สู่สังคมอุดมดราม่าแบบสุดขั้ว…โดย พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์

คําว่า “ดราม่า” ดูจะเป็นคำที่เป็นที่นิยมในบ้านเมืองเราสมัยนี้ ผมก็ไม่รู้จะแปลว่าอะไรได้ตรงๆ ในแง่ของการอ้างอิง แต่ก็จะแปลตามความเข้าใจของผมนั่นแหละครับ

คำว่าดราม่าน่าจะมาจาก dramatization ในแง่ของการพูดถึงการนำเสนออะไรที่เกินจริง หรือตีไข่ใส่สีเพื่อให้เรื่องราวนั้นน่าสนใจ ซึ่งพูดง่ายๆ ก็คือ “ทำให้เป็นละคร (น้ำเน่า)” หรือทำให้ “เกินจริง” นั่นละครับ

คำว่าดราม่าก็อาจจะมาจาก drama queen ซึ่งแปลว่าคนที่เผชิญหรือตอบรับกับสถานการณ์บางอย่างด้วยความฟูมฟายเกินกว่าที่ปกติเขาทำกัน

สังคมอุดมดราม่าในที่นี้หมายถึงสังคมที่ตอบสนองต่อปรากฏการณ์ต่างๆ ของสังคมโดยมีลักษณะที่เกินจริง ฟูมฟาย สร้างสีสัน ซึ่งในหลายเรื่องก็คงไม่ได้เป็นประเด็นท้าทายอะไร หากการแสดงออกเกินจริงเหล่านั้นไม่ได้ไปผูกพันกับเรื่องของความเกลียดชังและความสุดขั้วในสังคม

Advertisement

เรื่องที่ผมสนใจอยู่ที่ร่องรอยของความเชื่อมโยงระหว่างปรากฏการณ์ทางสังคมกับปรากฏการณ์ทางการเมือง ที่ทำให้เราต้องหันมามองปรากฏการณ์สุดขั้วของสังคมอุดมดราม่า

ไม่ใช่จะรณรงค์ให้เลิกดราม่า แต่คำถามก็คือ สังคมอุดมดราม่านี้เป็นสังคมที่เชื่อมโยงได้ดีกับการเมืองแบบไหน และมันจะเป็นคุณต่อการก้าวสู่สังคมประชาธิปไตยมากน้อยแค่ไหน

นอกจากนั้นแล้วคงต้องตั้งคำถามว่าสังคมอุดมดราม่านั้นมีรากฐานมาจากเรื่องราวอะไร

เรื่องที่ผมพูดนี้ออกจะซับซ้อนนิดหนึ่งคือ ผมไม่ได้ปฏิเสธว่ามันไม่มีปรากฏการณ์บางอย่างเกิดขึ้นจริง แต่ปรากฏการณ์ที่เรามีต่อสิ่งที่เกิดขึ้นนั้นมันออกจะเกินจริงไปสักหน่อยหรือไม่ ผมขอไล่มาตั้งแต่เรื่องของการที่มีข่าวรถกระบะของดีเจท่านหนึ่งถอยไปชนรถที่อยู่ข้างหลัง ซึ่งผมไม่ได้คิดว่าดีเจท่านนั้นถูก แต่ปรากฏการณ์การไล่ล่าดีเจท่านนั้น และปรากฏการณ์ที่สังคมออกมาขานรับการลงโทษให้ถึงที่สุด อาทิ การที่เจ้าหน้าที่ตำรวจท่านหนึ่งออกมาให้สัมภาษณ์ว่าต้องจัดการให้ถึงที่สุดโดยการพิจารณาตั้งข้อหาเพิ่มให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ทั้งที่ในวันแรกที่มีการนำเอาคลิปออกมาเผยแพร่นั้นยังไม่ได้มีเรื่องราวทั้งหมดของเรื่อง เช่น มีความขัดแย้งกันของทั้งสองฝ่ายที่นำไปสู่การควบคุมอารมณ์ไม่ได้

