อุตสาหกรรมหยกในพม่าน่ากลัวกว่าโควิด-19 : โดย ลลิตา หาญวงษ์

อุตสาหกรรมหยกในพม่าน่ากลัวกว่าโควิด-19 : โดย ลลิตา หาญวงษ์
สภาพเหมืองหยกในเมืองพาคัน รัฐกะฉิ่น (ภาพจาก lotusgemology.com)

พม่าเป็นประเทศที่มีอัตราการติดเชื้อโควิด-19 ไม่มากนัก จนถึงปัจจุบัน (ตัวเลขวันที่ 7 กรกฎาคม 2020) มีผู้ติดเชื้อ 316 คน และเสียชีวิตเพียง 6 คน แต่ท่ามกลางวิกฤตโรคระบาดที่ทั่วโลกกำลังเผชิญอยู่นี้ ก็เกิดโศกนาฏกรรมในเหมืองหยกในรัฐกะฉิ่นอีกครั้ง อุตสาหกรรมเหมืองหยกในรัฐกะฉิ่น โดยเฉพาะแถบเมืองพาคัน (Hpakant) เป็นอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ เพราะหยกเป็นอัญมณีมีค่า เป็นที่ต้องการ และสามารถส่งออกไปจีนได้ปริมาณมากทุกปี แต่ภายใต้ความมั่งคั่งของพ่อค้าหยก ยังมีคนงานเหมืองหยกอีกหลายพันคนเสี่ยงชีวิตเพื่อไป “ขุดทอง” ในหุบเขาหยกแห่งนี้ที่คร่าชีวิตคนงานเหมืองไปเป็นจำนวนมากทุกปี เมื่อสัปดาห์ก่อน เกิดเหตุการณ์เหมืองหยกถล่มขึ้นอีกครั้ง แต่ในครั้งนี้นับเป็นครั้งที่มีความสูญเสียรุนแรงที่สุดที่เคยมีมา อุบัติเหตุเหมืองหยกถล่มคร่าชีวิตคนงานในเหมืองไปเกือบ 200 คน อุบัติเหตุครั้งนี้เกิดขึ้นหลังจากมีฝนตกหนักในรัฐกะฉิ่น เป็นเหตุให้ส่วนหนึ่งของเหมืองหยกถล่มลงมาทับคนงานหญิงชายหลายร้อยชีวิตที่กำลังขุดหาหยกอยู่

อุบัติเหตุในลักษณะเดียวกันในปี 2015 และ 2019 ทำให้มีผู้เสียชีวิตราว 100 และ 50 คนตามลำดับ แต่คำถามที่เกิดขึ้นคือเหตุใดยังมีคนงานจำนวนมากเข้าไปทำงานในเหมือง ท่ามกลางฝนที่ตกลงมาอย่างหนัก เหตุใดรัฐบาลจึงไม่ออกกฎห้ามการขุดหาหยกในฤดูมรสุม อันเป็นช่วงที่เกิดอุบัติเหตุเหมืองถล่มบ่อยที่สุด

คนงานหลายพันคนที่เสี่ยงชีวิตเข้าไปทำงานในเหมืองหยกเพราะมีความหวังว่าจะขุดพบหยกก้อนงาม และสร้างฐานะขึ้นมาเพื่อจุนเจือครอบครัว พม่าเป็นแหล่งขุดหยกใหญ่ที่สุดในโลก และดังที่ได้กล่าวไปแล้วว่าจีนเป็นผู้รับซื้อหยกจากพม่ารายใหญ่ที่สุด มูลค่าของหยกทำให้มีนักธุรกิจทั้งพม่าและจีนเข้าไปลงทุนในสัมปทานเหมืองหยก และต้องเป็นบริษัทที่มีสายสัมพันธ์ที่ดีกับกองทัพพม่า ซึ่งมีหน้าที่สอดส่องดูแลความสงบเรียบร้อยในพื้นที่โดยรอบเหมือง และรัฐกะฉิ่นทั้งหมด ด้วยกองกำลังติดอาวุธกะฉิ่นยังรบกับกองทัพพม่าอยู่ องค์กรรณรงค์เพื่อความโปร่งใส Global Watchdog ประเมินว่าอุตสาหกรรมหยกในพม่ามีมูลค่าถึง 31 ล้านเหรียญ (ตัวเลขจากปี 2014) คิดเป็นเกือบครึ่งหนึ่งของจีดีพีทั้งประเทศพม่า

