จากหน้าพระลานถึง‘ราชดำเนิน’ เดินเท้าฟังเรื่อง(ไม่ถูก)เล่า ของศิลปะ สถาปัตย์ อนุสาวรีย์

“ในยุคนั้น เมื่อมาเหยียบราชดำเนิน ก็เหมือนมาเหยียบสยามในยุคใหม่ที่ต่างจากเดิมอย่างสิ้นเชิง นี่คือการทำงานของภาษาทางสถาปัตยกรรม มีคนถามว่าหลัก 6 ประการของคณะราษฎร ชาวบ้านทั่วไปใครจะรู้ ผมบอกว่า ชาวบ้านไม่จำเป็นต้องรู้ แต่ถ้านุ่งกระโปรง เลิกกินหมาก สวมหมวก มาเดินในตึกทันสมัยแบบนี้ เขารู้สึกทันทีว่าได้มาเหยียบพื้นที่สมัยใหม่ที่ตัดขาดจากประเพณีเดิม”

กิจกรรม ‘Book Walk เรื่อง (ไม่ถูก) เล่า ในประวัติศาสตร์บนราชดำเนิน’ จัดโดย สำนักพิมพ์มติชน และศิลปวัฒนธรรมฉบับพิเศษ โดยมี ปานบัว บุนปาน กรรมการผู้จัดการ บริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) ร่วมทริป เมื่อ 25 กรกฎาคมที่ผ่านมา

คือคำกล่าวของ รศ.ดร.ชาตรี ประกิตนนทการ อาจารย์คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ม.ศิลปากร เจ้าของผลงาน “ศิลปะสถาปัตยกรรมคณะราษฎร” ในช่วงบ่ายของวันเสาร์ที่ 25 กรกฎาคมที่ผ่านมา ในฐานะวิทยากรในกิจกรรม “Book Walk เรื่อง (ไม่ถูก) เล่า ในประวัติศาสตร์บนราชดำเนิน” ซึ่งได้รับการตอบรับล้นหลาม จนสำนักพิมพ์มติชนต้องจัดซ้ำถึง 3 รอบ

ผายมือชวนมวลมหาประชาชนยลความงดงามของประชาธิปไตยเมื่อ 8 ทศวรรษก่อนผ่านงานศิลปะและสถาปัตยกรรม ตั้งแต่หอประติมากรรมต้นแบบ ในรั้วมหาวิทยาลัยศิลปากร วังท่าพระ ถนนหน้าพระลาน เขตพระนคร กรุงเทพฯ แล้วเดินเท้าไปเรียนรู้ถึงประวัติศาสตร์การเมืองของการพัฒนาเมืองยังท้องสนามหลวง กลุ่มอาคารศาลฎีกา เดินข้ามคลองหลอดที่กลับมาใสสะอาด มุ่งหน้าถนนราชดำเนิน ก่อนจบทริปที่โรงภาพยนตร์เฉลิมไทยเดิมบริเวณลานพลับพลามหาเจษฎาบดินทร์

ทหารอากาศในลุคทันสมัยด้วยเส้นสตรีมไลน์เพรียวลม

เข้มข้นทุกย่างก้าวของการเดินเท้าหลายกิโลเมตรโดยมีผู้ร่วมทริปทุกเพศทุกวัย รวมถึง ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่สวมเฟซชิลด์สกัดโควิด-19 มาร่วมกิจกรรมตั้งแต่ต้นจนจบ โดยกดไลค์รัวๆ ในหลายช่วงหลายตอน ก่อนแถลงสั้นๆ การันตีทริปคุณภาพว่า “การได้มาฟังอาจารย์ชาตรี ทำให้ผมมองอะไรต่างๆ ด้วยสายตาใหม่”

Advertisement

ต่อไปนี้ คือส่วนหนึ่งของเนื้อหาในช่วงเวลาเกือบ 5 ชั่วโมงของการเดินทางบนเส้นเวลาที่เหลื่อมซ้อนระหว่างอดีต ปัจจุบัน รวมถึงอนาคตอันใกล้จากความร้อนแรงของ “แฟลชม็อบ” การเมืองร่วมสมัยที่ร่วมส่งเสียงถึงรัฐบาลไทยจนหัวกระไดอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยไม่แห้ง ทริปนี้ ยังมีกอง บก. The Curator เว็ปไซต์ข่าวของคนรักหนังสือจับมือร่วมมือเดินเท้า เตรียมแชร์เรื่องราวออกไปให้ไพศาลอีกด้วย