แต่ท้ายสุดสิ่งที่เกิดขึ้นในเหตุการณ์ก็คือความรู้สึกที่ว่าจะต้องมีการไล่ล่า และทำให้ฝ่ายหนึ่งไม่มีที่ยืนในสังคมให้ได้มากที่สุด และเชื่อว่ามติมหาชนจะนำไปสู่การแก้ปัญหาโดยการเข้าชื่อกันให้มีการเปลี่ยนแปลงบางอย่าง เช่น การยุติการจ้างงาน เนื่องจากสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นการประพฤติตัวที่ไม่เหมาะสม

หรือปรากฏการณ์การพูดถึงตุ๊กตาลูกเทพในลักษณะของการให้ข้อมูลฝ่ายเดียวที่มีการขานรับต่อๆ กันว่าเป็นปรากฏการณ์ที่ไร้สาระ หรือขาดเหตุผล งมงาย มีการเล่นข่าวจนแทบจะกลายเป็น “วาระแห่งชาติ” โดยมีทรรศนะจากผู้มีอำนาจหลายท่าน ทั้งที่ไม่มีการตั้งคำถามว่าเรื่องอื่นๆ ที่งมงายของผู้นำและสังคมเอง เช่น เรื่องของการทำพิธีทางไสยศาสตร์อะไรทำนองนี้ควรจะต้องตั้งคำถามเช่นเดียวกันไหม หรือถามคำถามกับบริษัทที่หากำไรกับปรากฏการณ์ลูกเทพ เป็นต้น

เรื่องที่กำลังจะเริ่มเป็นดราม่าอีกเรื่องหนึ่งก็คือการไล่ล่าอดีตนักเรียนทุนที่หนีทุน ซึ่งตรงนี้ต้องพูดให้ชัดก่อนว่าสิ่งที่ผมพูดไม่ได้หมายถึงการปกป้องคนที่หนีทุน แต่ปรากฏการณ์การไล่ล่า เช่น เอาที่อยู่ของเขามาเปิดเผย หรือมองว่าต้องไปไล่ล่าญาติพี่น้องจากการค้นนามสกุล ตรงนี้ก็ต้องตั้งคำถามให้มากเข้าไว้

สิ่งที่ง่ายที่สุดก็คือ ประเทศนี้มีคนนามสกุลซ้ำกันก็มากอยู่ ดังนั้นความคลั่งหรือการปลุกปั่นความคลั่งนั้นไม่ได้แก้ปัญหาอะไรมากกว่าการระบายอารมณ์

อันที่จริงสิ่งหนึ่งที่ไม่มีการนำเสนอในเรื่องการหนีทุนก็คือ หลายกรณีมีความเกี่ยวข้องกับเครือข่ายทางสังคมในที่ทำงาน เรามองเห็นจากข่าวแค่คนที่ไปค้ำประกัน แต่อีกสิ่งหนึ่งที่เราไม่เห็นจากข่าวก็คือ แต่ละเรื่องราวของการหนีทุนนั้นมันเกี่ยวข้องกับกระบวนการอันยาวนานของผู้หลักผู้ใหญ่ในองค์กรที่รับรู้เรื่องราวเหล่านี้และไม่สามารถแก้ไขอะไรได้ หรืออาจจะรู้เห็นเป็นใจกับการไม่กลับมาก็อาจเป็นได้ ถ้าสืบสาวไปดีๆ ในแต่ละกรณียังมีเรื่องมากมายที่เกี่ยวข้องกับการตัดสินใจปกป้องผลประโยชน์ขององค์กร ไม่ใช่แค่ประเด็นทางศีลธรรมของตัวผู้หนีทุนและครอบครัวเท่านั้น

