เกษตรอินทรีย์ : พัฒนาอาชีพที่ใช้ชุมชนเป็นฐาน โดย สมพงษ์ จิตระดับ สุอังคะวาทิน

รัฐบาลมีโครงการเงินกู้โควิด-19 จำนวน 4 แสนล้านบาท เพื่อเป้าหมายฟื้นฟูเศรษฐกิจฐานรากและชุมชนที่เน้นสร้างงานรองรับการกลับสู่ต่างจังหวัด หน่วยราชการกระทรวง ทบวง กรม ได้ส่งเข้ามามากกว่า 34,263 โครงการ เงินงบประมาณมากถึง 841,269 ล้านบาท การวิเคราะห์ทำให้เห็นเนื้องาน การก่อสร้างถนน ขุดสระ พัฒนาแหล่งน้ำ ฟื้นฟู SMEs การฝึกอบรมเศรษฐกิจพอเพียง และอื่นๆ ด้วยจำนวนเงินและโครงการมากมายมหาศาลจะคุ้มค่ายั่งยืนเพียงใด นำโครงการเก่ามาปัดฝุ่นใหม่ใช่หรือไม่ เป็นเรื่องดำเนินการปกติหรือเปล่า ชุมชนมีส่วนร่วมเป็นเจ้าของมากน้อยแค่ไหน กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ขอเสนอทางเลือกการใช้ชุมชนเป็นฐานตามสังคมบริบทที่น่าสนใจดังนี้

“การทำเกษตรอินทรีย์ เป็นการผลิตอาหารที่ปลอดภัยจากพื้นที่ที่สภาพแวดล้อมดี ทั้งดิน น้ำ ปุ๋ย และอากาศที่สะอาด ซึ่งพื้นที่การเกษตรของเรามีความสมบูรณ์ครบทุกด้านเพราะเราไม่ได้ใช้สารเคมีเลย พืชผักที่ส่งไปยังผู้บริโภคจึงมีคุณภาพ และดีต่อสุขภาพแน่นอน” จากคำบอกเล่าของป้าทองม้วน พวงจันทร์ รองประธานกลุ่มเกษตรอินทรีย์บ้านโนนงิ้ว ตำบลหนองสนิท อำเภอจอมพระ จังหวัดสุรินทร์ หนึ่งในเกษตรกรตัวอย่างที่ทำเกษตรอินทรีย์ในพื้นที่ที่คำนึงถึงความปลอดภัยของผู้บริโภคมากกว่ารายได้

ซึ่งสอดคล้องกับแนวคิดขององค์การบริหารส่วนตำบลหนองสนิท อำเภอจอมพระ จังหวัดสุรินทร์ ที่ต้องการให้นักเรียนในพื้นที่ ได้บริโภคอาหารกลางวันจากวัตถุดิบที่มีคุณภาพ ซึ่งนอกจากเนื้อสัตว์ที่ต้องสะอาดแล้ว พืชผักที่นำมาประกอบอาหารก็ควรปลอดภัย ไร้สารเคมีเช่นกัน จึงจัดทำ “โครงการพัฒนาศักยภาพเกษตรกรในการเพิ่มคุณภาพและมาตรฐานผลผลิตทางการเกษตร” ขึ้น โดยทุนพัฒนาอาชีพที่ใช้ชุมชนเป็นฐาน กสศ. โดยมีป้าทองม้วน เกษตรกรอินทรีย์ต้นแบบเข้าร่วมโครงการด้วย

Advertisement

“ป้าเห็นว่านี่เป็นการสร้างโอกาสในการประกอบอาชีพให้คนในชุมชน ทำให้มีรายได้ ไม่ว่างงาน อีกทั้งยังช่วยส่งเสริมคุณภาพชีวิตเกษตรกร และคุณภาพผลผลิตทางการเกษตรด้วย” ป้าทองม้วนบอกเหตุผล

