รัฐธรรมนูญ(นิยม) กับการเปลี่ยนผ่าน โดย พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์

ใกล้วันลงประชามติรัฐธรรมนูญเข้าไปทุกที ก็มีข้อมูลที่น่าสนใจอยู่หลายอย่างที่ควรจะนำมาแบ่งปันกัน อย่างเรื่องข้อมูลจากการทำโพล ที่ยังตีความกันได้ยากว่า ตกลงการที่ “ยังไม่ตัดสินใจ” ว่าจะลงประชามติอย่างไรนั้น ความจริงแล้วเป็นเรื่องของการยังไม่ตัดสินใจจริงๆ หรือไม่อยากบอกคนถามว่าตัดสินใจอย่างไร

นอกจากนั้นก็มีเรื่องที่น่าสนใจว่า การที่ประชาชนไม่ได้รับร่างรัฐธรรมนูญ แต่ทางกรรมาธิการร่างก็พยายามบอกว่า คนที่จะวิจารณ์นั้นจะต้องอ่านรัฐธรรมนูญ เราจะตีความเรื่องนี้อย่างไร เช่นประชาชนควรมีสิทธิได้รับร่างทุกคนไหม เราสามารถย่อร่างรัฐธรรมนูญได้ไหม (เพราะมันหมายถึงเราจงใจที่จะพูดไม่หมดหรือไม่) การไม่แจกร่างรัฐธรรมนูญให้กับทุกคนนั้นเป็นความจงใจ หรือเป็นข้อจำกัดในด้านงบประมาณ อะไรคือตัวแบบการตัดสินใจของประชาชนที่มีต่อการที่เขาจะลงประชามติแบบใดแบบหนึ่งภายใต้เงื่อนไขที่เขาไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลได้เท่ากัน?

เรื่องอื่นๆ ในเรื่องข้อมูลที่น่าสนใจก็คือ เรื่องที่มีการเรียกร้องจากหลายฝ่ายว่า ทำไมการทำประชามติไม่เปิดข้อมูลให้ประชาชนทราบว่าถ้าไม่ผ่านแล้วจะทำอะไร (มิพักต้องพูดถึงการไม่เปิดเสรีภาพให้มีการถกเถียงกันอย่างเสรี) ซึ่งประเด็นนี้ต้องถามต่อว่า การจงใจไม่เปิดข้อมูลส่วนนี้ให้ประชาชนทราบนั้นเกี่ยวพันกับ “ความจงใจ” ที่จะทำให้เกิดการตัดสินใจบางอย่างของประชาชนในการลงประชามติหรือไม่? ซึ่งการกระทำเช่นนี้นั้นต่างจากการลงประชามติของรัฐธรรมนูญฉบับที่แล้ว (2550 – ถ้าประชามติไม่ผ่าน คณะผู้ปกครองจะหยิบรัฐธรรมนูญฉบับใดฉบับหนึ่งมาประกาศใช้) และต่างจากขั้นตอนการลงคะแนนรับร่างรัฐธรรมนูญฉบับ 2540 (ถ้าสภาผู้แทนฯไม่รับ จะลงประชามติ)

แต่ที่เขียนมาทั้งหมดนี้เรื่องที่สำคัญกว่านั้นทั้งหมดก็คือ ข้อมูลที่ว่ายังมีคนจำนวนมากไม่ทราบว่าวันลงประชามติคือวันที่เท่าไหร่? ซึ่งเรื่องนี้หากคิดว่าน่าตกใจแล้ว (นิสิตรัฐศาสตร์ของผมยังถามเลยครับ) ผมกลับคิดว่าเรื่องที่น่าสนใจกว่าและสำคัญกว่าก็คือ เราไม่มีการรณรงค์หรือชี้แจงกันง่ายๆ ว่า ตกลงจะลงประชามติไปทำไม? ต่างหาก !!!

Advertisement

ผมได้ประเด็นนี้มาจากการพูดคุยกับชาวบ้านรายหนึ่งที่รับจ้างมาทำความสะอาดที่บ้านของผม เขาถามคำถามผมง่ายๆ ว่า เขารู้ละว่าวันที่ 7 สิงหาคมนี้เป็นวันลงประชามติ แต่เขาก็ถามผมง่ายๆ ว่า ลงประชามติไปทำไม? นี่มันเรื่องอะไร? ซึ่งทำให้ผมต้องมานั่งถามตัวเองและแบ่งปันความสงสัยกับท่านผู้อ่านว่า เอ … ก็น่าจะจริงนะครับว่าเราอาจจะละเลยกับการสื่อสารและการถามคำถามง่ายๆ ว่า เราจะลงประชามติไปทำไม?