กระบวนการตัดสินใจของหน่วยงานในการติดตามฟ้องร้องหรือเจรจากับผู้รับทุนนั้นจำเป็นต้องดูในรายละเอียดแต่ละกรณีไปด้วย ไม่เช่นนั้นเราก็จะสนใจข่าวต่างๆ เป็นเพียงการบำบัดอารมณ์ของเรา และรู้สึกหิวโหยและโหยหาการกระทำที่ดีๆ โดยรอให้มีคนไปส่องไฟหรือกำหนดสิ่งที่เรารู้สึกว่าไม่ดีขึ้นมา จากนั้นก็มุ่งที่จะเข้าไปจัดการเรื่องราวเหล่านี้

เราต้องระวังไม่เสพติดความดีแบบที่เชื่ือว่าความดีมาจากการประณามและขจัดความชั่วเท่านั้น ความดีควรเริ่มจากสติ ไม่ใช่ควรเริ่มจากความรู้สึกของการจะต้องมองว่าเราต้องสถาปนากรณียกเว้นบางอย่างเพื่อจัดการความชั่ว ในความหมายที่ว่าการสถาปนากรณียกเว้นนั้นคือการที่เราจะไม่ทำอะไรแบบนั้นในเวลาปกติ แต่เรารู้สึกว่าถ้าเราใช้ความรุนแรงทางวาจาหรือทางกายภาพกับสิ่งที่สมควรจะได้รับนั้นก็สามารถทำได้ เพื่อให้เกิดความถูกต้อง ความดีงาม (เพราะว่ามัน “จำเป็น”) ทั้งที่ในหลายกรณีเราควรจะใช้สติและกดดันสถาบันที่ทำหน้าที่ให้ทำหน้าที่ หรือมีคำอธิบายว่าทำไมเขาไม่ทำหน้าที่ มากกว่าที่จะลงมือทำอะไรไปเอง

ในทางจิตวิทยาการเมืองก็มีคำอธิบายมากมายที่เราควรจะเรียนรู้เอาไว้ อาทิ เรื่องของการตั้งคำถามกับอารมณ์ความรู้สึกและความผูกพันต่างๆ (affect and emotion) เพราะมันเกี่ยวข้องกับการตัดสินใจและพฤติกรรมอื่นๆ ของเรา เช่น การแก้ปัญหา การเจรจา หรือปิดกั้นความเป็นไปได้ในการตัดสินใจ หรือเห็นทางออกต่อสิ่งที่เราเผชิญ

อารมณ์ความรู้สึกที่มีผลต่อพฤติกรรมทางการเมืองอาจรวมไปถึงความรู้สึกสำนึกผิด ความอับอาย ความกลัว ความปั่นป่วนในใจ ความโกรธ และความอิจฉา นอกเหนือไปจากความรัก

อารมณ์ความรู้สึกที่เรามีนั้นมีส่วนสำคัญในการสร้างภาพลักษณ์ (image) ของคนอื่นหรือกลุ่มอื่นในสังคม และเกี่ยวข้องอย่างสำคัญกับกระบวนการกลุ่ม ในการมองว่าคนเหล่านั้นเป็น “พวกเรา” หรือ “ไม่ใช่พวกเรา” การประเมินภาพลักษณ์ที่เราสร้างขึ้นจากการรับรู้ของเรานี้นำไปสู่การประเมินสถานการณ์ว่าคนเหล่านั้นเป็นภัยคุกคามหรือเป็นโอกาสของเรา และสุดท้ายนำไปสู่การกำหนดยุทธศาสตร์ในการจัดการกับคนเหล่านั้น

อาทิ เราประเมินว่าเขาเป็นศัตรูของเรา เราก็จะประเมินต่อว่าเป็นภัยคุกคามกับเรา เราอาจจะต้องพยายามที่จะจัดการหรือจำกัดบทบาทของเรา

เราประเมินเขาว่าเขาเป็นพวกป่าเถื่อน (มีอำนาจมากกว่าเรา แต่มีวัฒนธรรมที่ต่ำกว่าเรา) คนพวกนี้เป็นภัยคุกคามกับเรา แต่เราจะจัดการเขาได้ก็อาจจะต้องแสวงหาพันธมิตรในการจัดการเขา

