สุจิตต์ วงษ์เทศ : ภาษาไทย ภาษากลางทางการค้าภายในภูมิภาคสุวรรณภูมิ

เรือฝูฉวน ต้นแบบที่จักรพรรดิหย่งเล่อทรงนำมาใช้สร้างเรือเป่าฉวน

ภาษาไทย ถูกผู้พิทักษ์ภาษาไทยสถาปนาเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ โดยอิงนิยายเรื่องประดิษฐ์อักษรไทยของพ่อขุนรามคำแหง
แต่ในโลกจริง ภาษาไทยมีรากจากตระกูลภาษาไต-ไท พบเก่าสุดราว 3,000 ปีมาแล้ว ทางมณฑลกวางสี ในจีนตอนใต้ ติดพรมแดนเวียดนาม ต่อมาภาษาไทยเป็น ภาษากลางทางการค้าภายในภูมิภาค
อ. นิธิ เอียวศรีวงศ์ เคยบอกไว้ใน ข้อเสนอสังเขป ประวัติศาสตร์แห่งชาติ (พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. 2549) ว่ามีเหตุจากความเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญในราวหลัง พ.ศ. 1700 ในนโยบายการค้าทางทะเลของจีนที่พบเทคโนโลยีต่อสำเภาขนาดใหญ่ ทำให้กระทบต่อความเป็นไปของภูมิภาคอุษาคเนย์และไทย ส่งผลถึงภาษาไทย จะคัดมาแบ่งปันเพื่อพิจารณา ดังต่อไปนี้

การเข้ามาของศาสนามวลชน

ได้แก่ พระพุทธศาสนาเถรวาทสำนักลังกา และศาสนาอิสลาม
ความแตกต่างที่สำคัญของศาสนาทั้งสอง ก็คือแพร่กระจายไปถึงคนธรรมดาแม้ในชนบทห่างไกล เพราะมีผู้สอนศาสนาที่เป็นพระภิกษุหรือเป็นผู้รู้ที่เข้าไปถึงหมู่บ้าน หรือจัดตั้งองค์กรทางศาสนาในหมู่บ้านโดยตรง
ฉะนั้นศาสนาที่มีลักษณะมวลชนดังกล่าว จึงกลายเป็นปัจจัยสำคัญที่สุดในการประสานสังคมที่มีความหลากหลายให้ลงรอยกันได้อย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน บทบาทของผู้ปกครองในฐานะผู้ปกป้องคุ้มครองศาสนายิ่งมีความสำคัญทางการเมืองมากขึ้น
เช่นเดียวกับประวัติศาสตร์ที่ผ่านมาก่อนหน้า เมืองใหญ่ๆ ภายใต้พระราชอำนาจกลายเป็นศูนย์กลางการศึกษาศาสนาที่มีชื่อเสียงกว้างไกล ดึงดูดเอานักศึกษาจากดินแดนห่างไกลให้เข้ามาเรียนรู้ เช่น หริภุญชัย, เชียงใหม่, ละโว้, กรุงศรีอยุธยา, นครศรีธรรมราช และ ปัตตานี เป็นต้น
พัฒนาการขององค์กรศาสนาพุทธสำนักลังกากับอิสลามในประเทศไทยแตกต่างกัน
ในเขตที่พระพุทธศาสนาแพร่หลาย องค์กรศาสนารอรับการอุปถัมภ์และปกป้องโครงสร้างอำนาจภายในของตัวจากพระราชอำนาจเสียจนกระทั่งกษัตริย์ของรัฐต่างๆ สามารถควบคุมดูแลองค์กรคณะสงฆ์ได้ในระดับสูง
ตรงข้ามกับเขตที่ศาสนาอิสลามแพร่หลาย ศาสนาอิสลามไม่มีองค์กรศาสนาที่เป็นทางการ แต่ครูสอนศาสนาและผู้นำศาสนาอาจสร้างเครือข่ายของตนเองขึ้นได้ เช่น ศิษย์ของครูผู้มีชื่อเสียงอาจตั้งสำนักศึกษาของตนเองขึ้นอย่างกว้างขวาง โดยต่างก็ถือว่าร่วมอยู่ในเครือข่ายของสำนักศึกษาศูนย์กลางของอาจารย์ ครูและผู้นำทางศาสนาได้รับการอุปถัมภ์โดยตรงจากชาวบ้าน (เหมือนพระภิกษุในชนบทของเขตพระพุทธศาสนา แม้กระนั้นก็ยังต้องอิงอาศัยแหล่งเรียนรู้จากศูนย์กลางการศึกษาซึ่งอยู่ภายในพระบรมราชูปถัมภ์อยู่ดี) จึงไม่ตกอยู่ภายใต้การควบคุมดูแลของสุลต่าน ในหลายครั้งก็มีบทบาทเป็นผู้ถ่วงดุลอำนาจของผู้มีอำนาจทางการเมืองด้วย ไม่ว่าจะเป็นสุลต่านหรืออำนาจของคนนอกศาสนาที่เข้ามายึดครอง

