บทบาทและสถานะของการเลือกตั้งซ่อม ต่อการเมืองและประชาธิปไตยของไทย โดย พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์

การศึกษาเรื่องของความสัมพันธ์ระหว่างบทบาทและสถานะของการเลือกตั้งซ่อมต่อประชาธิปไตยในประเทศไทยนั้นยังไม่ได้มีการศึกษามากนัก เมื่อเทียบกับอุตสาหกรรมการศึกษาพฤติกรรมการเลือกตั้งในภาพรวมที่ศึกษากันเป็นมหกรรมในทุกครั้งหลังการเลือกตั้งทั่วไป

หรือในการเลือกตั้งซ่อมนั้นก็อาจมีการศึกษาบ้าง แต่ไปเน้นการศึกษาเฉพาะครั้งเฉพาะคราว ไม่ได้ศึกษาภาพรวมของการเลือกตั้งซ่อมในประเทศไทย

ผมเองก็ยังไม่มีโอกาสจะคิดเรื่องนี้อย่างเป็นระบบ แต่เล็งเห็นความสำคัญว่าจะเข้าใจภาพรวมของเรื่องการเลือกตั้งซ่อมที่เกิดขึ้นในสังคมไทยได้อย่างไร เลยลองนำบางประเด็นมานำเสนอ โดยเฉพาะในระบอบการเมืองปัจจุบันที่เรียกรวมๆ ว่าระบอบประยุทธ์ 2 นี้ อาจจะด้วยเงื่อนไขที่ควรพิจารณาประเด็นเรื่องบทบาทและสถานะของการเลือกตั้งซ่อมอย่างน้อย 8 ประการ

1.ระบอบประยุทธ์ 2 เป็นการเปลี่ยนผ่านที่สำคัญจากการทำรัฐประหาร (ประยุทธ์ 1 หรือ คสช.) โดยเป็นการเปลี่ยนผ่านจากระบอบรัฐประหารยึดอำนาจที่ไม่มีการเลือกตั้ง แต่มีการแต่งตั้งเครือข่ายแม่น้ำแต่ละสายเข้ามาทำงานในหน้าที่ของรัฐสภา มาสู่การใช้การเลือกตั้งในการเปลี่ยนผ่าน

Advertisement

2.แต่ในการเลือกตั้งที่ทำหน้าที่ในการเปลี่ยนผ่านนี้ทำโดยการที่ระบอบประยุทธ์ 1 หรือ คสช.ยังคุมอำนาจรัฐอยู่ โดยเฉพาะระบบราชการและระบบความมั่นคง

3.นอกจากนั้น ในระบบการเลือกตั้งและรัฐธรรมนูญใหม่นั้นถูกร่างขึ้นโดยที่ฝ่ายระบอบประยุทธ์ 1 ยังคงได้เปรียบอยู่ และมีข้อวิพากษ์วิจารณ์มากมาย อาทิ ระบบการคัดวุฒิสภาภายใต้ช่วงระยะเปลี่ยนผ่าน/บทเฉพาะกาล หรือการคำนวณสูตรเลือกตั้งของ กกต.ที่เริ่มมาชัดเจนจริงๆ หลังผลการเลือกตั้งทั่วไปออกแล้ว

4.ในการเปลี่ยนผ่านจากระบอบประยุทธ์ 1 ไปสู่ประยุทธ์ 2 นั้นไม่ได้มีแต่เรื่องการเลือกตั้ง กฎกติกาต่างๆ ที่ผลักดันมาจากระบอบที่แล้ว รวมทั้งกลไกรัฐและองค์การอิสระที่ดูจะเชื่อมโยงไปในทิศทางเดียวกันในระดับหนึ่ง แต่การเกิดพรรคพลังประชารัฐก็มีความสำคัญในฐานะกลไกขับเคลื่อนการเมืองในระยะเปลี่ยนผ่าน ที่ชัดเจนกว่าระบอบก่อนๆ อาทิ ระบอบพลเอกเปรมที่ไม่มีพรรคการเมืองของตัวเอง ระบอบ คสช.ที่แม้จะมีพรรคการเมืองที่สนับสนุน รสช.แต่ก็ไม่มีกลไกเชื่อมโยงโดยตรง หรือสมัยจอมพล ป. จอมพลถนอม ก็จะมีลักษณะของการเชื่อมโยงที่แนบแน่นกว่า เช่น เป็นส่วนหนึ่งของพรรคไปเลย ขณะที่การจัดความสัมพันธ์ของพลังประชารัฐที่สุดท้ายมีพลเอกประวิตรเป็นหัวหน้าพรรคอย่างเปิดเผยแต่ไม่มีกลไกกองทัพภายในพรรค พลเอกประยุทธ์ที่ไม่ยึดโยงตรงกับพรรค และพลเอกอนุพงษ์ที่คุมกระทรวงมหาดไทย เป็นสูตรใหม่ที่น่าสนใจ และไม่ได้ย้อนรอยตรงกับประสบการณ์การสืบสานอำนาจในอดีตอย่างถอดแบบกันมา