เราประเมินเขาว่าเขาเป็นพวกที่มีอำนาจเหนือเราและมีวัฒนธรรมเหนือกว่าเรา ก็เป็นภัยคุกคามแบบหนึ่ง แต่เราอาจจะต้องยอมเขาและหาโอกาสแข็งข้อทีหลัง

เราประเมินว่าเขาเป็นแค่อันธพาล (คือเป็นลูกน้องของศัตรูเรา) ซึ่งอันตรายต่อเรามีไม่มากเมื่อเทียบกับแบบอื่นๆ เราก็จะหาทางกำจัดเขา

เราอาจจะประเมินว่าเขาด้อยกว่าเราทุกทาง ซึ่งเป็นโอกาสของเราที่จะเข้าไปจัดการครอบครองหรือครอบงำคนกลุ่มนั้นได้ ทั้งในแง่ของความหวังดี หรือในแง่ของการปกครอง

หรือเราประเมินว่าเขาเป็นพันธมิตร ตรงนี้ก็จะเป็นโอกาสที่จะต้องร่วมมือกับเขา เป็นต้น

เรื่องแบบนี้เคยเฟื่องฟูในการศึกษาปมปัญหาในการตัดสินใจในแง่ความมั่นคงของประเทศในส่วนของยุทธศาสตร์การมีความสัมพันธ์กับประเทศต่างๆ แต่ก็เป็นบทเรียนสำคัญที่ทำให้เราเห็นว่า อารมณ์ความรู้สึกของเราที่มีต่อการรับรู้สถานการณ์มันก็มีส่วนสำคัญนอกเหนือจากข้อมูลอื่นๆ ในการจัดการกับผู้มีบทบาทอื่นๆ ทางสังคมหรือทางการเมือง

อีกประเด็นหนึ่งของจิตวิทยาทางการเมืองที่มีผลต่อการทำความเข้าใจปรากฏการณ์การเมืองในบ้านเราก็คือ เรื่องของการทำความเข้าใจพฤติกรรมอันสุดโต่งสุดขั้ว โดยเฉพาะพวกที่มีลักษณะสุดโต่งทางการเมือง (political extremists)

สิ่งที่มีการค้นพบที่สำคัญก็คือ คนที่มีบุคลิกภาพแบบสุดโต่งทางการเมือง หรือกลุ่มที่มีลักษณะสุดโต่งทางการเมืองอาจไม่ได้เป็น “คนโรคจิต” แบบที่เราๆ ท่านๆ เข้าใจ บางทีก็ไม่ใช่กลุ่มใต้ดินอะไร หรือบางคนอาจจะมีหน้ามีตาในสังคมด้วยซ้ำ

มิติหนึ่งที่นักจิตวิทยาทางการเมืองศึกษาก็คือ ภายใต้เงื่อนไขไหนที่คนธรรมดาคนหนึ่งจะกลายเป็นพวกสุดโต่งได้ หรือภายใต้บางเงื่อนไขก็อาจจะมีพวกไทยมุงที่ยอมให้ความรุนแรงหรือสุดขั้วบางอย่างเกิดขึ้นได้โดยไม่มีใครห้ามปราม

คำนิยามง่ายๆ ของความสุดโต่งหรือคนสุดโต่งสุดขั้วก็คือ คนที่กระตือรือร้นอย่างล้นเหลือ หรือกระตือรือร้นอย่างไม่เข้าเรื่องเข้าราว ทั้งนี้ ผ่านการตีความโลกแบบที่เอาตัวเองเป็นศูนย์กลาง ยิ่งในทางการเมืองพวกสุดขั้วนี้มักจะมีพฤติกรรมที่ถูกควบคุมผ่านอุดมการณ์ในลักษณะที่เป็นอุดมการณ์ที่แยกออกหรือกีดกันความคิดหรือผู้คนอื่นๆ ที่จะเข้ามามีส่วนร่วมด้วยกัน ทั้งนี้ โดยมีเป้าหมายที่จะไปควบคุมและกำหนดพฤติกรรมของคนที่เราต้องการจัดการเอาไว้

