คนว่างงานและการใช้สิทธิประกันสังคม โดย ดิเรก ปัทมสิริวัฒน์, ภคพร วัฒนดำรงค์

กองทุนประกันสังคม นอกจากเป็นระบบจัดการขนาดใหญ่ที่สร้างหลักประกันให้ผู้ใช้แรงงานไทยจำนวนมากกว่าสิบล้านราย ทำให้เกิดกองทุนทางการเงินขนาดใหญ่ของประเทศ ยังส่งผลพลอยได้ในแง่การพัฒนาระบบข้อมูลสนเทศ นั่นคือการทำบัญชีสมาชิกกองทุน ระบุเงินสะสมเข้ากองทุนของแต่ละราย บันทึกการใช้สิทธิในระบบประกันสังคม การประกันการว่างงานเป็นหนึ่งในสิทธิที่สมาชิกพึงได้ เป็นตัวเลขสถิติที่น่าสนใจ ช่วยให้เข้าใจสถานการณ์ว่าอัตราการว่างงาน เป็นหลักฐานเชิงประจักษ์ที่น่าเชื่อถือที่สุด ระบุจำนวนคนว่างงาน จังหวัดที่สังกัด และประเภทของการใช้สิทธิหลักประกันสังคม ในฐานะนักวิจัยขอแสดงความขอบคุณการมีบัญชีประกันสังคมเป็นตัวเลขขนาดใหญ่ที่แม่นตรง และเชื่อว่าเป็นประโยชน์สำหรับฝ่ายบริหารระดับชาติ/ระดับจังหวัด นำไปประกอบการพิจารณานโยบายและมาตรการการสร้างงาน

ผู้เขียนได้รับความกรุณาและความร่วมมือจากสำนักงานประกันสังคม อนุญาตให้เข้าถึงข้อมูลการใช้สิทธิประกันสังคม ในประเด็นที่เกี่ยวกับการว่างงานและการเลิกจ้าง เป็นข้อมูลสถิติรายเดือนตั้งแต่ปี พ.ศ.2548 จนถึงเมษายน 2563 นำมาวิเคราะห์ความเปลี่ยนแปลงพร้อมกับข้อสังเกตบางประการ ขอนำมาเล่าสู่กันฟัง ดังต่อไปนี้

รูปภาพที่ 1 แสดงสถิติจำนวนคนว่างงาน ซึ่งเห็นการเปลี่ยนแปลงได้อย่างชัดเจน หนึ่ง คือ แนวโน้มเพิ่มขึ้น ณ เดือนเมษายน 2563 จำนวนมากกว่า 2 แสนคน ถ้าใช้เป็นค่าอ้างอิงคำนวณเต็มทั้งปี จำนวผู้ว่างงานน่าจะอยู่ระหว่าง 2-3 ล้านคน เป็นตัวเลขที่น่าเชื่อถือ ดีกว่าการคาดเดา (ซึ่งแปรผันตามผู้คาดเดา-สุดแท้แต่ว่าจะมองโลกในแง่ร้ายหรือแง่ดี หรือสภาวการณ์ที่แต่ละบุคคลประสบ) เมื่อสิบปีก่อนประมาณ 2550 จำนวนผู้ว่างงานในแต่ละเดือนประมาณ 5 หมื่นคน หมายความว่า ตัวเลขการว่างเงินเพิ่มขึ้น 4 เท่าตัวภายใน 10 ปี สอง จำนวนผู้ว่างงานเป็นตัวเลขที่แปรผันได้ง่าย ในช่วงภาวะเศรษฐกิจซบเซาในปี 2552-2553 ตามวิกฤตสหรัฐซึ่งลุกลามไปทั่วโลก ถึงวิกฤตการว่างงานในปี 2563 น่าจะเหตุการณ์ใหญ่ที่สุดตามประวัติศาสตร์แรงงานไทย
รูปภาพที่ 2 แสดงสถิติจำนวนแรงงานการถูกเลิกจ้าง ซึ่งมีแนวโน้มสูงขึ้นเช่นเดียวกัน

