CPTPP : หายนะเกษตรกรรมไทย โดย ดร.ไพทัน ตระการศักดิกุล, ตระการ ไตรพิเชียรสุข

สหประชาชาติมีเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable development Goals) อันเป็นกรอบทิศทางการพัฒนาโลกในอนาคต โดยหลักสำคัญหนึ่งของเป้าหมายดังกล่าว คือ การขจัดปัญหาความยากจนและความเหลื่อมล้ำระหว่างชนชั้น ซึ่งจะเป็นไปได้ก็ต่อเมื่อมีการกระจายความมั่งคั่งไปสู่ประชาชนชาวรากหญ้า หรืออีกนัยหนึ่งคือการสร้างโอกาสทางธุรกิจเพื่อให้เกษตรกรไทยหลุดพ้นจากความยากจน แต่ทว่าสนธิสัญญาการค้า CPTPP ที่บังคับใช้อนุสัญญาสหภาพเพื่อคุ้มครองพืชพันธุ์ใหม่ ปี 1991 (UPOV 1991) เป็นการทำลายกรอบการพัฒนาโลกอย่างยั่งยืนดังกล่าว พิจารณาได้จาก Article 14 ของ UPOV 1991 ที่ว่า “The following acts in respect of the propagating material of the protected variety shall require the authorization of the breeder:

(i) production or reproduction (multiplication),

(ii) conditioning for the purpose of propagation,

(iii) offering for sale,

Advertisement

(iv) selling or other marketing,

(v) exporting,

(vi) importing,

Advertisement

(vii) stocking for any of the purposes mentioned in (i) to (vi), above”

ซึ่งความหมายคือผู้ต้องการใช้เมล็ดพันธุ์ที่ได้รับการพัฒนาแล้ว จำเป็นที่จะต้องได้รับการอนุญาตจากผู้พัฒนาพันธุ์พืช ในการดังต่อไปนี้

1.การผลิตหรือการผลิตซ้ำเมล็ดพันธุ์ (การเพิ่มจำนวน)

2.การเตรียมเมล็ดพันธุ์เพื่อประสงค์ขยายพันธุ์

3.การเสนอขาย

4.การขาย หรือเพื่อการตลาดใดๆ

5.การส่งออก

6.การนำเข้า

7.การเก็บรักษาสำหรับการกระทำใดๆ ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อการข้อที่ 1 ถึง 6

หากพิจารณาอย่างผิวเผินจะเห็นได้ว่า UPOV 1991 มีไว้เพื่อวัตถุประสงค์ของการปกป้องลิขสิทธิ์พันธุ์พืชอันคล้ายคลึงกับกฎหมายลิขสิทธิ์ แต่เมื่อพิจารณาต่อไปยัง article 15 (1) ที่ว่า “The breeder’s right shall not extend to (i) acts done privately and for non-commercial purposes, (ii) acts done for experimental purposes and (iii) acts done for the purpose of breeding other varieties, and, except where the provisions of Article 14(5) apply, acts referred to in Article 14(1) to (4) in respect of such other varieties”

ตามความหมายดังกล่าว แน่นอนว่าผู้พัฒนาพันธุ์อนุญาตให้เกษตรกร (ผู้ใช้เมล็ดพันธุ์) สามารถเก็บเมล็ดพันธุ์ไว้ใช้ส่วนตัว รวมถึงสามารถทำการทดลอง พัฒนาเมล็ดพันธุ์ได้ แต่เมื่อพิจารณาย้อนกลับไปใน article 14 จะเห็นได้ว่า “การกระทำใดๆ ที่เกี่ยวข้องกับการค้า ตั้งแต่ข้อที่ 1-7” จำเป็นที่ต้องได้รับการอนุญาตจากผู้พัฒนาพันธุ์เท่านั้น
ความหมายที่แท้จริงคือ เกษตรกรไม่สามารถเก็บหรือปลูกพืชพันธุ์เพื่อวัตถุประสงค์ทางการค้า เช่น ขายเพื่อหารายได้ และทำกำไรได้ เปรียบเสมือนข้อยกเว้นให้นกที่อยู่ในกรง ได้รับอนุญาตให้กินอาหาร เดินไปมา เพื่อประทังชีวิตอยู่ไปวันต่อวันเท่านั้น