Advertisement

5.ระบอบประยุทธ์ 2 นี้ผ่านมาได้เพียงปีกว่าๆ ก็มีการเลือกตั้งซ่อมไปแล้วถึง 4 ครั้ง และกำลังจะมีการเลือกตั้งซ่อมในครั้งที่ 5 ที่สมุทรปราการเขต 5 ในเร็วๆ นี้ นับได้ว่าเป็นระบอบการเมืองที่มีการเลือกตั้งซ่อมไม่น้อย และแม้ว่าอาจจะไม่ได้เยอะมากที่สุด แต่ก็ถี่มากที่สุดระบอบหนึ่งในช่วงปีแรกของการเลือกตั้ง

มาลองดูกรณี รัฐบาลทักษิณ ชินวัตร (1) (17/02/2544-11/03/2548) มีการเลือกตั้งซ่อมทั้งหมด 27 ครั้ง ได้แก่ พิษณุโลก เขต 6 กาญจนบุรี เขต 5 ขอนแก่น เขต 10 นครนายก เขต 2 บุรีรัมย์ เขต 5 สุรินทร์ เขต 4 อุบลราชธานี เขต 1 และเขต 10 กทม. เขต 4 และเขต 26 กาฬสินธุ์ เขต 2 จันทบุรี เขต 1 นครพนม เขต 3 นนทบุรี เขต 3 เพชรบูรณ์ เขต 4 มหาสารคาม เขต 2 มุกดาหาร เขต 2 ลพบุรี เขต 3 ศรีสะเกษ เขต 1 และเขต 5 สิงห์บุรี เขต 2 อุทัยธานี เขต 1 อุบลราชธานี เขต 10 ศรีสะเกษ เขต 1 นนทบุรี เขต 3 นครปฐม เขต 3 สงขลา เขต 3

รัฐบาลทักษิณ ชินวัตร (2) (11/03/2548-19/09/2549) มีการเลือกตั้งซ่อมทั้งหมด 7 ครั้ง ได้แก่ อุดรธานี เขต 2 พิจิตร เขต 3 สตูล เขต 2 สิงห์บุรี เขต 1 อุทัยธานี เขต 1 นครพนม เขต 4 พิจิตร เขต 1

รัฐบาลสมัคร สุนทรเวช (6/02/2551-18/09/2551) มีการเลือกตั้งซ่อมทั้งหมด 1 ครั้ง ได้แก่ เชียงราย เขต 3

รัฐบาลสมชาย วงศ์สวัสดิ์ (24/09/2551-19/12/2551) มีการเลือกตั้งซ่อมทั้งหมด 1 ครั้ง ได้แก่ เพชรบูรณ์ เขต 2

รัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (20/12/2551-9/08/2554) มีการเลือกตั้งซ่อมทั้งหมด 41 ครั้ง ได้แก่ กทม. เขต 10 ฉะเชิงเทรา เขต 1 นครปฐม เขต 1 นครพนม เขต 1 นราธิวาส เขต 2 บุรีรัมย์ เขต 2 และเขต 4 ปทุมธานี เขต 1 มหาสารคาม เขต 1 ร้อยเอ็ด เขต 2 ราชบุรี เขต 1 ลพบุรี เขต 1 ลำปาง เขต 1 ลำพูน เขต 1 ศรีสะเกษ เขต 1 และเขต 2 สมุทรปราการ เขต 1 สระบุรี เขต 2 สิงห์บุรี เขต 1 สุพรรณบุรี เขต 1 และเขต 2 อ่างทอง เขต 1 อุดรธานี เขต 2 อุทัยธานี เขต 1 อุบลราชธานี เขต 2 และเขต 3 นนทบุรี เขต 2 ร้อยเอ็ด เขต 3 สกลนคร เขต 3 ศรีสะเกษ เขต 1 สุราษฎร์ธานี เขต 1 สงขลา เขต 1 มหาสารคาม เขต 1 ปราจีนบุรี เขต 1 กทม. เขต 6 สุราษฎร์ธานี เขต 1 กทม. เขต 2 ขอนแก่น เขต 2 นครราชสีมา เขต 6 พระนครศรีอยุธยา เขต 1 สุรินทร์ เขต 3

รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร (9/08/2554-22/05/2557) มีการเลือกตั้งซ่อมทั้งหมด 14 ครั้ง ได้แก่ ปทุมธานี เขต 5 เชียงใหม่ เขต 3 ลำพูน เขต 2 ลพบุรี เขต 4 เชียงใหม่ เขต 3 กทม. เขต 12 กทม. เขต 7 เขต 26 เขต 29 ชุมพร เขต 1 ตรัง เขต 2 นครศรีธรรมราช เขต 3 สงขลา เขต 6 สุราษฎร์ธานี เขต 2

6.ในอีกด้านหนึ่งนั้นการเกิดการเลือกตั้งที่กติกาซับซ้อนขึ้น (มีระบบจัดสรรปันส่วนผสม ที่นับทุกเสียง) และมีพรรคการเมืองที่ต่อท่ออำนาจแบบที่เป็นอยู่ก็ย่อมทำให้พลวัตของการเมืองในท้องถิ่นนั้นเองมีความสำคัญมากขึ้น เครือข่ายท้องถิ่นต่างๆ ก็ทำงานอย่างคึกคักเพื่อให้ทุกเสียงมีความหมายและถูกนับ ซึ่งจะส่งผลต่อคะแนนบัญชีรายชื่อของพรรคในภาพรวม

7.จากผลการเลือกตั้งซ่อมที่ผ่านมา 4 ครั้ง พรรคพลังประชารัฐชนะถึง 3 ใน 4 ครั้ง (ขอนแก่น เขต 7 กำแพงเพชร เขต 2 ลำปางเขต 4) และอีกครั้งเป็นการทวงคืนพื้นที่ของเครือข่ายท้องถิ่นเก่าในพื้นที่ (นครปฐม เขต 5) โดยทั้งหมดเป็นฝ่ายรัฐบาล และเป็นการยืนยันแชมป์แค่ครั้งเดียว (กำแพงเพชร) ที่เหลือสามที่เป็นการได้ชัยชนะจากฝ่ายค้าน (อนาคตใหม่ 1 และเพื่อไทยถึง 2 ที่)

8.ผลการเลือกตั้งซ่อม 4 ครั้งในระบอบประยุทธ์นั้นจะพบว่า ฝ่ายรัฐบาลได้รับคะแนนเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ แทบจะเท่าตัวหนึ่งในกรณีพื้นที่ที่แพ้มาก่อน (นครปฐม เขต 5 เพิ่มจาก 12,279 เป็น 37,675 ขอนแก่น เขต 7 จาก 26,553 เป็น 40,252 กำแพงเพชร เขต 2 จาก 34,271 เป็น 45,740 และลำปางเขต 4 จาก 30,368 เป็น 61,914 ขณะที่ฝ่ายค้าน แม้ว่าจะมีหลายกรณีที่ได้เพิ่มขึ้น แต่ก็ถือว่าลดลงถ้ารวมคะแนนฝ่ายค้านด้วยกันเข้าไป

ก่อนที่จะมาอภิปรายต่อนั้น อยากนำเข้ามิติด้านแนวคิดเรื่องของความเชื่อมโยงระหว่างการเลือกตั้งซ่อม (by-election) กับการเมืองประชาธิปไตยในระดับทฤษฎีไว้สักหน่อย เพราะการวิเคราะห์เรื่องของการเลือกตั้งซ่อมกับภาพรวมของการเมืองและประชาธิปไตยส่วนใหญ่มักจะไปอยู่ในเรื่องการตั้งข้อสังเกตเฉพาะการเลือกตั้งมากกว่าการมองในภาพกว้างของการเลือกตั้่งหลายครั้ง

