ก่อนที่เราจะกา โดย กล้า สมุทวณิช

แฟ้มภาพ

หากนับจากวันนี้ ก็เหลือเวลาอีก 10 วันพอดี ก่อนการลงประชามติอีกครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์การเมืองไทย ว่าจะรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญที่ กรธ.และคณะ “ผู้จัด” ท่านอุตส่าห์ถามว่าเราอยากได้หรือไม่

จะ “กาเยส” หรือ “กาโน” คนส่วนหนึ่งคงมีธงในใจอยู่แล้ว ส่วนท่านที่เหลือที่ลังเลจะกาซ้ายดี ขวาดี (และยิ่งกว่านั้นคือกาซ้ายกาขวากาตรงกันทั้งคู่ หรือกาแยกซ้ายขวาก็เป็นปัญหาที่ไม่ใช่น้อย) หลายคนศึกษาจากบรรดาคำอธิบายฉบับย่อ ทั้ง “ของจริง” ทั้ง “ของ (ที่เขาหาว่า) ปลอม” หรือจากการสอนสั่งชี้แจงของบรรดาคุณครู ก ไก่ ถึง ฮ นกฮูก แล้วก็ยังลังเลอยู่

มีผู้ถามว่า ไหนๆ ก็ไหนๆ เรื่องคอขาดบาดตายขนาดนี้ ก่อนจะกา จำเป็นต้องหา “ตัวบท” รัฐธรรมนูญฉบับสมบูรณ์ที่ไม่ต้องมีใครมาชี้นำหรือแปลความให้มานั่งอ่านกันสักรอบดีหรือไม่ ซึ่งการจะทำแบบนั้นก็ออกจะยากอยู่ตามสมควร เพราะตัวบททั้งเล่มเท่าที่สอบถามก็แทบยังไม่มีใครได้รับแจกไปถึงบ้าน ที่ท่านผู้จัดว่าให้ไปหาอ่านเอาแบบฉบับออนไลน์ หลายท่านก็ไม่ถนัด ทั้งในแง่ความรู้สึกสัมผัสและเทคโนโลยี คือถ้าต้องอ่านร่างรัฐธรรมนูญทั้งฉบับบน Tablet ขนาด 7 นิ้ว ก็ออกจะเป็นการทำร้ายสุขภาพเกินไปนิด

อันที่จริง เชื่อว่าแม้แต่นักกฎหมาย ต่อให้นักกฎหมายรัฐธรรมนูญก็ตามด้วย หากไม่ได้มีหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายโดยตรงให้อ่านหรือศึกษา ก็เชื่อว่าไม่มีใครอ่านร่างรัฐธรรมนูญครบทั้งสองร้อยเจ็ดสิบเก้ามาตราเป็นแน่

Advertisement

แต่การ “ไม่อ่าน” ก็ไม่ได้แปลว่าจะให้ไปกาส่งเดชโดยไม่รู้เรื่องรู้ราว หรือกาตามที่ใครเขาบอกเขาชี้มาแต่อย่างใด สำหรับท่านที่ยังไม่มีธงในใจว่าจะไปกาช่องไหนดีในการลงประชามติวันที่ 7 สิงหาคมนี้ ซึ่งเหลือเวลาอีกเจ็ดวันสิบวัน ก็ใคร่ขอแนะนำ “ขั้นตอนการตัดสินใจ” ที่เลียนแบบมาจากการพิจารณากฎหมายในสภา

ขอให้เราจินตนาการว่า นี่คือการผ่าน “กฎหมาย” ครั้งสำคัญของประเทศชาติ โดยสมมุติว่า ประเทศทั้งประเทศเป็นสภา และเราทุกคนที่มีสิทธิลงประชามติเป็นสมาชิกผู้มีสิทธิในการให้ความเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบมหากฎหมายนี้ โดยการกากบาทคนละสองกา

ถ้าเปรียบเทียบเช่นนี้ หลายท่านที่พอจะมีความรู้เรื่องกระบวนการตรากฎหมาย คงทราบว่าการที่กฎหมายสักฉบับจะผ่านออกมาประกาศใช้บังคับ เขาจะต้องมีการพิจารณากันเป็นสามวาระ คือ วาระแรก ขั้นรับหลักการ วาระที่สอง พิจารณารายมาตรา และวาระที่สาม ลงมติเห็นชอบทั้งฉบับ

Advertisement

แต่กรณีรัฐธรรมนูญนี้ เขาเสมือนว่าให้เราลงมติในวาระที่สามกันเลยทั้งฉบับ โดยไม่มาถามเราก่อนว่ารับหลักการไหม และไม่ให้โอกาสเราพิจารณากันรายมาตราด้วย แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าเราจะทำเช่นนั้นไม่ได้เสียเมื่อไร

หากเรานำวิธีการเช่นเดียวกับการพิจารณากฎหมายของสภามาประยุกต์กับการลงประชามติรัฐธรรมนูญ เราก็อาจจะลองพิจารณาไปสามวาระบ้างก็ได้ ตั้งแต่ชั้น “รับหลักการ”

ซึ่งการรับหลักการ ก็มีทั้งการรับหลักการใหญ่เบื้องต้นเลยว่า ท่านยอมรับรัฐธรรมนูญที่ร่างขึ้นมาโดยพลการจากกระบวนการรัฐประหารโดยไม่ผ่านความเห็นชอบร่วมกันของประชาชน โดยคณะกรรมาธิการที่แต่งตั้งกันเองโดยประชาชนไม่มีส่วนร่วมได้หรือไม่ นี่คือหลักการเบื้องต้นที่สุด ซึ่งหากท่านได้คำตอบว่า “ไม่” ก็คงจะมีคำตอบสำหรับการลงประชามติ (หรือตัดสินใจนอนอยู่บ้านเฉยๆ) แล้วก็ได้

