ภาพเก่าเล่าตำนาน : ตู้รถไฟ รถถัง…ยังอยู่ใต้ทะเล โดย พลเอกนิพันธ์ ทองเล็ก

ภารกิจที่แสนยากหนักอึ้ง เมื่อทำไปแล้ว…จะหายวับไปกับตา วันคืนผ่านไป คนบนโลกใบนี้จะลืมเลือนกันไป แทบไม่มีคนเห็น คือ งานสร้างปะการังเทียม ในทะเล เรียกง่ายๆ คือ ทำที่พัก สร้างบ้านให้พืช ปู ปลา กุ้ง หอย ได้เจริญเติบโตในทะเล

ความสมดุล อุดมสมบูรณ์ ร่ำรวยของธรรมชาติที่เคยมีอยู่ใต้ท้องทะเลของไทยสิ้นซาก หายไป จากการทำลายของมนุษย์ต่อเนื่องยาวนาน

สัตว์น้ำในทะเลถูกล่าอย่างต่อเนื่อง มนุษย์ใช้เครื่องมือ ใช้เทคโนโลยี จับสัตว์น้ำมาขาย มากินกัน ความเก่งกาจของมนุษย์สามารถใช้เครื่องมือลงไปกวาดถึงท้องทรายใต้ทะเล

Advertisement

เมื่อมีคนมากขึ้น การบริโภคมากขึ้น ออกล่ากันทุกวัน สัตว์น้ำที่ยังเป็นตัวอ่อน พืชใต้ทะเล ที่ไหนจะเหลือ การทำมาหากินแบบ “เกินพิกัด” ทำให้ท้องทะเลไทย “หมดสภาพ”

นักวิชาการ ชาวบ้านที่ทราบ เห็นตำตาเรื่องแบบนี้มาแสนนาน หมดปัญญาที่จะแก้ไข

ใครล่ะจะเป็นคนเริ่มลงมือทำ ใครจะเป็น “เจ้าภาพ” งบประมาณจะเอามาจากไหน งานราชการของไทยที่ต้องทำงานข้ามกรม ข้ามกระทรวง เมื่อเข้าโต๊ะประชุมแล้วทุกคนใหญ่เท่ากันหมด ไม่มีใครต้องทำงานให้ใคร มีกำแพงสูงแข็งแกร่งในระบบราชการ

Advertisement

ผู้เขียนเองที่เคยเป็นอดีตข้าราชการ ขอบอกเลยว่า ขั้นตอนที่ยากที่สุดในการทำงานราชการ คือ การขอความร่วมมือจากส่วนราชการด้วยกัน มันเป็นเรื่องแสนขมขื่น ทำงานยาก เป็นวัฒนธรรมด้านลบที่ฝังรากลึกมาก….

เชื่อมั้ยครับ…บางภารกิจ…หน่วยงานไม่ส่งผู้แทนเข้าประชุมดื้อๆ

ภาพเก่า…เล่าตำนาน ขอฟื้นความทรงจำที่ดีงาม พระมหากรุณาธิคุณฯ เรื่องการสร้างปะการังเทียม ที่นอนสงบนิ่งอยู่ใต้ท้องทะเลแบบเงียบๆ อันทรงคุณค่ามหาศาล

มีบันทึกว่า…การจัดสร้าง “ปะการังเทียม” ในประเทศไทย เริ่มขึ้นเป็นครั้งแรกในปี พ.ศ.2521 ที่ จ.ระยอง เรียกว่า “มีนนิเวศน์” โดยนำวัสดุเหลือใช้ เช่น ยางรถยนต์ หิน ไม้ และแท่งคอนกรีตรูปทรงกลม วางลงไปในท้องทะเลบริเวณที่กำหนด…

มีการทดลองดำเนินการต่อไปในทะเล สงขลา สตูล ภูเก็ต ถือว่าได้ผลดี หากแต่ยังเป็นการทำงานในวงแคบ ยังไม่เห็นผลชัดเจน

โครงการที่นับว่า เป็นปึกแผ่นแน่นหนา ใช้วัตถุ วัสดุ และมีหน่วยงานภาครัฐ เอกชน เข้ามาบูรณาการเป็นรูปธรรมอย่างแท้จริง คือ โครงการที่ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง พระราชทานแก่ราษฎร ปัตตานี และนราธิวาส