งานในต่างประเทศเองนั้นก็ศึกษาเรื่องการเลือกตั้งซ่อมในฐานะแนวคิดทฤษฎีอยู่น้อย แต่ก็มีร่องรอยที่น่าสนใจอยู่บ้าง จะขอยกตัวอย่างประเด็นที่น่าสนใจสักสองประการ

1.แนวคิดการศึกษาการเลือกตั้งซ่อม โดยมองความสัมพันธ์ระหว่างการเลือกตั้งซ่อมกับความนิยมในตัวของรัฐบาล และวงจรความนิยมของรัฐบาล: ในงานของ Stray และ Silver (“Government Popularity, By-Elections and Cycles”. Parliamentary Affairs. 36:1. 1983. 49-55). ตั้งคำถามว่าการเลือกตั้งซ่อมจะเป็นตัวชี้วัดที่เชื่อถือได้ไหมในเรื่องของความนิยมที่มีต่อรัฐบาล (เพราะผลการเลือกตั้งมันวัดได้เป็นรูปธรรมกว่าผลการสำรวจความนิยม หรือโพล) โดยเฉพาะกรณีศึกษาของการเมืองอังกฤษในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ถึง ค.ศ.1979

ประเด็น/ตัวแปรสำคัญอีกประการหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับความสัมพันธ์ระหว่างความนิยมต่อรัฐบาลและผลการเลือกตั้งซ่อมนั้นก็คือเรื่องของ “วงจรของความนิยม” ต่อรัฐบาล หมายถึงว่า โดยทั่วไปรัฐบาลมักจะมีความนิยมที่ลดลงหลังจากได้ชัยชนะในการเลือกตั้ง และจะมีความนิยมที่ตกต่ำสุดในช่วงครึ่งทาง และจะเริ่มมีความนิยมเพิ่มขึ้นเมื่อเริ่มนับถอยหลังสู่การเลือกตั้งครั้งใหม่

ในแง่นี้ข้อค้นพบที่สำคัญในการเมืองอังกฤษในอดีตจนถึงทศวรรษที่ 1980 ก็คือ แม้ว่าพรรคฝ่ายค้านอาจจะได้รับชัยชนะ แต่ชัยชนะนั้นไม่ได้จะยั่งยืน
อะไร อาจจะดีใจในระยะสั้นๆ เพราะชัยชนะอาจจะเรียกว่า anti-government swing หรือเป็นการพลิกชนะแบบสุดขั้วในแง่ของการให้ความหมายของการลงคะแนนเสียงว่าเป็นการแสดงออกของการต่อต้านรัฐบาล

แต่ในอีกด้านหนึ่ง การเลือกตั้งซ่อมนั้นอาจจะไม่ได้เกี่ยวเนื่องโดยตรงกับเรื่องของความนิยมในรัฐบาลเสมอไป บางทีปัจจัยเรื่องการลงคะแนนเสียงที่มีคนมาลงคะแนนน้อยกว่าการเลือกตั้งระดับชาติ และเรื่องราวการรณรงค์ที่อาจเป็นเรื่องในท้องถิ่นมากกว่าเรื่องระดับชาติก็มีความสำคัญ

วงจรการเลือกตั้งและความนิยมต่อรัฐบาลนั้นอาจจะมีอยู่สี่ช่วงเวลา คือการเลือกตั้ง จากนั้นก็คือช่วงข้าวใหม่ปลามัน (honeymoon) ช่วงครึ่งทางที่ตกต่ำ เพราะอาจจะไม่ได้อะไรที่รัฐบาลให้สัญญาไว้ตามที่เราคาดหวัง และผลงานทางเศรษฐกิจไม่ค่อยจะดี (middle) และช่วงของการกลับสู่ความคุ้นเคย (homing) ที่หมายถึงว่าก็คงจะกลับไปเลือกพรรคเดิม