เรือเดินสมุทรชนิดใหม่คือสำเภาจีน

เริ่มเข้ามามีบทบาทในการค้าทางทะเลมากขึ้น นับตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 12 เป็นต้นมา
คุณลักษณะของสำเภาจีนคือมีระวางบรรทุกสูง และโดยเปรียบเทียบแล้วแข็งแรงกว่าสำเภาชนิดอื่นที่ใช้กันในทะเลจีนและมหาสมุทรอินเดียในช่วงนั้น ผลก็คือทำให้สินค้าที่กินระวางบรรทุกสูงสามารถส่งไปยังแดนไกลได้มากขึ้น แม้ว่าการค้าสินค้าฟุ่มเฟือยยังมีความสำคัญในการค้าสืบมา แต่สินค้าที่กินระวางบรรทุกก็เข้ามามีสัดส่วนในการค้าทางทะเลเพิ่มมากขึ้นตามลำดับ
ในดินแดนที่เป็นประเทศไทย ซี่งเคยเป็นผู้ผลิตของป่าที่สำคัญแห่งหนึ่งมาก่อนแล้ว ก็สามารถป้อนของป่าแก่การค้าทางทะเลได้หลากหลายชนิดมากขึ้น โดยเฉพาะสินค้าที่กินระวางบรรทุก เช่น ไม้ฝาง, หนังสัตว์, อาหาร, ผลเร่ว, ฯลฯ เป็นต้น
ฉะนั้นการค้าทางบก (ที่อาศัยเส้นทางน้ำร่วมด้วย) น่าจะขยายตัวขึ้นพร้อมกันกับความแพร่หลายของสำเภาจีน เป็นผลให้ชุมชนซึ่งตั้งอยู่ในทำเลที่เป็นศูนย์กลางของเส้นทางการค้าภายใน เช่น เชียงใหม่, แพร่, น่าน, สุโขทัย-ศรีสัชนาลัย, พิษณุโลก, กำแพงเพชร, นครพนม, โคราช, ฯลฯ ตั้งตัวขึ้นเป็นศูนย์กลางการค้าภายใน มีประชากรอพยพเข้ามาตั้งภูมิลำเนามากขึ้น และประสบความรุ่งเรืองมั่งคั่งในระดับหนึ่ง
ในขณะเดียวกัน ก็เป็นแรงผลักดันให้รัฐที่สามารถติดต่อค้าขายทางทะเลได้โดยตรง ซึ่งตั้งอยู่ชายฝั่งหรือใกล้ชายฝั่ง ขยายอำนาจไปดูดซับสินค้าของป่าเหล่านี้
รัฐที่มีภูมิประเทศเอื้อต่อการมีฐานการเกษตรที่เข้มแข็ง ย่อมสามารถรวบรวมประชากรได้มากกว่า และในที่สุดก็ขยายอำนาจออกไปควบคุมเมืองท่าในคาบสมุทรมลายู เพื่อป้องกันการแข่งขัน และผนวกเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของเครือข่ายการค้าทางทะเลของตน ไม่ว่ารัฐนั้นจะตั้งอยู่ในลุ่มน้ำเจ้าพระยา หรือในลุ่มน้ำอิรวดี-สาละวินตอนล่างก็ตาม

ภาพวาดสำเภาจีน(เรือสามเสากระโดง)ตามคำบอกเล่าของมาร์โค โปโล (ภาพจาก เจิ้งเหอ แม่ทัพขันที “ซำปอกง” โดย ปริวัฒน์ จันทร สำนักพิมพ์มติชน พิมพ์ครั้งที่ 3 พ.ศ. 2553)
ภาพวาดสำเภาจีน(เรือสามเสากระโดง)ตามคำบอกเล่าของมาร์โค โปโล (ภาพจาก เจิ้งเหอ แม่ทัพขันที “ซำปอกง” โดย ปริวัฒน์ จันทร สำนักพิมพ์มติชน พิมพ์ครั้งที่ 3 พ.ศ. 2553)