ขอย้อนไปในอดีตที่ไม่นานนัก…

ต้นปี พ.ศ.2544 ในช่วงที่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินแปรพระราชฐานไปทรงงานในภาคใต้

ราษฎร บ.ละเวง อ.ไม้แก่น จ.ปัตตานี ได้มีหนังสือกราบบังคมทูลขอพระราชทานความช่วยเหลือ ให้ทรงพิจารณาช่วยฟื้นฟูความอุดมสมบูรณ์ของสัตว์น้ำในทะเล เนื่องจากสัตว์น้ำลดลงแทบไม่เหลือ ชีวิตฝืดเคือง มีรายได้ไม่พอเลี้ยงครอบครัว

สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ขอพระราชทานคำแนะนำจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในหลวงรัชกาลที่ 9 ซึ่งต่อมาได้ทรงมีพระบรมราชวินิจฉัยให้จัดตั้ง “โครงการฟื้นฟูทรัพยากรชายฝั่งทะเลอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ปัตตานี และนราธิวาส”

โครงการดังกล่าวจะมีแผนงานการฟื้นฟูระบบนิเวศสัตว์น้ำ โดยการจัดสร้างแหล่งอาศัยสัตว์ทะเล (ปะการังเทียม) ซึ่งใช้วัสดุจำพวกคอนกรีต ท่อระบายน้ำ ซากเรือ หรือวัสดุขนาดใหญ่ที่ไม่ใช้งานแล้ววางลงไปในทะเล เพื่อฟื้นฟูทรัพยากรสัตว์น้ำให้ฟื้นคืนชีพให้จงได้

ทุกฝ่าย ตื่นตัวเห็นพ้องการอนุรักษ์ทรัพยากรสัตว์น้ำชายฝั่ง อีกทั้งยังเป็นแหล่งสำหรับส่งเสริมการท่องเที่ยวทางทะเล

1 ตุลาคม 2544 สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วยสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ทรงเปิดโครงการอย่างเป็นทางการที่ชายหาดบ้านละเวง อ.ไม้แก่น จ.ปัตตานี

การทำงานเริ่มต้นนับ 1

มีการสำรวจ รวบรวมบรรดาวัตถุ สิ่งของ ตู้รถไฟ รถถัง รถบรรทุกขยะ ท่อคอนกรีต โดยสำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (กปร.) จะสนับสนุนงบประมาณในการดำเนินงาน

กรมประมงกำหนดจุดพิกัดที่จัดวางปะการังเทียมร่วมกับชาวประมงท้องถิ่น

ระหว่างปี พ.ศ.2545-2556 กรมประมงจัดวางปะการังเทียมพื้นที่ปัตตานี 53 แห่ง นราธิวาส 46 แห่ง

กรมเจ้าท่า การท่าเรือแห่งประเทศไทย กองทัพเรือ กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง และกรมศุลกากร ให้การสนับสนุนอย่างต่อเนื่องยาวนาน

พื้นที่วางปะการังเทียมดังกล่าว คือ บริเวณชายฝั่งทะเลของจังหวัดปัตตานีและจังหวัดนราธิวาส

เรื่องที่ว่ายากนักหนาในการขอความร่วมมือกลายเป็นเรื่องง่าย

นี่เป็นเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์ เกิดการบูรณาการ ฟันเฟืองทุกตัวในระบบหมุนแบบสอดประสานอย่างสร้างสรรค์

ผลลัพธ์ที่ต้องการ คือ การฟื้น สร้างที่อยู่อาศัยของสัตว์น้ำใต้ท้องทะเลไทยไม่น้อยกว่า 100 ตารางกิโลเมตร

ยังมีผลลัพธ์ตามมา คือ การฟื้นฟูระบบนิเวศชายฝั่งทะเล เช่น ป่าชายเลน แนวหญ้าทะเล พื้นที่ชุ่มน้ำ และเป็นแหล่งผลิตที่สำคัญของสัตว์น้ำต่างๆ เป็นจำนวนไม่ต่ำกว่า 50,000 ไร่

ชาวประมงชายฝั่งพื้นบ้านในจังหวัดปัตตานีและจังหวัดนราธิวาส ซึ่งประกอบด้วย 8 อำเภอ 61 หมู่บ้าน มีชาวประมงประมาณ 7,900 ครัวเรือน ได้รับประโยชน์จากโครงการนี้