เพราะสำหรับพี่สาวรายนี้ เขาเข้าใจดีว่าการเลือกตั้งสำหรับเขามันคืออะไร เพราะเขาก็คุ้นเคยกับการไปเลือกตั้งมาตลอด แต่ที่เขาไม่เข้าใจก็คือ การไปลงประชามตินั้นมันคืออะไร และเขาควรจะเลือกอย่างไร (คำตอบในแง่เนื้อหาว่าควรจะไปลงอะไรนั้นผมไม่ได้บอกพี่เขาไป มันเป็นเรื่องของเขา)

ข้อกังวลของพี่สาวคนนี้ทำให้เราต้องคิดมากไปกว่าเรื่องของการรณรงค์ให้การลงประชามตินั้นเสรีและเป็นธรรม (free and fair) ด้วยซ้ำ แต่มันเป็นเรื่องของการพูดถึงการลงประชามติที่มีความหมาย (meaningful) ว่าตกลงทำไมต้องออกไปลงประชามติ

Advertisement

เพราะถ้าเราไม่คิดมาก เราก็ยังคิดอยู่ในกรอบว่า การลงประชามตินั้นเป็นเรื่องที่รัฐ(บาล)นั้นสั่ง (เรียกว่าเชิญชวน รณรงค์ก็ได้) ให้ประชาชนออกไปทำอะไรสักอย่างเพื่อ “ประเทศชาติ” หรือพูดง่ายๆ ก็คือ รัฐบาลสั่งให้เราไปแสดงพลัง

ตรงนี้ก็เป็นส่วนหนึ่งที่ผมเองไม่อยากแม้แต่จะพูดเลยว่า 7 สิงหา เชิญ “ออกไป” ลงประชามติ เพราะยังมีคนอีกจำนวนหนึ่งที่เขาเองก็รู้สึกว่าเขาไม่อยากออก เพราะมันก็เป็นสิทธิของเขาที่จะไม่ออก จะด้วยว่าเขาสนใจและจงใจไม่ออก (แม้ว่าในรอบนี้ถ้าไม่ออกเขาจะไม่ถูกนับ) หรือเขาไม่สนใจด้วยซ้ำ ซึ่งผมว่าในแง่ที่เหมาะสมจริงๆ ในการรณรงค์ก็ควรจะเป็นเพียงแค่การบอกว่า “7 สิงหา “เป็น” วันลงประชามติ” มากกว่า “ออกไป” ลงประชามติ

เรื่องการลงประชามติในฐานะที่เป็นการกระทำที่มีความหมาย ทั้งความหมายต่อตัวผู้ไปลงประชามติ และความหมายต่อสังคมการเมืองนั้นเป็นเรื่องที่ไม่ค่อยได้พูดกันมากในรอบนี้ เพราะมันผูกโยงไปที่เรื่องใหญ่ที่บ้านเรายังตกลงกันไม่ได้จริงๆ ทั้งสองเรื่อง ทั้งที่เราพยายามทำให้เหมือนกับว่าเราตกลงกันได้แล้ว ซึ่งผมหมายถึงทั้งเรื่องของการเลือกตั้งและเรื่องรัฐธรรมนูญ

ในเรื่องของการเลือกตั้งนั้น เราเข้าใจแน่นอนว่าการเลือกตั้งนั้นมีกระบวนการอย่างไร เราเข้าใจว่ามีขั้นตอนที่เป็นทางการอย่างไร อะไรที่ควรทำและไม่ควรทำ แต่ในความเป็นจริง เราไม่ยอมรับตรงกันตั้งหลายเรื่อง เช่นตกลงการซื้อเสียงนั้นทำไมยังมีอยู่ (แน่นอนว่าถ้าถามก็คงไม่มีคนชื่นชม แต่มันก็มีจริงและซับซ้อน) เรายอมรับไหมว่าคนที่ชนะการเลือกตั้งนั้นมีอำนาจเหนือเรา (โดยเฉพาะในกรณีที่เราไม่ได้เลือก หรืออยู่ฝ่ายเดียวกับเขา) ดังนั้นการที่จะมาบอกว่าอย่างไรก็มีการเลือกตั้งแน่ๆ นั้นมันจะมีความหมายอะไรต่อการลงประชามติในรอบนี้ เพราะคนจำนวนหนึ่งอาจจะคิด(หรือถูกทำให้คิด)ว่า ถ้าไปลงประชามติแล้วจะมีการเลือกตั้งสักที (ทั้งที่คณะรัฐประหารซึ่งเป็นผู้ปกครองก็บอกแล้วว่ามีแน่ๆ) แต่ไม่ได้สนใจว่า ผลจากการลงประชามติรอบนี้ต่างหากที่จะไปกำหนดคุณภาพและความหมาย-ความสำคัญของการเลือกตั้งที่จะมาถึง ซึ่งเป็นเรื่องที่ควรจะสนใจและทำความเข้าใจให้มาก (สำหรับคนที่เห็นด้วยกับการทำรัฐประหาร และต้องการรับรัฐธรรมนูญฉบับนี้คงสนใจและเข้าใจอยู่ แต่คนที่มีความเห็นในแบบอื่นนั้นผมไม่แน่ใจว่าเข้าใจแค่ไหน)

