ผู้ไม่เลี้ยวกลับ โดย ตีรณ พงศ์มฆพัฒน์

 

การเดินทางของปุถุชนไปสู่ความเป็นอริยะสำเร็จผลได้น้อย แม้ปรารถนาข้ามสู่ฝั่งโลกุตระหากใช้วิธีการที่ผิดย่อมมิอาจไปถึง บ้างไปได้แค่เลาะไปมาริมตลิ่งในขณะที่บางท่านเดินทางได้ถูกต้องและถึงฝั่งได้ราวปาฏิหาริย์

พระปัญจวัคคีย์ฟังปฐมเทศนาพร้อมกันก็เห็นธรรมไม่พร้อมกัน ฟังอนัตตลักขณสูตรด้วยกันแต่บรรลุพระอรหัตตผลในคราวเดียวกันนั้น

พระพาหิยะใช้เวลาอันสั้นยิ่งในการบรรลุธรรม พระปัญจวัคคีย์บรรลุธรรมภายในไม่กี่วัน พระมหากัสสปะบรรลุธรรมในเวลาเพียง 7 วัน เห็นพระพุทธองค์ทรงชูดอกบัวก็เข้าใจได้ทันที พระภัททากัจจานาเถรีหรือพระนางพิมพาบรรลุธรรมใน 15 วันภายหลังอุปสมบท พระอนุรุทธซึ่งเป็นพระโสดาบันและสำเร็จฌานสมาบัติใช้เวลา 8 ปี ส่วนพระอานนท์ใช้เวลา 44 ปี โอกาสและความพร้อมในการสดับพระธรรมจากพระพุทธองค์นับเป็นปัจจัยอันสำคัญยิ่ง

Advertisement
จิตรกรรมฝาผนังโบสถ์เก่าวัดม่วง อินทร์บุรี
พระผู้มีพระภาคผินพระพักตร์อำลากรุงเวสาลี
ปริศนาธรรมของผู้หลุดพ้น ไม่เลี้ยวกลับและไม่ห่วงอาลัย

ความเป็นศาสตร์ของจิตตภาวนานั้นมีอยู่ มีเหตุและผลแต่ยากที่จะอธิบายได้ทั้งหมด ผู้ปฏิบัติมักมีความศรัทธา เงื่อนไขความพร้อม ปมทางจิตและการปฏิบัติเฉพาะตนที่แตกต่างกัน

ผู้เดินทางย่อมต้องพยายามเดินทางให้ถูกต้อง เส้นทางที่เดินมีระยะทางยาวนานและมีอุปสรรคมากมาย พระปัณณะมันตาณีบุตรกล่าวว่า การเดินทางสู่พระนิพพานนั้นเปรียบเสมือนการเดินทางจากกรุงสาวัตถีจนถึงนครสาเกตและต้องใช้รถม้าถึง 7 ผลัด (เรียกว่าวิสุทธิ 7)

ส.พลายน้อยบันทึกไว้ว่าเส้นทางจากสาวัตถีถึงสาเกตหรืออโยธยามีระยะห่าง 70 กิโลเมตร หากเราจินตนาการคงได้ว่าแต่ละผลัดจะมีสถานีของเมืองระหว่างเส้นทาง รถม้านั้นคงเป็นรถม้าเร็วที่เดินทางระหว่างเมืองโดยไม่แวะรับผู้โดยสารกลางทาง

Advertisement

การเดินทาง 7 ผลัดอาจอาศัยคำอธิบายจากวิสุทธิ 7 หรือโพธิปักขิยธรรม 7 หมวด 37 ประการก็ได้ การเทียบเคียงที่แตกต่างกันบ้างคงมิใช่ประเด็นที่ควรติดขัด ต่างเป็นทางสายเอกเดียวกัน เพียงแต่มีสถานีแตกต่างกันเล็กน้อยและกูรูอาจมีความเห็นไม่ตรงกัน

ลักษณะพิเศษที่เหมือนกันคือเป็นการเดินทางโดยอาศัยศีล สมาธิและปัญญาเป็นยานพาหนะ ถ้าสำหรับผู้ครองเรือนก็มีทานเพิ่มขึ้นเป็นทาน ศีลและภาวนา

จิตรกรรมฝาผนังโบสถ์วัดไทรอารีรักษ์ โพธาราม
เจ้าชายสิทธัตถะทรงอำลาพระนางพิมพาและพระโอรส
ทรงระงับความอาลัยอาวรณ์ก่อนเสด็จเส้นทางสมณะ