สนธิสัญญาการค้าโดยทั่วไปจะสามารถเจรจาต่อรองในประเด็นต่างๆ ได้ แต่สนธิสัญญา CPTPP เป็นสนธิสัญญาการค้าที่มิอาจต่อรองแก้ไขในรายละเอียด นอกเสียจากได้รับฉันทานุมัติอันเป็นเอกฉันท์ของรัฐสมาชิกในกลุ่มก่อนหน้า (take it or leave it) และหากเกิดความคลุมเครือในการตีความ กลุ่มประเทศภาคีสมาชิกที่เข้าร่วมก่อนย่อมจะตีความเพื่อประโยชน์ของตนเอง

นอกจากนี้ เมื่อพิจารณาเนื้อหาใน article 14 และ article 15 ของ UPOV 1991 จะพบว่ากลุ่มเกษตรกรรายย่อยส่วนใหญ่คือผู้สูญเสียสิทธิประโยชน์ กลุ่มอุตสาหกรและกลุ่มทุนขนาดใหญ่คือผู้ได้สิทธิประโยชน์เป็นกลุ่มหลัก ซึ่งสิทธิประโยชน์ที่ได้นี้ไม่แน่นอนเพราะอุตสาหกรรมยานยนต์ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมหลักที่จะได้รับประโยชน์จากสนธิสัญญา CPTPP ได้รับผลกระทบจาก technology disruption เช่น เทคโนโลยีรถยนต์ไฟฟ้า, เทคโนโลยีรถยนต์ไร้คนขับ, hydrogen cell สูงมาก และการเข้าร่วมสนธิสัญญา CPTPP ทำให้พืชพันธุ์เกษตรกรรมของไทยจะถูกยึดสิทธิจากผลกระทบ biotechnology disruption (ยึดสิทธิพันธุ์พืชโดยเอาการวิจัยและพัฒนามาบังหน้า เช่น กรณีการตัดแต่งพันธุ์ข้าวโพดให้รากข้าวโพดมีสีแตกต่างออกไป โดยที่ผลผลิตเหมือนเดิม ก็ถือว่าเป็นพืชพันธุ์ใหม่แล้ว และบรรษัทข้ามชาติมีสิทธิในพันธุ์พืชนั้นแล้ว) ซึ่งทำให้มีผู้มีสิทธิเพาะปลูกพืชพันธุ์นั้นมากขึ้นจากการได้ลิขสิทธิ์ในการขายเมล็ดพันธุ์ให้ใครก็ได้

ผลกระทบที่เกิดขึ้นก็คือราคาผลผลิตเกษตรกรรมจะมีแนวโน้มตกต่ำลงในอนาคต เนื่องจากมีอุปทานล้นตลาด (oversupply) ทั้งจากฟากผลผลิตที่มีประสิทธิผลต่อไร่สูงขึ้น (จากพันธุ์ที่ดีขึ้น) และจำนวนผู้ผลิตที่มากขึ้น (เพราะประเทศไทยไม่สามารถควบคุมจำนวนผู้เพาะปลูกเมล็ดพันธุ์ทั้งในและต่างประเทศ เนื่องจากเป็นลิขสิทธิ์ของผู้อื่น) ประกอบกับในปัจจุบันสินค้าเกษตรอยู่ในภาวะล้นตลาดอยู่บ่อยครั้ง จึงมีความเป็นไปได้สูงว่าการเข้าลงนามในสนธิสัญญา CPTPP จะทำให้ราคาสินค้าเกษตรตกต่ำลงกว่าเดิมมาก

ยิ่งไปกว่านั้น ในกรณีที่พืชพันธุ์ตัดต่อพันธุกรรมมีศักยภาพในการทำกำไรสูงจะทำให้บรรษัทข้ามชาติมีแรงจูงใจทำการผูกขาดอุตสาหกรรมการเกษตรชนิดนั้นทั้งต้นน้ำ (seed industry domination) กลางน้ำ (smart farming, contract farming) ปลายน้ำ (global digital trade) กล่าวคือตั้งแต่เมล็ดพันธุ์ที่ผู้ประกอบการรายเล็กไม่สามารถแข่งขันในตลาดได้ เช่น ในกรณีเมล็ดพันธุ์ข้าวโพด ด้านการเพาะปลูกผลผลิตก็ไม่สามารถแข่งขันได้เพราะบริษัทต่างชาติมีโรงเรือนเพาะเลี้ยงที่ดีกว่า รวมทั้งการทำ contract-farming ในประเทศไทย หรือด้วยการซื้อที่/เช่าที่เพาะปลูกในประเทศที่ใกล้เคียง เช่นเดียวกันกับที่ จีนลงทุนปลูกทุเรียนในลาว และมีช่องทางการขายระดับโลกทาง E-commerce global platforms

