การคุกคามทางเพศในที่ทำงาน อันตรายมืดของแรงงานสตรี (2) : โดย สราวุธ ไพฑูรย์พงษ์

การคุกคามทางเพศในที่ทำงาน อันตรายมืดของแรงงานสตรี (2) : โดย สราวุธ ไพฑูรย์พงษ์

เมื่อเดือนก่อน (26 มิถุนายน) ผู้เขียนได้พูดถึงความเป็นมาของแนวคิดเรื่องการคุกคามทางเพศในที่ทำงาน นิยามและลักษณะของการคุกคามทางเพศในที่ทำงาน และการตื่นตัวกับปัญหาการคุกคามทางเพศในที่ทำงานในประเทศไทยรวมทั้งกฎหมายหรือระเบียบที่เกี่ยวข้องการการคุกคามทางเพศในที่ทำงาน

ทุกวันนี้ทั่วโลกยอมรับว่าการคุกคามทางเพศเป็นการกดขี่หรือเลือกปฏิบัติทางเพศและละเมิดสิทธิมนุษยชน และมีอย่างน้อย 154 ประเทศที่ออกกฎหมายห้าม แต่ปัญหาการคุกคามทางเพศก็ยังมีให้เห็นอยู่ทั่วไป

ปัญหาของการขจัดปัญหาการคุกคามทางเพศ 2 ประการที่สำคัญ คือ การขาดข้อมูลสถิติการคุกคามทางเพศ และ ความหย่อนยานในการบังคับใช้กฎหมายและมาตรการที่เกี่ยวข้อง

สถิติการคุกคามทางเพศในที่ทำงานนั้นต่ำกว่าความเป็นจริงมาก รวมทั้งมีวิธีการนิยาม และวิธีและเวลาเก็บตัวเลขที่ต่างกันจึงต้องระวังในการใช้สถิติดังกล่าว สาเหตุสำคัญคือผู้ถูกกระทำมักไม่กล้าร้องเรียน หรือแจ้งความเอาโทษเนื่องจากความอาย หรืออิทธิพลของผู้กระทำ หรือกฎหมายมีช่องโหว่ที่ให้มีการยอมความ หรือไม่มีการบังคับใช้อย่างเคร่งครัด และสถิติการคุกคามทางเพศเท่าที่มีมักเป็นการทำโพลที่ใช้ตัวอย่างไม่มาก เป็นบางจุดและนานๆ ครั้ง หรืองานวิจัยของนักศึกษา หรือข้อมูลการกระทำผิดของข้าราชการ อาทิ

Advertisement

ปี 2545 กรุงเทพโพลล์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ สำรวจสตรีอายุ 18 ปี ขึ้นไปใน กทม. 1,151 คน ที่ประกอบอาชีพรับราชการ พนักงานรัฐวิสาหกิจ พนักงานบริษัทเอกชน และเจ้าของกิจการ พบว่า ร้อยละ 42 เคยถูกคุกคามทางเพศ และร้อยละ 20 ระบุว่าไม่แน่ใจ

ในปีเดียวกัน สวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยราชภัฏสำรวจสตรีใน กทม.และปริมณฑล 1,153 คน ประกอบด้วยข้าราชการ 470 คน พนักงานรัฐวิสาหกิจ 258 คน พนักงานบริษัท 293 คน พนักงานธนาคาร 132 คน ผลพบว่าตัวอย่างเคยถูกคุกคามทางเพศในรูปแบบต่างๆ โดยถูกใช้วาจาลามกมากที่สุด รองลงมาคือ ถูกลวนลามถูกเนื้อต้องตัว และอันดับสุดท้ายคือ การถูกชวนดูเว็บไซต์ลามกอนาจาร ถูกแทะโลมด้วยสายตา ถูกชวนมีเพศสัมพันธ์ ผู้หญิงที่มีประสบการณ์ถูกคุกคามทางเพศเหล่านี้กล่าวว่าหัวหน้างานเป็นผู้กระทำการลวนลามทางเพศอยู่ในอันดับต้น รองลงมาคือ เพื่อนร่วมงาน ผู้มาติดต่องาน ลูกค้า คนงาน ภารโรง และพนักงานรักษาความปลอดภัย