การเดินทางที่จำแนกตามแบบโพธิปักขิยธรรมอาจเปรียบอุปมาเป็นการเดินทางจากกรุงอินทปัตถ์ซึ่งเป็นเมืองหลวงแคว้นกุรุไปกัมมาสธัมมนิคมก็คงได้ เส้นทางนี้อาจยาวไม่ถึงครึ่งหนึ่งของเส้นทางจากสาวัตถีไปสาเกต ชื่อสถานีก็อาจไม่เหมือนกันหรือเล็กโตไม่เท่ากัน แต่ก็เป็นเส้นทางที่ยาวไกลเทียบเคียงกันได้ ต้องอาศัยยานพาหนะและมีอุปสรรคมาก ระยะเวลาที่ใช้ย่อมขึ้นอยู่กับแต่ละบุคคล

ผู้เดินทางมักมีความพร้อมและจุดมุ่งหมายที่แตกต่างกัน ประสบการณ์การเดินทางจึงหลากหลายขึ้นอยู่กับผู้ปฏิบัติเป็นอย่างมาก การโต้เถียงเรื่องผิดถูกจึงไม่ง่ายนัก

เส้นทางสายเอกนี้ไม่มีทางลัด บางท่านอาจเดินทางตรงไปถึงจุดหมายได้เร็ว บางท่านได้ช้า บางท่านไปได้ไม่กี่สถานีก็หยุดพักหรือสาละวนกับเรื่องอื่น

จิตรกรรมฝาผนังโบสถ์เก่าวัดประตูสาร สุพรรณบุรี
ช้างนาฬาคีรีเมาหน้าเส้นทางบิณฑบาตของพระศาสดา
“กุญชร เจ้าอย่าเมา อย่าประมาท เจ้าจักกระทำเหตุให้เดินทางไปสุคติได้”

จำนวนมากมักถอยกลับตั้งแต่ต้น จำนวนน้อยเท่านั้นที่เดินทางจนมองเห็นฝั่ง ที่เห็นฝั่งแล้วจะเดินทางต่อก็อาจยังผูกผันอาลัยอาวรณ์ ที่ข้ามถึงฝั่งได้หรือเกือบจะถึงฝั่งจึงยิ่งมีน้อยอย่างยิ่ง

ในการเดินทางนั้นแนวทางที่เรียกว่าสมถวิปัสสนามีการเจริญสมาธิให้แข็งแรงก่อน บ้างก็อาศัยการเจริญฌานกสิณเหมือนพราหมณ์โบราณเสียก่อน เมื่อถึงขั้นจตุตถฌานแล้วค่อยถอนออกมาเจริญวิปัสสนา บ้างก็เจริญสมาธิที่อาศัยอนุสติที่เหมาะสมกับการกำจัดกิเลสเช่นกายคตาสติหมวดอสุภะปฏิกูลเป็นต้น เมื่อได้สมถะในระดับหนึ่งค่อยเจริญวิปัสสนาจากสภาวจิตนั้น

แนวทางที่เรียกว่าวิปัสสนากรรมฐานมีการเจริญสติปัฏฐานให้เกิดสติและปัญญาก่อนโดยที่สมาธิยังไม่ต้องสูง ทำให้มีสติสัมปชัญญะตั้งแต่เบื้องต้นและเกิดวิปัสสนาญาณ

การเจริญสติจะทำให้รู้เท่าทันอารมณ์และสิ่งเร้าที่เข้ามา มีปัญญาที่ช่วยคาดคะเนถึงผลที่จะตามมา เกิดสัมปชัญญะได้เร็ว เมื่อจิตตั้งมั่นและมีสมาธิสูงขึ้นก็เจริญโพชฌงค์ตามสภาวะความเป็นจริงของสมาธิจิต เจริญวิปัสสนาจากขันธ์ 5 อายตนะ 6 และอริยสัจ 4 เป็นต้น

การเกิดอริยมรรคต้องอาศัยทั้งสมถะและวิปัสสนา สมถะเป็นการเจริญสมาธิให้จิตสงบหรือไม่ฟุ้งซ่าน เห็นกิเลสได้ง่าย วิปัสสนาเป็นการเจริญปัญญาให้เห็นกายและจิตเป็นอนิจจัง ทุกขังและอนัตตา ทุกข์ก็ดับได้ กิเลสก็ดับได้

