สมิธ ดัน ‘นายพลสี่เท้า’ ผู้บัญชาการทหารสูงสุดคนแรกของพม่า (3) : โดย ลลิตา หาญวงษ์

สมิธ ดัน ‘นายพลสี่เท้า’ ผู้บัญชาการทหารสูงสุดคนแรกของพม่า (3) : โดย ลลิตา หาญวงษ์
ซอ “แฮนสัน” จา โด ที่ต่อมาจะกลายเป็นผู้นำกะเหรี่ยงที่มีชื่อเสียง

สมิธ “สมิตตี้” ดัน เป็นชาวกะเหรี่ยง และเป็นผู้บัญชาการทหารสูงสุดคนแรกหลังพม่าได้รับเอกราช ในฐานะที่เขาเป็นชาวกะเหรี่ยง ดันจึงมีสถานะพิเศษและเป็นที่โปรดปรานของกองทัพยุคอาณานิคม ที่ส่วนใหญ่จ้างทหารจากบรรดา “ชนชาตินักรบ” (martial races) จากอินเดีย และกลุ่มชาติพันธุ์บางส่วนในพม่า การเรียนการสอนในเรียนฝึกทหารตั้งในระดับเล็กไปถึงระดับสูงสุดใช้ภาษาอุรดู (คล้ายกับภาษาฮินดี ปัจจุบันเป็นภาษาราชการของปากีสถาน) ซึ่งสร้างความยากลำบากให้ทหารที่เป็นคนพม่าแท้ ทักษะภาษาอังกฤษของดันดีขึ้นตามลำดับเมื่อเขาเข้าร่วมกับกองกำลัง Burma Rifles และได้รู้จักกับครูฝึกชื่อ ร้อยเอก ดับเบิ้ลยู. อี. ริเวอรส์ (W.E. Rivers) ซึ่งเป็นบุตรชายของบาทหลวง อี. อี. ริเวอรส์ (E.E. Rivers) ที่ชาวกะเหรี่ยงรู้จักเป็นอย่างดี

ด้วยการสนับสนุนอย่างดีจากริเวอรส์ ดันที่ได้เลื่อนขั้นให้เป็นนายทหารระดับจาเมดาร์ (Jamedar) เมื่ออายุยังไม่ถึง 25 ปี ริเวอรส์เสนอให้ดันมาอยู่กับตนและครอบครัวระหว่างลาพักเป็นเวลา 1 ปีที่อินเดีย ดันใช้เวลาอยู่กับครอบครัวของริเวอรส์ระหว่างถูกส่งไปฝึกที่วิทยาลัยคิทชเนอร์ (Kitchener College) ที่เมืองนาวกอง (Nowgong) ที่ห่างจากเดลฮีราว 550 กิโลเมตร วิทยาลัยเล็กๆ นี้เป็นเหมือนโรงเรียนเตรียมสำหรับนายทหารเพื่อเข้าไปศึกษาต่อในโรงเรียนเตรียมทหารที่เดห์ราดัน (Dehra Dun) โรงเรียนเตรียมทหารแห่งแรกของอินเดียที่ก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 1922 นายทหารในกองทัพอินเดียทุกนายต้องผ่านการฝึกจากสถาบันแห่งนี้ และในฐานะที่พม่าเป็นส่วนหนึ่งของอินเดียจนถึง 1937 นายทหารพื้นเมืองทุกคนจากพม่าก็ต้องถูกส่งไปฝึกที่เดห์ราดัน หรือที่หลายคนเรียกกันติดปากว่า “แซนด์เฮิร์สแห่งอินเดีย”

