ตามรอยมอริส คอลลิสในพม่า โดย ลลิตา หาญวงษ์

หากลองนึกถึงวรรณกรรมภาษาอังกฤษที่เกี่ยวกับพม่า ผู้อ่านที่คุ้นเคยกับพม่าอยู่บ้างอาจจะนึกถึงงานเขียนเรื่อง Burmese Days ของจอร์จ ออร์เวลล์ ที่ตีพิมพ์มาตั้งแต่ปี 1934 และงานเขียนร่วมสมัยของอมิตาภโกช (Amitav Ghosh) นักเขียนนามอุโฆษชาวอินเดีย เรื่อง The Glass Palace หรือในฉบับภาษาไทยว่า ร้าวรานในวารวัน ซึ่งตีพิมพ์โดยสำนักพิมพ์มติชน บ้างคุ้นเคยกับงานศึกษาของสุดาห์ ชาห์ (Suda Shah) ผู้เขียนหนังสือขายดีเรื่อง The King in Exile: the fall of the royal family of Burma หรือที่เรารู้จักกันดีในชื่อภาษาไทยว่า ราชันผู้พลัดแผ่นดินเมื่อพม่าเสียเมือง ซึ่งคุณสุภัตรา ภูมิประภาส ได้แปลออกมาอย่างหมดจดงดงามยิ่ง น้อยคนนักที่จะคุ้นเคยกับชื่อของ มอริส คอลลิส (Maurice Collis)

มอริส คอลลิสคือใคร…?

เมื่อครั้งผู้เขียนไปทำวิจัยที่พม่าเมื่อหลายปีก่อน ถนนปานโซดาน (Pansodan Road) ยังคลาคล่ำไปด้วยแผงหนังสือมือสอง ที่ส่วนใหญ่เป็นร้านแบกะดิน หนังสือส่วนใหญ่เป็นหนังสือมือสองสภาพไม่ค่อยดีนัก มีตั้งแต่ตำราการแพทย์เมื่อหลายสิบปีที่แล้ว หนังสือเรียนอื่นๆ และนิยายพ็อคเก็ตบุ๊ก และในบรรยากาศยุคที่พม่าปิดประเทศ ตั้งแต่ทศวรรษ 1960 มาจนถึงปี 2012 หนังสือใหม่ๆ เป็นสมบัติที่มีค่าและหาได้ยากยิ่งในพม่า เมื่อหนังสือใหม่ๆ เป็นของหายาก ผู้เขียนมักแวะเวียนไปร้านหนังสือ
แบกะดินเจ้าประจำและสั่งหนังสือที่ต้องการเสมอ แต่ทุกครั้งที่ไปเยี่ยมเยียนแผงหนังสือของ “จะปาน จี” (Japan Gyi) ก็จะเห็นหนังสือของมอริส คอลลิสวางขายอยู่ตลอด ทั้งที่มีสภาพพอใช้ และสภาพที่ย่ำแย่ แบบที่แทบจะหยิบมาอ่านไม่ได้

ในฐานะนักวิจัยที่อ่านเอกสารของรัฐบาลอาณานิคมในพม่ามาพอสมควร ผู้เขียนเคยได้ยินชื่อเสียงเรียงนามของมอริส คอลลิสมาก่อนแล้ว เพราะอาชีพหลักของคอลลิสไม่ใช่นักเขียน แต่เป็นผู้พิพากษาระดับสูง และเป็น “คนวงใน” ที่อยู่ในการตัดสินคดีสำคัญๆ ในพม่าตั้งแต่ทศวรรษ 1920 อันเป็นช่วงที่กระแสชาตินิยมในพม่าเริ่มมาแรง และการประท้วงต่อต้านเจ้าอาณานิคมในลักษณะต่างๆ กลายเป็นภาพชินตาของข้าราชการในระบบอาณานิคมแบบคอลลิส

Advertisement
มอริส คอลลิสในบั้นปลายชีวิต ภาพถ่ายโดย Ida kar ลิขสิทธิ์ของ National Portrait Gallery, London
(ที่มา:https://www.insideasiatours.com/blog/2016/07/21/trials-burma-remembering-maurice-collis)

