หรือแค่ ‘หนทางที่เหลืออยู่’ : โดย สุชาติ ศรีสุวรรณ

หรือแค่ ‘หนทางที่เหลืออยู่’ : โดย สุชาติ ศรีสุวรรณ

คนที่รู้ดีที่สุดว่าอนาคตอันใกล้นี้ประเทศจะเป็นอย่างไรคือคนที่เป็นนายกรัฐมนตรี

เพราะเป็นศูนย์กลางข้อมูลทุกด้าน

คนอื่นอาจจะมีข้อมูลด้านใดด้านหนึ่ง แต่ในฐานะผู้บริหารใหญ่สุดของประเทศ ข้อมูลทุกด้านต้องส่งมารวมศูนย์ที่นายกรัฐมนตรี

และไม่ว่าคนที่เป็นนายกรัฐมนตรีจะสติปัญญามากน้อยแค่ไหน ย่อมมองเห็นแนวโน้มของประเทศมากกว่าใครอยู่ดี เนื่องจากเป็นตำแหน่งที่ถูกบังคับให้ต้องรับทราบการวิเคราะห์ของทีมงานว่าเรื่องราวของประเทศกำลังเป็นแบบไหน และมีแนวโน้มว่าจะเป็นอย่างไร

Advertisement

ทั้งเรื่องราวในแต่ละด้าน และภาพรวมที่เอาข้อมูลทุกด้านมายำรวมกันเพื่อประเมินว่าจะส่งผลอย่างไร

นายกรัฐมนตรีจึงหนีไม่พ้นที่จะรู้อนาคตของประเทศมากที่สุด อย่างน้อยก็เป็นคนหนึ่งที่รู้ ยกเว้นแต่จะซื่อบื้ออย่างหนัก ไม่ยอมรับฟังเรื่องที่ต้องรับฟัง ปฏิเสธระบบที่บังคับให้รับฟัง

ดังนั้น หากจะประเมินว่าประเทศจะเป็นอย่างไร การมองไปที่นายกรัฐมนตรี สังเกตการแสดงออก อาการที่เกิดขึ้นย่อมเป็นข้อมูลที่ดีสำหรับการวิเคราะห์

Advertisement

ถ้าจับตาท่าทีของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในช่วงที่ผ่านมาใกล้ๆ นี้ จะพบว่ามีท่าที่เปลี่ยนไปหลายเรื่อง

จากแถลงการณ์ผ่านโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย วันก่อน ที่เน้นแล้วเน้นอีกกับคำพูดที่ออกมาในทางให้ความสำคัญกับการรับฟังประชาชน ให้ราคาให้คุณค่ากับความคิดเห็นของประชาชน ผิดกับก่อนหน้านั้นที่ท่าทีชัดเจนไปในทางสั่งสอนให้ทำอย่างโน้นอย่างนี้ เหมือนประชาชนประเทศนี้เป็นพวกห่างไกลการพัฒนาทางสติปัญญา จะมีชีวิตอยู่ได้ต้องทำตามผู้นำ ทั้งที่เป็นคำสั่งสอน คำสั่ง และใช้อำนาจบังคับ

จากนั้นมีการรื้อคณะกรรมการปรองดองและปฏิรูปประเทศ ซึ่งตั้งขึ้นมาตั้งแต่ทำรัฐประหารใหม่ แต่ไม่มีความเคลื่อนไหวอะไร แม้กระทั่งการประชุมยังห่างเหินที่จะเรียกมาทำงานจนผู้คนลืมกันไปแล้วว่ามีคณะกรรมการชุดนี้ มาประชุมกันใหม่ ด้วยท่าทีเอาจริงเอาจังว่าจะต้องปฏิรูปการบริหารประเทศ และสร้างความปรองดองให้เกิดขึ้นให้ได้