ปี 2548 เอแบคโพลล์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ สำรวจสตรีวัยเจริญพันธุ์ (15-49 ปี) 1,331 คน ใน กทม.และปริมณฑล พบว่าในช่วง 3 เดือนก่อนสำรวจมีตัวอย่างที่เคยถูกคุกคามและล่วงละเมิดทางเพศ เช่น ถูกมองด้วยสายตาแทะโลมมากที่สุดถึง ร้อยละ 44 ถูกใช้วาจาลามกร้อยละ 27 และโทรศัพท์ลามก ร้อยละ 24 โดยถูกคุกคามจากบุคคลแปลกหน้ามากที่สุดคิดเป็นร้อยละ 60 รองลงมาคือ คนรัก/แฟน ร้อยละ 27 และโดยเพื่อนร่วมโรงเรียน/สถาบันร้อยละ 15 ทั้งนี้ สถานที่ที่ระบุในการถูกคุกคาม ได้แก่ บนรถประจำทาง หรือแท็กซี่ (ร้อยละ 27) รองลงมาคือ ละแวกที่พักอาศัย (ร้อยละ 25) และป้ายรถประจำทาง หรือสถานีรถไฟ (ร้อยละ 24) ตามลำดับ

Advertisement

ครึ่งหนึ่งของตัวอย่างระบุว่าถูกคุกคามและล่วงละเมิดทางเพศเป็นครั้งแรกอยู่ในช่วงอายุ 16-20 ปี โดยอายุเฉลี่ยของผู้ที่โดนคุกคามเป็นครั้งแรก คือ 20 ปี ที่น่าตกใจและเป็นห่วงมากคือ ผู้ที่ถูกคุกคามและล่วงละเมิดทางเพศเป็นครั้งแรกที่อายุน้อยที่สุดคือ 4 ปี

ในปี 2551 ทิพย์วรรณ แซ่ซึง ศึกษาพฤติกรรมการคุกคามทางเพศในโรงพยาบาลสุราษฎร์ธานี จากนางพยาบาล 420 คน พบว่าร้อยละ 48 เคยถูกคุกคามทางเพศ ทั้งนี้ เป็นการกระทำของบุคคลภายนอก คือ เกิดจากสภาพการทำงานของพยาบาลที่ต้องพบกับบุคคลภายนอก ซึ่งเป็นการคุกคามด้านวาจา ทางกาย และการแสดงท่าทาง โดยผู้ป่วยชาย ญาติผู้ป่วย คนมาเยี่ยม และทางโทรศัพท์

ในปี 2552 มูลนิธิเพื่อนหญิงได้เปิดเผยว่า จากผู้เสียหายที่มาขอรับคำปรึกษา 775 คนเป็นการคุกคามทางเพศ 83 คน และเป็นการล่วงละเมิดทางเพศในที่ทำงานถึง 18 คน คิดเป็นร้อยละ 22 ของการคุกคามทางเพศ

ในปี 2556 คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติร่วมกับมูลนิธิหญิงชายก้าวไกลเปิดเผยข้อมูลผู้ที่ถูกกระทำรุนแรง ถูกล่วงละเมิดทางเพศและถูกล่วงละเมิดสิทธิมนุษยชนในช่วงปี 2553-2555 จำนวน 2, 574 ราย ในจำนวนนี้มี 122 รายที่เกี่ยวกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนด้านเด็ก สตรี โดยสถานที่ที่ผู้หญิงตกเป็นเหยื่อนั้น ได้แก่ สถานที่ทำงานในหน่วยงานภาครัฐ หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวกับกระบวนการยุติธรรม องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หน่วยงานเอกชน

ในปี 2560 กระทรวงสาธารณสุขเปิดเผยว่าใน 3 ปีย้อนหลังมีผู้กระทำการล่วงละเมิดทางเพศจำนวน 9 คน โดยผู้กระทำการล่วงละเมิดทางเพศดำรงตำแหน่งระดับหัวหน้า 5 คนและระดับปฏิบัติงาน 4 คน ถูกลงโทษทางวินัยไม่ร้ายแรง 7 คน และวินัยร้ายแรง 2 คน ทั้งหมดเป็นบุคลากรของสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข

ในสถานศึกษา ศูนย์เฉพาะกิจคุ้มครองและช่วยเหลือนักเรียน สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานเปิดเผยสถิติการล่วงละเมิดทางเพศนักเรียนระหว่าง 2559-2562 โดยในปี 2561 มีสถิติสูงสุดคือ ระหว่างเด็กกับเด็ก 214 ราย ระหว่างครู/บุคลากรทางการศึกษากับเด็ก 44 ราย ระหว่างบุคคลอื่นกับเด็ก 131 ราย และระหว่างบุคคลในครอบครัวกับเด็ก 48 ราย