คอลลิสเป็นชาวไอร์แลนด์จากดับลินโดยกำเนิด หลังจากสำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด เขาเลือกเข้ารับราชการในระบบอาณานิคม ที่เรียกว่า Indian Civil Service (ICS) และถูกส่งไปประจำพม่าในปี 1912 ในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 1 คอลลิสถูกส่งไปประจำปาเลสไตน์ชั่วคราว แต่ในที่สุดก็ย้ายกลับมาประจำที่พม่าในตำแหน่งข้าหลวงประจำรัฐยะไข่ ก่อนจะย้ายไปเป็นผู้ช่วยเลขานุการข้าหลวงประจำพม่าในยุคของเซอร์สเปนเซอร์ ฮาร์คอร์ท บัทเลอร์ (Sir Spencer Harcourt Butler) และเป็นผู้พิพากษาประจำมณฑลย่างกุ้ง ซึ่งเป็นตำแหน่งสุดท้ายของคอลลิสในพม่า

มอริส คอลลิสในฐานะนักเขียน

ข้าราชการอังกฤษในพม่าอาจจดจำคอลลิสได้ในฐานะข้าราชการ ICS ชาวไอริชผู้กว้างขวาง แต่สำหรับผู้ที่สนใจวรรณกรรมยุคอาณานิคม มอริส คอลลิสคือนักเขียนที่มีผลงานฝากไว้ถึง 30 เรื่อง หนังสือส่วนใหญ่ที่คอลลิสเขียนเป็นเรื่องเกี่ยวกับพม่า มีทั้งที่เป็นอัตชีวประวัติ เรื่องแต่ง และนิยายกึ่งสารคดีอีกมากมาย และก็มีอีกส่วนหนึ่งที่เกี่ยวกับดินแดนหรือประเด็นที่เขาสนใจ ดังปรากฏในหนังสืออย่าง Siamese White (ตีพิมพ์ครั้งแรกปี 1947) ที่กล่าวถึงแซมมวล ไวท์ (Samuel White) ผู้เคยทำงานในราชสำนักสมเด็จพระนารายณ์มหาราช แต่กลับเป็นชาวต่างชาติที่ไม่เป็นที่รู้จักในหมู่ผู้สนใจประวัติศาสตร์ไทย หรือหนังสือประวัติศาสตร์อ่านสนุกเรื่อง Foreign Mud: Being an Account of the Opium Imbroglio at Canton in the 1830s and the Anglo-Chinese War That Followed (ตีพิมพ์ในปี 1948) ที่กล่าวถึงการค้าฝิ่นในกวางตุ้งและสงครามฝิ่น

Advertisement

คอลลิสเขียนหนังสือหลากหลายประเภทออกมาหลายสิบเล่ม แต่ผู้เขียนมองว่าเขาเรียบเรียงหนังสือประเภทอัตชีวประวัติและชีวประวัติได้ยอดเยี่ยมที่สุด หนึ่งในหนังสือที่ทำให้เขาเป็นที่จดจำมากที่สุด ได้แก่ Trials in Burma (การพิจารณาคดีในพม่า) ซึ่งเป็นหนังสืออัตชีวประวัติบอกเล่าประสบการณ์ในศาลระดับเขต และการไต่สวนคดี 3 คดี ที่ชี้ให้เห็นการวิพากษ์ระบอบอาณานิคมอันเจ็บแสบของคอลลิส คดีแรกที่คอลลิสเขียนถึงคือคดีที่ชายชาวอังกฤษผู้หนึ่งนามถูกกล่าวหาว่าฆ่าผู้รับใช้ของตัวเอง โดยการตบบ้องหูอย่างรุนแรง คอลลิสตัดสินใช้ชายอังกฤษผู้นั้นไม่มีความผิด เพราะหากเขาตัดสินให้ชาวอังกฤษมีความผิด ก็จะเกิดความวุ่นวายและการประท้วงอย่างรุนแรงในชุมชนคนขาวในพม่าได้ แต่คอลลิส
ตำหนิชายชาวอังกฤษผู้นั้นอย่างรุนแรง ว่าปล่อยปละละเลยไม่พาผู้รับใช้ไปโรงพยาบาล จนทำให้ผู้รับใช้ชาวพม่าเสียชีวิต การ “ตำหนิ” ผู้ที่ขึ้นชื่อว่าเป็น “ผู้ปกครอง”, “เจ้าอาณานิคม” หรือ “ตะขิ่น” (thakin) ในภาษาพม่า เป็นเรื่องไม่ปกติ และทำให้คอลลิสเองถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างรุนแรงในหมู่ผู้พิพากษาในพม่า