ข้อมูลที่น่าสนใจ… พระบารมีปกเกล้าฯ ที่ทรงรับภารกิจนี้ไว้ในโครงการฯ พระราชดำริ

การรถไฟแห่งประเทศไทยได้ถวายตู้รถไฟงวดแรกจำนวน 208 ตู้ ซึ่งเป็นตู้ขนส่งสินค้าเก่า (Covered Goods Wagon) และทยอยส่งมอบให้เป็นระยะๆ รวมทั้งสิ้น 881 ตู้ วางเป็นปะการังเทียมใต้ทะเล 30 แห่ง

ตู้รถไฟทั้งหมดเป็นตู้สินค้า ขนาดความยาว 6.5 เมตร กว้างและสูงเท่ากัน 2.18 เมตร มีเหล็กหนา 3.2 มิลลิเมตร มีน้ำหนักเมื่อถอดล้อออกแล้ว 5.5 ตัน เจาะช่องหลังคา 2 ช่อง

เมื่อจะนำไปทิ้งทะเล ก็ต้องถอดล้อ ทำความสะอาดตู้ให้ปราศจากคราบน้ำมัน เปิดประตูทั้งสองอย่างถาวรเพื่อให้สัตว์น้ำในทะเลว่ายเวียนผ่านไปมาได้

สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้กองทัพเรือทำการศึกษาในเรื่องอิทธิพลของกระแสน้ำ ซึ่งอาจจะเปลี่ยนไปและจะมีผลต่อชายฝั่งอย่างใดหรือไม่

ซึ่งต่อมา ทรงได้รับทราบข้อมูลว่า หากนำตู้รถไฟลงไปวางในระดับน้ำที่ลึกเกิน 20 เมตร จะไม่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและชายฝั่งทะเล ทางด้านชีววิทยาและเคมี

กรมประมงได้ทำการศึกษาถึงผลกระทบของเหล็กที่มีต่อน้ำทะเล และสิ่งมีชีวิตต่างๆ ซึ่งได้รับผลว่าไม่มีอันตราย

การทำงานตรงนี้ ต้องให้ชาวบ้าน เจ้าของพื้นที่มีส่วนร่วม…

กรมประมง พูดคุย ร่วมประชุมกับชาวบ้านซึ่งมีอาชีพประมงขนาดเล็ก เพื่อตกลงกันในจุดที่จะดำเนินการ ซึ่งเห็นควรให้ “ทิ้งเสริม” ระหว่างแนวปะการังเทียมเก่า ซึ่งกรมประมงได้ดำเนินการไว้แล้วตั้งแต่ปี 2542-2543 ในบริเวณทะเลนอกฝั่ง อ.สายบุรี มีระยะห่างจากฝั่งประมาณ 11-12 กม. และความลึกของน้ำประมาณ 25-30 เมตร

เรื่องทิ้งวัตถุขนาดใหญ่ลงทะเลก็ไม่ใช่เรื่องง่าย แต่เรื่องการขนย้ายวัตถุเหล่านี้ คือ เรื่องยากกว่า การรถไฟลำเลียงตู้รถไฟที่จะนำไปทิ้งทะเล ไปรวบรวมไว้ที่ท่าเทียบเรือจุกเสม็ด อ.สัตหีบ ในพื้นที่ของกองทัพเรือ

กรมทางหลวงน้อมเกล้าฯ ถวายท่อคอนกรีตระบายน้ำขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 60, 80, 100 และ 120 ซม. วางท่อบริเวณทะเลหน้าบ้านทอน อ.เมือง นราธิวาส โดยห่างจากฝั่ง 10 กม. ความลึกประมาณ 21 เมตร

ใช้เรือแพลำเลียงเขากวางของกรมประมง ซึ่งเป็นแพสำหรับทิ้งปะการังเทียมมีจำนวนทั้งหมด 707 ท่อ ได้ดำเนินการเสร็จสิ้นเมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2545