จึงเห็นได้ว่ายิ่งประเทศภาคีสมาชิกพัฒนาเมล็ดพันธุ์ได้ดียิ่งขึ้นเท่าไหร่ ยิ่งเป็นการสุ่มเสี่ยงต่อการทำลายเกษตรกรรมไทยมากขึ้นเท่านั้น แต่เหตุการณ์เช่นนี้จะไม่เกิดขึ้น ถ้าลิขสิทธิ์พันธุ์พืชยังเป็นของประเทศไทยและกลุ่มประเทศที่เน้นการเกษตรกรรมอยู่

ปัจจุบันนี้ประเทศไทยอยู่ในสภาพที่องค์กรส่วนใหญ่ไม่สามารถพัฒนาเทคโนโลยีให้เกิดเป็นข้อได้เปรียบทางการแข่งขันทางการค้าในเวทีโลกได้ จึงจำเป็นต้องพึ่งพาการลงทุนจากต่างชาติในอุตสาหกรรมต่างๆ ในการกระตุ้นเศรษฐกิจตามคำกล่าวของ ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ซึ่งการเข้าร่วมสนธิสัญญา CPTPP จะยิ่งเป็นการตอกย้ำให้ประเทศไทยอยู่ในภวังค์วนของการพึ่งพาเทคโนโลยีของต่างชาติอยู่ร่ำไป เนื่องจากเมล็ดพันธุ์พืชอันเป็นมรดกคู่แผ่นดินไทยของเรานั้นมีองค์ประกอบและโครงสร้างทางชีวภาพที่เทคโนโลยีปัจจุบันไม่สามารถสร้างสรรค์ขึ้นมาเทียบเทียมได้ หากรัฐบาลไทยเปิดโอกาสให้ชาติอื่นยึดสิทธิเมล็ดพันธุ์ของประเทศผ่านการวิจัยและพัฒนาเปรียบเสมือนเป็นการยกเทคโนโลยีทางการเกษตรที่ธรรมชาติและบรรพบุรุษไทยได้มอบให้เรามาแก่เขานั่นเอง ซึ่งจะทำให้การเกษตรกรรมไทยต้องติดกับซ้ำรอยกับอุตสาหกรรมไทยที่ต้องรอคอยพึ่งพาเทคโนโลยีและการลงทุนจากต่างชาติเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจไทย เป็นครั้งคราวไป ไม่สามารถยืนอยู่บนขาตัวเองได้เช่นเดียวกัน