‘ศิลป์ พีระศรี’ประติมากรใหญ่ยุคคณะราษฎร

เช็กอินที่หอประติมากรรมต้นแบบ ซึ่ง รศ.ดร.ชาตรีเริ่มต้นด้วยการเล่าถึงที่มาของสถาปัตยกรรมแห่งนี้ โดยในอดีตเป็นโรงปั้นของกรมศิลปากรเดิม ใช้ปั้นประติมากรรมตั้งแต่ก่อนก่อตั้งมหาวิทยาลัยศิลปากร ตัวอาคารสร้างในยุค 2500 ต้นๆ สมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ และใช้งานมาจนถึงราว พ.ศ.2530 ซึ่งต้องขยับขยายเพราะอนุสาวรีย์มีมากขึ้น จึงย้ายไปยังพุทธมณฑลสาย 5 ครั้นเมื่อโรงหล่อนี้ถูกเลิกใช้ไป กรมศิลปากรได้ปรับเปลี่ยนเป็นหอประติมากรรมต้นแบบเปิดให้ประชาชนเข้าชม เก็บรักษาและจัดแสดงประติมากรรมซึ่งขั้นตอนในการสร้างอนุสาวรีย์นั้น ต้องปั้นแบบสเกตช์ แล้วขยายสเกล สุดท้ายยังเป็นปูนปลาสเตอร์แล้วจึงหล่อโลหะ โดยจุดที่ใช้หล่ออนุสาวรีย์ในอดีตคือพื้นที่ซึ่งเป็นที่ตั้งของมหาวิทยาลัยศิลปากรในขณะนี้นั่นเอง

เล่าจบ ยังชี้ชวนให้ชมรูปแบบสถาปัตยกรรมที่สัมพันธ์กับการทำงานศิลปะซึ่งมี “กระจก” ตลอดแนวทิศเหนือ เนื่องด้วยแสงจากทิศเหนือมีการเปลี่ยนแปลงน้อย ดังนั้น เมื่อปั้นประติมากรรม แสงจะคงที่ทั้งวัน จากนั้น เล่าถึงชีวิตของ ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี บิดาแห่งศิลปะสมัยใหม่ของไทย ประติมากรใหญ่ยุคคณะราษฎร

“จริงๆ แล้วอาจารย์ศิลป์ทำงานสนองทั้งสมบูรณาญาสิทธิ ราชย์และประชาธิปไตย เข้ามาในไทยเมื่อ พ.ศ.2466 ตอนอายุ 30 ต้นๆ ตรงกับสมัยรัชกาลที่ 6 แม้รัฐบาลยุคนั้นเป็นผู้ว่าจ้างมาจากอิตาลี แต่ยังไม่ค่อยเชื่อฝีมือ สมเด็จกรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ จึงชวนอาจารย์ศิลป์มาปั้นตัวเอง ซึ่งผลงานออกมาดีมาก ทำให้รัชกาลที่ 6 ทรงเชื่อในฝีมือ หลังจากนั้น ศาสตราจารย์ศิลป์ได้ปั้นพระเศียรรัชกาลที่ 6 โดยครั้งแรกปั้นจากรูปถ่าย จึงออกมาไม่เหมือนจริง กระทั่งเชิญเสด็จรัชกาลที่ 6 มาทรงเป็นแบบ จึงออกมาเหมือนจริงมาก เป็นที่พอพระราชหฤทัย

ต่อมา สมัยรัชกาลที่ 7 มีโครงการใหญ่มาก คือ โครงการฉลองพระนคร 150 ปี มีความตั้งใจในการสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์ รัชกาลที่ 1 โดยมีการปรับเปลี่ยนแนวคิดเรื่อยมา เช่น สร้างพระบรมรูปประดิษฐานหน้าวัดสุทัศนเทพวราราม แต่ยกเลิกไป โดยอภิรัฐมนตรีมีมติสรุปว่าจะสร้างสะพานรถข้ามระหว่างฝั่งธนบุรีและฝั่งพระนคร คือ สะพานพุทธ ซึ่งรัชกาลที่ 7 โปรดให้สมเด็จกรมพระยานริศฯ ออกแบบให้มีพระบรมราชานุสาวรีย์ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช คู่สะพาน โดยผู้ปั้นคือศาสตราจารย์ศิลป์ นับเป็นอนุสาวรีย์แห่งแรกที่ตั้งในพื้นที่สาธารณะและเป็นอนุสาวรีย์ชิ้นสุดท้ายในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ หลังจากนั้น ในยุคคณะราษฎร ศาสตราจารย์ศิลป์ยิ่งได้รับความนิยมมากจากรัฐระบอบใหม่ มีความสัมพันธ์แนบแน่น จอมพล ป. พิบูลสงคราม และหลวงวิจิตรวาทการ รวมถึงพระยาอนุมานราชธน และอื่นๆ โดยจอมพล ป. พิบูลสงคราม ยังเที่ยวชมงานประกวดศิลปกรรมแห่งชาติด้วย”