ป้าทองม้วนเล่าต่อว่า ป้าทำเกษตรอินทรีย์ตั้งแต่ปี 2550 ก่อนหน้านี้เป็นแกนนำกลุ่มเกษตรอินทรีย์ในชุมชน เมื่อหมดฤดูปลูกข้าวก็ชักชวนเกษตรกรในชุมชนที่สนใจลงมือปลูกพืชหลังนา ด้วยการปลูกผักอินทรีย์เพื่อสร้างรายได้ ป้าตั้งใจมาตลอดว่าอยากจะรวมกลุ่มเพื่อให้การทำเกษตรอินทรีย์ยั่งยืน ดีใจที่มีโครงการนี้เข้ามาในชุมชนเพราะช่วยให้การทำเกษตรอินทรีย์ให้เป็นรูปธรรมมากขึ้น โดยมีการให้ความรู้เรื่องเกษตรอินทรีย์ให้กับปราชญ์ชาวบ้านที่มีความสนใจ และมีความรู้เรื่องเกษตรปลอดภัยเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว ซึ่งป้าเองก็เป็นทั้งผู้เข้าร่วมโครงการและเป็นปราชญ์ชาวบ้านที่ให้ความรู้กับคนในชุมชนด้วย โดยกลุ่มเป้าหมายที่เข้าร่วมโครงการจะมี 10 หมู่บ้าน แต่ละหมู่บ้านจะมีปราชญ์ชาวบ้านหมู่ละ 1 คน คอยเข้าไปชวนกลุ่มเป้าหมายพูดคุย แลกเปลี่ยนทัศนคติ และถ่ายทอดความรู้ให้กับชาวบ้าน เช่น ก่อนเริ่มเพาะปลูกก็จะสอบถามว่าต้องการปลูกพืชอะไรบ้าง ใครถนัดด้านใด ดูความต้องการของชาวบ้านเป็นตัวตั้ง แล้วหลังจากนั้นก็แบ่งกลุ่มทำเกษตรอินทรีย์ ให้กับสมาชิกทั้ง 80 คน โดยจัดสรรแบ่งพื้นที่เพาะปลูกส่วนกลางของกลุ่ม 9 ไร่ ให้กับสมาชิก 36 คน ส่วนสมาชิกกลุ่ม 44 คนใช้พื้นที่เพาะปลูกของตัวเอง

สำหรับการเพาะปลูก สมาชิกจะปลูกผักตามตารางที่กำหนด ซึ่งแต่ละกลุ่มจะปลูกไม่ซ้ำกัน เพื่อให้สอดคล้องกับการจัดเมนูอาหารกลางวันของโรงเรียนในชุมชน และหมุนเวียนตามความต้องการของตลาดภายนอกด้วย โดยกลุ่มเกษตรอินทรีย์ที่ใช้พื้นที่เพาะปลูกส่วนกลางทั้ง 36 คน จะแบ่งเป็น 6 กลุ่มย่อย เพื่อปลูกผักแต่ละชนิดตามช่วงวันที่กำหนด อย่างเช่น ผักชี ต้นหอม โหระพา ผักบุ้ง คะน้า กวางตุ้ง จะต้องปลูกทุกวันที่ 5, 10 และ 15 ตามลำดับ ในส่วนของป้าทองม้วนจะปลูกผักอินทรีย์ในพื้นที่เพาะปลูกของตัวเอง ผักที่ปลูกจะมีทั้งฟักทอง ฟักเขียว มันเทศ แตงโม และผักสลัด เป็นหลัก แต่ช่วงนี้จะปลูกผักกาดแก้ว ฟักทอง และแตงไทย เมื่อได้พืชผักตามต้องการจึงจัดส่งไปยังพื้นที่ส่วนกลางของกลุ่มเพื่อดำเนินการจัดส่งไปยังโรงเรียนในชุมชนเพื่อประกอบอาหารกลางวันต่อไป ส่วนตลาดภายนอกก็จะส่งให้กับห้างสรรพสินค้า โรงพยาบาล และวางขายที่หน้าแปลงผักด้วย ทำให้เกษตรกรมีรายได้เฉลี่ยวันละ 400-600 บาท

