สมิธ ดัน ‘นายพลสี่เท้า’ ผู้บัญชาการทหารสูงสุดคนแรกของพม่า (2) : โดย ลลิตา หาญวงษ์

สมิธ ดัน ‘นายพลสี่เท้า’ ผู้บัญชาการทหารสูงสุดคนแรกของพม่า (2) : โดย ลลิตา หาญวงษ์
สมิธ ดัน ระหว่างเป็นผู้บัญชาการทหารสูงสุดของพม่า

สมิธ ดัน หรือ “สมิธตี้” (Smithy) ในหมู่เพื่อนทหารทั้งชาวอังกฤษและอเมริกัน ไม่ได้เป็นเพียงชาวกะเหรี่ยงคริสต์คนแรกที่ขึ้นเป็นนายทหารระดับสูง แต่ยังขึ้นไปเป็นถึงผู้บัญชาการทหารสูงสุดในกองทัพพม่าด้วย แม้จะเป็นช่วงสั้นๆ และเรื่องราวในชีวิตของเขาหลังอำลาตำแหน่ง และตัดสินใจเกษียณตัวเองในวัยเพียง 50 ต้นๆ แต่เรื่องราวความเป็นมาของนายพลผู้นี้ที่ผูกอยู่กับทั้งอัตลักษณ์กลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยง และประวัติศาสตร์ของกองทัพพม่ายุคใหม่ มีความน่าสนใจและน่าติดตามยิ่ง แต่เป็นที่น่าเสียดายว่าชื่อของสมิธ ดันไม่เป็นที่รู้จักมากนัก ความสามารถในฐานะ “ชนชาตินักรบ” (martial race) ของชาวกะเหรี่ยงเป็นที่ร่ำลือกันตั้งแต่เมื่ออังกฤษเข้าไปในพม่าช่วงแรกในต้นศตวรรษที่ 19 ความสำเร็จของมิชชันนารีอเมริกันที่สามารถเปลี่ยนให้ชาวกะเหรี่ยงส่วนหนึ่งหันมานับถือศาสนาคริสต์ได้ ยิ่งทำให้ชาวกะเหรี่ยงใกล้ชิดกับเจ้าอาณานิคมมากกว่ากลุ่มชาติพันธุ์อื่น ๆ ในพม่าตอนล่าง

เมื่อเกิดสงครามโลกครั้งที่ 1 ขึ้นในระหว่างปี 1914-1918 อังกฤษใช้ทหารที่มีความสามารถด้านการรบจากอาณานิคมของตนทั่วโลก ชาวกะเหรี่ยงเป็นส่วนหนึ่งของกำลังพลฝ่ายสัมพันธมิตรด้วย พี่ชายแท้ๆ ของดันผู้หนึ่งไปร่วมรบในสงครามโลกครั้งที่ 1 ได้รับปูนบำเหน็ดเป็น “เน้ก” (Naik) หรือสิบโท สมิธ ดันชื่นชมพี่ชายของเขา เด็กหนุ่มกะเหรี่ยงจากที่ราบลุ่มแม่น้ำอิระวดีเริ่มมีความฝันอยากเป็นทหารให้ได้เหมือนพี่ชาย เขาใฝ่ฝันอยากไปรบในสงคราม และเข้าร่วมการเดินขบวนสวนสนามที่ลอนดอนในฐานะผู้ชนะสงคราม

เซอร์ วิลเลียม สลิม (Sir William Slim) ผู้บัญชาการกองทัพที่ 14 ที่มีปฏิบัติการหลักต่อต้านกองทัพญี่ปุ่นในพม่า ระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นผู้ตั้งฉายานาม “นายพลสี่เท้า” ให้แก่ดัน แม้ดันจะเป็นชายหนุ่มรูปร่างเล็กมาก ดันมีความสูงเพียง 157 ซม. แต่เขาสามารถกระโดดได้สูงกว่าความสูงของตนเอง ดันเป็นที่รักและชื่นชมของคนในกองทัพอังกฤษ ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะเขาเป็นชาวกะเหรี่ยง ซึ่งเป็นที่ชื่นชมของเจ้าอาณานิคมและมิชชันนารีที่เข้าไปในพม่า อะโดนิราม จัดสัน (Adoniram Judson) มิชชันนารีอเมริกันที่เข้าไปพม่าตั้งแต่ต้นศตวรรษที่ 19 เคยเขียนบันทึกไว้ว่า “ชาวกะเหรี่ยงเป็นเชื้อชาติที่อ่อนโยน รักความสงบ เรียบง่าย และไว้ใจได้ และมีทั้งคุณธรรมที่อ่อนโยน และนิสัยแย่ ๆ ที่เด่นชัด แม้จะเป็นพวกขี้เหล้า สกปรกอย่างสาหัส และออกจะขี้เกียจอยู่ คุณค่าของพวกเขาในแง่อื่นๆ มีสูงกว่าชนชาติที่ศิวิไลซ์อื่นๆ”