ดังกล่าวครั้งที่แล้ว ปัจจุบันประเทศไทยมีกฎหมายและมาตรการในการแก้ไขการคุกคามทางเพศที่สำคัญอื่นๆ เช่น (1) พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน 2541 มาตรา 16 (ปรับปรุงแก้ไข 2551) (2) กฎ ก.พ.ว่าด้วยการกระทำการอันเป็นการล่วงละเมิดหรือคุกคามทางเพศ พ.ศ.2553 (พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ.2551) (3) ร่างข้อบังคับคุรุสภาว่าด้วยการพิจารณาประพฤติผิดจรรยาบรรณของวิชาชีพ (ฉบับที่ 3) พ.ศ. …. และ (4) พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 27) พ.ศ.2562

แต่กฎหมายและมาตรการต่างๆ เหล่านี้ไม่มีการนำไปปฏิบัติหรือบังคับใช้อย่างจริงจัง

เช่น พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน 2541 (แก้ไขปรับปรุง 2551) มาตรา 16 ห้ามมิให้นายจ้าง หัวหน้างาน ผู้ควบคุมงาน หรือผู้ตรวจงานกระทําการล่วงเกินคุกคาม หรือก่อความเดือดร้อนรําคาญทางเพศต่อลูกจ้าง แต่กฎหมายไม่ได้ระบุว่าพฤติการณ์ใดถือเป็นการล่วงเกิน คุกคาม หรือก่อความเดือดร้อนรำคาญทางเพศ ส่งผลให้พฤติกรรมบางประการที่อยู่ในสภาวะก้ำกึ่งระหว่างการคุกคามทางเพศในที่ทำงานกับการหยอกล้อ การทำงานใกล้ชิดเพื่อนร่วมงานต่างเพศในฐานะผู้ร่วมงาน ฯลฯ และมาตรา 147 กำหนดโทษว่า
ผู้ฝ่าฝืน มาตรา 16 ต้องระวางโทษปรับไม่เกินสองหมื่นบาท ซึ่งนับว่าต่ำมาก นอกจากนั้น แล้วปัญหาของสถานประกอบการเอกชนคือ ไม่มีการลงโทษอย่างจริงจัง และการที่เหยื่อไม่กล้าเอาเรื่อง เพราะเกรงผลกระทบด้านการงาน หรือเพราะอาย

และ พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานมีผลเฉพาะนายจ้างลูกจ้างภาคเอกชนในระบบเท่านั้น ไม่มีผลต่อแรงงานนอกระบบ หรือภาคราชการ และรัฐวิสาหกิจ

สําหรับ พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการพลเรือน 2551 มาตรา 83 (8) บัญญัติว่าข้าราชการพลเรือนสามัญ ต้องไม่กระทําการใดอันเป็นการล่วงละเมิดหรือคุกคามทางเพศตาม กฎ ก.พ. ซึ่งนิยามการคุกคามทางเพศชัดเจนขึ้น และมาตรา 84 กำหนดโทษว่าข้าราชการผู้ใดฝ่าฝืนข้อห้ามตามมาตรา 83 ผู้นั้นเป็นผู้กระทําผิดวินัย ทั้งนี้ มาตรา 88 กำหนดโทษทางวินัยไว้ 5 ระดับ คือ (1) ภาคทัณฑ์ (2) ตัดเงินเดือน (3) ลดเงินเดือน (4) ปลดออก หรือ (5) ไล่ออก ตามระดับของความรุนแรงของการกระทำผิด

ภาคราชการยังมีมาตรการในการป้องกันและแก้ไขปัญหาการล่วงละเมิดหรือคุกคามทางเพศในการทำงานซึ่งครม.อนุมัติเมื่อ 21 เมษายน 2563 โดยให้กรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว (พม.) เป็นศูนย์ประสานการป้องกันและแก้ไขปัญหาการล่วงละเมิดหรือคุกคามทางเพศในการทำงาน (ศปคพ.) เพื่อประสานหน่วยงานต่างๆ และติดตามผลการดำเนินงานตามมาตรการ