รศ.ดร.ชาตรียังพาชมแบบประติมากรรมที่ฐานอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ซึ่งเดิมศาสตราจารย์ศิลป์ออกแบบไว้ 8 ชิ้น แต่คณะราษฎรตัดออก 4 ชิ้น คงเหลือ 4 ชิ้นดังที่ปรากฏในปัจจุบัน

‘ย่าโม’การเมืองเรื่องอนุสาวรีย์ เมื่อระบอบเก่า ปะทะ‘ระบอบใหม่’

จากนั้น ชมประติมากรรมต้นแบบ “ท้าวสุรนารี” หรือย่าโม ซึ่งออกแบบโดยศาสตราจารย์ศิลป์เช่นกัน โดยนับเป็นอนุสาวรีย์สามัญชนแห่งแรกของไทย และเป็นอนุสาวรีย์บุคคลแห่งแรกของระบอบประชาธิปไตยอีกด้วย ทว่า ก่อนจะเป็นอนุสาวรีย์ย่าโมอย่างที่เราคุ้นตาในปัจจุบัน มีเบื้องลึก เบื้องหลังสลับซับซ้อน และน่าสนใจยิ่ง กล่าวคือ เดิม พระเทวาภินิมมิต เป็นผู้ออกแบบโดยให้ย่าโมนั่งบนตั่ง แต่งกายด้วยชุดไทย แต่สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์มีข้อแนะนำให้แก้ไข ต่อมา ศาสตราจารย์ศิลป์กลายเป็นผู้ออกแบบปั้น โดยมีบันทึกว่า มีการออกแบบให้ย่าโมทำท่าต่างๆ เยอะไปหมด กรมพระยานริศฯ บอกว่า เมื่อไม่รู้จักหน้าตาจริงๆ ของย่าโม ควรปั้น
แบบกลางๆ ให้เป็น “นางฟ้า” ห่มสไบไปดีกว่า ทว่า สุดท้าย อนุสาวรีย์ย่าโมก็เป็นรูปบุคคลดังเช่นทุกวันนี้ โดย รศ.ดร.ชาตรีมองว่านี่คือสิ่งสะท้อนถึง การปะทะระหว่างระบอบเดิมกับระบอบใหม่ ผ่านการสร้างให้เป็นบุคคลจริง ไม่ใช่นางฟ้า ทั้งยังนับเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของการสร้างอนุสาวรีย์บุคคลสามัญชนแห่งแรกดังที่กล่าวไปแล้วข้างต้น

อย่างไรก็ตาม เมื่อหมดยุคคณะราษฎรเมื่อ พ.ศ.2490 หลังการรัฐประหาร ศิลปกรรมก็ปรับเปลี่ยนอีกครั้ง จะเห็นได้จากผลงานที่ชนะการประกวดศิลปกรรมแห่งชาติ เมื่อ พ.ศ.2492 นั่นคือ “เสียงขลุ่ยทิพย์” ของ เขียน ยิ้มศิริ ศิลปินชื่อดัง ซึ่งย้อนกลับไปหาความงามแบบไทยประเพณี ทั้งลีลา ท่าทาง อีกทั้งทรงผมก็ยังเป็นแบบไทย

“ศิลปะเปลี่ยนทันทีเมื่อการเมืองเปลี่ยน” รศ.ดร.ชาตรีสรุป

จากเครื่องทรงสู่เปลือยเปล่า ‘อุดม คติ’ที่เปลี่ยนผ่าน

จากนั้นโฟกัสกับประติมากรรรมแบบคณะราษฎรสไตล์แบบลงรายละเอียด กับผลงานเปลือยที่แสดง “อนาโตมี” อย่างชัดเจน สะท้อนคาแร็กเตอร์ของศิลปะคณะราษฎร คือการโชว์ร่างกาย เป็นผลงานที่ รศ.ดร.ชาตรีบอกว่า ผู้ที่มาเยี่ยมชมหอประติมากรรมต้นแบบมักมองข้าม ทั้งที่จริงๆ แล้วเป็นงานสำคัญมาก ปั้นเมื่อ พ.ศ.2480 โดย พิมาน มูลประมุข ลูกศิษย์ศาสตราจารย์ศิลป์ตั้งแต่ยังเป็นนักศึกษา โดยต่อมาท่านคือศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ พ.ศ.2531