ที่น่าสนใจยังมีการเน้นย้ำวาทกรรม “รวมพลังสร้างชาติ” ถี่ขึ้นในช่วงสัปดาห์สองสัปดาห์นี้

ทั้งหมดทั้งสิ้นของท่าที พล.อ.ประยุทธ์ ให้ความรู้สึกต่อการรับรู้ว่าแคร์ประชาชนอย่างมากมาย ต้องการให้รู้ว่านายกรัฐมนตรีให้ความสำคัญ ให้ราคากับความคิดความเห็นและพลังของประชาชน

นายกรัฐมนตรีรู้อะไร ฝ่ายเสนาธิการหรือฝ่ายวิเคราะห์ข้อมูลบอกอะไรกับนายกรัฐมนตรี จึงปรับเปลี่ยนท่าทีต่อประชาชนไปมากมายเช่นนี้

มองอีกด้านหนึ่ง ศูนย์กลางอำนาจเข้าไปควบคุมกลไกทางการเมืองมากขึ้น เปลี่ยนตัวหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐซึ่งเป็นพรรคแกนนำรัฐบาลมาเป็น “พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ” ทันทีที่มีมาตรการผ่อนคลายจากการเฝ้าระวังเข้มข้นเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 มาในระดับที่เรียกประชุมพรรคได้

ทั้งหมดนี้เป็นภาพของการบริหารอำนาจเคลื่อนมาในมิติของกลไกที่ให้ความสำคัญกับการยึดโยงกับประชาชนมากขึ้น

แต่อย่างไรก็ตาม ความมั่นใจในประชาชนดูเหมือนจะมีไม่มากนัก น่าจะยังมีความกังวลอยู่ลึกๆ ในพลังของฝ่ายที่ไม่สนับสนุน สะท้อนจากการคง “พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน” ไว้ เพื่อใช้อำนาจได้อย่างเด็ดขาด โดยอาศัยโควิด-19 มาเป็นข้ออ้าง ทั้งที่ยิ่งนับวันยิ่งรับรู้ว่า พ.ร.ก.ฉุกเฉิน แทบไม่ส่งผลอะไรกับการระบาดของโควิด

ภาพของประชาชนเท่านั้นที่ถูกบังคับตามมาตรการที่ออกโดย พ.ร.ก.ฉบับนี้ ขณะที่พฤติกรรมของผู้มีอำนาจครั้งแล้วคนเล่า คนโน้นที คนนี้ที สะท้อนว่าไม่ได้สนใจทำตามมาตรการดังกล่าวอะไรเลย

จนกระทั่งมีการอำกันว่าโควิด-19 ติดต่อได้เฉพาะประชาชนเท่านั้น ไม่ติดต่อผู้มีอำนาจ

นั่นคือภาพที่น่าสนใจว่าทำไมท่าทีของผู้มีอำนาจจึงเปลี่ยนไปท่ามกลางความกังวลอย่างที่ว่า

มีข้อมูลอีกด้านที่น่าสนใจ เป็นข้อมูลทางเศรษฐกิจ

เมื่อไม่กี่วันมานี้ กองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือ IMF ออกมาเปิดเผยถึงแนวโน้มเศรษฐกิจโลกว่าจะหดตัวลง 4.9% แย่กว่าที่คาดการณ์ไว้เมื่อเดือนเมษายนก่อนหน้านี้ว่าจะหดตัว 3% และประเมินว่าการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกปีหน้าจะมีแค่ 5.4% น้อยกว่าการคาดการณ์เมื่อเดือนเมษายนที่บอกว่าจะขยายตัว 5.8%

หมายถึงเศรษฐกิจโลกจะอาการหนัก

ประเทศไทยเราพัฒนามาถึงจุดที่ระบบเศรษฐกิจพึ่งพารายได้หลักอยู่ 2 ตัว คือ การส่งออกและการท่องเที่ยว

เศรษฐกิจโลกแบบนี้ การส่งออกดูท่าจะต้องเลิกพูดกันไปเลย ไม่เหลือความหวังอะไรอีกแล้ว

นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า โควิด-19 ทำให้คนไทยตกงานต้องกลับไปอยู่บ้าน 2 ล้านคน พร้อมย้ำว่า “เขาจะเอาอะไรกิน”

ขณะที่ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ที่เรียกติดปากว่า สภาพัฒน์ บอกว่าปีนี้จะมีคนตกงานประมาณ 8.4 ล้านคน ขณะที่ในภาคเอกชนเชื่อว่าน่าจะถึง 10 ล้านคน

มีข้อมูลว่าการส่งออกเดือนพฤษภาคมติดลบไปแล้ว 22%

นั่นเป็นวิกฤตของรายได้หลักตัวแรก

ส่วนตัวที่สองคือการท่องเที่ยว แทบไม่ต้องพูดถึง องค์การอนามัยโลก (WHO) คาดการณ์ว่ายอดผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ทั่วโลกอาจทะลุ 10 ล้านรายในสัปดาห์นี้

สายการบินราคาถูกเจ๊งกันระนาวทั่วโลก การเดินทางข้ามประเทศยังหามาตรการไม่ได้ว่าจะป้องกันการระบาดอย่างไร

เชื่อกันว่าการท่องเที่ยวจะหายไปไม่ต่ำกว่า 3 ปี นั่นหมายถึงกิจการที่เกี่ยวเนื่องจะต้องล้มลงอีกมากมาย

แต่ที่สำคัญที่สุดคือ เศรษฐกิจไทยพัฒนามาถึงจุดที่ไม่มีระบบงานในภาคอื่นที่ใหญ่พอจะรองรับคนที่ตกงานจากภาคส่งออก และภาคท่องเที่ยวได้

ภาคเกษตรซึ่งเคยเป็นรากฐานให้กลับไปพึ่งพาถูกทอดทิ้งมานานจนไม่เหลือสภาพที่จะรองรับชีวิตคนตกงานได้อีกแล้ว โดยเฉพาะชีวิตที่เคยชินกับงานที่ไม่เหนื่อยมาก และวิถีสุรุ่ยสุร่ายอันเกิดจากค่านิยมของคนเมือง

นั่นหมายถึงความเดือดร้อนจะเกิดขึ้นทุกหย่อมหญ้า ซึ่งจะชัดเจนขึ้นในเดือนตุลาคมที่กลไกผ่อนปรนค่าใช้จ่ายต่างๆ หมดวาระลง

ความเดือดร้อนของประชาชนเป็นปัญหาการเมือง ยิ่งความเดือดร้อนทุกข์ยากที่ดำเนินอยู่ในสังคมที่ความเหลื่อมล้ำสูงสุดในโลก ภาพความแตกต่างจะถูกปลุกให้เห็น

และนั่นหมายถึงปัญหาการเมืองจะตามมา

ใครที่ไม่ให้ความสำคัญกับประชาชนจะถูกท้าทายอำนาจอย่างหนัก

ฝ่ายที่ไม่พอใจรัฐบาลเหมือนจะรอเวลาเช่นนั้นอยู่

และนี่อาจจะเป็นคำตอบว่า ทำไมนายกรัฐมนตรีซึ่งเป็นผู้รู้ชะตากรรมอนาคตของประเทศที่สุด จึงต้องพลิกมาให้คุณค่ากับประชาชนอย่างมากมาย

ซึ่งต้องถือว่าเป็นเรื่องที่ถูกแล้ว

หากการ “เห็นหัวประชาชน” นั้นเกิดขึ้นเพราะความคิดว่าเป็นหนทางแก้ปัญหา

ไม่ใช่เกิดขึ้นเพราะ “คิดว่าเป็นวิธีเดียวที่เหลืออยู่ในอันที่จะรักษาอำนาจไว้ได้”

สุชาติ ศรีสุวรรณ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image