ชั่งตวงวัด-ที่รัฐลืม โดย สราวุฒิ สิงห์เอี่ยม

การกำกับดูแล “ชั่งตวงวัด” มีกฎหมายบังคับใช้มาเกือบจะ 100 ปีแล้ว นั่นคือ พ.ร.บ.มาตราชั่งตวงวัด พ.ศ.2466 แก้ไขมาหลายครั้ง กระทั่งฉบับล่าสุดคือ พ.ร.บ.มาตราชั่งตวงวัด พ.ศ.2557

แม้จะปรับปรุงเนื้อหาให้เหมาะสมสอดคล้องกับสถานการณ์ แต่ดูเหมือนว่าการกำกับดูแลยังอ่อนด้อย

ถึงจะมีคณะกรรมการชั่งตวงวัดที่มีปลัดกระทรวงพาณิชย์เป็นประธาน แต่นานทีปีหนจะประชุมสักครั้ง และไม่มีการขับเคลื่อนอะไรมากนัก นอกจากนี้กรรมการหลายคนก็ไม่ได้เกี่ยวข้องและรู้เรื่องเกี่ยวกับชั่งตวงวัด

ขณะที่ฝ่ายปฏิบัติอย่างสำนักชั่งตวงวัด กรมการค้าภายใน ก็ไม่ได้เสนอผลักดันอะไรเป็นชิ้นเป็นอัน

Advertisement

เมื่อเร็วๆ นี้ สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) รายงานผลการตรวจสอบการดำเนินงานของกรมการค้าภายใน พบว่าการกำกับดูแลผู้ประกอบธุรกิจชั่งตวงวัด และเครื่องชั่งตวงวัด ไม่มีประสิทธิภาพ ไม่เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด ไม่ครอบคลุม ไม่ครบถ้วน

อันจะอาจทำให้มีผู้ประกอบธุรกิจชั่งตวงวัด ผลิต นำเข้า ขาย ซ่อมเครื่องชั่งตวงวัดโดยไม่มีใบรับรอง ไม่ได้มาตรฐาน

สตง.ยังเสนอแนะว่าให้พิจารณาแนวทางให้ภาคเอกชนเข้ามาทำหน้าที่ติดตามกำกับดูแลเครื่องชั่งตวงวัดแทน โดยกรมการค้าภายในทำหน้าที่กำกับควบคุมการทำงานของภาคเอกชนอีกที เพื่อลดภาระงานของหน่วยงานและเพิ่มประสิทธิภาพในการกำกับดูแลเครื่องชั่งตวงวัด

Advertisement

แม้ขณะนี้จะเปิดให้เอกชนเข้ามาช่วยตรวจรับรองมาตรฐานแต่ก็ไม่มีผลในทางปฏิบัติ เพราะดันไปกำหนดเงื่อนไขว่าเอกชนที่เป็นผู้ตรวจรับรองมาตรฐานเครื่องชั่งตวงวัดจะมีอายุใบรับรองแค่ 2 เดือนเท่านั้น แต่ถ้าเจ้าหน้าที่ตรวจจะมีอายุใบรับรองถึง 2 ปี แล้วใครจะไปให้เอกชนมาตรวจรับรอง

เปิดให้เอกชนทำแค่เป็นพิธี ยังหวงอำนาจตัวเอง ทั้งที่กำลังคนก็มีไม่พอที่จะดูแลทั่วถึง หรือเพราะกลัวว่ารายได้พิเศษจะหายไป เลยไม่ปล่อยให้เอกชนมาช่วยดูแลอย่างจริงจัง

สตง.ยังระบุว่า ผลของการกำกับดูแลชั่งตวงวัดที่ไม่ได้มาตรฐานนี้ส่งผลกระทบต่อผู้บริโภคที่จะได้รับสินค้าไม่ครบถ้วนและไม่ถูกต้องตามปริมาณที่ควรจะเป็น

ที่จริงแล้วเรื่องชั่งตวงวัดไม่ใช่แค่เครื่องชั่งกิโลที่พ่อค้าและแม่ค้าใช้ตามตลาดสดทั่วไป แต่ยังครอบคลุมเครื่องชั่งตวงวัดต่างๆ อีกมาก เช่น หัวจ่ายน้ำมันในปั๊ม การหีบห่อ เครื่องวัดความชื้นข้าวเปลือก

โดยเฉพาะเครื่องชั่งน้ำหนักสินค้าเกษตรต่างๆ ทั้ง ข้าว อ้อย มันสำปะหลัง ปาล์ม ข้าวโพด ยาง หากเครื่องชั่งไม่ได้มาตรฐาน ทำให้เกษตรกรถูกโกง

เครื่องชั่งน้ำหนักสินค้าเกษตร ปัจจุบันใช้ระบบดิจิทัลที่ดูเหมือนจะเที่ยงตรง เชื่อถือได้ แต่ก็มีวิธีโกงที่แยบยล เช่น ใช้รีโมตยิงปรับตัวเลขที่หน้าปัดให้ลดน้อยกว่าน้ำหนักจริง

วิธีล่าสุดคือการทำโปรแกรมซอฟต์แวร์โกงน้ำหนักขึ้นมาโดยเฉพาะ จะหักน้ำหนักกี่เปอร์เซ็นต์จากน้ำหนักจริงก็ว่ากันไป

หากเจ้าหน้าที่มาสุ่มตรวจสอบก็จะมีวิธีเอาตัวรอดง่ายๆ เช่น แจ้งว่าเครื่องเสีย เพื่อปรับเครื่องให้เหมือนเดิมก่อนให้เจ้าหน้าที่มาตรวจใหม่ หรือนำซอฟต์แวร์โกงน้ำหนักออกจากเครื่องคอมพิวเตอร์ เจ้าหน้าที่มาตรวจก็ไม่เจอ

ช่วงรอยต่ออายุใบรับรอง 2 ปี กว่าจะตรวจอีกรอบ จึงมีเวลาโกงได้นานพอ

หากเครื่องชั่งน้ำหนักสินค้าเกษตรเที่ยงตรงจะทำให้เกษตรกรมีรายได้มากขึ้น อาจไม่ต้องเข้าไปแทรกแซงราคาสินค้าเกษตรมากนัก

แต่ที่ผ่านมาสินค้าเกษตรสำคัญหลายชนิดถูกโกงน้ำหนักแต่ละปีคาดว่ามีมูลค่าไม่ต่ำกว่าหมื่นล้านบาท เป็นความเสียหายจาก “ชั่งตวงวัด” ที่โลก(รัฐ)ลืม

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image