“ชิ้นนี้ทำเป็นรูปทหาร ซึ่งสัมพันธ์บริบทยุคนั้นที่เรากำลังเข้าสู่สงครามโลกครั้งที่ 2 สิ่งที่ต่างจากอนุสาวรีย์เหมือนจริงในยุคก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครองคือการพ่วงเส้นสายแบบศิลปะอาร์ต เดโค ซึ่งเป็นศิลปะสมัยใหม่ในโลกตะวันตกเข้าไปด้วย เป็นการละทิ้งลวดลายแบบประเพณีของยุโรป พวกลายคลาสสิก แต่ออกแบบลายตกแต่งใหม่ด้วยรูปทรงเรขาคณิต”

นอกจากนี้ยังมีงานศิลปะน่าสนใจอีกหลายชิ้น อาทิ ประติมากรรมซึ่งคาดว่าตั้งใจทำเป็นรูป “ทหารอากาศ” ซึ่ง รศ.ดร.ชาตรีเลคเชอร์อย่างเห็นภาพว่า แม้ในไทยเคยมีการสร้างอนุสาวรีย์แบบ “เสมือนจริง” มาก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครองแล้ว แต่รูปบุคคลแบบเสมือนจริงในยุคคณะราษฎรมีความแตกต่างออกไปโดยแฝง “นัยยะ” คนและแบบ อีกทั้งแทรกสัญลักษณ์บางอย่าง ไม่มีเครื่องทรงวิจิตร อ้อนแอ้น หากแต่เน้นความกำยำ เปลือยเปล่า แข็งแรง นี่คือการเปลี่ยนผ่านครั้งสำคัญ

“มีคำถามตลอดว่าทำไมอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยเป็นเหมือนปีกนก บางคนว่าเหมือนปีกนกอินทรีแบบนาซีและอื่นๆ ซึ่งผมมองว่าใช่หมด เพราะศิลปะแบบนาซีหรือฟาสซิสต์ ได้รับอิทธิพลของอาร์ต เดโค ที่แพร่กระจายทั่วโลกไปผสมกับอุดมการณ์ของตัวเอง อาร์ต เดโค เมื่อผสมกับศิลปะไทย คือ ศิลปะคณะราษฎร อย่างประติมากรรมที่เชื่อว่าทำเป็นรูปทหารอากาศนี้ ดูด้านข้างจะโชว์ความรวดเร็ว เส้นสตรีมไลน์ที่เน้นความทันสมัย เหมือนปีก” รศ.ดร.ชาตรีกล่าว ก่อนชี้ให้ชมชุดประติมากรรมพ่อแม่ลูก ครอบครัว “แบบรัฐนิยม” ซึ่งทั้งหญิงชายหน้าตาค่อนไปทางฝรั่ง รูปร่างใหญ่เหมือนนักกล้าม ซึ่งเป็นร่างกายในอุดมคติในยุคคณะราษฎร

“หลายคนอาจรู้ว่าการประกวดนางสาวสยามเกิดขึ้นเมื่อปี 2477 ในงานฉลองรัฐธรรมนูญ แต่หลายคนไม่ทราบว่า ในท้องถิ่นมีประกวดแม่ค้างาม ซึ่งในข่าวไม่ได้อธิบายว่าหน้าตาสวย แต่บอกว่าร่างกายสูงใหญ่ พูดง่ายๆ เหมือนเป็นแม่พันธุ์ของชาติ นี่คืออุดมคติเรื่องร่างกายหญิงชายในยุคประชาธิปไตยสร้างชาติ ประติมากรรมนี้สะท้อนชัดเจน”

‘ราชดำเนิน’2563 กับประวัติศาสตร์ที่ต้องปฏิสังขรณ์

จบจากประติมากรรม เดินเท้าต่อไปยังสนามหลวง กลุ่มอาคารศาลฎีกา และถนนราชดำเนิน ซึ่ง รศ.ดร.ชาตรีไม่เพียงบอกเล่าเรื่องราวต่างๆ ในเชิงสถาปัตยกรรมและประวัติศาสตร์ หากแต่ยังนำภาพเก่าจาก หอภาพยนตร์แห่งชาติ อันเป็นหลักฐานในวิถีชีวิตผู้คนบนถนนราชดำเนินยุคสร้างชาติ