ในกรณีที่สอง คอลลิสตัดสินจำคุกผู้ว่าการเมืองกัลกัตตา นามว่าจาตรินดรา โมหัน เซนกุปตา (Jatrindra Mohan Sengupta) เป็นเวลา 10 วันในข้อหายุยงปลุกปั่น เซนกุปตามีความสนิทกับมหาตมะ คานธี และเข้าไปเคลื่อนไหวในพม่าเพื่อปลุกระดมชาวพม่าให้ต่อต้านรัฐบาลอังกฤษ ในกรณีนี้ ผู้พิพากษาคนอื่นๆ ก็มองว่าคอลลิสสั่งจำคุกเซนกุปตาสั้นเกินไป ส่วนในกรณีสุดท้าย คอลลิสสั่งจำคุกทหารอังกฤษ 3 นายเป็นเวลา 3 เดือน ในข้อหาทำร้ายร่างกายผู้หญิงพม่า 2 คนจนได้รับบาดเจ็บสาหัส แน่นอน ชุมชนคนอังกฤษในพม่ามองว่าคอลลิสตัดสินคดีนี้รุนแรงเกินไป และทหารอังกฤษทั้งสามควรได้รับโทษสถานเบา เพราะเพียงแต่ทำร้ายร่างกาย “คนพื้นเมือง”

คอลลิสเป็นข้าราชการที่ออกจะพิเศษกว่าข้าราชการอาณานิคมคนอื่นๆ ในพม่า อาจเป็นเพราะเขาเกิดในดับลิน และความรุนแรง ตลอดจนการเลือกปฏิบัติที่อังกฤษปฏิบัติกับไอร์แลนด์มานาน ทำให้คอลลิสเห็นอกเห็นใจชาวพื้นเมืองมากเป็นพิเศษ ทัศนคติแบบบูรพทิศนิยม (orientalism) เป็นพื้นฐานของงานเขียนของคอลลิส รวมทั้งผู้ที่ต่อต้านความไม่เป็นธรรมของระบอบอาณานิคมคนอื่นๆ อย่างจอร์จ ออร์เวลล์ (George Orwell) นักเขียนชื่อดังที่เคยมีประสบการณ์ในพม่าเช่นกัน แม้คนเหล่านี้จะเป็นคนกลุ่มน้อยในเวลานั้น

แต่งานเขียนของคอลลิสและนักเขียนในกลุ่มนี้คนอื่นๆ ก็เป็นแรงบันดาลใจให้กับนักเขียนและข้าราชการอาณานิคมยุคท้ายๆ ที่เริ่มเล็งเห็นคุณค่าความเป็นมนุษย์ของคนพื้นเมือง และเริ่มต่อต้านระบอบอาณานิคมทั้งหมด คุณูปการของคอลลิสจึงมีมากกว่าการเป็นเพียงนักเขียนชีวประวัติคนหนึ่ง และสำหรับพม่า คอลลิสฝากผลงานที่เกี่ยวกับพม่าไว้นับสิบเล่ม ไม่แปลกที่งานของเขาจะมีแฟนคลับที่เหนียวแน่นในพม่า และเรายังเห็นหนังสือของคอลลิสอยู่ตามแผงหนังสือมือสองแทบทุกแห่งในพม่ามาจนถึงปัจจุบัน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image