เมื่อเข้าไปเดห์ราดันแล้ว สมิธได้รับการต้อนรับจาก พันตรี ดี.ที. โควัน (D.T. Cowan) เป็นอย่างดี ดันเล่าให้ฟังในอัตชีวประวัติของเขาว่าโควันเป็นทหารกุรข่า เขามองว่าคนกุรข่า ซึ่งเป็นคนพื้นเมืองกลุ่มหนึ่งในเนปาล และเป็นหนึ่งในชนชาตินักรบที่อังกฤษชื่นชมมากที่สุด หลักสูตรที่เดห์ราดันเป็นแบบ 4 ภาคการศึกษา ในแต่ละปีมีนักเรียนนายร้อย 40 คน ซึ่งถูกแบ่งออกเป็น 2 กองร้อย นักเรียนจาก 2 กลุ่มต้องแข่งขันกัน ทั้งด้านวิชาการฝึก การออกกำลังกาย การขี่ม้า และในกิจกรรมสันทนาการอื่นๆ แม้ดันจะมีรูปร่างเล็กกว่านักเรียนนายร้อยจากกลุ่มชาติพันธุ์อื่น ๆ จากอินเดีย แต่เขาก็เล่นกีฬาหลายประเภทได้ในระดับที่น่าพอใช้ เว้นเสียแต่คริกเก็ตที่เขายอมรับว่า “ไม่รู้ด้วยซ้ำว่าเล่นอย่างไร”

ดันได้รับเลื่อนให้เป็นสิบโทหลังใช้เวลาเพียง 6 เดือนที่เดห์ราดัน

Advertisement

หลังสำเร็จการศึกษาในปี 1933 ดันหวนกลับมาระลึกถึงช่วงเวลาที่เดห์ราดัน เขาเห็นว่าเขาควรมีนามสกุลเป็นของตนเอง จึงนำคำว่า “ดัน” มาใช้ ดันมองว่าช่วงเวลาที่เดห์ราดันเป็นช่วงเวลาที่ดีที่สุดในชีวิต ครั้งหนึ่ง เขาเกือบจะได้รับคัดเลือกให้ไปศึกษาต่อที่วิทยาลัยแซนด์เฮิร์ส ซึ่งเป็นวิทยาลัยด้านการทหารที่มีชื่อเสียงที่สุดในอังกฤษ แต่ในเวลานั้น กองทัพพม่ามีสิทธิส่งทหารหนุ่มเพียงคนเดียวไปแซนด์เฮิร์ส และผู้ที่ได้รับโอกาสนั้นคือ “เฮนสัน” (Henson) เพื่อนสนิทของสมิธ หากจำกันได้ เมื่อสัปดาห์ก่อนผู้เขียนกล่าวถึงสมิธและเฮนสัน สองสหายชาวกะเหรี่ยง ที่หนีออกจากหมู่บ้านเพื่อไปสมัครเรียนโรงเรียนฝึกทหารที่เมเมี้ยว (ปัจจุบันคือเมืองปยินอูลวิน) ในระหว่างเดินทาง กะเหรี่ยงหนุ่มทั้งคู่ก็ตัดสินใจใช้ชื่อภาษาอังกฤษแทนชื่อพม่า/กะเหรี่ยงแต่เดิมที่ครอบครัวตั้งให้ “โพ เย” เริ่มเรียกตนเองว่า “สมิธ” และ ซอ จา โด (Saw Kyar Doe) เรียกตนเองว่า “เฮนสัน” ชื่อภาษาอังกฤษของทั้งคู่มาจากชื่อของตัวละครในภาพยนตร์อเมริกันที่ทั้งสองได้ดูระหว่างเดินทางจากพม่าตอนล่างไปปยินอูลวิน ซอ เฮนสัน จา โด ผู้นี้เองที่ผู้บัญชาการกองทัพพม่าคัดเลือกให้ไปศึกษาต่อที่วิทยาลัยแซนด์เฮิร์ส และชื่อของซอ จา โด ผู้นี้ก็จะปรากฎให้เห็นอีกครั้งเมื่อเขาสำเร็จการศึกษาจากแซนด์เฮิร์สในปี 1932 และจะได้ขึ้นเป็นผู้ช่วยเสนาธิการทหาร ในยุคที่สมิธ ดันเป็นผู้บัญชาการทหารสูงสุด แต่เมื่อพม่าได้เอกราชไปแล้ว ทั้งสมิธ ดัน และซอ จา โด อยู่ในตำแหน่งเพียงช่วงสั้นๆ เพราะมีความพยายามจากภายในกองทัพพม่าในยุคที่นายทหารพม่าอย่าง เน วิน กำลังทวงคืนอำนาจและบทบาทนำของทหารที่เป็นคนพม่าแท้ นายทหารที่เป็นชาวกะเหรี่ยง แม้จะถูกฝึกมาอย่างดีเพียงใด ก็เป็นได้เพียงคนนอก

