อาการ น่าเป็นห่วง เป็นห่วง ประชามติ จาก’มีชัย-อภิสิทธิ์’

ยิ่งใกล้ 7 สิงหาคมเข้ามา

ภาพพร่ามัวเลือนรางของการทำประชามติว่าจะรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญฉบับ นายมีชัย ฤชุพันธุ์ และ คสช. ก็มีความชัดเจนยิ่งขึ้น

ชัดเจนในจุดยืนของแต่ละกลุ่มแต่ละฝ่ายที่มีต่อกรณีดังกล่าว

ฝั่งที่ยืนตรงข้ามกับรัฐบาล และ คสช. อย่างพรรคเพื่อไทย และเครือข่ายนักวิชาการ นิสิต นักศึกษา และภาคพลเมือง

Advertisement

43 องค์กรนั้นชัดเจนมานานแล้ว

ชัดเจนว่าไม่รับ

27 กรกฎาคม อีกตัวละครสำคัญก็ออกโรง

Advertisement

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรค ปชป. แถลงจุดยืนเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญว่าในฐานะหัวหน้าพรรค เป็นอุดมการณ์ของพรรค ว่า

1.การกำหนดทิศทางของประเทศ หนีไม่พ้นการอาศัยหลักการประชาธิปไตย คือให้ประชาชนมีส่วนร่วม และการกำหนดสิทธิเสรีภาพมากน้อยแค่ไหน นอกจากนี้ ยังมีความเชื่อตามอุดมการณ์พรรคคือ การกระจายอำนาจสู่ชุมชนและท้องถิ่น

แต่ร่างรัฐธรรมนูญนี้ไม่สอดคล้องกับแนวคิดดังกล่าวและมีหลักประกันสิทธิเสรีภาพน้อยกว่ารัฐธรรมนูญปี 2550

2.ความขัดแย้งต้องแก้ด้วยกระบวนการการเมืองที่เป็นประชาธิปไตย และกระบวนการยุติธรรม ซึ่งไม่ใช่แค่เลือกตั้งใช้เสียงข้างมาก แต่ต้องมีการตรวจสอบถ่วงดุลอย่างเหมาะสม

แต่กลไกของ ส.ว. 250 คน ที่มาจากการคัดเลือกกันเองในบทถาวร และแต่งตั้งในบทเฉพาะกาล ไม่ได้มาจากประชาชนจึงไม่สามารถแก้ปัญหาขัดแย้ง มีแต่จะสร้างคู่ขัดแย้งใหม่เกิดขึ้น

ส่วนกติกาที่ตั้งมาเป็นกติกาที่แก้ยากมาก เป็นตัวที่บีบรัดและตีกรอบความขัดแย้งในอนาคต

3.การแก้ไขปัญหาการทุจริต ตนสนับสนุนหลายมาตรา แต่การจับการทุจริตต้องเริ่มต้นจากบรรยากาศที่เปิด ประชาชนสามารถตรวจสอบเข้าถึงข้อมูลได้อย่างเต็มที่

ตนสนับสนุนการปราบโกง แต่บทบัญญัติทำให้กระบวนการปราบโกงอ่อนแอลง ไม่ได้เป็นอย่างที่พูดกันว่าการปราบโกงเข้มข้นขึ้น

ดังนั้นจากโจทย์ 3 ข้อ จึงให้คำตอบว่าตนไม่รับร่างรัฐธรรมนูญในฉบับนี้

ขอย้ำว่าเกณฑ์การพิจารณาไม่มีประเด็นใดเลยที่เกี่ยวข้องกับระบบเลือกตั้งและการเมือง

แต่ที่ไม่รับเพราะเห็นว่าร่างนี้ไม่ตอบโจทย์ของประเทศ

เค้าลางที่ว่าชัดเจนมาตั้งแต่ก่อนการแถลงหนึ่งวัน

นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ บรรยายเรื่อง “สาระสำคัญและประเด็นคำถามเพิ่มเติมร่างรัฐธรรมนูญ” ว่า เจตนารมณ์ของร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ต้องการแก้ปัญหาของประเทศที่ผ่านมา

นอกจากนั้นในเนื้อหามีบทบัญญัติว่าด้วยการปฏิรูป เพื่อกำหนดกรอบการทำงานให้เป็นผลสำเร็จ

“กรธ.ร่วมกันคิดอย่างสุดฤทธิ์สุดฝีมือ ศึกษามาจากสิ่งที่หลากหลายเพื่อทำสิ่งนี้ และคิดด้วยใจสุจริตว่าหากผ่านบ้านเมืองจะเดินไปข้างหน้าอย่างมีความสุข

“ส่วนที่มีคนพูดว่า อยากให้ลุงตู่อยู่ไปอีกก็ให้คว่ำร่างรัฐธรรมนูญ ถือเป็นการปล่อยข่าวที่ทำให้เกิดความเข้าใจผิด

“เพราะเมื่อร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่าน ลุงตู่จะยิ่งไปเร็ว เพราะคนเหล่านั้นจะเดินขบวนขับไล่”

ที่มีการสำรวจทั้งโดยเปิดเผยและในทางลับ และได้ผลว่าคะแนนรับหรือไม่รับในการลงประชามติจะออกมา “สูสี” เป็นอย่างยิ่งนั้น

ก็พลันไม่แน่นอนเสียแล้ว

เมื่อพิจารณาจากคำให้สัมภาษณ์ของนายมีชัย

ที่เกาะสะเอว คสช. ให้อยู่หรือไปพร้อมกับร่างรัฐธรรมนูญ

เมื่อพิจารณาจากจุดยืนของนายอภิสิทธิ์ และพรรคประชาธิปัตย์

ที่จะไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ

ยังมิพักต้องกล่าวถึง “ความเข้มข้น” ในการจัดการกับผู้เห็นต่าง

ที่ล่าสุดถึงขั้น “ล้างบาง” ทั้งจังหวัดเชียงใหม่

ซึ่งยังตอบไม่ได้ว่าจะส่งผลในทางบวกหรือลบ กับการรับหรือไม่รับในประชามติในช่วงอีก 10 วันข้างหน้า

ยาแรงถ้าถูกโรคก็อาจหายขาด

ยาแรงผิดโรคหรือผิดที่ ที่หวังว่าจะดีอาจจะออกมาเป็นร้าย

ยิ่งใกล้วันลงประชามติ 7 สิงหาคมเข้ามา ไม่เพียงแต่สถานการณ์และความตึงเครียดจะเพิ่มขึ้น

จุดยืนของบุคคลหรือกลุ่มองค์กรต่างๆ ก็จะชัดเจนขึ้นตามไปด้วย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image