ความเป็นไปได้ที่สหรัฐอเมริกาจะมี รองประธานาธิบดีเป็นคนอเมริกันเชื้อสายไทย : โดย โกวิท วงศ์สุรวัฒน์

มลรัฐสีแดงเป็นของทรัมป์(รีพับลิกัน) สีน้ำเงินเป็นเดโมแครต

ความเป็นไปได้ที่สหรัฐอเมริกาจะมี

รองประธานาธิบดีเป็นคนอเมริกันเชื้อสายไทย

คู่แข่งชิงชัยในตำแหน่งประธานาธิบดีแห่งสหรัฐ อเมริกากับ ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ในเดือน
พฤศจิกายนที่จะถึงนี้คือ นายโจ ไบเดน อดีตรองประธานาธิบดีสองสมัยของ ประธานาธิบดีบารัค
โอบามา ได้เป็นตัวแทนของพรรคเดโมแครต ลงชิงตำแหน่งประธานาธิบดีอย่างแน่นอนแล้ว แต่ นายโจ ไบเดน จะมีอายุ 78 ปี หากเขาได้รับชัยชนะในเดือนพฤศจิกายนที่จะถึงนี้ ดังนั้น นายโจ ไบเดน จะเป็นประธานาธิบดีที่มีอายุสูงที่สุดในประวัติศาสตร์ของประธานาธิบดีแห่งสหรัฐอเมริกาเลยทีเดียว เพราะประธานาธิบดีที่แก่ที่สุดนับถึงวันพ้นจากตำแหน่งก็คือ โรนัลด์ เรแกน ซึ่งครบวาระเมื่อ พ.ศ.2532 ด้วย
วัย 77 ปี เท่ากับไบเดนในปีนี้ ดังนั้น อีกตำแหน่งที่มีความสำคัญไม่น้อยกว่าตำแหน่งประธานาธิบดีก็คือตำแหน่งรองประธานาธิบดีที่เป็นทายาททางการเมืองอันดับหนึ่งของประธานาธิบดีในกรณีที่ประธานาธิบดีตายหรือปฏิบัติหน้าที่ไม่ได้ ซึ่งนายโจ ไบเดน ได้ประกาศว่าเขาจะเฟ้นหาผู้หญิงมาเป็นคู่ชิงชัยในตำแหน่งรองประธานาธิบดีคู่กับเขา และกำหนดที่จะประกาศนามผู้ที่จะเป็นคู่ชิงชัยในตำแหน่งรองประธานาธิบดีร่วมกับเขาในเดือนหน้าคือเดือนสิงหาคมที่จะถึงนี้

ปรากฏว่ามีรายชื่อสตรีที่มีศักยภาพที่จะดำรงตำแหน่งรองประธานาธิบดีในวาระที่สำคัญนี้ มีนับสิบคนและพวกแรกๆ ก็คือบรรดาสตรีที่เสนอตัวเข้าชิงชัยเป็นตัวแทนของพรรคเดโมแครตนั่นเอง ซึ่งส่วนใหญ่ก็ดำรงตำแหน่งวุฒิสมาชิกหรือสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐอยู่แล้ว

Advertisement

จนกระทั่ง นางเอมี่ โคลบะชาร์ วุฒิสมาชิกจากมลรัฐมินนิโซตาซึ่งเป็นตัวเต็งคนหนึ่งที่อยู่ในข่ายจะได้รับการพิจารณาคัดเลือกเป็นผู้สมัครรองประธานาธิบดีคู่กับนายโจ ไบเดน ได้ประกาศขอถอนตัวออกจากการพิจารณาโดยขอเปิดโอกาสให้นายโจ ไบเดน เลือกเอาตัวแทนที่เป็นสตรีผิวสีจะเหมาะสมกว่าจึงเป็นเหตุให้เกิดกระแสที่จะสนับสนุนสตรีผิวสีให้เป็นผู้สมัครเป็นรองประธานาธิบดีคู่กับนายโจ ไบเดน เพิ่มขึ้นอีกโสตหนึ่ง