ในขณะที่ประเทศที่พัฒนาแล้วได้คิดค้นเทคโนโลยีล้ำหน้าต่างๆ และอ้างสิทธิโดยชอบธรรมโดยสร้างกฎเกณฑ์ให้เราต้องปฏิบัติตาม เมื่อประสงค์ที่จะใช้ หรือ
ต่อยอดเทคโนโลยีเหล่านั้น ประเทศไทยและกลุ่มประเทศเกษตรกรรมผู้เป็นเจ้าของพืชพันธุ์ทั้งทางการเกษตร และปศุสัตว์ทั่วโลก ต้องร่วมกันเป็นผู้ออกกฎเกณฑ์ของอุตสาหกรรมทางการเกษตร หากกลุ่มประเทศอื่นๆ ประสงค์ที่จะใช้ประโยชน์หรือทำการวิจัยตัดต่อพันธุกรรมพืชพันธุ์ของตนเฉกเช่นเดียวกัน ดังนั้น การแก้ไขปัญหาความยากจนทั้งในประเทศไทยและประเทศเกษตรกรรมทุกประเทศทั่วโลกให้เกิดผลสำเร็จขึ้นเป็นรูปธรรมสอดคล้องกับหลักการ SDGs ของสหประชาชาติได้นั้น จำเป็นต้องรวมกลุ่มประเทศเกษตรกรรมหลักของโลกให้มีการกำหนดกฎเกณฑ์วิธีการให้เป็นหนึ่งเดียวกัน เช่นกับการรวมกลุ่มประเทศผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่ของโลก (OPEC) เพื่อสร้างอำนาจการต่อรองในการรักษาสิทธิพืชพันธุ์ สิทธิในการเพาะปลูก และอำนาจการตั้งราคาสินค้าเกษตรกรรมให้สูงขึ้น อันนำมาสู่การยกระดับรายได้ของเกษตรกรทุกประเทศให้สูงขึ้นได้อย่างยั่งยืนพร้อมกันทั่วโลก ซึ่งมีตัวอย่างที่รัฐบาลไทยในอดีตได้ดำเนินการให้เห็นประจักษ์ คือนโยบายรวมกลุ่มประเทศส่งออกยางพารารายใหญ่ของโลก อันประกอบไปด้วย ไทย มาเลเซีย อินโดนีเซีย ทำให้ราคาแผ่นยางพาราสูงขึ้นกว่า 100 บาท ซึ่งการรวมกลุ่มดังกล่าวเป็นเพียงการรวมกลุ่มปลายน้ำของอุตสาหกรรมยางพาราเท่านั้น หากเราสามารถรวมกลุ่มประเทศเกษตรกรรมเข้าบริหารจัดการตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำของอุตสาหกรรมการเกษตรโลกทุกภาคส่วนได้ อันถือได้ว่าเป็นสิทธิอันชอบธรรมเท่าเทียมในการจัดระเบียบโลกการเกษตรใหม่ในยุคหลัง covid-19 ก็เป็นโอกาสที่เกษตรกรจะมีความมั่งคั่งเฉกเช่นเดียวกับอุตสาหกรในภาคอุตสาหกรรมในอนาคตอันใกล้นี้

เนื่องจากสนธิสัญญาการค้าเสรีส่วนใหญ่มักมีข้อตกลงเกี่ยวข้องกับสิทธิในเมล็ดพันธุ์ เช่น Thai-EU FTA เป็นต้นรัฐบาลต้องปลูกฝังทัศนคติและความตระหนักในคุณค่าความเป็นเจ้าของพืชพันธุ์ให้แก่ข้าราชการ และประชาชนทุกหมู่เหล่า มิฉะนั้นจะเกิดปัญหาเช่นในกรณี CPTPP ที่ยกสิทธิพันธุ์พืชไปแลกกับการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้นอีกไม่รู้จบสิ้น กลุ่มผู้มีอำนาจหน้าที่ในการเจรจาการค้าระหว่างประเทศ จำเป็นที่จะต้องได้รับการปรับทัศนคติให้มีความคิดหวงแหนความเป็นเจ้าของพืชพันธุ์ด้วย รัฐบาลไทยจึงควรเจรจาสนธิสัญญาการค้าเสรีทั่วโลกเฉพาะที่สามารถปรับเปลี่ยนข้อตกลงได้โดยยืนอยู่บนอนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ (Convention on Biological Diversity : CBD) หรือสนธิสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยทรัพยากรพันธุ์พืชเพื่ออาหารและการเกษตร (International Treaty on plant Genetic Resources for food and agricultural : ITPGR) ไม่ใช่ UPOV 1991 ที่เปิดช่องให้ต่างชาติเข้าทำการผูกขาดสิทธิพันธุ์พืชอันเป็นมรดกแผ่นดินของชาวไทยทุกคน

บัดนี้ถึงเวลาแล้วที่รัฐบาลไทยต้องเลือกที่จะเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มประเทศผู้กำหนดกฎเกณฑ์การเกษตรของโลกให้กลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้วต้องเดินตามและเป็นที่สรรเสริญไปตลอดกาลนาน หรือจะเป็นผู้เดินตามกฎเกณฑ์ที่กลุ่มประเทศตะวันตกใช้ในการครอบงำการเกษตรของไทยและของโลก ซึ่งลูกหลานเกษตรกรไทยจะพากันสาปแช่งไปชั่วกัลปาวสาน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image