พูดอีกอย่างก็คือ คนที่สุดขั้วนั้นคือคนที่สนใจแต่คำอธิบายโลกในแบบของตัวเอง และไม่นับหรือไม่สนใจความรู้สึกหรือเรื่องราวของคนอื่นๆ และมองไม่เห็นทางเลือกอื่นๆ ในฐานะทางออกไปจากสิ่งที่ตัวเองเชื่อ และสิ่งที่ตนเชื่อนั้นก็คือความถูกต้อง ซึ่งกลุ่มสุดขั้วเหล่านี้มักจะไม่มีมุมมองที่ดีนักต่อความเปลี่ยนแปลง

ดังที่ย้ำแล้วว่า งานศึกษาทางด้านจิตวิทยาการเมืองนั้นค้นพบมานานแล้วว่าคนที่มีลักษณะสุดขั้วนั้นไม่ได้บ้าและไม่ได้ป่วย สิ่งที่เขาเป็นก็คือการขาดความเข้าอกเข้าใจผู้อื่น และมักจะลดทอนความเป็นมนุษย์ของคนที่เขาต้องการจัดการ หรือที่เรียกว่า “เหยื่อ” ของเขา ดังนั้นในบางห้วงขณะของการตัดสินตามสภาวการณ์หนึ่งๆ คนสุดขั้วจะรู้สึกว่ามันจำเป็นต้องมีการแลกและสูญเสียบางอย่างไปได้ หรือมันคุ้มและไม่เสียของนั่นเอง

ลักษณะความสุดขั้วนั้นอาจจะไม่ได้มาจากพื้นฐานบุคลิกภาพโดยตรง หมายถึงว่ามีลักษณะเด่นทางบุคลิกภาพบางอย่างที่จะสะท้อนถึงความสุดขั้ว แต่ก็มีสิ่งหนึ่งที่เป็นปริมณฑลที่ควรจะพิจารณา นั่นก็คือ ลักษณะของการยอมรับต่ออำนาจหรือผู้มีอำนาจ จากการศึกษาพบว่า พวกที่มีบุคลิกอำนาจนิยมมักจะเป็นพวกที่ยอมรับการใช้อำนาจ และมีปฏิกิริยาที่รุนแรงก้าวร้าวต่อคนที่ไม่อยู่ในกรอบเดียวกัน และเป็นพวกที่เชื่อว่าประเพณีที่มีอยู่แล้วมันดีงาม ไม่ต้องเปลี่ยนแปลง คนที่เปลี่ยนแปลงเป็นพวกมีปัญหา ถ้าต้องจัดการก็ต้องจัดการกันไป อย่างไรก็ตาม ก็มีนักวิชาการบางกลุ่มที่ไม่เชื่อในวิธีการอธิบายในแง่ของบุคลิกภาพ แต่พยายามจะหาเงื่อนไขทางเศรษฐกิจสังคมประกอบ เช่น เชื่อว่าคนที่มีการศึกษามักจะต่อต้านการใช้อำนาจ ขณะที่บางคนบอกว่าคนที่ยอมรับอำนาจมักจะเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการที่คนเหล่านั้นรู้สึกว่าไม่สามารถควบคุมชะตาชีวิตของตัวเองได้ นั่นหมายความว่าคนที่เที่ยวไปพึ่งโน่นพึ่งนี่นั่นแหละคือพวกที่ยอมสยบใต้อำนาจนิยม