2.แนวคิดการศึกษาการเลือกตั้งซ่อม โดยมองตกลงแล้วการเลือกตั้งซ่อมจะถือว่าเป็นเรื่องการลงประชามติของประชาชนต่อรัฐบาล/ระบอบการเมืองได้ไหม? หรือการเลือกตั้งซ่อมเป็นเพียงตัวบ่งชี้ถึงเงื่อนไข-บริบทของการรณรงค์เลือกตั้งในพื้นที่นั้นๆ หรือเงื่อนไขอื่นๆ ที่ไม่ใช่ภาพรวมของความนิยมและความชอบธรรมของรัฐบาล อาทิ การเลือกตัวผู้สมัคร (candidate specific) งานวิจัยที่น่าสนใจคืองานของ Frank B. Feigert และ Pippa Norris. (“Do By-Elections Constitute Referenda?: A Four-Country Comparison”. Legislative Studies Quarterly. 15:2, May 1990: 183-200) โดยศึกษาการเลือกตั้งซ่อมระหว่างปี 1945-1987 ใน 4 ประเทศ ได้แก่ ออสเตรเลีย อังกฤษ แคนาดา และสหรัฐอเมริกา

โดยภาพรวมจากงานวิจัยชิ้นนี้ชี้ว่า แม้ว่าผลการเลือกตั้งเพียงเขตเดียวอาจจะไม่ได้ทำให้รัฐบาลล้ม หรือแพ้เกมสภา (เว้นแต่กรณีที่ก้ำกึ่งมากๆ อย่างกรณีพรรคแรงงานของอังกฤษที่เสียสถานะเสียงข้างมากในช่วง 1974-1979) แต่ผลการเลือกตั้งซ่อมก็มีผลต่อความนิยมของพรรค และกำลังใจของสมาชิกพรรคในการทำงานการเมือง มีผลต่อภาวะผู้นำ ต่อความขัดแย้งภายในพรรค หรือแม้กระทั่งมีผลต่อความนิยมของพรรคเล็กๆ หากได้คะแนนเพิ่มขึ้น หรือแม้กระทั่งมีผลต่ออนาคตและความคาดหวังของผู้คนที่มีต่อพรรค โดยเฉพาะในกรณีการเมืองที่มีพรรคใหญ่ๆ แข่งกัน การที่พรรคเล็กมีคะแนนเสียงเพิ่มขึ้นก็อาจส่งผลให้รูปแบบระบอบการเมืองที่มีแต่พรรคใหญ่นั้นเปลี่ยนแปลงไปได้ และทำให้พรรคเล็กเป็นที่รู้จักของสื่อมากขึ้น

นอกจากนั้นแล้ว การเลือกตั้งซ่อมยังอาจมีบทบาทในการเป็นการลองสนามในการใช้การรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งใหม่ๆ ที่อาจจะนำไปใช้ในการเลือกตั้งทั่วไปในอนาคต และเป็นเวทีในการฝึกฝนบุคลากรของพรรค นักกิจกรรมต่างๆ รวมไปถึงตัวองค์กรที่กำกับดูแลการเลือกตั้ง และแม้กระทั่งสื่อที่จะค้นหารูปแบบการรายงานข่าวและนำเสนอข้อมูลใหม่ๆ ในการเลือกตั้งรอบนี้ หรือในบางที่ผลการเลือกตั้งซ่อมอาจจะส่งผลให้ตัวรัฐบาลนั้นจะตัดสินใจว่าจะอยู่ต่ออย่างไร และจะกำหนดยุทธศาสตร์การเลือกตั้งทั่วไปเมื่อไหร่ หมายถึงว่าจะยุบสภาแล้วเลือกตั้งทั่วไปเมื่อไหร่ (ในหลายประเทศการยุบสภาเพื่อเลือกตั้งทั่วไป ไม่ได้เกิดเมื่อรัฐบาลเพลี่ยงพล้ำแพ้โหวต หรือความนิยมตกต่ำ แต่อาจเกิดจากการที่รัฐบาลวางแผนยุบสภาก่อนครบเทอมในช่วงเวลาที่ได้รับความนิยม เพื่อให้ได้รับความนิยมสูงขึ้นในการเลือกตั้งครั้งหน้า)