ตามธรรมเนียมปฏิบัติของพรรคการเมืองหลัก ทั้งพรรครีพับลิกันและพรรคเดโมแครตในการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งประธานาธิบดีนั้น ต้องพิจารณาถึงสิ่งที่เรียกว่า “balancing ticket” คือการเลือกตัวแทนของพรรคที่จะลงสมัครเป็นรองประธานาธิบดีคู่กับผู้สมัครเป็นตัวแทนของพรรคในตำแหน่งประธานาธิบดีต้อง
ดูตามหลักภูมิศาสตร์ ประชากรศาสตร์ และศาสนาว่าต่างเกื้อกูลช่วยเสริมแรงให้แก่กันและกัน ดังตัวอย่างเช่นนายโจ ไบเดน เคยเป็นวุฒิสมาชิกจากมลรัฐเดลาแวร์ซึ่งเป็นมลรัฐที่ตั้งอยู่ในภูมิภาค “The Middle Atlantic” ที่ตั้งอยู่ทางตะวันออกเฉียงเหนือเช่นกัน แต่ถัดลงมาทางใต้ของภูมิภาค New England ซึ่งจะมีอากาศที่อบอุ่นกว่าโดยเฉพาะเขตตอนล่างซึ่งอยู่ส่วนกลางของประเทศ ประกอบด้วยมลรัฐนิวยอร์ก, นิวเจอร์ซี, เพนซิลเวเนีย, เดลาแวร์ และแมรีแลนด์ ซึ่งทั้ง 2 ภูมิภาคนี้ประชากรมีแนวโน้มทางเสรีนิยมและมักเลือกพรรคเดโมแครตอยู่แล้ว

ในทำนองเดียวกันทางภูมิภาค West มีเขตแดนอยู่ติดกับมหาสมุทรแฟซิฟิกจึงมีอากาศดี ส่วนทางตอนบนใกล้กับแคนาดาส่งผลให้มีอากาศหนาวเย็น แต่สามารถอยู่ได้อย่างสบายๆ ว่ากันว่าเป็นเขตที่อากาศดีที่สุด ได้แก่ รัฐไวโอมิง, มอนทานา, ยูทาห์, แคลิฟอร์เนีย, ไอดาโฮ, โอเรกอน, วอชิงตัน, เนวาดา, โคโลราโด (รวมถึงอลาสกาและฮาวาย) ประชากรส่วนใหญ่ก็มีแนวโน้มทางเสรีนิยมและมักเลือกพรรคเดโมแครตเช่นกัน ซึ่งทั้ง 3 ภูมิภาคดังกล่าวมีประชากรหนาแน่นกว่า 3 ภูมิภาคที่เหลือซึ่งประชากรส่วนใหญ่เป็นพวกอนุรักษนิยม ดังนั้น ถึงแม้นางฮิลลารี คลินตัน จะได้รับคะแนนเสียงมากกว่านายโดนัลด์ ทรัมป์ ถึง 2,868,696 คะแนน ก็ยังแพ้การเลือกตั้งเพราะระบบการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐ ใช้วิธีเลือกโดยมลรัฐ (Electoral Vote) คือใครชนะคะแนนเสียงในมลรัฐใดเพียงคะแนนเดียวก็ได้คะแนนเสียงทั้งหมดของมลรัฐนั้นไปเลย (ดูแผนที่แผ่นแรก)

Advertisement
ภูมิภาคทั้ง 6 ของสหรัฐอเมริกา

ดังนั้น จากตัวเต็งสตรี 5 คนที่ ทางวีโอเอ.ได้ประกาศไว้ว่ามีโอกาสสูงมากที่จะได้รับการคัดเลือกเป็นผู้สมัครในตำแหน่งรองประธานาธิบดีกับนายโจ ไบเดน คือ

1.นางเอลิซาเบธ วอร์เรน อดีตอาจารย์ด้านกฎหมาย วุฒิสมาชิกสหรัฐ จากรัฐแมสซาชูเซตส์

2.นางคามาลา แฮร์ริส อดีตอัยการเชื้อสายจาไมกาและอินเดีย วุฒิสมาชิกสหรัฐ จากรัฐแคลิฟอร์เนีย

