สมิธ ดัน‘นายพลสี่เท้า’ ผู้บัญชาการทหารสูงสุดคนแรกของพม่า (1) โดย ลลิตา หาญวงษ์

เมื่อไม่นานมานี้ มีผู้ใหญ่ที่ผู้เขียนเคารพโพสต์ภาพของพลเอกอาวุโสมิน อ่อง หล่าย ผู้บัญชาการทหารสูงสุดของพม่าไปเยี่ยมหลุมศพของนายพล สมิธ ดัน (Major General Smith Dun) ผู้บัญชาการทหารสูงสุดคนแรกของพม่ายุคหลังเอกราช ซึ่งเป็นภาพเก่าตั้งแต่กลางเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา การเดินทางไปเคารพหลุมศพของนายพล สมิธ ดัน ของพลเอกอาวุโสมิน อ่อง หล่ายอาจจะไม่ได้มีความหมายพิเศษในทางการเมือง แต่อย่างน้อยก็ทำให้คนรุ่นใหม่ในพม่าตั้งคำถามว่านายพลชื่อแปลกแปร่งว่า “สมิธ ดัน” ผู้นี้คือใคร เหตุใดชาวกะเหรี่ยงและคริสตชนผู้นี้จึงได้ก้าวขึ้นมาเป็นผู้บัญชาการทหารสูงสุด ในยุคที่คณะรัฐมนตรีเกือบทั้งหมดล้วนเป็นคนพม่าแท้ทั้งสิ้น และเขาก้าวข้ามคำปรามาสของคนพม่าที่ว่าคนกะเหรี่ยงซื่อสัตย์เฉพาะกับเจ้าอาณานิคมอังกฤษ และเขายังพิสูจน์ให้เห็นว่าแม้จะมีพื้นเพเป็นชาวกะเหรี่ยง แต่ก็สามารถอุทิศตนทำงานเพื่อประโยชน์ส่วนรวมของสหภาพพม่าในยุคนั้น

ดันอยู่ในตำแหน่งผู้บัญชาการทหารสูงสุดเพียงหนึ่งปี ตั้งแต่วันแรกที่พม่าได้รับเอกราชในวันที่ 4 มกราคม 1948 ถึงสิ้นเดือนมกราคม 1949 เมื่อ KNU (Karen National Union) และ KNDO (Karen National Defence Organisation) ที่เป็นปีกทหารของ KNU ลุกฮือขึ้นต่อต้านรัฐบาลพม่า และประกาศตั้งรัฐเอกราชกะเหรี่ยง หรือกอตูเล (Kawthoolei) ขึ้น ก่อนหน้านี้ ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลพม่าที่นำโดยนายพลออง ซาน และอู นุ กำลังไปได้สวย และรัฐบาลพม่าก็ต้องพึ่งพากองทหารของกลุ่มชาติพันธุ์ ทั้งกะเหรี่ยง กะฉิ่น และฉิ่น เพื่อปราบปรามกลุ่มกองกำลังของพรรคคอมมิวนิสต์พม่า เนื่องจากมีประสบการณ์รบในสมรภูมิจริงมาตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2 และจัดว่าเป็นกองกำลังที่มีประสิทธิภาพสูงสุดในขณะนั้น

ด้วยความที่ทหารกะเหรี่ยงมีประสิทธิภาพสูงนี่เอง จึงทำให้รัฐบาลพม่าภายใต้การนำของอู นุหวังพึ่งกองกำลังของกะเหรี่ยง ผู้นำกองทัพชาวกะเหรี่ยงอย่างสมิธ ดันก็เป็นที่ไว้เนื้อเชื่อใจของชาวพม่า แต่เมื่อเกิดเหตุการณ์ที่กองกำลัง KNDO ปล้นคลังอาวุธที่อินเส่ง และบุกยึดพื้นที่ใกล้เคียงในพม่าตอนล่าง ผู้บัญชาการกองทัพชาวกะเหรี่ยงอย่างดันก็ไม่มีที่ยืนอีก ผู้บัญชาการกะเหรี่ยงคนอื่นๆ ที่ถูกขับออกจากกองทัพพม่าหากไม่หลบหนีไปเข้าร่วมกับฝ่าย KNU/KNDO ก็ถูกควบคุมตัวในค่าย สมิธ ดันเลือกที่จะไม่หนี และลาออกจากตำแหน่งเอง ประวัติศาสตร์หลายกระแสอ้างว่าเขาถูกไล่ออกจากตำแหน่ง แต่จากปากคำของดันที่เขียนไว้ในบันทึกความทรงจำ ที่ต่อมามหาวิทยาลัยคอร์แนลนำมาพิมพ์ในชื่อ Memoirs of the Four-Foot Colonel (บันทึกของผู้พันสี่เท้า) ตั้งแต่ปี 1980 เขาแสดงความรับผิดชอบโดยการลาออกจากตำแหน่งเอง