ในด้านหนึ่งการเลือกตั้งซ่อมอาจเป็นตัวบ่งชี้ถึงการผสมกันของปรากฏการณ์และปัจจัย-เงื่อนไขทางการเมืองหลายประการ อาทิ การรณรงค์หาเสียง ความนิยมของผู้สมัคร ความแข็งแกร่งของการจัดองค์กรรณรงค์ในพื้นที่ (ถ้ามองในบริบทบ้านเราก็อาจจะมีทั้งการรณรงค์บนดินและใต้ดิน) เม็ดเงินและการใช้จ่ายในการเลือกตั้ง เงื่อนไขแวดล้อมต่างๆ ที่ส่งผลต่อการแข่งขันในช่วงเวลานั้น บริบททางการเมืองในท้องถิ่นนั้น ความนิยมและสนใจของสื่อ การคาดการณ์ที่มีต่อผลการเลือกตั้ง (อาทิ สูสีหรือไม่สูสี) รวมทั้งความคาดหวังที่มีต่อการเปลี่ยนแปลงรัฐบาล/ทิศทาง-นโยบายของรัฐบาล ในบางกรณี เช่น อังกฤษก็มีความเข้าใจว่า การเลือกตั้งซ่อมนั้นไม่มีอะไรมากนัก เพราะการเมืองระดับชาติมีผลมากกว่า เนื่องจากมันเป็นรเรื่องเกี่ยวกับการต่อสู้ของสองพรรคมากกว่าเรื่องของการวางตัวผู้สมัครในท้องที่ (ทำนองเอาเสาไฟฟ้าลงก็ชนะ ไม่ได้เกี่ยวกับการคัดตัวผู้สมัคร)

ในอีกด้านของการพิจารณา มีข้อเสนอที่ว่าการเลือกตั้งซ่อมนั้นเป็นเรื่องของการลงประชามติของประชาชนต่อผลงานของรัฐบาลโดยเฉพาะด้านการเมืองและเศรษฐกิจ แต่กระนั้นก็ดียังพบว่า อาจมีเงื่อนไขอื่นอีกมากมายที่ส่งผลต่อการเลือกตั้งซ่อม ซึ่งอาจรวมไปถึงเรื่องของอิทธิพลและความสัมพันธ์ระหว่างผลการเลือกตั้งกับโพลในช่วงนั้น

ผลการวิจัยของ Feigert และ Norris มีส่วนคล้ายกับงานของ Stray และ Silver ที่ได้กล่าวถึงก่อนหน้านั้น ตรงที่เห็นว่าทั้งสี่ประเทศนั้น ช่วงกลางเทอมของรัฐบาลเป็นช่วงที่ความนิยมของรัฐบาลตกต่ำสุดและสะท้อนมาจากผลการเลือกตั้งซ่อม โดยเฉพาะอังกฤษ และแคนาดา แต่ความรุนแรงของการลดลงของความนิยมและการฟื้นตัวกลับมาของความนิยมในแต่ละประเทศก็ต่างกัน และก็มีช่วงเวลาที่่ต่างกันด้วย และผลการวิจัยชี้ว่า ความเชื่อที่ว่าการเลือกตั้งซ่อมเป็นเรื่องของพื้นที่และเป็นเรื่องของตัวผู้สมัครนั้นไม่ค่อยจะจริงสักเท่าไหร่ เพราะถ้าเป็นเรื่องของผู้สมัครจะต้องเห็นแบบแผนของผลคะแนนที่สับสนวุ่นวาย คือมีทั้งที่ชนะและแพ้ปะปนกันไปจนจับแบบแผนไม่ได้ แต่ทั้งนี้ไม่ได้หมายความว่าลักษณะท้องที่และตัวผู้สมัครไม่สำคัญ แต่ความสำคัญหลักคือบทบาทและสถานะของการเลือกตั้งซ่อมที่มีต่อการเลือกตั้งในระดับชาติ

ดังนั้น การเลือกตั้งซ่อมจึงทำหน้าที่เป็นหนึ่งในการลงประชามติและสะท้อนความนิยมที่มีต่อรัฐบาล และตัวพรรคการเมืองที่เป็นกลไกสำคัญในการเลือกตั้งและในการบริหารประเทศ

ในกรณีของอังกฤษและแคนาดานั้น ความสัมพันธ์ของการเลือกตั้งซ่อมกับการทำหน้าที่เป็นการลงประชามติรัฐบาลในระดับประเทศมีความแจ้งชัด แต่ในกรณีของอเมริกาและออสเตรเลียอาจจะไม่ชัดแจ้งขนาดนั้น และมีแนวโน้มว่าปัจจัยในแง่ตัวผู้สมัครอาจจะมีอิทธิพลเช่นกัน ส่วนหนึ่งเพราะว่าระบบพรรคการเมืองนั้นไม่ได้เข้มแข็งขนาดนั้นในอเมริกา