ความอยู่รอดของเหมืองหยกในรัฐกะฉิ่นไม่ได้ขึ้นอยู่ตลาดในจีนเพียงอย่างเดียว แม้จะเป็นงานที่เสี่ยงอันตรายเป็นอันดับต้น ๆ แต่คนงานจากรัฐกะฉิ่นและรัฐอื่นๆ ก็หลั่งไหลเข้าไปทำงานในเหมืองหยก เพราะหากโชคดีก็อาจเจอหินหยกคุณภาพต่ำหรือคุณภาพกลางที่ขายให้ผู้รับซื้อได้ราวก้อนละ 20 เหรียญ แต่คนงานทุกคนคาดหวังว่าสักวันหนึ่งจะขุดได้หินก้อนใหญ่ ที่มีมูลค่านับหมื่นเหรียญ หรือหลายแสนบาท

Advertisement

การทำงานในเหมืองหยกจึงเท่ากับเป็นการ “แทงหวย” สถานการณ์ที่ไม่แน่นอนและภาวะสงครามในรัฐกะฉิ่นผลักให้คนงานจำนวนมากมุ่งหน้าสู่เหมืองหยก เพียงเพราะพวกเขามีโอกาส “ถูกหวย” ได้เท่าๆ กัน และด้วยความฝันที่จะมีชีวิตในภายภาคหน้าที่ดีกว่าเดิม

หลังอุบัติเหตุเหมืองหยกถล่มครั้งใหญ่ที่สุด กองทัพพม่าประกาศไล่นายทหารระดับสูง 2 นายออกจากตำแหน่ง ด้วยข้อหาปล่อยปละละเลยจนทำให้เกิดโศกนาฏกรรมครั้งนี้ขึ้น หนึ่งในนายพลที่ถูกขับออกจากตำแหน่งคือพันเอก เน ลิน ทุน (Colonel Nay Lin Tun) รัฐมนตรีประจำกระทรวงความมั่นคงและชายแดนกะฉิ่น ในขณะที่คนในรัฐบาลอย่างอู โอน วิน (U Ohn Win) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า อุบัติเหตุนี้มาจากคนงานในเหมืองที่ “โลภมาก” ด่อ ออง ซาน ซู จี ที่ปรึกษาแห่งรัฐ ยังไม่ออกมาแสดงความคิดเห็นในกรณีนี้ การวางตัวอยู่เหนือปัญหาของฝ่ายรัฐบาลพม่าชี้ให้เห็นอิทธิพลของกองทัพและโครนี่ หรือนักธุรกิจที่มีผลประโยชน์กับกองทัพ เพราะอุตสาหกรรมหยกเป็นแหล่งเงินแหล่งทองของคนในกองทัพและรัฐบาลพม่า Global Witness เรียกว่าเป็น “ความลับที่ยิ่งใหญ่แห่งรัฐ” (Big State Secret) เพราะการค้าหยกทั้งระบบควบคุมโดยอีลีทในกองทัพ บรรดาพ่อค้ายาเสพติด และบริษัทของโครนี่ หากอุตสาหกรรมนี้ถูกกฎหมาย และปลอดจากอิทธิพลของผู้มีอิทธิพลในกองทัพ ก็จะเปลี่ยนแปลงเศรษฐกิจในรัฐกะฉิ่นได้ แต่เนื่องจากรัฐกะฉิ่นเป็นพื้นที่สู้รบระหว่างกองกำลัง KIA/KIO (Kachin Independence Army/Kachin Independence Organisation) และ AA (Arakan Army) กับฝ่ายกองทัพพม่า การพัฒนารัฐกะฉิ่นอย่างจริงจังมาตั้งแต่ปี 2011 ด้วยจุดประสงค์เพื่อพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนในพื้นที่คงเป็นเรื่องยาก และยังทำให้เหมืองหยกเป็นเหมือนแดนสนธยาและแหล่งหาผลประโยชน์ของบรรดามาเฟียและรัฐพม่า