เมื่อจิตละเอียดสงบเป็นสมถะ วิปัสสนาอาศัยจิตที่ละเอียดสงบนั้นเจริญปัญญา เมื่อเจริญปัญญาจนกระทั่งเข้าถึงภายในจิตก็เกิดเอกัคคตาเป็นสมถะ

พระอานนท์เคยอธิบายเรื่องมรรคว่าสมถะเป็นการที่จิตไม่ฟุ้งซ่าน ส่วนวิปัสสนาเป็นการที่จิตเห็นขันธ์ 5 อายตนะและชรามรณะเป็นอนิจจัง ทุกขังและอนัตตา ถ้าการเจริญมรรคมีจิตที่ไม่ฟุ้งซ่านและอาศัยวิปัสสนาเห็นสภาวะว่าไม่เที่ยงเป็นต้นก็ถือว่าเป็นวิปัสสนาที่มีสมถะเป็นเบื้องต้น เมื่อเจริญวิปัสสนาจนจิตเป็นสมาธิก็ถือว่าเจริญสมถะที่อาศัยวิปัสสนาก่อน

การเดินทางเข้าสู่อริยมรรคย่อมต้องมีความเพียรและความพร้อมขององค์ประกอบอื่นครบ พระอานนท์อธิบายว่าเมื่ออริยมรรคเกิดขึ้นก็ต้องเจริญให้มากจึงจะทำให้กิเลสสิ้นไปเป็นลำดับ

การสลัดกิเลสออกเป็นสิ่งที่ยากอย่างยิ่ง อริยมรรคเป็นเครื่องมือเดียวที่มีอานุภาพ กิเลสมีการสะสมมายาวนาน อนุสัยกิเลสซึ่งละเอียดก็มีชัยภูมิที่เข้าถึงได้ยาก

กิเลสมีลักษณะที่เป็นบ่วงหนามซึ่งสร้างความทุกข์แต่ก็ผูกรัดไว้ให้ต้องห่วงหาหรืออาลัยอาวรณ์ บ่วงหนามนี้มีอิทธิพลครอบงำจิตอย่างน้อย 2 ประการ

ประการแรก กิเลสเปรียบเสมือนลูกศรที่ทำให้ทุกข์ไม่จบสิ้น เมื่อรู้สึกว่ามีความสุขก็ปรุงแต่งให้รู้สึกสุขมากขึ้น เมื่อไม่สมหวังกลับรู้สึกทุกข์ เมื่อทุกข์ จิตก็ปรุงแต่งให้ทุกข์มากขึ้นและดิ้นรนหาความสุขที่เคยได้รับ ทั้งสองสภาพดังกล่าวเป็นการเพิ่มพิษและการทิ่มแทงของลูกศร ต้องมีจิตที่เท่าทันจึงจะต้านได้

ประการที่สอง กิเลสจะคอยดึงรัดไว้ไม่ให้หลุด ภูมิจิตที่เป็นมาทำให้ผู้เดินทางกังวลกับสิ่งผูกมัดที่เคยชิน เคยเสพ คั่งค้างหรือหมกมุ่นอยู่ ความสงบยากที่จะเกิดได้ การเปลี่ยนแปลงของภูมิจิตที่อาศัยปัญญาและความสงบเท่านั้นจึงจะสลัดบ่วงเหล่านั้นออก ไม่หวนกลับและไม่ห่วงอาลัยทั้งอดีตที่เคยมีเคยเป็นจนถึงอนาคตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น

สิ่งที่เป็นบ่วงรัดแห่งกิเลสอันละเอียดเรียกว่าสังโยชน์ซึ่งมีรวม 10 ประการ พระโสดาบันขจัดสังโยชน์ได้ 3 ประการ พระอนาคามีขจัดเพิ่มอีก 2 ประการและพระอรหันต์ขจัดได้ครบทั้งหมด

เมื่อละสังโยชน์ใดได้ อนุสัยกิเลสของสังโยชน์นั้นก็จะสิ้นไป แต่ถ้าการเดินทางยังเพิ่งเริ่มต้นหรือไม่ก้าวหน้าเพียงพอก็อาจจะหวนกลับไปอยู่กับความเคยชินเดิมๆ