“แต่ก่อนชาวบ้านนิยมปลูกพืชเชิงเดี่ยว เช่น อ้อย มันสำปะหลัง เพราะปลูกขายแต่ละครั้งจะได้เงินเยอะ แต่เงินก็หมดไปกับการใช้หนี้ที่เป็นต้นทุนการปลูก เมื่อเปลี่ยนมาทำเกษตรอินทรีย์ถึงแม้จะไม่มีรายได้เป็นกอบเป็นกำ แต่ก็มีรายได้ทุกวัน ต้นทุนในการเพาะปลูกลดลง เพราะไม่ได้ใช้สารเคมี ผักที่ปลูกขายก็บริโภคเอง รายจ่ายในครัวเรือนก็ลดลงตามไปด้วย ถึงรายได้จะเพิ่มขึ้นทีละเล็กทีละน้อยแต่ชาวบ้านกลับภูมิใจ และกระตือรือร้นในการทำเกษตรอินทรีย์มากขึ้น ซึ่งป้าเชื่อว่าการทำเกษตรอินทรีย์จะเป็นการสร้างรายได้ สร้างอาชีพและสร้างความมั่นคงทางอาหารให้กับคนในชุมชนหนองสนิท และเป็นส่วนหนึ่งในการส่งต่ออาหารปลอดภัยไปยังผู้บริโภคอีกด้วย”

ปัจจุบันโครงการพัฒนาศักยภาพเกษตรกรในการเพิ่มคุณภาพและมาตรฐานผลผลิตทางการเกษตร โดย อบต.หนองสนิท อำเภอจอมพระ จังหวัดสุรินทร์ เป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เกิดสหกรณ์การเกษตรพืชผักอินทรีย์หนองสนิท จำกัด ที่บริหารจัดการโดยกลุ่มเป้าหมายในโครงการ ส่งผลผลิตผักอินทรีย์ที่ได้รับมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ ออร์แกนิค
ไทยแลนด์ระยะปรับเปลี่ยนของกรมวิชาการเกษตร ออกจำหน่ายให้แก่คนในชุมชนหน้าแปลงปลูกทุกวัน สร้างรายได้หมุนเวียนในชุมชน ทั้งยังส่งผักให้โรงเรียนและศูนย์เด็กเล็กทุกแห่งในตำบลหนองสนิท ส่งให้โรงพยาบาลจอมพระใช้ประกอบอาหารให้ผู้ป่วย ส่งให้ท็อปส์ ซูเปอร์มาร์เก็ต โรบินสันสุรินทร์ และยังมีธนาคารผักอินทรีย์หนองสนิท
ดิลิเวอรี ส่งผู้บริโภคในตำบลอีกด้วย

การใช้ชุมชนเป็นฐานจึงต้องเริ่มจากคนในชุมชนช่วยกันคิด เป็นเจ้าของโจทย์โครงการ การมีส่วนร่วมจากภายในทุกภาคส่วน (Inside Out) วิเคราะห์ชุมชน สำรวจทุนทรัพยากร งบประมาณ ผู้นำคนรุ่นใหม่ เครือข่ายชุมชน ร่วมกันออกแบบการเรียนรู้ ฝึกอบรม สร้างงานต่อยอดองค์ความรู้ เชื่อมโยงตลาดแรงงานและสินค้า ผ่านออนไลน์ ทุกคนช่วยเหลือพึ่งพากัน สิ่งเหล่านี้ล้วนสร้างความมั่นคงยั่งยืนของชุมชนได้ ผิดกับโครงการ 4 แสนล้านบาท กว่า 3 หมื่นโครงการของรัฐบาลที่ดูเหมือนจะตำน้ำพริกละลายแม่น้ำอีกครั้ง จึงน่าจะพิจารณาทบทวนกันให้ดี

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image