แม้รัฐบาลพม่าจะพยายามจัดการกับปัญหามาเฟียในภาคอุตสาหกรรมที่ใช้ทรัพยากรธรรมชาติในประเทศ และลงนามในแผนการด้านความโปร่งใสของธุรกิจที่ใช้ทรัพยากรธรรมชาติมาใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิต (Extractive Industries Transparency Initiative หรือ EITI) ซึ่งเป็นกรอบความร่วมมือนานาชาติเพื่อต่อต้านการทุจริตคอรัปชั่น และยังมีความพยายามเจรจาสันติภาพกับ KIA/KIO มาแล้วหลายครั้ง แต่ก็ยังไม่สามารถจัดการกับปัญหาใดๆ ได้

Advertisement

เมื่อหลายปีก่อน ผู้เขียนได้รับเชิญให้ไปเป็นผู้พูดในงานฉายภาพยนตร์สารคดีเรื่อง City of Jade โดยผู้กำกับหนุ่มชาวพม่าที่ใช้นามแฝงว่า Midi Z ณ Reading Room ถนนสีลม สารคดีของ Midi Z ชี้ให้เห็นด้านมืดของอุตสาหกรรมหยกในพม่า ที่ดึงดูดคนงานซึ่งหวังว่าตนจะร่ำรวยขึ้นในชั่วข้ามคืน ภายในเหมือง คนงานพบภาวะเสี่ยงนานัปการ นอกจากเหมืองที่ถล่มทุกปีแล้ว ยังมีปัญหายาเสพติด และปัญหาการใช้แรงงานหนักในเหมือง ผลงานของ Midi Z ชิ้นนี้ออกมาตั้งแต่ปี 2016 แต่ในปัจจุบันผู้คนในเหมืองยังมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ย่ำแย่ไม่ต่างจากเดิม ภาวะเช่นนี้ทำให้เราต้องตั้งคำถามเกี่ยวกับการปฏิรูปทางการเมืองและการทำให้เป็นประชาธิปไตยให้หนัก ว่าหากพม่าพยายามพัฒนาสู่ระบอบประชาธิปไตยอย่างเต็มตัวอย่างที่คนในรัฐบาลและกองทัพอ้าง เหตุใดจึงยังมีผู้คนจำนวนมากเสียชีวิตจากโศกนาฏกรรมในเหมืองหยกเป็นประจำแทบทุกปี

อุบัติเหตุเหมืองหยกถล่มในรัฐกะฉิ่นครั้งนี้คงไม่ใช่ครั้งสุดท้ายที่จะเกิดขึ้น ธุรกิจมืดและอิทธิพลมืดของธุรกิจที่มีส่วนได้ส่วนเสียกับรัฐบาลยังเป็นปัญหาใหญ่ที่ทำให้การปฏิรูปการเมืองในพม่าเดินไปได้ช้า แม้ฝ่ายรัฐบาลจะออกมายืนยันว่าพม่ามีพัฒนาการในทางการเมืองที่ดี และประชาชนพม่าส่วนใหญ่ยังสนับสนุนรัฐบาล NLD แต่หากมองให้ลึกเข้าไปแล้ว ก็จะเห็นว่าอุปสรรคที่สำคัญที่สุดในการสร้างประชาธิปไตยที่แท้จริงในพม่า ไม่ได้อยู่ที่ฝ่ายการเมือง แต่อยู่ที่อิทธิพลของกองทัพที่ยังไม่จางหาย

ระบบการเมืองในพม่าปัจจุบันนั้นอันตรายยิ่ง เพราะกองทัพและบรรดาโครนี่สามารถหาประโยชน์ได้จากธุรกิจมืดในพม่าที่ปัจจุบันเป็น “ประชาธิปไตย” และไม่ถูกขึ้นบัญชีดำเหมือนแต่ก่อน

ลลิตา หาญวงษ์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image