ทั้งนี้ มาตรการนี้ ครม.ได้เคยมีมติเห็นชอบไว้แล้วเมื่อ 16 ม.ค.2558 แต่ไม่ได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานต่างๆ เท่าที่ควรจึงร่างขึ้นใหม่ ในครั้งนั้น ครม.ได้มอบหมายให้กระทรวงแรงงานขอความร่วมมือภาคเอกชนให้รับมาตรการดังกล่าวไปปฏิบัติตามความเหมาะสมแต่ไม่ทราบได้ทำหรือเปล่า

มาตรการดังกล่าวกำหนดให้หน่วยงานต้องประกาศเจตนารมณ์เป็นลายลักษณ์อักษรโดยประชาสัมพันธ์ให้บุคลากรในองค์กรรับทราบอย่างทั่วถึงและมีส่วนร่วมจัดทำแนวปฏิบัติเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาการคุกคามทางเพศ เมื่อมีการร้องเรียนให้แต่งตั้งคณะทำงานหรือให้กลุ่มงานคุ้มครองจริยธรรมดำเนินการสอบข้อเท็จจริง และต้องรายงานผลการดำเนินงานไปยัง ศปคพ. ภายใน 31 ตุลาคมของทุกปี ปัจจุบันมีหน่วยราชการบางแห่งได้จัดทำแนวปฏิบัติดังกล่าวแล้วบ้าง เช่น กระทรวงมหาดไทย และกระทรวงสาธารณสุข

ในระดับโลก ที่ประชุม ILO ได้ลงมติรับอนุสัญญาความรุนแรงและการคุกคาม (Violence and Harassment Convention 2019: No. 190) เมื่อปีที่แล้ว

ชื่ออนุสัญญานี้รวมทั้งปัญหาความรุนแรงและการคุกคามและไม่ได้ระบุว่าเป็นการคุกคามทางเพศในที่ทำงาน แต่ได้ให้คำจำกัดความของ “ความรุนแรงและการคุกคาม” ในโลกของการทำงานว่าหมายถึง “พฤติกรรมและการปฏิบัติที่ไม่เป็นที่ยอมรับ ที่ประสงค์ หรือเกิดผล หรืออาจเป็นอันตรายอย่างยิ่งต่อร่างกาย จิตใจ ทางเพศ หรือเศรษฐกิจ จะกี่ครั้งก็ตาม” และการกระทำดังกล่าวรวมถึงความรุนแรงและการคุกคามที่เกี่ยวกับเพศ ครอบคลุมทุกคนที่ทำงานรวมทั้งผู้ฝึกงานหรือฝึกอาชีพ และผู้มีอำนาจหน้าที่ในฐานะนายจ้าง และครอบคลุมทั้งภาครัฐ และเอกชน ทั้งเศรษฐกิจในระบบและนอกระบบ ทั้งในเมืองและชนบท และ “ที่ทำงาน” หมายถึงพื้นที่สาธารณะหรือส่วนตัวที่ใช้ทำงาน พื้นที่ที่ผู้ทำงานได้รับค่าจ้าง หยุดพัก หรือรับประทานอาหาร เข้าห้องน้ำ ทำความสะอาดหรือเปลี่ยนเสื้อผ้า ระหว่างการเดินทางที่เกี่ยวกับงาน การฝึกอบรม หรือกิจกรรมทางสังคม การสื่อสารที่เกี่ยวกับงาน ที่พักที่ฝ่ายจ้างจัดให้ และระหว่างเดินทางไปหรือกลับจากงาน สาระสำคัญของอนุสัญญานี้คือ “งานที่ดีงาม” (decent work) ที่ปลอดภัยหรือปราศจากความรุนแรง การคุกคาม การข่มขู่ข่มเหง หรือการเลือกปฏิบัติในที่ทำงาน

ขณะนี้ มี 4 ประเทศที่ให้สัตยาบันอนุสัญญานี้ ได้แก่ อาร์เจนตินา ฟินแลนด์ สเปน และอุรุกวัย

แต่ประเทศไทยยังเฉยๆ

ครับ ไม่เป็นไร เพราะที่จริงประเทศไทยไม่ได้ขาดแคลนมาตรการ หรือกฎระเบียบด้านการคุกคามทางเพศ แต่ที่เราขาดคือ การนำมาตรการที่มีอยู่ไปปฏิบัติอย่างจริงจัง

สราวุธ ไพฑูรย์พงษ์
[email protected]

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image