1 ปีผลงานรมต.ศธ. โดย นายด่าน

ผ่านมา 1 ปีเต็มกับการบริหารประเทศของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี

รัฐมนตรีหลายกระทรวงทยอยแถลงผลงานว่าทำอะไรกันไปบ้าง ไม่งั้นจะตกขบวนเป็น รมต.ที่โลกลืม

กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) กระทรวงใหญ่ที่มีงบประมาณ ราว 3-4 แสนล้านบาทต่อปี

ถูกคาดหวังไม่น้อยไปกว่ากระทรวงด้านเศรษฐกิจ

Advertisement

ความคาดหวังในการพัฒนาการศึกษาไทยให้ดียิ่งๆ ขึ้น

การบริหารงานภายใต้ 3 รัฐมนตรี ศธ.ทั้ง นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการ ศธ. คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช และ นางกนกวรรณ วิลาวัลย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการ ศธ.

มีการจัดสรรปันส่วนหน่วยงานที่รับผิดชอบกันอย่างชัดเจน

Advertisement

แต่ผลงานที่ออกมายังไม่มีความโดดเด่นเท่าไรนัก โดยเฉพาะการขับเคลื่อนให้สอดรับกับแผนการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา ที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้เห็นชอบ 7 เรื่อง เช่น 1.การปฏิรูประบบการศึกษาและการเรียนรู้โดยรวมของประเทศ โดยพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การศึกษาแห่งชาติฉบับใหม่และกฎหมายรอง

2.การปฏิรูปการพัฒนาเด็กเล็กและเด็กก่อนวัยเรียน 3.การปฏิรูปเพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา 4.การปฏิรูปกลไกและระบบการผลิต คัดกรอง การพัฒนาผู้ประกอบวิชาชีพครูและอาจารย์

5.การปฏิรูปการจัดการเรียนการสอนเพื่อตอบสนองการเปลี่ยนแปลงในศตวรรษที่ 21

ผลงานที่เห็นความก้าวหน้ามาก คือ “ปรับโครงสร้าง” สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.)

โดยแบ่งอำนาจหน้าที่ให้ศึกษาธิการจังหวัด (ศธจ.) ดูภาพรวมการจัดการศึกษาทั้งจังหวัด และดูภาพรวมทุกสังกัด การจัดตั้งศูนย์อาชีวะในระดับภูมิภาค สังกัด สอศ.

ส่วนผลงานด้านการปฏิรูปการศึกษา หัวใจสำคัญที่หลายคนคาดหวังว่า นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการ ศธ. จะเข้ามาขับเคลื่อนก็ยังไม่เห็นอะไรที่จับต้องได้

เช่นเดียวกับการปรับหลักสูตรการเรียนการสอนยังไม่คืบหน้า

ส่วนที่พอจับต้องได้เป็นเรื่องของ “โค้ดดิ้ง” ที่คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีช่วยว่าการ ศธ. ภูมิใจนำเสนอในการแถลงผลงานในรอบ 1 ปี ที่เรียงร้อยออกมาเป็นหนังสือ “ใกล้ชิด เกาะติด พัฒนาการศึกษาไทย ทันโลกในศตวรรษที่ 21” สรุปผลงาน 1 ปี วางรากฐานการศึกษา

ว่า ตลอดระยะเวลากว่าหนึ่งปีที่ผ่านมา ในฐานะรัฐมนตรีช่วยว่าการ ศธ. ได้วางนโยบายโดยเน้นการปฏิรูปไปที่ตัวผู้เรียนซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการวางรากฐานการศึกษาไทยไปสู่ศตวรรษที่ 21 ภายใต้นโยบายหลัก 4 เรื่องคือ โค้ดดิ้ง (Coding) การพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี การอ่านเขียนเรียนประวัติศาสตร์ผ่านการสื่อสารร่วมสมัย และอาชีวะเกษตร ถือเป็นการสร้างพื้นฐานให้กับผู้เรียนและพัฒนาทักษะที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตในปัจจุบัน

ขณะที่นางกนกวรรณ จะเน้นการขับเคลื่อนสำนักงานส่งเสริมการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) หน่วยงานที่กำกับดูแล เช่น การเกลี่ยเพิ่มอัตราตำแหน่ง การสรรหา บรรจุ แต่งตั้ง ข้าราชการครู กศน.จำนวน 891 อัตรา เพื่อให้ กศน.อำเภอมีบุคลากรขับเคลื่อนงานได้เต็มประสิทธิภาพ

การสร้างขวัญกำลังใจให้ครูโรงเรียนเอกชนในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) โดยเพิ่มสวัสดิการการรักษาพยาบาลครูเอกชน จากเดิม 100,000 บาทต่อปี เป็น 150,000 บาทต่อปี

ทั้งหมดนี้เป็นภาพรวม 1 ปีที่ผ่านมา ยังคงคาดหวังที่จะเห็นการขับเคลื่อนการศึกษาไทยให้ไปไกลกว่านี้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image