ส่วนเรื่องใหญ่อีกเรื่องที่เราคิดว่าเราเข้าใจตรงกันแต่เอาเข้าจริงแล้วไม่เข้าใจตรงกันก็คือตัวบทบาทและสถานะของรัฐธรรมนูญเอง ซึ่งเป็นสาระสำคัญของการลงประชามติในรอบนี้

เรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่มาก เพราะว่าเราไปลงประชามติในรอบนี้ ก็เพราะเราต้องการที่จะเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบกับรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นเสมือนกฎกติกาที่สำคัญของสังคมการเมืองในอนาคต

แต่สิ่งที่เราต้องตั้งข้อสังเกตก็คือ ในหลายประเทศในโลกนี้การร่างรัฐธรรมนูญนั้นเขาถือว่ามันเป็นเรื่องสำคัญ (บ้านเราในหลายครั้งก็สำคัญ) เพราะมันเป็นห้วงจังหวะพิเศษ ที่เราเรียกมันว่าการสถาปนารัฐธรรมนูญ หรือการเปลี่ยนผ่านระบอบอย่างจริงๆ จังๆ หมายถึงการจัดความสัมพันธ์ที่มีต่อการเปลี่ยนแปลงจากสิ่งเดิม และการเข้าสู่สิ่งใหม่ ไม่ว่าจะหมายถึงการก้าวออกจากยุคสมบูรณาญาสิทธิราชย์ หรือการออกจากเผด็จการ หรือแม้กระทั่งการออกจากระบอบประชาธิปไตยที่ไม่มีคุณภาพ

ห้วงจังหวะของการสถาปนารัฐธรรมนูญนั้นเรื่องที่ผมคิดว่าสำคัญก็คือ มันไม่ใช่เรื่องของการเถียงกันแค่ว่าใครถูกกว่ากัน ใครดีกว่ากัน หรือใครเป็นเสียงข้างมาก (ใครชนะ) แต่มันหมายถึงการพูดถึง “เจตจำนงร่วม” ของผู้คน ซึ่งไม่ได้หมายถึงคำอธิบายแบบโลกสวยหรือไร้เดียงสาว่าทุกคนเห็นพ้องต้องกันไปเสียหมด แต่มันหมายถึงการที่คนทั้งหมดรู้สึกว่าทิศทางบางอย่างของสังคมมันเดินไปทางนั้นแน่ๆและเรากลายเป็นส่วนหนึ่งของสายธารทางความคิดและพลังดังกล่าว มันหมายถึงอำนาจชนิดหนึ่งที่มีพลังในระดับที่สามารถโค่นทำลายสิ่งที่เป็นมา และพาเราไปสู่อนาคตร่วมกัน ไม่ว่าจะนึกถึงเหตุการณ์ 2475 2516/2517 หรือ 2540

ประเด็นสำคัญผมว่ามันอยู่ที่เรื่องของการต้านทานไม่ได้ (ในแง่หนึ่งก็คือมันมีความหมาย พลัง และนัยยะสำคัญ) มากกว่ามาแบบว่าไม่รู้เรื่องเลย หรือจะทำอะไรก็ทำๆ กันไป

การทำประชามติในรอบนี้จึงไม่มีนัยยะอะไรไปถึงห้วงขณะของการ “สถาปนารัฐธรรมนูญ” อย่างจริงๆ จังๆ ซึ่งเป็นเรื่องที่มีความสำคัญต่อการเปลี่ยนผ่านสังคมการเมือง

นอกจากนี้แล้ว ในการสถาปนารัฐธรรมนูญก็คงจะต้องพูดถึงเรื่องที่ผมคิดว่าสำคัญอีกสองเรื่อง เรื่องแรกคือ เอกสารสำคัญที่จะอ้างอิงกับรัฐธรรมนูญ และเรื่องของหลักการรัฐธรรมนูญนิยม (constitutionalism) ที่ทำให้เรื่องของความสัมพันธ์ระหว่างรัฐธรรมนูญกับประชาธิปไตยนั้นมีความยั่งยืน

