บทเรียน การเมือง จาก บวรศักดิ์ อุวรรณโณ ‘เขาอยาก อยู่ยาว’

สถานการณ์ของร่างรัฐธรรมนูญฉบับนายมีชัย ฤชุพันธุ์ กำลังอยู่ในสภาพคล้ายกับสถานการณ์ของร่างรัฐธรรมนูญฉบับนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ เมื่อเดือนกันยายน 2558

คล้ายตรงที่เป็น “ร่างรัฐธรรมนูญ”

ไม่คล้ายตรงที่ในเดือนสิงหาคม 2559 เป็นร่างรัฐธรรมนูญในความรับผิดชอบยกร่างของนายมีชัย ฤชุพันธุ์ ขณะที่ในเดือนกันยายน 2558 เป็นร่างรัฐธรรมนูญในความรับผิดชอบยกร่างของนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ

ความเป็นจริงที่มิอาจ “ปฏิเสธ” ได้ก็คือ ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ถูก “คว่ำ”

Advertisement

เหตุผลในการคว่ำ 1 คือไม่ต้องการให้ผ่าน สปช.เข้าไปสู่สนาม “ประชามติ” อีกเหตุผลในการคว่ำ 1 ก็อย่างที่นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ สรุปในภายหลังว่า

“เขาอยากอยู่ยาว”

มีความพยายามจะนำเอาเหตุผล “อยู่ยาว” มาอ้างอิงอีกครั้งหากว่าร่างรัฐธรรมนูญฉบับนายมีชัย ฤชุพันธุ์ ถูกคว่ำในสนามแห่ง “ประชามติ”

Advertisement

รับฟังแล้วเหมือนกับ “คมคาย” และ “ชาญฉลาด”

ทั้งๆ ที่สะท้อนท่วงทำนอง “กลิ้งกะล่อน” และใกล้เคียงอย่างยิ่งกับภูมิปัญญาในแบบของ “ศรีธนญชัย” หรือ “เซี่ยงเมี่ยง”

ประเภท กินหัว กินหาง กินกลางตลอดตัว

 

ต้องยอมรับว่าระหว่างสถานการณ์ของเดือนสิงหาคม 2559 กับสถานการณ์ของเดือนกันยายน 2558 อยู่ในกรอบแห่ง “ร่างรัฐธรรมนูญ” อย่างเดียวกัน

แต่ก็ด้วย “สภาพ” และ “เงื่อนไข” อันต่างกัน

สถานการณ์ของร่างรัฐธรรมนูญฉบับนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ เมื่อเดือนกันยายน 2558 เป็นสถานการณ์ที่ คสช.สามารถกำหนดได้อย่างเต็มเปี่ยม

กำหนดได้เพราะว่าอยู่ในกรอบแห่ง “สปช.”

เพราะว่า สปช.เป็น 1 ในแม่น้ำ 5 สาย สมาชิก สปท.ส่วนใหญ่อันเป็นด้านหลักล้วนได้รับการแต่งตั้งมาโดย คสช.ทั้งสิ้น

แต่สถานการณ์ของร่างรัฐธรรมนูญฉบับนายมีชัย ฤชุพันธุ์ ต่างออกไป

ต่างออกไปตรงที่เวทีแห่งการออกเสียง “ประชามติ” เป็นเรื่องของประชาชน อยู่ในกระบวนการแห่งการตัดสินใจของประชาชน

ตรงนี้ “กำกับ” และ “ควบคุม” ยาก

แม้จะพยายามร่าง พ.ร.บ.การออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2559 ให้ดำเนินไปในลักษณะเหมือนกับเป็น พ.ร.บ.การออกเสียงประชามติ “รับ” ร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2559

แต่ความเป็นจริงนับแต่เดือนเมษายนเป็นต้นมามิได้เป็นไปตามความต้องการ

ตรงนี้คือ “ตัวแปร” ตรงนี้คือ “ความละเอียดอ่อน”

 

เป็นความจริงที่ “ประชามติ” แตกต่างไปจาก “การเลือกตั้ง” แต่สภาพการณ์นับแต่ร่างรัฐธรรมนูญปรากฏออกมาแสดงออกอย่างเด่นชัดว่า

ยิ่งใกล้ถึงวันที่ 7 สิงหาคม ยิ่งเหมือนกับเป็น “การเลือกตั้ง”

เริ่มต้นจากพื้นฐานที่แยกเป็น 2 ฝ่าย ระหว่าง 1 ฝ่ายรับ กับ 1 ฝ่ายไม่รับ ขณะเดียวกัน จากจุดรับและไม่รับก็ต้องมี “เหตุผล” ดำรงอยู่เป็นมูลฐาน

นำไปสู่ร่างรัฐธรรมนูญเป็นประชาธิปไตย หรือไม่เป็นประชาธิปไตย

นำไปสู่ร่างรัฐธรรมนูญประชาชนมีส่วนร่วมมากน้อยเพียงใด หรือประชาชนแทบไม่มีส่วนร่วมเลยแม้แต่น้อยนิด

นำไปสู่ร่างรัฐธรรมนูญเป็นตัวแทนของอะไร

เป็นตัวแทนแห่งระบอบ “ประชาธิปไตย” หรือว่าเป็นตัวแทนแห่งระบอบอื่นซึ่ง “ไม่เป็น” ประชาธิปไตย

นำไปสู่การปะทะระหว่าง “ประชาธิปไตย” กับ “เผด็จการ”

ท่ามกลางการปะทะ ขัดแย้ง ถกแถลงอภิปรายอย่างเข้มข้น กระบวนการปฏิบัติ กระบวนการเคลื่อนไหวก็จะปรากฏให้เห็นอย่างเป็นรูปธรรม

นำไปสู่ “โจทก์” นำไปสู่ “จำเลย” ในทางการเมือง

คสช.อาจสามารถควบคุมมติและทิศทางในที่ประชุม “สปช.” ได้เหมือนกับควบคุม “สนช.” แต่แน่ใจมากน้อยเพียงใดว่าคุม “ประชามติ” ได้

 

ที่ว่าหากร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่าน “ประชามติ” เท่ากับประชาชนอยากให้ คสช.อยู่ยาว จึงเสมอเป็นเพียงเรื่องลวง

ลวงเพื่อทำให้กระบวนการ “ประชามติ” เกิดความไขว้เขว เบี่ยงเบน ยิ่งกว่านั้น ยังเท่ากับลวงให้แม้กระทั่งตนเองก็เกิดความเชื่อหากปรากฏผลออกมาว่าประชามติ “ไม่ผ่าน”

ทั้งๆ ที่สถานการณ์เดือนสิงหาคม 2559 ต่างกับสถานการณ์เดือนกันยายน 2558 อย่างยิ่งยวด

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image