ประเมิน บทสรุป ของ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ‘ร่าง’ รัฐธรรมนูญ

แม้กระบวนการ “แถลง” แสดงจุดยืนของ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ จะมากด้วยเครื่องถนิมพิมพาภรณ์ในทางการเมืองอย่างไร

แต่ก็มีความแจ่มชัด

เป็นความแจ่มชัดที่ “ไม่รับ” 1 ต่อร่างรัฐธรรมนูญ และ 1 ต่อคำถามพ่วง ซึ่งจะเข้าสู่กระบวนการประชามติในวันที่ 7 สิงหาคม

ส่วน “เครื่องถนิมพิมพาภรณ์” ที่ปรากฏ “เข้าใจ” ได้

Advertisement

เข้าใจได้ในลักษณะ “ร้อยรัด” อัน นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ มีอยู่กับ คสช. เข้าใจได้ใน “เยื่อใย” ที่มีอยู่กับหลายคนซึ่งออกมาเชียร์

โดยเฉพาะความผูกพันอันเนื่องแต่สถานการณ์เดือนเมษายน พฤษภาคม 2553

อย่างน้อยตอนนั้นก็มี 3 คน เป็นเหมือนผนังทองแดง กำแพงเหล็กให้ ไม่ว่าจะเป็น พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ไม่ว่าจะเป็น พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ไม่ว่าจะเป็น พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

Advertisement

โดยเฉพาะ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ในฐานะเลขาธิการ “ศอฉ.”

เหล่านี้เหมือนกับเป็น “วาสนา” อันตัดไม่ขาด กระนั้น บทสรุปของ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ซึ่งอยู่กับคำว่า “ไม่รับ” นับว่าเฉียบและมั่นคง

มั่นคงในฐานะ “นักการเมือง” มั่นคงในฐานะ “หัวหน้าพรรค”

 

กระบวน “ท่า” อันนำไปสู่การตัดสินใจของ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ มีความสำคัญเป็นอย่างสูงในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อในทางการเมือง

แล้วแต่ “มุม” ที่ยืน “มอง”

บางท่านอาจสะบัดน้ำเสียงออกมาว่า “ไม่รับก็ไม่รับ” บางท่านอาจจะปัดปฏิเสธ “ไปยืนที่ไหนก็ไปผมไม่เกี่ยว ไม่มีผล”

กระนั้น บทสรุปของ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ก็ดำเนินไปอย่างมี “เส้นแบ่ง”

เหมือนกับจะพยายามประนีประนอม ซึ่งเห็นได้จากการยังยอมรับให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา รับบทนำต่อไปในการจัดทำ “รัฐธรรมนูญ” แต่ผลแห่งการเปล่งคำว่า “ไม่รับ” ออกมาก็เท่ากับเป็นการตัดและเลือกแนวทางอย่างแจ่มชัด

ก่อนหน้านี้ท่าทีอาจเป็นการปฏิเสธเฉพาะ “คำถามพ่วง” แต่มาถึงวันนี้เป็นการปฏิเสธไปยังตัวของ “ร่างรัฐธรรมนูญ”

อาจเป็นเรื่อง “ส่วนตัว” มิได้ออกมาอย่างเป็น “มติพรรค”

แต่เราจะปฏิเสธบทบาทและความเป็นจริงในทางการเมืองของ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ที่เคยเป็นนายกรัฐมนตรีซึ่งมีสายสัมพันธ์อันดีกับ “กองทัพ” ได้อย่างไร และจะปฏิเสธสถานะแห่งความเป็นหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ของ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ได้อย่างไร

อย่าถามว่า “บทสรุป” นี้จะมี “ผลสะเทือน” หรือไม่

 

ต้องยอมรับว่าท่าทีต่อ “ร่างรัฐธรรมนูญ” อันมาจากแกนนำของพรรคการเมือง “ใหญ่” 2 พรรคดำเนินไปในทิศทางเดียวกัน

นั่นก็คือ เป็นท่าทีที่ “ปฏิเสธ”

ทั้งๆ ที่พรรคประชาธิปัตย์กับพรรคเพื่อไทยดำรงอยู่อย่างเป็น “ปฏิปักษ์” กันมาอย่างยาวนาน ตั้งแต่พรรคเพื่อไทยยังเป็นพรรคพลังประชาชน และยังเป็นพรรคไทยรักไทย

ข้อดีเป็นอย่างมากของ “คำประกาศ” อันมาจาก นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ

1 สะท้อนว่าการตัดสินใจของ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ มิได้วางอยู่บนเหตุผลส่วนตัว หากแต่พิจารณาจากตัว “ร่างรัฐธรรมนูญ” เป็นสำคัญ

และยืนยันว่า “รับไม่ได้”

เพราะหากเป็นส่วนตัว นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ย่อมต้องเกรงใจ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ และย่อมต้องเกรงใจ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ

แต่นี่ขึ้นอยู่กับ “ความเป็นจริง” อันดำรงอยู่ใน “ร่างรัฐธรรมนูญ” เป็นสำคัญ

1 สะท้อนว่าการแสดงความไม่เห็นด้วยต่อความไม่เป็นประชาธิปไตยของ “ร่างรัฐธรรมนูญ” มิได้เป็นเพราะต้องการป่วน หากแต่เป็นเพราะเนื้อหาของ “ร่างรัฐธรรมนูญ” แสดงถึงเจตจำนงที่ต้องการสืบทอดอำนาจ โดยวิธีการอันไม่เป็นประชาธิปไตยของ คสช.จริงๆ

เพราะแม้กระทั่ง นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ซึ่งเป็น “หนึ่งมิตรชิดใกล้” กับ คสช.และรัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 ก็ยังมิอาจยอมรับได้

“เงาสะท้อน” นี้ย่อมมี “ผลสะเทือน”

 

ไม่ว่าท่านจะเห็นด้วย ไม่ว่าท่านจะไม่เห็นด้วยกับ บทสรุปของ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เช่นนี้

แต่ความเป็นจริง 1 ซึ่งสำคัญก็คือ บทสรุปนี้มีลักษณะ “ร่วม” กับของพรรคเพื่อไทย และกับของปัญญาชน นักวิชาการและภาคประชาสังคมที่เริ่มแสดงตัวอย่างเปิดเผยมากขึ้น มากขึ้นเป็นลำดับ

ทั้งหมดนี้ล้วนอยู่ใน “สายตา” ของ “ประชาชน”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image