การลุกฮือของกองทัพกะเหรี่ยง และความตึงเครียดระหว่างชาวพม่ากับชาวกะเหรี่ยงที่เกิดขึ้นตั้งแต่ปี 1949 เป็นจุดเปลี่ยนทางการเมืองที่สำคัญมากของพม่า เพราะหลังจากนี้อู นุจะผลักดันให้รองผู้บัญชาการกองทัพพม่า นามว่า เน วิน ให้ขึ้นมาเป็นผู้บัญชาการกองทัพ ในอีก 13 ปีต่อมา เน วินผู้นี้เองที่จะนำกองทัพของตนทำรัฐประหาร ยึดอำนาจจากรัฐบาลอู นุ และเป็นผู้นำเผด็จการที่อยู่ในอำนาจยาวนานต่อมาอีกถึง 26 ปี

Advertisement

หลังลงจากตำแหน่ง สมิธ ดันใช้ชีวิตอย่างสมถะในเมืองกะลอ รัฐฉาน ภายใต้การสอดส่องดูแลของคนในกองทัพพม่า และเสียชีวิตอย่างสงบในปี 1979 ในประวัติศาสตร์การเมืองสมัยใหม่ของพม่า ชื่อของสมิธ ดันอาจไม่เป็นที่รู้จักนัก ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะเขาเป็นคนกะเหรี่ยง และเรื่องเล่ากระแสหลักในพม่าคงไม่ต้องการทำให้คนกะเหรี่ยงอย่างดันเป็น “วีรบุรุษ” เทียบเท่านักชาตินิยมในกลุ่ม “ตะขิ่น” หรือวีรบุรุษสูงสุดของพม่า เดวิด ไอ. สไตน์เบิร์ก (David I. Steinberg) ผู้เชี่ยวชาญด้านการเมืองพม่ากล่าวถึงคุณูปการของสมิธ ดันไว้ว่า

“สำหรับใครหลายคน ดันอาจเป็นเพียงส่วนหนึ่งของเชิงอรรถในประวัติศาสตร์ร่วมสมัยพม่า แต่เขามีความสำคัญมากกว่านั้น ในเรื่องเล่าทั่วๆ ไปที่กล่าวถึงการเปลี่ยนผ่านจากยุคอาณานิคมสู่ยุคเอกราชพม่า และขวบปีแรกๆ ของสาธารณรัฐที่เต็มไปด้วยความขัดแย้ง เขาถูกกล่าวถึงแบบผ่านๆ เท่านั้น อย่างไรก็ดี การแต่งตั้งให้เขาเป็นผู้บัญชาการทหารสูงสุดนั้นเป็นหนึ่งในส่วนประกอบที่สำคัญอย่างมากในการสถาปนาสหภาพพม่า”

