ่อยที่สุด

สำหรับรัสเซีย พม่ามีความสำคัญนอกเหนือจาก “ลูกค้ากระเป๋าหนัก” แต่เมื่อพิจารณาถึงที่ตั้งของพม่า ที่อยู่กึ่งกลางระหว่างจีนและอินเดีย และยังเป็นเสมือนประตูสู่มหาสมุทรอินเดียและอ่าวเบงกอล ทำให้รัสเซียมองเห็นศักยภาพด้านการลงทุนกับพม่า ความสัมพันธ์ระหว่างสองชาติท่ามกลางความขัดแย้งภายในพม่าที่กำลังทวีความรุนแรงขึ้น ทั้งกับกองกำลังของกลุ่มชาติพันธุ์ โดยเฉพาะกองทัพอาระกัน (Arakan Army) และในการปราบปรามชนกลุ่มน้อยอื่นๆ พม่าต้องการอาวุธมากขึ้นทุกปี

เมื่อพลเอกอาวุโส มิน อ่อง หล่ายไปเยือนรัสเซียในปี 2008 กองทัพพม่าบรรลุข้อตกลงซื้อเครื่องบินขับไล่ซุคฮอย ซู-30 (SUKHOI Su-30) 6 ลำ แต่ไม่มีการเปิดเผยราคาซื้อขายในครั้งนั้น พม่ากับรัสเซียยังได้ลงนามในข้อตกลงด้านการทหารชุดใหญ่ตั้งแต่ปี 2016 เพื่อสานความสัมพันธ์ด้านทหารและเทคโนโลยีทางการทหาร ความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นระหว่างทั้งสองชาติยังเห็นได้จากที่มีนักศึกษาจากพม่าไปศึกษาต่อด้านการทหารในรัสเซียอีกหลายร้อยคน

แม้ความสัมพันธ์ระหว่างพม่ากับรัสเซียจะไม่ได้หวือหวาและเป็นที่น่าจับตามมองเหมือนความสัมพันธ์ระหว่างพม่ากับจีน สหรัฐอเมริกา หรือกับอินเดีย แต่ดังที่ได้กล่าวไปแล้วว่า รัสเซียเป็นหนึ่งในไม่กี่ประเทศที่ไม่เคยมีข้อพิพาทใดๆ กับพม่า และยืนยันจะเป็นมิตรที่ดีกับพม่า ในฐานะหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจ (การขายอาวุธ) และหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์

ลลิตา หาญวงษ์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image