ในปลายปี 2545 ได้มีการวางปะการังเทียมแบบบล็อกคอนกรีต โดยกรมประมง ในทะเล ปัตตานีและนราธิวาสเพิ่มขึ้นอีกรวม 4 จุด จุดละประมาณ 700 ก้อน บ้านแฆแฆ อ.ปะนาเระ บ้านลุ่ม อ.สายบุรี จ.ปัตตานี บ้านละเวง อ.ไม้แก่น จ.ปัตตานี และชุมชนกาแลตาแป อ.เมือง จ.นราธิวาส

กรุงเทพมหานคร ทยอยมอบรถบรรทุกขยะ รถบรรทุกน้ำ ที่เสื่อมสภาพซ่อมไม่คุ้มค่าสนับสนุนโครงการตามพระราชดำรินี้ รวมทั้งสิ้น 590 คัน

พ.ศ.2553 เป็นข่าวใหญ่ ฮือฮาสารพัด คือ กองทัพบกขอมอบรถถังรุ่น Type 69-II จำนวน 25 คัน รถถังรุ่นนี้ผลิตในประเทศจีนที่จัดหาในราคามิตรภาพเพื่อเตรียมทำศึกแนวรบด้านตะวันออก เข้าประจำการกองทัพบกเมื่อ พ.ศ.2530

รถถัง กว้าง 3.3 เมตร ยาง 8.5 เมตร สูง 2.8 เมตร เมื่อถอดอุปกรณ์สำคัญออกเหลือแต่ตัวถัง ระบบสายพานและป้อมปืน

รถถังแต่ละคันมีน้ำหนัก 25 ตัน โดยกรมประมงเป็นหน่วยจัดวางในทะเล ตามพิกัดที่กำหนด รถถังเก่าชุดแรก ถูกปล่อยลงทะเลเมื่อ พ.ศ.2553

ในประวัติศาสตร์ของประเทศไทย ไม่เคยมีการนำรถถังที่ปลดประจำการแล้วไปทิ้งทะเลมาก่อน …นี่คือ มโหฬารงานสร้างสรรค์

ประเทศไทยมีนักวิชาการ ข้าราชการที่เชี่ยวชาญ เก่ง รอบรู้ อยู่ไม่น้อย แต่การทำงานใหญ่ จะพบเจอปัญหาอุปสรรค ต้องมีหลายหน่วยงานเกี่ยวข้อง ทุกภารกิจลุล่วงก็ด้วย โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ พระบารมีปกเกล้าฯ

ข้อมูลจากกรมประมง บอกให้ทราบว่าปะการังเทียมช่วยทำให้มีสัตว์น้ำเพิ่มมากขึ้น วัสดุที่นิยมใช้จัดสร้าง คือ วัสดุที่ทำจากคอนกรีต เพราะทนทาน อายุการใช้งานนาน มีน้ำหนักมาก มีการเคลื่อนตัวจากตำแหน่งน้อย ส่งผลเสียต่อสิ่งแวดล้อมทางทะเลน้อย และเป็นที่ยึดเกาะของสิ่งมีชีวิตพวกเกาะติดได้เป็นอย่างดี

ปัจจัย 1 ในการออกแบบสร้างปะการังเทียม คือ ต้องให้มีช่องว่างหรือรู เพื่อให้น้ำสามารถไหลเข้าออกได้สะดวก และส่งเสริมให้ปลาเข้ามาอยู่อาศัยภายในช่องว่างได้ รูปแบบและรูปทรงของวัสดุที่ใช้ในการทำปะการังเทียมแต่ละประเทศจึงมีการออกแบบที่แตกต่างกัน

8 กันยายน 2559 ที่หาดวาสุกรี ต.ตะลุบัน อ.สายบุรี จ.ปัตตานี นายพลากร สุวรรณรัฐ องคมนตรี เป็นประธานพิธีส่งมอบปะการังเทียมแก่ชาวประมงจังหวัดปัตตานี เพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ 84 พรรษา

นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นพ้นที่ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงมีต่อพสกนิกรชาวประมงพื้นบ้านชายฝั่ง

ตอนต่อไปจะนำเสนอข้อมูลที่เป็นผลสืบเนื่องครับ

ทรงพระเจริญ

เรียบเรียงโดย
พลเอก นิพัทธ์ ทองเล็ก

ที่มาของข้อมูล : กรมประมง. (2553). โครงการฟื้นฟูทรัพยากรชายฝั่งทะเลอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เอกสารประชาสัมพันธ์โครงการ.

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image