ปฏิเสธไม่ได้ว่าอนาคตของพม่า ไม่ว่าจะในยุคใด คืออนาคตของคนพม่าร่วมกับกลุ่มชาติพันธุ์อื่นๆ ในยุคที่อังกฤษปกครองพม่านั้น กลุ่มชาติพันธุ์ในพม่าไม่ได้ถูกมองว่าเป็น “ชนกลุ่มน้อย” หากคนแต่ละกลุ่มมีความถนัดและความสามารถเฉพาะของตนเอง และอังกฤษเลือกใช้ความถนัดของกลุ่มชาติพันธุ์อย่างมีประสิทธิภาพ โดยไม่ตั้งคำถามว่าใครดีกว่าใคร แต่เมื่อพม่ากำลังจะเป็นเอกราช ปัญหาเรื่องการบริหารจัดการพื้นที่และทรัพยากรของกลุ่มชาติพันธุ์กลายมาเป็นประเด็นใหญ่ที่สุด เมื่อออง ซาน นำผู้นำพม่าไปเจรจากับผู้นำกลุ่มชาติพันธุ์ ณ เมืองปางหลวง ในรัฐฉาน เมื่อปี 1947 ออง ซานเห็นชอบให้รัฐฉานและกะยาห์สามารถแยกตัวออกไปได้เมื่อพม่าได้รับเอกราชไปแล้ว 10 ปี หลายคนอาจจะสงสัยว่าเหตุใดข้อตกลงปางหลวงจึงให้สิทธิกลุ่มชาติพันธุ์เพียง 2 กลุ่มแยกตัวออกไปได้ สำหรับรัฐกะฉิ่น ออง ซานเห็นว่าควรได้รับสิทธิเช่นเดียวกับรัฐฉานและกะยาห์ แต่เนื่องจากพื้นที่ที่เป็นรัฐกะฉิ่น โดยเฉพาะในรัฐกะฉิ่นตอนใต้ ยังมีสัดส่วนของประชากรพม่าจำนวนมาก ทำให้ที่ประชุมที่ปางหลวงยังไม่พิจารณาสิทธิการแยกตัวของรัฐกะฉิ่น

Advertisement

ในขณะที่ตัวแทนของฉาน กะฉิ่น และกะยาห์ตกลงในรายละเอียดกับรัฐบาลพม่าได้ แต่รัฐบาลพม่ากลับไม่สามารถตกลงกับตัวแทนของกะเหรี่ยง ที่มีสถานะเป็นเพียงผู้สังเกตการณ์ในการประชุมที่ปางหลวง ชาวกะเหรี่ยงเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่มีเอกลักษณ์เฉพาะ จำนวนมากเป็นชาวคริสต์ มีวิถีชีวิตใกล้ชิดกับมิชชันนารีชาวตะวันตก แต่ในขณะเดียวกัน ประชากรกะเหรี่ยงก็อาศัยอยู่ปะปนกับชาวพม่าในพม่าตอนล่าง ตัวแทนกะเหรี่ยงหวังว่าวีรกรรมที่ทหารกะเหรี่ยงเป็นเรี่ยวแรงหลักช่วยขับไล่กองทัพญี่ปุ่นออกไปในสงครามโลกครั้งที่ 2 จะทำให้ออง ซานใจอ่อนและยอมมอบเอกราชให้กับรัฐกะเหรี่ยงบ้าง แต่จนแล้วจนรอด การเจรจาเอกราชของรัฐกะเหรี่ยงก็ไม่เกิดขึ้น แต่ออง ซานก็มีข้อเสนอที่ดี
มอบให้กับผู้นำกะเหรี่ยง

ในฐานะที่เป็นนายทหารกะเหรี่ยงที่เป็นที่รักและเคารพในหมู่ชาวกะเหรี่ยงด้วยกัน สมิธ ดันพยายามเกลี้ยกล่อมให้ผู้นำกะเหรี่ยงอยู่ร่วมกับพม่าต่อไปพร้อมๆ กับกลุ่มชาติพันธุ์อื่นๆ ผู้นำกะเหรี่ยงเห็นดีตามสมิธ ดันในเวลานั้น รัฐบาลพม่าของอู นุตอบแทนความซื่อสัตย์ของดันด้วยการแต่งตั้งเขาเป็นผู้บัญชาการทหารสูงสุด และผู้บัญชาการตำรวจ แต่ดังที่กล่าวมาแล้วว่าเขาอยู่ในตำแหน่งได้เพียงปีเศษ เมื่อเกิดวิกฤตการณ์กะเหรี่ยงขึ้น อนาคตในกองทัพพม่าของเขาและผู้บัญชาการกะเหรี่ยงคนอื่นๆ ดับสูญ และแทนที่จะเข้าร่วมกับขบวนการเรียกร้องเอกราชของ KNU/KNDO ดันเกษียณอายุตัวเองออกมาแบบเงียบๆ หากเขาเลือกเข้าร่วมกับกองกำลังของกะเหรี่ยงเพื่อต่อสู้กับรัฐบาลพม่า ประวัติศาสตร์การเมืองพม่าสมัยใหม่อาจเปลี่ยนไปจากนี้ก็เป็นได้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image