การว่างงานเป็นหลักล้านคน เป็นปัญหาใหญ่ระดับชาติ ส่งผลกระทบอย่างกว้างขวาง ไม่เพียงแต่ความเดือดร้อนส่วนบุคคลและครอบครัวของผู้ใช้แรงงานเท่านั้น ยังมีนัยสำคัญต่อการโอนเงินกลับบ้าน (remittance) เนื่องจากแรงงานย้ายถิ่น ซึ่งมาจากทุกภาค โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาคเหนือและภาคอีสาน จากผลสำรวจครัวเรือนของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ปี 2560 ช่วยให้เราทราบว่า เงินโอนจากสมาชิกที่ออกไปทำงานนอกบ้านมีความสำคัญยิ่งสำหรับครัวเรือนที่ยากจน กล่าวคือ ร้อยละ 35 ของครัวเรือนระบุว่ามีสมาชิกออกไปทำงานนอกพื้นที่ แล้วส่งเงินกลับบ้าน ค่าเฉลี่ยเงินโอนที่ได้รับ 4,604 บาทต่อเดือน หรือ 55,248 บาทต่อปี จากสถิตินี้นำมาคำนวณต่อ (โดยวิธีการถ่วงน้ำหนักตามสำนักงานสถิติแห่งชาติ) อนุมานได้ว่ามี 7.7 ล้านครัวเรือน ซึ่งมีสมาชิกในครอบครัวออกไปทำงานนอกพื้นที่ (35% ของ 22 ล้านครัวเรือนทั่วประเทศ) ไม่ใช่เรื่องเล็กน้อยเลย

การออกจากงานไม่ว่าโดยสมัครใจหรือถูกเลิกจ้าง มีผลกระทบอย่างยิ่งต่อการกระจายรายได้ของประเทศ เนื่องจากรายได้ของคนกลุ่มนี้เกือบ 100% มาจากเงินเดือนค่าจ้าง สำหรับนายทุนหรือผู้ประกอบการ–ความจริงก็ได้รับผลกระทบจากโรคระบาดครั้งนี้เช่นกัน แต่อย่างน้อยที่สุดเป็นคนที่มีทุนรอน มีเงินออมและสินทรัพย์ ดังนั้น งานวิจัยจึงให้ความสำคัญสำหรับมนุษย์เงินเดือนเป็นพิเศษ ความเดือดร้อนไม่ใช่เจ้าตัว เงินโอนที่ครอบครัวเคยได้รับน่าจะหดหายไป หรือถูกกระทบไปด้วย 5.5 หมื่นบาทต่อปี สำหรับครอบครัวที่ส่งแรงงานไปทำงานนอกพื้นที่ เป็นเงินก้อนใหญ่ทีเดียว

Advertisement

เป็นที่น่ายินดีที่รัฐบาลออกมาตรการเยียวยาหลายประเภทและรวดเร็วทันกาล หนึ่งในมาตรการเยียวยาที่น่าจับตาเป็นพิเศษคือนโยบายการจ้างงาน ดำเนินการโดยหลายหน่วยงาน เช่น สถาบันการศึกษาซึ่งกระจายอยู่ทั่วประเทศ รับสมัครคนทำงานระยะเวลาสามเดือน ตัวเลขการจ้างงานอาจจะแตกต่างกันไป ตั้งแต่ 500-3,000 คน เข้าใจว่าจะเริ่มดำเนินการตั้งแต่เดือนกรกฎาคม เป็นต้นไป สอดคล้องกับหลักการ workfare ผู้จะได้รับสวัสดิการจากรัฐควรต้องทำงานแลกเงิน เป็นประสบการณ์ใหม่ของประเทศไทย ควบคู่กับมาตรการเยียวยานี้-ขอเสนอให้ทุกสถาบันที่ร่วมมือกับรัฐ จัดทำวิจัยเชิงประเมินโครงการ เพื่อทราบจำนวนผู้สมัครกี่ราย อายุ เพศ ระดับการศึกษา ประเภทที่หน่วยงานส่งให้ไปทำงาน กิจกรรมและผลงานที่เกิดขึ้น ขณะนี้ยังไม่ทราบว่าสถานการณ์โควิด-19 จะรุนแรงและยาวนานเพียงใด

ขอส่งกำลังใจให้ทั้งแรงงาน หน่วยงานจ้างงานและรัฐบาลให้นำพาประชาชนไทยผ่านพ้นวิกฤตโควิด-19 ด้วยดี ด้วยสติปัญญาและเสริมด้วยงานวิจัย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image