สะพานแห่งกาลเวลา : ข้อถกเถียงว่าด้วย‘สายพันธุ์จี’ : โดย ไพรัตน์ พงศ์พานิชย์

สะพานแห่งกาลเวลา : ข้อถกเถียงว่าด้วย‘สายพันธุ์จี’ : โดย ไพรัตน์ พงศ์พานิชย์

มีงานวิจัยอยู่ชิ้นหนึ่งซึ่งกำลังเป็นที่ถกเถียงกันอยู่ในแวดวงนักวิทยาศาสตร์และผู้เชี่ยวชาญทั่วโลก เป็นงานวิจัยร่วมของทีมวิจัยหลายสถาบันในสหรัฐอเมริกา เกี่ยวกับการกลายพันธุ์ของซาร์ส-โคฟ-2 หรือไวรัสที่ก่อโรคโควิด-19 นำโดย เบตตี คอร์เบอร์ นักชีววิทยาจากห้องปฏิบัติการแห่งชาติลอส อลามอส ในรัฐนิวเม็กซิโก สหรัฐอเมริกา

งานชิ้นนี้เผยแพร่ในวารสารวิชาการเพื่อการตรวจสอบทบทวนของเพื่อนร่วมวิชาชีพ “เจอร์นัล เซลล์” เมื่อ 2 กรกฎาคมที่ผ่านมา

ปูมหลังของการวิจัยดังกล่าวก็คือ ข้อเท็จจริงที่ว่า ในการแพร่ระบาดก่อนหน้าวันที่ 1 มีนาคมที่ผ่านมา 90 เปอร์เซ็นต์ของไวรัสที่นักวิทยาศาสตร์เก็บจากตัวอย่างในการระบาด เป็น “ซาร์ส-โคฟ-2” ที่ใกล้เคียงกับตัวที่แพร่ระบาดครั้งแรกในเมืองอู่ฮั่นของจีน

Advertisement

ตอนนี้นักวิทยาศาสตร์เรียกไวรัสกลุ่มนี้ว่า สายพันธุ์ D

ปัญหาคือ หลังจากนั้นตัวอย่างที่เก็บทั่วโลกในเดือนมีนาคม 67 เปอร์เซ็นต์ แสดงให้เห็นถึงการกลายพันธุ์ที่สำคัญ กลายเป็นไวรัสสายพันธุ์ใหม่ ที่นักวิทยาศาสตร์เรียกว่าสายพันธุ์ G

ต่อมาตัวอย่างทั่วโลกที่เก็บระหว่าง 1 เมษายนถึง 18 พฤษภาคมที่ผ่านมา มีสายพันธุ์จีถึง 87 เปอร์เซ็นต์

Advertisement

ตอนนั้นศูนย์กลางการระบาดของโลกย้ายจากจีนมาเป็นยุโรปและสหรัฐอเมริกาเรียบร้อยแล้ว และจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นมากกว่าที่เคยระบาดสูงมาก

ทีมวิจัยสงสัยว่า การกลายพันธุ์ จาก ดี เป็น จี นั้นน่าจะส่งผลทำให้ไวรัสตัวนี้ติดต่อได้ง่ายขึ้น

เพื่อพิสูจน์เรื่องนี้ ทีมวิจัยดัดแปลงพันธุกรรมของไวรัสบางชนิดให้มีเปลือกหุ้มแบบเดียวกับดี และจี ขึ้น ในทางวิชาวิศวพันธุกรรมเรียกไวรัสซึ่งไม่ก่อให้เกิดโรคเหล่านี้ว่า สูโดไวรัส (pseudoviruses) แล้วนำไปทดลองแพร่เชื้อในการเพาะเลี้ยงในห้องแล็บ

ผลก็คือ สายพันธุ์จีแพร่เชื้อได้มากกว่าสายพันธุ์ดี ระหว่าง 2.6-9.3 เท่าในระยะเวลาเท่ากัน

นำไปสู่ข้อสรุปของทีมวิจัยที่ว่า ซาร์ส-โคฟ-2 ไวรัสที่กลายพันธุ์เป็นสายพันธุ์จีนั้นติดต่อได้ง่ายกว่าสายพันธุ์ดี ที่เป็นสายพันธุ์ดั้งเดิมมาก

และระบุว่า การที่ยิ่งนานมายิ่งพบสายพันธุ์จีมากขึ้น เกิดขึ้นจากหลักการคัดเลือกโดยธรรมชาติ เมื่อพันธุ์หนึ่งติดต่อได้เร็วกว่า ง่ายกว่า อีกสายพันธุ์ก็จะถูกเบียดหายไป

