ปฏิรูปการศึกษาไม่ถึงไหน… เสนาบดีไปแล้ว

คณะรัฐมนตรี มีมติเมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2563 เห็นชอบการแต่งตั้งคณะกรรมการปฏิรูปประเทศ 13 คณะ ทดแทนผู้ลาออกและหมดวาระ หนึ่งในคณะกรรมการใหม่ คือ กรรมการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา

มีนายวรากรณ์ สามโกเศศ เป็นประธาน กรรมการประกอบด้วย นายศักรินทร์ ภูมิรัตน์ นายสุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ นางประพันธ์ศิริ สุเสารัจ นายศักดิ์สิน โรจน์สราญรมย์ นายสิริเดช สุชีวะ นายสมภพ มานะรังสรรค์ นายวิวัฒน์ เรืองเลิศปัญญากุล นายวิวัฒน์ ศัลยกำธร นายไกรยส ภัทราวาท นางสาวกานดา ชูเชิด ผอ.กองยุทธศาสตร์การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์และสังคม สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เป็นกรรมการและเลขานุการ

ในจำนวนนี้มีผู้เคยเป็นกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษาเดิม ที่มี นพ.จรัส สุวรรณเวลา เป็นประธาน และครบวาระ 2 ปีเมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2562 ได้แก่ นายไกรยส นายวิวัฒน์ และนายศิริเดช ซึ่งเป็นข้อดี ทำให้เกิดความเชื่อมโยง ต่อเนื่องจากกรรมการชุดที่แล้ว ได้เสนอแผนปฏิรูปด้านการศึกษา 7 เรื่อง ได้แก่

1.ปฏิรูประบบการศึกษาและการเรียนรู้โดยรวมของประเทศ โดยพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติฉบับใหม่และกฎหมายลำดับรอง

Advertisement

2.ปฏิรูปการพัฒนาเด็กเล็กและเด็กก่อนวัยเรียน

3.ปฏิรูปเพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา

4.ปฏิรูปกลไกและระบบการผลิต คัดกรองและพัฒนาผู้ประกอบวิชาชีพครูและอาจารย์

Advertisement

5.ปฏิรูปการจัดการเรียนการสอนเพื่อตอบสนองการเปลี่ยนแปลงในศตวรรษที่ 21

6.ปรับโครงสร้างของหน่วยงานในระบบการศึกษา เพื่อบรรลุเป้าหมายในการปรับปรุงการจัดการเรียนการสอนและยกระดับคุณภาพของการจัดการศึกษา

7.ปฏิรูปการศึกษาและการเรียนรู้โดยการพลิกโฉมด้วยระบบดิจิทัล (Digitalization for Educational and Learning Reform)

หลังนำเสนอแนวทางปฏิรูปการศึกษาต่อรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแล้ว ผลในทางปฏิบัติเป็นอย่างไร แต่ละข้อมีผลผลิตอะไรเป็นรูปธรรม ก่อนกรรมการชุดใหม่จะเดินหน้าต่อไปควรบอกกล่าวให้เห็นภาพรวมร่วมกันอีกครั้ง

ไม่ว่าการเกิดขึ้นของ กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา พ.ร.บ.พัฒนาเด็กปฐมวัยแห่งชาติ พ.ร.บ.การอุดมศึกษาแห่งชาติ พ.ร.บ.พื้นที่นวัตกรรมการศึกษา การแยกกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ออกจากกระทรวงศึกษาธิการ เรื่องเหล่านี้ตอบโจทย์ข้อใดใน 7 ข้อ เกิดความเปลี่ยนแปลงถึงระดับผ่าตัด พลิกโฉมการศึกษาไทยครั้งใหญ่ หรือแค่ปะผุ ไม่ใช่แก่นแกนของการปฏิรูป

แม้บางประเด็นมีการยกร่างกฎหมายใหม่ขึ้นมาแล้วก็ตาม แต่การบังคับใช้ยังไม่เกิดผลเท่าที่ควร การดำเนินงานหลายข้อ คืบหน้าล่าช้ามาก

โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเด็นหัวใจ เป็นคานงัดของการปฏิรูปการศึกษา คือ ข้อ 4.ปฏิรูปกลไกและระบบการผลิต คัดกรองและพัฒนาผู้ประกอบวิชาชีพครูและอาจารย์ 5.ปฏิรูปการจัดการเรียนการสอนเพื่อตอบสนองการเปลี่ยนแปลงในศตวรรษที่ 21 7.ปฏิรูปการศึกษาและการเรียนรู้โดยการพลิกโฉมด้วยระบบดิจิทัล

ความไม่พร้อมของการเรียนการสอนออนไลน์หลังเกิดสถานการณ์ไวรัสโควิด-19 เป็นภาพสะท้อนให้เห็นชัดว่า นอกจากการปฏิรูปไม่คืบหน้าเท่าที่ควรแล้ว วิกฤตการณ์ยังน่าเป็นห่วง เพราะเกิดขึ้นทั้งระดับโครงสร้างพื้นฐาน และระดับบุคลากรทุกฝ่าย ทั้งครู นักเรียน และพ่อแม่ผู้ปกครอง

ยืนยันได้จากผลสำรวจของคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ สอบถามความคิดเห็นครู 678 คนจากโรงเรียนใน 67 จังหวัด พบว่า ครูที่ไม่พร้อมสอนออนไลน์สูงเกือบ 50% นักเรียนจำนวนมากไม่สามารถเข้าถึงระบบการเรียนการสอนออนไลน์ เนื่องจากไม่มีคอมพิวเตอร์ 66% ไม่มีอินเตอร์เน็ตใช้ที่บ้าน 57% ไม่มีสมารท์โฟน 36% ครูประเมินว่านักเรียนสามารถเรียนรู้ผ่านระบบออนไลน์ได้เพียง 45%

ความเป็นจริงเป็นเช่นนี้การปฏิรูปการศึกษา การเรียนรู้โดยการพลิกโฉมด้วยระบบดิจิทัล (Digitalization for Educational and Learning Reform) จะเป็นไปได้อย่างไร เมื่อไหร่ กลับมาสู่ประเด็นปฏิรูปคู่ขนานที่สำคัญยิ่ง คือ ปฏิรูปกลไกและระบบการผลิต คัดกรองและพัฒนาผู้ประกอบวิชาชีพครูและอาจารย์ ก็เช่นกัน ห้าปีที่ผ่านมาแทบไม่เห็นความก้าวหน้า

ล่าสุดเมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน 2562 นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ประชุมร่วมกับนายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ มีข้อเสนอร่วมกันให้ตั้งคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยการผลิตและพัฒนาครู (Teacher Education and Education System Research Institute) และศูนย์ความเป็นเลิศด้านครุศึกษา (Teacher Education Center of Excellence) รวมกลุ่มสถาบันผลิตครูหลักๆ ในรูปแบบสภาความร่วมมือ

เวลาผ่านไปร่วม 9 เดือน ข้อตกลงสร้างกลไกปฏิรูปครู ยังไม่เกิดผลทางปฏิบัติชัดเจน รัฐมนตรีต้องโบกมือลาจากตำแหน่งไปแล้วคนหนึ่ง แทบ
ไม่ต้องพูดถึงข้อเสนอว่าด้วยโรงเรียนนิติบุคคล เพื่อความเป็นอิสระและคล่องตัวของโรงเรียน พื้นที่แตกหักของการปฏิรูปการศึกษา

ฉะนั้น ถึงแม้จะตั้งคณะกรรมการปฏิรูปประเทศขึ้นมาใหม่ และไม่ว่าจะนำเรื่องเดิมมาผลักดันต่อ หรือคิดเรื่องใหม่ที่ตรงเป้า โดนใจกว่าขึ้นมาทำก็ตาม ตราบใดที่ฝ่ายการเมืองผู้ดำเนินนโยบายไม่รับลูก ไม่โดดลงมาเป็นเจ้าภาพจริงจัง รับรองว่าปฏิรูปการศึกษาก็จะไปไม่ถึงไหน

วิกฤตการศึกษาไทย ตั้งแต่ก่อนรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 จนถึงวันนี้ 6 ปีแล้วยังน่าวิตกอยู่เช่นเดิม

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image