ยิ่งเกิดสงครามกลางเมืองและความไม่สงบจากกองกำลังติดอาวุธของ KNU (Karen National Union) ขึ้นหลังพม่าได้รับเอกราชไม่นาน บรรดานายทหารพม่าจึงรวมตัวกันเพื่อต่อต้านนายทหารกะเหรี่ยง

เมื่อสำเร็จการศึกษาจากอินเดีย ข้อกำหนดของนายทหารทุกคนจากกองทัพอินเดียคือต้องไปฝึกเพิ่มเติมกับกองกำลังของอังกฤษเป็นเวลาอย่างน้อย 1 ปี ดันถูกส่งไปฝึกกับกองร้อยปัญจาบ (Punjab Regiment) สังกัดกองพันที่ 2 หรือ Yorkshire Light Infantry ที่เมืองอัครา กองร้อยปัญจาบถูกส่งไปปราบกลุ่มก่อความไม่สงบ ซึ่งเป็นผู้ติดตามของ ฟาคีร์ อีปี (Fakir Ipi) ผู้นำกลุ่มชาติพันธุ์ปาทาน (Pathan) หรือ ปัชตุน (Pashtun) ที่เมืองรัซมัค (Razmak) ในเขตปากีสถานในปัจจุบัน สมิธ ดันเคยมีประสบการณ์ปราบปรามกบฏสะยาซาน ซึ่งเป็นกบฏที่มีชาวพม่าเป็นผู้นำ มาก่อน แต่เขาบรรยายว่ากบฏพม่าเทียบไม่ได้กับกบฏปาทาน เพราะชาวปาทานมีทักษะทางการรบเก่งกาจ มีความสามารถในการใช้อาวุธ และถูกฝึกฝนมาอย่างดี
จากพื้นที่แถบตะวันตกเฉียงเหนือชายแดนอินเดีย-ปากีสถาน กองร้อยปัญจาบของดันก็ถูกส่งให้ไปประจำที่มุลตัน (Multan) ใกล้กับแคชเมียร์ ซึ่งว่ากันว่าเป็นเขตที่ร้อนที่สุดในบริติชอินเดีย

Advertisement

ดันสำเร็จการฝึกจากอินเดียหลังพม่าแยกตัวออกจากอินเดียไม่นาน และนั่นเป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่ทำให้เข้าต้องลากองร้อยปัญจาบและกลับไปพม่าเร็วขึ้น เมื่อถึงพม่า ดันถูกส่งให้ไปประจำในกองสารวัตรทหาร (Military Police) ชีวิตในฐานะสารวัตรทหารแตกต่างจากชีวิตในเขตชายแดนอินเดีย-ปากีสถานอย่างมาก ดันบรรยายไว้ว่าหลังกลับไปพม่าในปี 1939 เป็นครั้งแรกที่เขามีเงินเหลือกินเหลือใช้ และได้กลับไปอยู่กับครอบครัวได้ เพราะในขณะนั้นสงครามโลกครั้งที่ 2 เพิ่งปะทุขึ้นในยุโรป และไม่มีใครคาดคิดว่าพม่าจะกลายเป็นสมรภูมิหลังในสงครามมหาเอเชียบูรพาในอีกไม่กี่ปีต่อมา ย่างกุ้งถูกโจมตีครั้งแรกในปลายปี 1941 ทำให้ดันต้องอพยพครอบครัวของตนไปอยู่ที่อื่น และเขาจะไม่ได้เจอกับครอบครัวอีกเลยจนกระทั่งสงครามสงบในปี 1945

ในตอนต่อไป เราจะกลับมาดูชีวิตของสมิธดันกันต่อผ่านประสบการณ์ตรงของเขาในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 จนกระทั่งพม่าได้รับเอกราช และเขาได้รับเกียรติให้เป็นผู้บัญชาการทหารสูงสุดแห่งกองทัพพม่าคนแรก

ลลิตา หาญวงษ์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image