“คนแต่งชุดรัฐนิยมมานั่งกินกาแฟ ฉากหลังป็นถนนราชดำเนิน การที่จอมพล ป. พิบูลสงคราม ต้องการทำถนนตรงนี้ให้เป็นแบบบูเลอวาร์ดในยุโรป เดินตามแกลเลอรี่ เกิดขึ้นจริงในตอนนั้น จากโรงแรมรัตนโกสินทร์ซึ่งเป็นโรงแรม 5 ดาวในตอนนั้น ยังมีตึกแถวในลักษณะเดียวกัน 10 อาคาร หน้าตาเหมือนกัน เดิมไม่ได้ทาสีเหลืองอย่างในปัจจุบัน มีลักษณะอาร์ต เดโคอย่างชัดเจน คือเล่นกับฟอร์มเรขาคณิต และสตรีมไลน์ โดยปรับให้เข้ากับภูมิอากาศในบ้านเรา จึงยืดแผงคอนกรีตออกมาเพื่อกันแดด กันฝน ซึ่งเป็นคาแร็กเตอร์เฉพาะสำหรับเมืองร้อน”

จากจุดนี้ ยังพาชมโรงแรมสุริยานนท์เดิม เยื้องลานพลับพลามหาเจษฎาบดินทร์ ซึ่งในอดีตคือ “ศาลาเฉลิมไทย” ซึ่งศาสตราจารย์พิเศษ ดร.ชาญวิทย์ ร่วมให้ความรู้ในฐานะบุคคลร่วมสมัย วัยรุ่นยุคโรงหนังเฟื่องฟู

“เฉลิมไทยเป็นโรงหนังที่ฉายหนังซีเนมาสโคปเรื่องแรกของโลก คือ อภินิหารเสื้อคลุม (The Robe) ยุคนั้นถ้าคุณเป็นวัยรุ่น ต้องมาเดินให้คนเห็นในเฉลิมไทย ต่อมา โรงหนังที่คุณต้องไปเดินให้คนเห็นคือ คิง แกรนด์ ควีนส์ ย่านวังบูรพา” อดีตอธิการบดีธรรมศาสตร์เล่า ทั้งยังบอกว่า ยังมีประวัติศาสตร์ที่ต้องปฏิสังขรณ์อีกมาก โดยเฉพาะความรับรู้เกี่ยวกับคณะราษฎร เช่น กรณีกรมศิลปากร ซึ่งคนส่วนใหญ่แม้แต่คนในกรมศิลปากรก็ไม่รู้ว่าตั้งโดยคณะราษฎร

“ประวัติศาสตร์ต้องปฏิสังขรณ์ใหม่” ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.ชาญวิทย์ ย้ำ

ถึงตรงนี้ รศ.ดร.ชาตรีเสริมว่า คำว่ากรมศิลปากร มีตั้งแต่สมัย ร.6 จริง แต่เป็นแค่ชื่อเท่านั้น ในขณะที่โครงสร้างเนื้อในไม่ใช่อย่างที่เราเห็นในปัจจุบัน

“กรมศิลปากรปัจจุบันคือสิ่งที่เกิดขึ้นจากยุคคณะราษฎร จากที่อาจารย์ชาญวิทย์พูดถึงอธิการบดีคนแรกของธรรมศาสตร์ ว่าคือ จอมพล ป. พิบูลสงคราม ไม่ใช่ อ.ปรีดี พนมยงค์ ซึ่งเป็นผู้ประศาสน์การ ม.ศิลปากร ซึ่งสถาบันนิยมไม่แพ้ธรรมศาสตร์ ก็เล่าเรื่องตัวเองด้วยการพูดถึง อ.ศิลป์ ว่าก่อตั้งมหาวิทยาลัยแต่จริงๆ แล้วคนที่เราละเลยไปไม่ได้คือ จอมพล ป. ซึ่งเมื่อไปดูงานประกวดศิลปกรรมแล้วชอบมาก บอกว่าต้องตั้งมหาวิทยาลัย ให้ อ.ศิลป์ หลวงวิจิตรวาทการ พระยาอนุมานราชธนไปตั้งเรื่องมา อ.ศิลป์บอก อย่าตั้งเป็นมหาวิทยาลัยเลย เอาเป็นเหมือนเทคนิค ช่างศิลป์แค่นั้นก็พอแล้ว”

เป็นอีกทริปพริก 10 เม็ดที่เผ็ดจี๊ดด้วยข้อมูลเข้มข้น ท่ามกลางวาทกรรม ภาพจำและมายาคติมากมายที่ถูกสร้างขึ้นในภายหลัง ซึ่งต้องร่วมกันลบล้างความไม่จริงด้วยพลังของความจริง

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image