แต่ถ้าท่านยังรู้สึกว่า ไหนๆ ก็ไหนๆ ประเทศชาติต้องมีรัฐธรรมนูญ และเมื่อข้อเท็จจริงเป็นเช่นนี้และเปลี่ยนแปลงไม่ได้แล้ว ก็ควรปล่อยผ่าน ท่านก็มาพิจารณา “หลักการ” ของตัวบทร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ต่อไป

“หลักการ” ที่บรรดากรรมาธิการและผู้เกี่ยวข้องเขาพยายามนำเสนอกันฝ่ายเดียวมานานหลายเดือน คงไม่ยากเกินไปสำหรับการค้นหา เช่น เป็นรัฐธรรมนูญฉบับ “ปราบโกง” ฉบับ “กำราบนักการเมือง” ฉบับ “ปฏิรูป” ฉบับ “ประชาธิปไตยไท้ยไทย” อะไรก็ว่ากันไป นี่เป็นหลักการที่ท่านจะต้องพิจารณา แนะนำว่า “ทางลัด” ในการศึกษาหลักการของร่างรัฐธรรมนูญดังกล่าว คือให้ดูในคำปรารภ ที่ปรากฏตั้งแต่หน้าแรกถึงหน้าสาม ก็จะเข้าใจได้ว่าร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้มี “หลักการ” อย่างไร และท่านยอมรับหลักการนั้นได้หรือไม่

หากไม่ยอมรับหลักการ ท่านก็ปิดเล่มตัวบทหรือหน้าจอลงได้เพียงเท่านี้ ท่านน่าจะได้คำตอบสำหรับวันที่ 7 แล้ว และก็เชื่อว่าท่านน่าจะกาคำตอบเดียวกันได้ สำหรับทั้งสองคำถาม เพราะมันล้วนแต่อยู่บนหลักการเดียวกันนั่นเอง

แต่ถ้าท่านพิจารณาใคร่ครวญแล้วว่ายอมรับหลักการที่คณะผู้ร่างเขาเสนอมา ก็ควรที่ท่านจะต้องอ่าน “ตัวบท” รัฐธรรมนูญนี้ต่อไปว่าตรงกับ “หลักการ” ที่ท่านยอมรับหรือไม่ แต่อาจจะไม่จำเป็นต้องอ่านทุกมาตราก็ได้ โดยค่อยๆ ดูไปทีละมาตรา ทีละเรื่อง ทีละหัวข้อ อาจจะใช้คู่มือจากที่ได้รับแจก (ทั้งฉบับทางการและความเห็นแย้ง) ตรงไหนท่านไม่แน่ใจก็ควรเปิดตัวบทแล้วอ่านดูตามความเข้าใจของท่าน ว่าคำอธิบายไหนตรงกับตัวบทที่ท่านเข้าใจได้มากกว่ากัน ในกระบวนการนี้ ควรหากระดาษทดไว้สักแผ่นเพื่อทำเช็กลิสต์ว่า ในบรรดามาตราทั้งหลายที่ศึกษามา มีจำนวนมาตราที่ “ชอบ” หรือ “ไม่ชอบ” มากกว่ากัน ชั่งน้ำหนักแล้วก็จะเป็นคำตอบของท่านสำหรับการไปลงประชามติ

อย่างไรก็ดี สำหรับบางท่านบางเรื่องก็อาจจะเป็นสาระสำคัญมากๆ หากยอมรับมาตรานี้ไม่ได้มาตราเดียวอาจจะไม่ต้องพิจารณามาตราอื่นเลยก็ได้ เช่นที่บางท่านรับไม่ได้เลยกับการที่นายกฯไม่จำเป็นต้องมาจากผู้แทนที่มาจากการเลือกตั้ง หรือบ้างที่ไม่โอเคกับกระบวนการสรรหา ส.ว. ต่อให้เรื่องสิทธิและเสรีภาพจะดูเลิศลอยอย่างไร ก็ดูจะไม่มีน้ำหนักเสียแล้วสำหรับท่าน

และสำคัญที่สุด อย่าลืมอ่านบทเฉพาะกาลให้ละเอียด เพราะบทเฉพาะกาลนั้นเป็นบทยกเว้น บางมาตราที่ท่านอ่านตัวบทหลักแล้วรู้สึก “พอรับได้” ไป อาจจะใช้บังคับจริงแบบคนละเรื่องชนิดนิ้วเท้ากับปอยผมได้ ด้วยผลของบทเฉพาะกาล โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “คำถามพ่วง” ที่จะกลายมาเป็นใบประจำต่อแปะท้ายรัฐธรรมนูญเข้าไปอีก

สุดท้าย ไม่ว่าท่านจะเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบที่ชั้นไหน การลงคะแนนเสียงประชามติ คือโอกาสเดียวในรอบสองปีที่จะได้แสดงเจตจำนงทางการเมืองในภาพรวมต่อหลายๆ เรื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเกี่ยวกับความชอบธรรมของคณะรัฐประหาร การก่อรัฐประหาร และการที่ท่านผู้ดีผู้งามกรุณามาออกแบบแปลนประเทศผ่านกฎหมายแม่บทนี้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image