อีกประเด็นที่น่าสนใจก็คือ การยอมรับอำนาจนั้นอาจจะเกี่ยวเนื่องกับการถูกแจ้งว่าต้องเดินหน้าต่อไปในทางนั้น เพราะไม่มีทางเลือกอื่นที่ดีกว่านี้ ดังนั้นในสถานการณ์เช่นนี้ ประเด็นท้าทายในการศึกษาและเคลื่อนไหวก็คือ จะทำให้คนที่รู้สึกว่าตนจำเป็นจะต้องยอมตามผู้มีอำนาจ หรือต้องไปในแนวทางที่ถูกแจ้งมาจากผู้มีอำนาจนั้นสามารถที่จะแยกตัวเองออกมาได้อย่างไร เช่น จะต้องมีคนแรกที่เลิกเดินตาม หรือมันเป็นเรื่องของระยะห่างที่มีต่อผู้มีอำนาจเช่นกัน ดังนั้นคนที่ได้ประโยชน์ในระบบอำนาจนิยมก็จะมีแนวโน้มที่จะไม่แยกตัวเองออกมาจากระบบนั้น

ในอีกด้านหนึ่ง การไม่แยกตัวออกจากระบบอำนาจนิยมนั้นก็อาจจะเป็นไปได้ในแง่ของการโทษกลุ่มอื่นที่เป็นตัวปัญหากับสังคม หรือสร้างแพะรับบาปขึ้นมา ถ้าไปไกลกว่านั้นก็คือ การนำเสนอว่า นอกจากกลุ่มกลุ่มหนึ่งจะเป็นปัญหาแล้ว การจัดการกลุ่มนั้นเสียก็จะเป็นการแก้ปัญหา ไม่ว่าจะเริ่มจากการจัดการแบบไม่ค่อยดีนัก ไปจนถึงกับจัดการให้สิ้นซากแม้ว่าจะต้องลดทอนความเป็นมนุษย์ลงก็ตาม

สิ่งที่ผมต้องการจะอธิบายก็คือว่า ลักษณะสุดขั้วและดราม่านี้มันเชื่อมโยงกับระบอบอำนาจนิยมอย่างลึกซึ้ง และถ้าพูดอย่างเป็นธรรม ระบอบอำนาจนิยมนั้นมันมีได้ทั้งในเผด็จการและประชาธิปไตยที่ไร้คุณภาพ สิ่งที่เกิดขึ้นมันทำให้เกิดการไร้คุณภาพของเสียงข้างมาก หรือเสียงที่ตัวเองตั้งขึ้นว่าแม้จะไม่มากแต่ก็ “เหนือกว่า” และไม่ว่าเสียงข้างมากหรือเสียงที่ เหนือกว่านี้ก็จะต้องใช้ความรุนแรงในการจัดการปัญหา โดยมองจากมุมมองของฝ่ายตนเองเป็นหลัก

สังคมดราม่าสุดขั้วจะไม่พยายามมองปัญหาจากหลายมุม และพยายามแก้ปัญหาภายใต้การตกลงของแต่ละฝ่าย และจะไม่นำไปสู่สังคมที่มีประชาธิปไตยที่มีคุณภาพ หรือแม้กระทั่งสังคมคุณธรรมที่มีคุณภาพเช่นกัน

สิ่งที่พอจะปรับเปลี่ยนกันได้บ้างคือการสำรวจและนำเสนอกระบวนการการสร้างดราม่าหรือการนำเสนอเรื่องราวต่างๆ ขึ้นมา และการติดตาม “กระแส” นั้นจนทำให้กระแสนั้นกลายเป็นเรื่องที่ทำให้เกิดผู้นำทางความคิดแบบสุดขั้วขึ้นมาในแต่ละเรื่อง และกระบวนการปฏิบัติการจริงอย่างสุดขั้ว

เรื่องจึงไม่ง่ายแค่ว่าไม่ควรเสนอข่าว หรือสื่อเป็นผู้สร้างกระแส แต่ต้องดูกระบวนที่เกิดขึ้นในห้วงขณะที่ข่าวกลายเป็นกระแส และเกิดดราม่าตามมาต่างหาก

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image