การเดินทางถึงจุดที่สำคัญจะทำให้ผู้เดินทางเริ่มไม่เลี้ยวกลับหรือมีอนาลโย

การเจริญสติปัฏฐานตามมหาสติปัฏฐานสูตรและอานาปานสติสูตรจะพัฒนาจิตจนกระทั่งมีสติ สมาธิและปัญญาในระดับที่เห็นสภาวะความเป็นจริงระดับหนึ่ง การเห็นปัญญาระดับนี้เรียกว่า “ยถาภูตังญาณทัสสนัง” นับเป็นจุดเบื้องต้นของการไม่เลี้ยวกลับ

สติ สมาธิและปัญญาประสานเข้าด้วยกันแต่ยังไม่หยั่งลงในจิต

คัมภีร์ทางพระพุทธศาสนาเรียกบุคคลที่ปฏิบัติถึงขั้นนี้ว่าจุลโสดาบันซึ่งเทียบได้กับกัลยาณชน มีความละอายสะดุ้งกลัวต่อบาป ไม่ก่อกรรมหนัก จิตจึงไม่หวนกลับไปหาบาปหรือนรกภูมิ

กัลยาณชนหรือจุลโสดาบันเป็นผู้ที่มีความเชื่อมั่นศรัทธาอย่างยิ่งในเส้นทางสายเอก เจริญภาวนาแล้วและนับว่ามีศีล สมาธิและปัญญาระดับหนึ่ง ต้องพึ่งพาอาศัยการฟังการอ่านและการเข้าใกล้ผู้ที่มีปัญญาแท้จริง มีความสามารถในการใช้จิตสำนึกข่มกิเลสแม้ยังละภายในจิตไม่ได้

การปฏิบัติต่อไปอย่างต่อเนื่องจะทำให้ภูมิจิตสูงขึ้น สติพัฒนาเป็นศีลทางใจ สมาธิจดจ่อเป็นอัปปนาสมาธิ จิตมีปัญญาขึ้นสูงพอที่จะเห็นทุกขสมุทัยและผลแห่งการละอันเป็นทุกขนิโรธ

เมื่อเกิดอริยมรรคสมังคีในจิตที่เป็นอัปปนาสมาธิ การรับรู้สภาวะความเป็นจริงของกายและจิตละเอียดขึ้นอย่างมาก
ทั้งในระดับของสภาวะและเหตุของสภาวะ เกิดภูมิจิตของพระอริยบุคคล

นับเป็นจุดที่สำคัญยิ่งของการไม่เลี้ยวกลับ คุณภาพจิตจะสูงกว่าภูมิของปุถุชน ปิดทางอบายซึ่งในแง่ของพื้นฐานทางอารมณ์ จิตจะไม่กลับไปอยู่ในอารมณ์นรก (ฉ้อโกง ทำร้ายเบียดเบียนผู้อื่น) อารมณ์เปรต (ตระหนี่ ไม่รู้จักให้) อารมณ์อสุรกาย (เศร้าหมอง) และอารมณ์เดรัจฉาน (ถืออำนาจ ไม่สนใจดีเลว)

ส่วนในแง่ของสังโยชน์ พระโสดาบันสลัดออกได้ 3 ประการได้แก่ สักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉาและสีลัพพตปรามาส กล่าวคือ (1) ไม่ยึดมั่นในกายว่าเป็นตัวตน (2) ไม่สงสัยในอริยสัจรวมทั้งไม่ลังเลไปว่าทางอื่นก็เป็นมรรค และ (3) มีศีลที่ลึกไปถึงจิตใจ ไม่หลงไปกับศีลทางกาย

ชาวพุทธเรียกพระโสดาบันว่าเป็นผู้ถึงฝั่งในศีล

หลวงปู่ชา สุภัทโทเคยอธิบายแก่ศิษย์ที่เป็นพระภิกษุว่าพระโสดาบันเป็นผู้ที่ไม่กังวลสงสัย หรือ “ไม่ลูบคลำ” ความหายสงสัยเกิดจากการกระทำความเพียรของตนเอง

พระโสดาบันเป็นผู้ที่เข้าสู่กระแสพระนิพพาน มีศีลที่บริบูรณ์ มีสมาธิและปัญญาพอประมาณซึ่งเพียงพอสำหรับประคองจิตให้อยู่ในกระแสของการเดินทางต่อไป สติที่รอบคอบเท่าทันจะป้องกันมิให้หลุดจากศีล ความเพียรไม่ถอยกลับ

สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสว่าพระโสดาบันเป็นผู้ที่ไม่แปรปรวนแล้ว ไม่ตกต่ำ มีความเที่ยงแท้ต่อพระนิพพานและจักตรัสรู้ในกาลเบื้องหน้า

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image