เรื่องของรัฐธรมนูญนั้นเรามักจะมองแต่ว่ารัฐธรรมนูญนั้นต้องมาคู่กับกฎหมายลูก อย่างในกรณีตอนนี้เราควรจะต้องทราบว่ายังมีกฎหมายอีกหลายฉบับที่จะมีตามมา หากร่างฉบับปัจจุบันนั้นผ่านการลงประชามติ แต่เราไม่ค่อยสนใจว่ารัฐธรรมนูญหลายฉบับในโลกนั้นมันอยู่ได้โดยการมีเอกสารอื่นๆ ที่อาจจะเป็นแม่ของมัน หรือเป็นเพื่อนของมันเช่นกัน (ง่ายๆ คือมันเกรงใจนั่นแหละครับ)

ผมหมายถึงความสัมพันธ์ระหว่างคำประกาศอิสรภาพ และสิทธิมนุษยชนของสหรัฐอเมริกา รวมถึงเอกสารของคณะร่าง (Federalist Papers) กับตัวรัฐธรรมนูญอเมริกา คำประกาศสิทธิเสรีภาพกับรัฐธรรมนูญของฝรั่งเศส หรือในกรณีของบ้านเรา ผมกำลังนึกถึงแถลงการณ์ของคณะราษฎรกับรัฐธรรมนูญ 2475 หรือเอกสารการปฏิรูปการเมืองของหมอประเวศ และเอกสารคอนสติติวชั่นนอลลิสม์ของอาจารย์อมร จันทรสมบูรณ์ กับรัฐธรรมนูญ 2540

ประเด็นก็คือ รัฐธรรมนูญมันไม่สามารถอยู่ได้ด้วยตัวของมันเองง่ายๆ หรืออ้างแค่ส่วนคำปรารภได้ ถ้าขาดซึ่งพลังอำนาจทางภูมิปัญญาบางอย่างที่คอยรองรับมัน ซึ่งหมายถึงมันจะต้องผ่านการถกเถียงและยอมรับกันมาในระดับหนึ่ง และมีหลักการบางอย่างที่สามารถกลั่นตัวออกมาเป็นเอกสารที่เคียงคู่กับรัฐธรรมนูญได้ แทนที่จะเอาทุกอย่างใส่ไปในรัฐธรรมนูญทั้งหมด เพราะรัฐธรรมนูญในบางสถานะก็เป็นกฎหมายที่ทำให้หลักการบางอย่างมันบรรลุผลได้ แต่อาจไม่ใช่เรื่องง่ายๆ ที่ทุกคนอ่านแล้วเข้าใจตรงกัน

ต่างจาก “เอกสารสถาปนา” ที่ผมกล่าวถึงเหล่านั้น ที่คนทั่วไปเข้าใจได้ไม่ยาก อ่านจบแน่ๆ และไม่ต้องมานั่งกังวลว่าจะถูกโจมตีโดยคณะผู้ร่างรัฐธรรมนูญที่ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้อง หรือไม่มีแม้แต่อำนาจทางการเมืองและอำนาจในระดับภูมิปัญญาที่จะร่างเอกสารอื่นๆ ที่สร้างการยอมรับของประชาชน โดยเฉพาะในกรณีของการที่มองว่าประชาชนคือผู้มีอำนาจ (เมื่อการยอมรับจากประชาชนกับการยอมรับจากผู้มีอำนาจไม่ใช่เรื่องเดียวกัน)

การอ้างถึงเอกสารสถาปนานี้ ส่วนหนึ่งไม่ได้หมายความว่าทุกคนจะเห็นตรงกันทุกเรื่อง (แต่ส่วนมากมันผ่านการถกเถียงและยอมรับกันในสังคมมาแล้ว) แต่เอกสารสถาปนามีนัยยะสำคัญต่อการอ้างอิงถึง “เจตนารมณ์ร่วม” ของสังคมเมื่อพูดถึงระยะของการสถาปนารัฐธรรมนูญ และทำให้การลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญมีความหมายมากไปกว่าการระดมประชาชนไปทำกิจกรรมบางอย่างให้กับรัฐ หรืออธิบายง่ายๆ ว่า การสถาปนารัฐธรรมนูญนั้นไม่ใช่มีความหมายแค่เป็นหนึ่งในรัฐพิธีเพราะเราออกไปตามที่รัฐร้องขอ แต่มันหมายถึงห้วงขณะของการสถาปนาระบอบการเมืองการปกครองหรือสถาปนารัฐขึ้นมาใหม่ผ่านการจัดความสัมพันธ์ที่ลงตัวระหว่างอดีต ปัจจุบัน และอนาคต