แต่มีนักวิทยาศาสตร์อีกหลายคนไม่เห็นด้วยกับข้อสรุปนี้

ข้อโต้แย้งที่มีน้ำหนักที่สุด เป็นของ นาธาน กรูบอห์ นักระบาดวิทยาจากสำนักการแพทย์เยล ซึ่งร่วมเขียนบทความแสดงความคิดเห็นตีพิมพ์ควบคู่กับผลงานวิจัยชิ้นนี้

กรูบอห์ชี้ว่า การที่สายพันธุ์จีแพร่เข้าไปในเซลล์ในห้องทดลองได้ง่ายและเร็วกว่า ไม่ได้หมายความว่าในการแพร่ระบาดจริงจะเป็นเช่นเดียวกัน

เหตุผลก็คือ ตัวเชื้อจะแพร่ได้เร็วและง่ายแค่ไหนในโลกแห่งความเป็นจริง เป็นเพียงส่วนหนึ่งในสมการการติดเชื้อ การแพร่ระบาดที่เกิดขึ้นจริงเท่านั้นเอง

ปัจจัยอื่นๆ ที่ว่านั้นมีตั้งแต่เรื่องที่ว่า เชื้อออกจากร่างกาย (ของผู้แพร่เชื้อหรือตัวพาหะ) ในสภาพที่มีประสิทธิภาพแค่ไหน และเมื่อออกมาแล้ว สภาพแวดล้อมภายนอกเอื้อแค่ไหนในการมีชีวิตอยู่ของเชื้อก่อนที่จะหาตัวโฮสต์หรือผู้รับเชื้อใหม่ได้

นาธาน กรูบอห์ ยังปฏิเสธด้วยว่า การที่สายพันธุ์จีพบในหลายประเทศมากกว่า ก็ไม่ได้เกิดจากการคัดเลือกโดยธรรมชาติ แต่อาจเป็นเพราะโชคดี ติดมากับพาหะในหลายพื้นที่มากกว่าเท่านั้นเอง

ผู้แพร่เชื้อตั้งต้นที่นักวิทยาศาสตร์เรียกว่า “ฟาวเดอร์” และสภาพแวดล้อมโดยรวมก็มีส่วนให้เกิดการระบาดได้มากขึ้น เร็วขึ้น

ตัวอย่างเช่น สายพันธุ์ดีอาจตกอยู่ในสภาพของการระบาดแบบกลุ่มก้อนทั่วไป แต่สายพันธุ์จีกลับมีผู้แพร่ตั้งต้นที่เป็นซุปเปอร์สเปรดเดอร์ และอยู่ในสภาพแวดล้อมที่มีประชากรติดต่อถึงกันมากๆ ก็จะแพร่ได้เร็วและมากกว่าแน่นอน

การจะพิสูจน์ว่าสายพันธุ์ไหนแพร่ได้ง่ายกว่ากัน ต้องทำในสัตว์ทดลองจึงจะได้ข้อสรุปที่แน่ชัด ซึ่งตอนนี้นักวิทยาศาสตร์ทีมหนึ่งกำลังดำเนินการอยู่ ยังไม่แล้วเสร็จ

ประเด็นที่ นาธาน กรูบอห์ ชี้ให้เห็นและสำคัญกว่ามากก็คือ ไม่ว่าจะเป็นสายพันธุ์ดี หรือจี จะติดง่ายและเร็วกว่ากันหรือไม่ ยังสำคัญน้อยกว่าข้อเท็จจริงที่ว่า

เมื่อติดแล้ว ทั้งสองสายพันธุ์ยังคงก่อให้เกิดอาการได้ในระดับพอๆ กัน ไม่มีสายพันธุ์ไหนก่อให้เกิดอาการป่วยหนักหรือเบากว่ากันอย่างมีนัยสำคัญแต่อย่างใด

ซึ่งเรื่องนี้นอกจากจะบ่งชี้ว่า การกลายพันธุ์นี้เป็นเพียงการกลายพันธุ์ปกติของไวรัสชนิดนี้เท่านั้น

และเป็นการกลายพันธุ์ที่ไม่น่าจะส่งผลกระทบต่อวัคซีนทั้งหลายที่กำลังเร่งพัฒนากันอยู่อีกด้วย

เรื่องนี้จึงเป็นเรื่องสำคัญที่สุดครับ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image