การขยายตัวของภาษาไทยและภาษามลายู

ด้วยปัจจัยบางประการ ในช่วงเวลาเดียวกันนี้ ภาษาไต-ไทเริ่มแพร่หลายมากขึ้นในดินแดนที่เป็นประเทศไทยปัจจุบัน ปัจจัยสำคัญที่สุดน่าจะเป็นการค้าภายในดังที่กล่าวแล้ว เนื่องจากพวกไต-ไทตั้งภูมิลำเนาในหุบเขาขนาดเล็กมาก่อน เมื่อมีประชากรเพิ่มขึ้นจึงผลิตอาหารไม่พอ ต้องพึ่งพาการค้าทางไกลเข้ามาช่วยในการดำรงชีพ ฉะนั้นจึงน่าจะมีบทบาทมากในการค้าภายในซึ่งเฟื่องฟูเพิ่มขึ้นในช่วงนี้ และทำให้ภาษาไต-ไทกลายเป็นภาษากลางอย่างน้อยในการค้าภายใน ประชาชนที่มีชาติพันธุ์อันหลากหลาย ทั้งที่อยู่ในที่ราบลุ่มหรือบนที่สูง พอจะเข้าใจภาษาไต-ไทได้ในระดับหนึ่ง
ส่วนภาษามลายูคงจะแพร่หลายในวงการค้าของภูมิภาคอยู่แล้ว เพราะประชาชนที่พูดภาษามลายูมีบทบาทในการค้าทางทะเลมาตั้งแต่ก่อนประวัติศาสตร์
ผู้เผยแผ่พระพุทธศาสนาสำนักลังกาตัดสินใจใช้ภาษาไทยเป็นภาษากลางสำหรับการเผยแผ่ อย่างน้อยในลุ่มน้ำเจ้าพระยาทั้งตอนบนและตอนล่าง จึงยิ่งทำให้ภาษาไทยกลายเป็นภาษากลางของคนหลากหลายชาติพันธุ์ในดินแดนแถบนี้มากขึ้น
ในอยุธยา ราชสำนักอาจใช้ภาษาเขมร แต่เมื่อไรที่เป็นเอกสารสำหรับอ่านกันในวงกว้างกว่าชนชั้นสูง เช่น โองการแช่งน้ำหรือกฎหมายหรือจารึกแสดงบุญญาบารมีของผู้สร้างศาสนสถาน ก็ใช้ภาษาไทย รวมทั้งเอกสารที่เกี่ยวกับศาสนาด้วย เช่น จารึกที่เกี่ยวกับศาสนารวมไปถึงวรรณกรรมศาสนา เช่น มหาชาติคำหลวง เป็นต้น เช่นเดียวกับเวียงจัน, หลวงพระบาง และเชียงใหม่ ซึ่งผลิตกฎหมายในระยะเริ่มต้นด้วยภาษาไต-ไทเช่นกัน

Advertisement

เช่นเดียวกับผู้เผยแผ่ศาสนาอิสลาม เพราะภาษามลายูถูกใช้อย่างกว้างขวางอยู่แล้ว ภาษามลายูจึงถูกนำมาใช้สำหรับการเผยแผ่ศาสนาเช่นกัน วรรณกรรมทางศาสนาซึ่งเขียนขึ้นในระยะแรกๆ แม้แต่เขียนในรัฐที่ไม่ได้ใช้ภาษามลายูก็ยังเป็นภาษามลายู
ความสัมพันธ์กับศาสนาใหม่นี้ทำให้สถานะของภาษาทั้งสองสูงขึ้นในสังคม เพราะภาษาทั้งสองถูกนำไปใช้เขียนวรรณกรรมหลากหลายประเภทมากขึ้นนอกจากศาสนา จนทำให้ภาษาอื่นๆ ในคาบสมุทรมลายูและในดินแดนที่เป็นประเทศไทยถูกภาษาทั้งสองเข้าไปแทนที่ในแทบทุกเรื่อง
ศาสนามวลชนที่เหมือนกัน และการร่วมใช้ภาษากลางที่ใกล้เคียงกันเช่นนี้ ทำให้เกิดภาพของความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันขึ้นในหมู่ประชากร ซึ่งในความเป็นจริงแล้วมีความหลากหลายทางชาติพันธุ์และวัฒนธรรมอย่างสูง

[พรุ่งนี้ อ่านรายละเอียดเรื่องภาษาไทย รากเหง้าเก่าสุด 3,000 ปีมาแล้ว อยู่มณฑลกวางสี ภาคใต้ของจีน และอักษรไทย คืออักษรเขมรที่ถูกทำให้ง่าย]

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image