โควิดกับสมอง โดย ไพรัตน์ พงศ์พานิชย์

ข้อดีประการหนึ่งในยามวิกฤตโควิดอย่างเช่นในเวลานี้ก็คือ ชุมชนวิชาการโดยเฉพาะทางด้านการแพทย์ร่วมมือกันศึกษาค้นคว้าแลกเปลี่ยนข้อมูลเกี่ยวกับโรคระบาดนี้อย่างกว้างขวาง ช่วยให้ในเวลาไม่ช้าไม่นานหลังจากที่ปรากฏโควิด-19 ขึ้นมา องค์ความรู้เกี่ยวกับโรคนี้ยิ่งเพิ่มพูนมากขึ้นอย่างรวดเร็ว

ตัวอย่างเช่น ในตอนนี้มีสถาบันทางการแพทย์ระดับหัวแถวของโลกกว่า 20 สถาบัน ทั้งในสหรัฐอเมริกาและเครือข่ายระบบสาธารณสุขในยุโรป ที่ร่วมมือกันศึกษาอย่างจริงจังว่า เชื้อไวรัสก่อโรคโควิด-19 ทำอะไรกับสมองและระบบประสาทของผู้ที่ติดเชื้อได้บ้าง

งานวิจัยเรื่องนี้สำคัญอย่างมากต่อการพิสูจน์ให้กระจ่างว่า โควิด-19 นั้นไม่ได้เป็นเพียงแค่โรคระบบทางเดินหายใจธรรมดาๆ เท่านั้น แต่สามารถก่อให้เกิดผลกระทบในทางลบซึ่งสามารถคงอยู่กับเราไปจนตลอดชีวิตได้

ในทางการแพทย์ให้ความสนใจต่อกรณีนี้อย่างมาก เพราะการแพร่ระบาดอย่างกว้างขวาง มีผู้ติดเชื้อมากกว่า 17 ล้านคนทั่วโลก หมายความถ้าหาก โควิด-19 ส่งผลกระทบต่อสมองและระบบประสาทจริง เราอาจหลีกเลี่ยงการเกิดผู้ป่วยด้วยโรคทางสมองและระบบประสาทขนานใหญ่ที่จะเกิดขึ้นตามมาในอีก 10-20 ปีข้างหน้าไม่ได้

Advertisement

ยิ่งรู้เร็วเท่าใด แพทย์และผู้รักษาก็ยิ่งเตรียมตัวป้องกันและหาทางรับมือได้มากขึ้นและดีขึ้นเท่านั้น

งานวิจัยถึงการกระทำและผลกระทบที่โควิดมีต่อสมองของคนเรานั้นอยู่ในขั้นเริ่มต้น และแม้ว่าแพทย์และผู้เชี่ยวชาญยังบอกไม่ได้ว่า ทำไมสมองถึงกระทบกระเทือนไปด้วย แต่ก็พอจะบอกได้ว่าผลกระทบที่ว่านี้คืออะไร และพอจะมีทฤษฎีที่จำกัดวงแคบได้บ้างแล้วว่า ทำไมสมองและระบบประสาทถึงเกิดอาการเช่นนั้น

อาการทางสมองที่พบในผู้ป่วยโควิด-19 ไม่ได้เกิดขึ้นทุกรายไป แต่โดยประมาณแล้ว ราว 50 เปอร์เซ็นต์ของผู้ป่วยทั้งหมดจะมีอาการทางสมองและระบบประสาทควบคู่ไปกับอาการป่วยอื่นๆ ที่เกิดจากการติดเชื้อได้

Advertisement

อาการเหล่านี้มีตั้งแต่เล็กๆ น้อยๆ อย่างเช่น ประสาทรับรู้กลิ่นและรสไม่ทำงาน, เกิดอาการงงๆ สับสน, ปวดหัว, ชักเกร็ง, ไม่รู้สึกตัว, ไม่มีสมาธิ เรื่อยไปจนถึงอาการหนักที่น่าวิตกอย่างเช่น อัมพฤกษ์ อัมพาต หรือโรคแขนขาอ่อนแรงเฉียบพลัน หรือจีบีเอส (กิลแลง แบร์เร ซินโดรม-จีบีเอส) ที่จะส่งผลไปตลอดชีวิต

นายแพทย์ โรเบิร์ต สตีเฟนส์ จากศูนย์การแพทย์เพื่อความเป็นเลิศด้านระบบประสาทของมหาวิทยาลัยจอห์น ฮ็อปกินส์ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของทีมศึกษาวิจัยเรื่องดังกล่าวนี้ ประเมินเบื้องต้นว่า โควิด-19 อาจส่งผลร้ายต่อสมองและระบบประสาทของเราได้ 4 ทางด้วยกัน