ในส่วนสุดท้ายที่อยากจะพูดถึงในสัปดาห์นี้ก็คือเรื่องของ “รัฐธรรมนูญนิยม” ซึ่งในหลายประเทศนั้นเป็นเรื่องที่ไม่ใช่เรื่องเดียวกับรัฐธรรมนูญ เพราะรัฐธรรมนูญนั้นเป็นกฎหมายที่เราถูกสอนว่าเป็นกฎหมายสูงสุด (ไม่นับว่าถูกฉีกมาหลายฉบับ) แต่รัฐธรรมนูญนิยมนั้นเป็นหลักการชนิดหนึ่งที่อยู่ในรัฐธรรมนูญ

พูดง่ายๆ ว่ารัฐธรรมนูญทุกฉบับไม่จำเป็นต้องมีหลักการรัฐธรรมนูญนิยม เพราะรัฐธรรมนูญบางฉบับเป็นเครื่องมือของคณะบุคคลที่ปกครองประชาชน แต่ถ้าจะพูดถึงรัฐธรรมนูญที่จะทำให้ประชาชนสามารถปกครองประชาชนด้วยกันเองได้อย่างมีศักดิ์ศรีและเสมอภาคกันก็คงจะต้องพูดถึงหลักรัฐธรรมนูญนิยม ซึ่งสามารถอธิบายง่ายๆ ได้ว่าประกอบด้วยหลักการ 3 ประการ ได้แก่ 1.การจำกัดอำนาจรัฐบาล 2.การให้ความสำคัญกับหลักนิติธรรม และ 3.การปกป้องสิทธิเสรีภาพของประชาชน (ดู Michel Rosenfeld.ed. 1994. Constitutionalism, Identity, Difference, and Legitimacy: Theoretical Perspectives. Durham: Duke University Press)

การจำกัดอำนาจรัฐบาลไม่ได้หมายความว่าไม่ให้รัฐบาลมีหน้าที่อะไร หรือไม่ต้องทำงาน แต่หมายถึงว่าประชาชนต้องตรวจสอบรัฐบาลได้ และรัฐบาลจะต้องไม่ละเมิดประชาชน ส่วนการใช้เงื่อนไข “เว้นแต่” หรือ “เพื่อความมั่นคง” นั้นจะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อประชาชนเขารู้สึกว่ารัฐบาลเป็นของเขา เป็นพวกเขา เป็นตัวเขาเอง ไม่ใช่รู้สึกว่ารัฐบาลเป็นคนอื่น ตรงนี้คือเงื่อนไขอีกข้อที่เวลาเราสอนเรื่องประชาธิปไตยแล้วเราไม่ค่อยเน้นย้ำ เพราะเราชอบพูดว่าประชาธิปไตยเป็นการปกครองประชาชน โดยประชาชน เพื่อประชาชน โดยลืมว่าคนพูดประโยคนี้ก็คือประชาชน

ดังนั้น เงื่อนไขใหญ่ก็คือ ประชาธิปไตยคือการปกครองตนเอง (self-government) ซึ่งทำให้เราต้องมาถามกันว่า เราจะปกครองตนเองโดยตามใจตนเองทุกเรื่อง หรือเราจะปกครองตนเองเพื่อสร้างสรรค์สิ่งดีๆ และเสริมศักยภาพของตัวเราเอง การถามคำถามแบบนี้จะทำให้เราพ้นไปจากการตั้งคำถามว่าจะต้องหาคนเหนือกว่าเรามาปกครองเรา หรือมองว่าเราต้องเหนือกว่าคนอื่นถึงจะไปปกครองคนอื่นได้ (ไม่ว่าจะด้วยคุณภาพหรือปริมาณ) มาสู่การถามว่า เราจะพัฒนาตนเองโดยการปกครองตัวเองได้อย่างไร และถ้าทุกคนรวมเป็นตัวตนหนึ่งเดียว เราจะพัฒนาตัวตนของเราเองได้อย่างไร

ดังนั้นเมื่อเราพูดถึงการลงประชามติในรอบนี้ เราคงหนีไม่พ้นที่จะเกี่ยวข้องกับเรื่องของรัฐธรรมนูญ การเลือกตั้ง เจตจำนงร่วม และประชาธิปไตยนั่นแหละครับ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image