3.นางวาล เดมิงส์ อดีตตำรวจหญิงผิวดำ ส.ส.สหรัฐ จากเขต 10 รัฐฟลอริดา

4.นางซูซาน ไรซ์ อดีตที่ปรึกษาความมั่นคงแห่งชาติในยุคอดีตประธานาธิบดีบารัค โอบามา

5.นางลัดดา แทมมี ดักเวิร์ธ ทหารผ่านศึกลูกครึ่งไทย-อเมริกัน วุฒิสมาชิกสหรัฐ จากรัฐอิลลินอยส์

ครับ ! พิจารณาดูแล้วมีเพียง นางลัดดา แทมมี ดักเวิร์ธ ทหารผ่านศึกลูกครึ่งไทย-อเมริกัน วุฒิสมาชิกสหรัฐ จากรัฐอิลลินอยส์ เท่านั้นที่สามารถ “balancing ticket” ให้กับพรรคเดโมแครตได้ เพราะแทบจะไม่มีประธานาธิบดีคนใดเลยจะชนะการเลือกตั้งโดยปราศจากชัยชนะในภูมิภาค Midwest ได้ (ดูแผนที่แผ่นที่สอง) ซึ่งตัวเต็งทั้ง 5 คนนี้มีเพียงนางลัดดา แทมมี ดักเวิร์ธ เพียงคนเดียวที่เป็นตัวแทนจากภูมิภาคนี้ซึ่งประชากรส่วนใหญ่มีแนวโน้มเป็นอนุรักษนิยม

ลัดดา แทมมี ดักเวิร์ธ เกิดเมื่อวันที่ 12 มีนาคม พ.ศ.2511 ที่กรุงเทพมหานคร เป็นลูกสาวของแฟรงก์ แอล. ดักเวิร์ธ กับละไม ดักเวิร์ธ (สกุลเดิม สมพรไพลิน) สตรีชาวไทยเชื้อสายจีน ในวัยเด็กลัดดาย้ายตามบิดาซึ่งทำงานอยู่ที่ประเทศอินโดนีเซีย (เหมือนอดีตประธานาธิบดีบารัค โอบามา) ทำให้เธอสามรถพูดใช้ภาษาไทย, อินโดนีเซีย และอังกฤษ ต่อมาเธอได้สมัครเป็นทหารในกองทัพอเมริกันเป็นนักบินเฮลิคอปเตอร์

ระหว่างที่เธอเข้าร่วมรบในสงครามในประเทศอิรัก เมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน พ.ศ.2547 เฮลิคอปเตอร์ที่เธอเป็นนักบินอยู่ ถูกยิง และเกิดระเบิดตรงที่เธอนั่ง ทำให้สูญเสียขาทั้งสองข้าง และแขนข้างขวาพิการ อย่างไรก็ตาม แพทย์ก็ได้ทำการต่อแขนข้างขวาให้แก่เธอ แต่เธอต้องนั่งบนรถเข็น และใช้ขาเทียมในเวลาต่อมาและยังสู้ชีวิตจนกระทั่งได้รับเลือกตั้งเป็นวุฒิสมาชิกจากรัฐอิลลินอยส์เมื่อ พ.ศ.2560

ในขณะที่ นายโจ ไบเดน กำลังเฟ้นหาสตรีผู้ที่จะมาดำรงตำแหน่งรองประธานาธิบดีคู่กับตัวเองปรากฏว่าหนังสือพิมพ์ The New York Times ระบุว่า คนวงใน 2 คน ที่ทราบกระบวนการคัดเลือกผู้สมัครรองประธานาธิบดีเผยว่าการสัมภาษณ์นางลัดดา แทมมี ดักเวิร์ธ สร้างความประทับใจให้กับทีมคัดเลือกของนายโจ ไบเดน มาก และทางทีมได้ขอให้เธอส่งเอกสารประวัติส่วนตัวเพื่อพิจารณาในขั้นตอนต่อไปด้วย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image