ด้าน ดร.ฟรานซิส เมสัน (Francis Mason) มิชชันนารีคนแรกที่ตีพิมพ์พระคัมภีร์ไบเบิลเป็นภาษาสกอร์ (ภาษากะเหรี่ยง) ก็เคยเปรียบเทียบว่าชาวกะเหรี่ยง “เหนือกว่า” ชาวพม่าในทุกมิติ โดยเฉพาะลักษณะนิสัยของชาวกะเหรี่ยงที่เถรตรง จริงใจ และเด็ดขาด

Advertisement

พื้นฐานของสมิธ ดันเป็นครอบครัวชาวนา เขากำพร้าแม่เมื่ออายุได้เพียง 1 ปี เขาจึงถูกเลี้ยงดูมาโดยป้าๆ และญาติทางฝั่งแม่ ในพม่าตอนล่างช่วงต้นศตวรรษที่ 20 ซึ่งเป็นช่วงที่ดันเติบโตมาเป็นแหล่งเพาะปลูกที่สำคัญที่สุดของพม่า จนทำให้พม่าได้รับฉายาว่า “ชามข้าวแห่งเอเชีย” แต่แม้ชีวิตในชนบทของเด็กชาวกะเหรี่ยงทั่วไปจะเรียบง่าย แต่เนื่องจากวิถีชีวิตของชาวกะเหรี่ยงยังมีความใกล้ชิดกับมิชชันนารีชาวตะวันตก ครอบครัวกะเหรี่ยงจึงนิยมส่งบุตรหลานไปศึกษาต่อในโรงเรียนกะเหรี่ยงโปว์ (Pwo Karen เป็นชาวกะเหรี่ยงกลุ่มหนึ่งที่เป็นที่รู้จักว่ากะเหรี่ยงแดง หรือ “กะยิน” ในภาษาพม่า แตกต่างกับกะเหรี่ยงสะกอ หรือกะเหรี่ยงขาว) ที่ตั้งขึ้นโดยมิชชันนารีอเมริกันที่เมืองพะสิม เมืองขนาดใหญ่อีกเมืองในพม่าตอนล่าง หลังเรียนจบโรงเรียนมัธยมต้น ดันมุ่งหน้าสู่โรงเรียนขนาดใหญ่ของรัฐบาลในตัวเมืองพะสิม เนื่องจากมีอัตราส่วนของนักเรียนที่สอบผ่านมาตรฐานของรัฐบาลมากกว่าโรงเรียนมัธยมปลายของมิชชันนารี (ในขณะนั้น พม่าใช้ระบบการสอบไล่และสอบจบ นักเรียนและนักศึกษาทุกคนต้องเข้าสอบเพื่อจบการศึกษา เป็นที่เลื่องลือว่าข้อสอบจบนั้นค่อนข้างยาก ทำให้นักเรียนและนักศึกษาพม่าในขณะนั้นต้องขยันมากกว่าปกติ)

เส้นทางการเข้าสู่ระบบราชการของคนพื้นเมืองทั่วไปในบริติชอินเดีย (พม่าเป็นส่วนหนึ่งของอินเดียจนถึงปี 1937) คือการจับจองพื้นที่เพื่อเข้าไปเรียนในมหาวิทยาลัยย่างกุ้ง แต่เส้นทางของดันแตกต่างออกไป วันหนึ่ง สัสดีหน่วยแม่นปืน Burma Rifles กำลังรับสมัครทหารใหม่ที่เมืองพะสิมพอดี ดันที่กำลังศึกษาอยู่ในระดับมัธยมศึกษาตอนปลายตัดสินใจออกจากโรงเรียนทันทีเพื่อเข้าร่วมกับ Burma Rifles แม้ว่าอายุเขาจะน้อยกว่าทหารคนอื่นๆ และความสูงที่ไม่ผ่านมาตรฐาน แต่ด้วยชายชาวกะเหรี่ยงโดยมากมีรูปร่างกำยำล่ำสัน และเป็นที่ร่ำลือในบรรดาสัสดีว่ามีพละกำลังมาก และมีความซื่อสัตย์มากกว่ากลุ่มชาติพันธุ์อื่นๆ ในพม่า เขาจึงเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของ Burma Rifles ด้วยความภาคภูมิใจ อย่างไรก็ดี 4 เดือนในกองทัพผ่านไป ดันก็ต้องกลับไปศึกษาต่อจนจบตามคำขอของบิดา แต่ความฝันการเป็นทหารของเขายังลุกโชติช่วงอยู่ตลอด ถึงกับเก็บหอมรอมริบเพื่อเป็นค่ารถหนีออกจากบ้านมุ่งสู่เมเมี้ยว (เมืองปยินอูลวินในปัจจุบัน) ซึ่งเป็นโรงเรียนฝึกทหารที่ใหญ่ที่สุดของพม่า และค้นพบว่ากองทหารนั้นได้ปิดรับสมัครไปแล้ว