ขณะที่ออสเตรเลียนั้นข้อค้นพบนั้นกระจัดกระจายหาแบบแผนได้ยาก

จากที่พิจารณานั้นเราจะพบว่าในประเทศที่เป็นประชาธิปไตยการตั้งคำถามเรื่องของการเลือกตั้งซ่อมกับภาพรวมของประชาธิปไตยและความนิยมของรัฐนั้นมีการใช้ตัวแปรไม่มากนัก ขณะที่ในกรณีของบ้านเรา อาจจะต้องพิจารณามิติอื่นๆ ประกอบด้วย เช่น นอกเหนือจากความนิยมของรัฐบาลแล้ว อาจจะต้องพิจารณาปัจจัยด้านกติกาและการกำกับกติกา ปัจจัยด้านสมรรถนะของรัฐโดยเฉพาะรัฐราชการที่อิงอำนาจตัวเองกับรัฐบาล ปัจจัยโครงข่ายความนิยมในท้องถิ่นและการจัดองค์กรในพื้นที่ที่รวมทั้งเรื่องของอิทธิพลและอำนาจของเครือข่ายท้องถิ่นที่มีมิติที่ไม่เหมือนกับการเลือกตั้งของประเทศต้นแบบประชาธิปไตยทั้งหลาย ซึ่งกลุ่มงานวิชาการที่ว่าด้วยเรื่องของระบอบลูกผสม
(hybrid regime) ที่ให้ความสนใจความเป็นเผด็จการที่ซ่อนรูปอยู่ในระบอบประชาธิปไตย และปมปัญหาการสร้างสรรค์จรรโลงประชาธิปไตย (democratization) ก็มีผลต่อการทำความเข้าใจเรื่องบทบาทของการเลือกตั้งที่มีต่อประชาธิปไตยในหลากหลายมิติขึ้น (อาทิ งานของผมชิ้นที่ว่าด้วย “เมื่อการเลือกตั้งทำให้เผด็จการอยู่นานขึ้น” มติชน 21 พ.ค.2562 และ “พรรคสืบสานเผด็จการในกระบวนการสร้างประชาธิปไตย” มติชน 27 ส.ค.2562)

เรื่องบทบาทและสถานะของการเลือกตั้งซ่อมต่อการเมืองและประชาธิปไตยเป็นเรื่องที่ต้องพยายามทำความเข้าใจในลักษณะของทฤษฎีมากขึ้น ไม่ใช่มองว่าเป็นเรื่องของการโกงและการซื้อเสียงเท่านั้น เพราะเรื่องของการโกง การใช้อำนาจและอิทธิพลและการซื้อเสียงนั้นเมื่อถูกนำมาพิจารณาในหลักวิชาการเราจะพบว่ามันวัดค่าโดยตรงไม่ได้ มันวัดได้เป็นกรณีและบางกรณีมันก็ถูกปัดตกไปจากกระบวนการตรวจสอบ ซึ่งไม่ใช่ว่าเพราะไม่มีแต่อาจจะเป็นเพราะว่าไม่เข้าองค์ประกอบ ซึ่งหนทางหนึ่งที่จะพิจารณาในระดับทฤษฎีและแนวคิดได้ก็คือการตั้งคำถามอีกชุดว่า การทุจริตซื้อเสียงนั้นถูกตัดสินและจัดการอย่างไรภายใต้กระบวนการยุติธรรม ซึ่งก็เป็นอีกหัวข้อที่ต้องถกเถียงกันในระยะยาวต่อไป

กล่าวโดยสรุปก่อนที่จะได้พิจารณาการรณรงค์การเลือกตั้งซ่อมที่สมุทรปราการ เขต 5 ในเร็วๆ นี้ ซึ่งนับเป็นครั้งที่ 5 ของการเลือกตั้งซ่อมในระบอบประยุทธ์ 2 สิ่งที่น่าสนใจคือ การทบทวนสถานะและบทบาทของการเลือกตั้งซ่อมในการเมืองประชาธิปไตยของไทยทั้งในอดีต ปัจจุบัน และอนาคต รวมทั้งตั้งคำถามถึงความเป็นไปได้ในการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองภายใต้กฎกติกาและอำนาจของระบอบที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน เพื่อกำหนดทิศทางและเป้าหมายการเมืองและประชาธิปไตยในอนาคตให้ดีขึ้นกว่าที่เป็นอยู่

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image