แรกสุด มักเกิดกับผู้ป่วยที่มีอาการหนักจริงๆ เชื้อไวรัส ซาร์ส-โคฟ-2 ที่ก่อโรคแพร่ไปทั่วร่างกาย เข้าไปอยู่ในส่วนที่เป็นศูนย์รวมประสาท อย่างไขสันหลังหรือในเนื้อสมองของผู้ป่วย

ที่สันนิษฐานเช่นนี้ เพราะมีผู้ป่วยหลายรายในจีนและญี่ปุ่น ที่แพทย์ตรวจพบซากเชื้อไวรัสนี้ในของเหลวในกระดูกไขสันหลัง นอกจากนั้นยังพบผู้ป่วยในฟลอริดา รายหนึ่งซึ่งแพทย์ตรวจพบซากเชื้อในเซลล์สมอง

ทางที่สองที่อาจเกิดขึ้นได้ก็คือ ระบบภูมิคุ้มกันในตัวผู้ป่วย เกิดทำงานมากเกินไป (โอเวอร์ไดรฟ์) ด้วยเจตนาที่จะยับยั้งและทำลายเชื้อไวรัส จนก่อให้เกิดอาการอักเสบผิดปกติขึ้นกับระบบประสาทหรือสมอง

ทฤษฎีที่สามก็คือ แนวความคิดที่ว่า เกิดการเปลี่ยนแปลงทางกายภาพของร่างกายของผู้ป่วยหลายๆ อย่างที่ส่งผลกระทบต่อการทำงานของสมองและระบบประสาท ตั้งแต่การมีไข้สูง ไปจนถึงการที่ร่างกายมีระดับออกซิเจนอยู่น้อยเกินไป ซึ่งทำให้ระบบอวัยวะทั้งหมดของร่างกายล้มเหลว หรือไม่ทำงานไปพร้อมๆ กัน ซึ่งอาจส่งผลให้สมองทำงานผิดปกติ เช่นเกิดภาวะเดลิเรียม หรือภาวะสมองทำงานบกพร่องกะทันหัน รวมทั้งการเข้าสู่ภาวะ โคม่า ในผู้ป่วยหนักมากๆ ทั้งหลาย

สุดท้าย เป็นกรณีที่น่าสนใจอย่างยิ่ง นั่นคือ การติดเชื้อโควิด-19 ทำให้เกิดอาการตีบ ตัน ของเส้นเลือด ซึ่งจะส่งผลต่อสมองหรือระบบประสาททันที ถ้าเกิดกรณีตีบหรือตัน ดังกล่าวเกิดขึ้นกับเส้นเลือดที่ไปเลี้ยงสมองหรือระบบประสาท ก่อให้เกิดภาวะสโตรก (ภาวะสมองขาดเลือด) ซึ่งทำให้เกิดอัมพฤกษ์ หรืออัมพาตได้

มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ของอังกฤษ เคยพบผู้ป่วยโควิดรายหนึ่งเกิดอาการตีบ-อุดตันของเส้นเลือดเฉียบพลันที่ร้ายแรงมากกรณีหนึ่ง

อาการรุนแรงหรือไม่ของภาวะเส้นเลือดตีบ-อุดตันนั้น ทางการแพทย์วัดด้วยจำนวนจุดเกิดดังกล่าวในร่างกาย ซึ่งเรียกว่า “ดี-ไดเมอร์”

คนป่วยทั่วๆ ไปที่มีอาการนี้มักมี ดี-ไดเมอร์ อยู่ที่ระดับประมาณ 300 ถ้าเกิดรุนแรงขึ้นในระดับที่ก่อให้เกิดสโตรคได้นั้น ดี-ไดเมอร์จะเพิ่มขึ้นเป็นราว 1,000

กรณีของผู้ป่วยโควิด ที่พบที่เคมบริดจ์ จำนวน ดี-ไดเมอร์ที่พบเกิดจากการติดเชื้อโควิดนั้นอยู่ในระดับเกินกว่า 80,000 เลยทีเดียว มาถึงโรงพยาบาลในลักษณะโคม่า ไม่รู้สึกตัว

อาการของผู้ป่วยรายนี้สาหัสเสียจนแพทย์ไม่คิดว่าจะรอดชีวิต แต่ก็รอดตายมาจนได้ ทั้งยังฟื้นตัวได้ดีขึ้นเรื่อยๆ

นี่คือปัญหาร้ายแรงที่โควิด-19 ก่อให้เกิดขึ้นกับร่างกายของคนเรา ซึ่งจะดำรงอยู่ต่อไปนานมาก แม้ว่าเชื้อจะหมดไปจากร่างกายแล้วก็ตามที

ทางที่ดีที่สุดสำหรับโรคระบาดร้ายแรงนี้ จึงยังคงเป็นการหาทางป้องกัน ไม่ให้เชื้อเข้าสู่ร่างกายเราเป็นดีที่สุดครับ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image