แต่ก็เป็นโชคของดันที่ได้รับการอุปการะโดยเจมาดาร์ (Jemadar ตำแหน่งในกองทัพแห่งบริติชอินเดีย เทียบได้กับร้อยโทในปัจจุบัน) และกลับเข้าไปเป็นทหารเป็นหนที่สอง

Advertisement

ทหารกะเหรี่ยงที่เข้าร่วมกองทัพในเวลานั้นมักมีชื่อเรียกเป็นภาษาอังกฤษ แต่เนื่องจากครอบครัวของดันเรียกชื่อเล่นของเขาติดปากว่า “โพ เย” (Po Yay) ที่แปลว่า ด.ช.น้ำ เพราะชอบเล่นน้ำ เขาจึงตั้งชื่อให้ตนเองว่า “สมิธ” เนื่องจากประทับใจตัวละครชื่อ มิสเตอร์สมิธ ที่เขาเพิ่งได้ดูก่อนหนีออกจากพะสิมพร้อมกับเพื่อนกะเหรี่ยงอีกคนที่ชื่อ “เฮนสัน” ไม่นาน ดันเล่าว่าชีวิตในกองทัพในช่วงแรกเป็นไปอย่างราบรื่น และทหารที่เป็นชาวกะเหรี่ยงได้รับการเลื่อนขั้นเร็ว เนื่องจากกองทัพต้องการครูฝึกใหม่จำนวนมาก ทั้งสมิธและเฮนสันเลื่อนตำแหน่งเป็นสิบโท (corporal) ในเวลาเพียง 2 ปี และเป็นฮาวิลดาร์ (Havildar หรือสิบเอก) ในเวลา 3 ปี

เกร็ดเล็กเกร็ดน้อยที่ดันเขียนไว้ในอัตชีวประวัติคือเรื่องอาหารในกองทัพที่ดันมองว่า “รสชาติไม่ได้เรื่อง” อาหารในกองทัพทั้งหมดเป็นอาหารอินเดีย ประเภทแกงกะหรี่ รับประทานกับแผ่นแป้ง เช่น ชาปาตี และนาน ดันเล่าติดตลกว่าผู้ปรุงอาหารในกองทัพเป็นลูกครึ่งพม่า-อินเดีย เมื่อต้องเตรียมแป้งชาปาตี จึงทำไหม้ไปบ้าง หรือไม่สุกบ้าง แกงกะหรี่แบบอินเดียส่วนใหญ่ที่ทำจากเนื้อสัตว์และผักสารพัดชนิดรสชาติดี แต่ที่แย่เอามากๆ คือแกงถั่ว หรือที่เรียกว่า “ดาล” (daal) อาหารทั้งหมดนี้ไม่ได้ทำให้เขารู้สึกอิ่ม รสชาติอาหารในกองทัพแย่จนทำให้เขาอยากกลับไปเรียนหนังสือในโรงเรียนมิชชันนารี แต่จนแล้วจนรอด ดันก็อดทนและได้รับการเลื่อนขั้นอย่างรวดเร็วตามคาด จนสามารถก้าวไปเป็นครูฝึกระดับสูง และถูกส่งไปฝึกที่สถาบันฝึกทหารระดับสูงทั้งที่อังกฤษและอินเดียในเวลาต่อมา

ในสัปดาห์หน้า เราจะกลับมาเรียนรู้ชีวิตของสมิธ ดันผู้นี้กับประสบการณ์ในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 และการขึ้นสู่ตำแหน่งสูงสุดในฐานะผู้บัญชาการทหารสูงสุดของพม่า

ลลิตา หาญวงษ์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image