คนตกสี : เก็บกวาดบ้านของเราให้เรียบร้อย ดีกว่าแค่ช่วยแม่ล้างจาน : โดย กล้า สมุทวณิช

การอ้างกล่าวคำคมคารมปราชญ์มาใช้นำเสนอประเด็นของตัวเองอาจจะเสริมให้ใครดูฉลาดขึ้นได้ ภายใต้เงื่อนไขว่าเขานั้นต้องเป็นคนฉลาดจริงๆ อยู่แล้วที่เลือกสรรค์ถ้อยคำเหล่านั้นมาใช้ได้อย่างถูกเรื่องถูกบริบท

ส่วนการยกถ้อยคำหรูหราเกินสติปัญญาตนโดยไม่เข้าใจถ่องแท้จะส่งผลตรงกันข้าม

สำหรับ สามารถ เจนชัยจิตรวนิช ผู้ช่วยรัฐมนตรีคนหนึ่งของพรรคพลังประชารัฐที่ออกมา “สั่งสอน” เยาวชนทั้งหลายให้ไปช่วยแม่ล้างจานก่อนจะออกมาช่วยเหลือประเทศซึ่งมีที่มาจากแพทริก เจ โอรูร์ก (P.J. O’Rourke) นั้นเป็นประเภทแรกหรือประเภทหลัง ท่านผู้อ่านและวิญญูชนน่า
จะตัดสินได้

เขาไม่ได้เพียงโพสต์ประโยคดังกล่าวขึ้นมาลอยๆ แต่ยังขยายความไปอีกสรุปได้ว่าที่ออกมาเตือนสตินี้เพราะเห็นคนที่ไม่จริงจังกับการดำเนินชีวิตของตัวเองแต่จริงจังกับเรื่องการเมืองถูกชักนำเป็นเครื่องมือให้กับแกนนำ ผู้สุดท้ายเสวยสุขแต่กลุ่มผู้สนับสนุนถูกดำเนินคดี ดังนั้น ถ้าทุกวันนี้ยังไม่ช่วยแม่ล้างจานก่อนหรือช่วยแม่ล้างจานไม่ได้ เมื่อบ้านตัวเองยังไม่เรียบร้อย ก็อย่าเพิ่งออกไปเรียกร้องหรือทำอะไรให้ใคร เพราะความสำเร็จต้องเริ่มจากตัวเองก่อน เช่น ช่วยแม่ล้างจานหรือเก็บที่นอนของตัวเอง หากทำได้แล้วความสำเร็จเรื่องใหญ่ๆ จึงจะตามมา

Advertisement

สรุปว่าเขาหมายจะเตือนสติ “น้องๆ” ไม่อยากให้เป็น “เครื่องมือทางการเมือง” และคนไทยทุกคนให้หันมามอง “สิ่งที่ถูกต้อง”

ประโยคเสียดสีในตอนต้นเมื่อประกอบกับคำขยายความ เอาเข้าจริงการให้เหตุผลประกอบของเขาก็ไม่ได้ถือว่าแย่เกินไปนัก เพราะบางส่วนนั้นก็จริง และคำแนะนำในลักษณะเดียวกันนี้ก็ยังมีอีกมาก เช่น คำพูดของ พลเรือเอกวิลเลียม แฮร์รี่ แม็คเรเวน ที่ว่า “ถ้าคุณคิดจะเปลี่ยนโลก ให้เริ่มต้นด้วยการเก็บที่นอน”

แต่ที่อาจจะคลาดเคลื่อนแตกต่าง คือถ้อยคำในลักษณะนี้ของผู้พูดต้นตำรับเขาหมายเพื่อให้ทบทวนว่า ก่อนที่เราจะแก้ปัญหาที่ใหญ่กว่า เราได้ทบทวนแล้วหรือไม่ว่าเราได้เริ่มจากปัญหาเล็กที่สุดที่เราจะสามารถทำได้ในเวลาไม่มากนักก่อน หรืออย่างคำพูดเรื่องเก็บเตียงนั้นมีความหมายในเชิงจิตวิทยาว่า หากในตอนเช้าเราเริ่มต้นด้วยความสำเร็จง่ายๆ (คือการเก็บที่นอน) แล้ว เราจะมีกำลังใจไปตลอดวัน

Advertisement

จะเห็นว่าคำพูดต้นฉบับนั้นไม่ได้ออกมาในเชิงให้ “เลือกทำอย่างหนึ่ง” เพื่อจะได้ไม่ทำอีกอย่างหนึ่ง และที่สำคัญคือเขาไม่ได้ดูถูกหรือปรามาส แต่มีไว้ใช้เพื่อการส่งเสริมความมั่นใจและศักยภาพของมนุษย์เสียมากกว่า

มีประโยคลักษณะนี้พร้อมคำอธิบายที่เป็นระบบ อยู่ในหนังสือ “12 กฎที่ใช้ได้ตลอดชีวิต” (12 Rules for life : An antidote to chaos) ของ จอร์แดน บี ปีเตอร์สัน ฉบับภาษาไทยมี คุณธีร์ ทิพกฤต เป็นผู้แปล จัดพิมพ์โดยแพรวสำนักพิมพ์ ซึ่งถ้าใครที่เป็นนักอ่านหนังสือแนวนี้ คงทราบว่าเป็นหนังสือที่มาแรงที่สุดในรอบครึ่งปีที่นักคิดนักเขียนทั้งหลายล้วนกล่าวถึง

“กฎ” ที่สอดคล้องกับคำพูดข้างต้น อยู่ในข้อที่ 6 “ดูแลบ้านของคุณให้เรียบร้อยก่อนวิจารณ์โลก” ซึ่งเอาจริงแล้วเป็นประโยคที่แรงกว่าเรื่องล้างจานและเก็บเตียงเสียอีก

ผู้เขียนเริ่มต้นด้วยการกล่าวถึงบันทึกความใจของนักกราดยิงในสหรัฐอเมริกา ตลอดจนอาชญากรต่อเนื่องต่างๆ ว่าส่วนใหญ่มีแรงขับมาจากการเกลียดชังมนุษย์และสังคม ทั้งเห็นว่าโลกนี้โหดร้ายหรือผู้คนเลวทราม หรือบางกรณีก็เป็นการแก้แค้นเอาคืนผู้คนเพื่อล้างปมบาดแผลในชีวิต ทั้งๆ ที่เหยื่อของพวกเขานั้นก็ไม่ได้เกี่ยวข้องหรือไม่ใช่คนที่เคยทำร้ายหรือเกี่ยวข้องอะไรกับพวกเขาเลยด้วยซ้ำ

แต่การถูกกระทำทารุณไม่ใช่ความชอบธรรมหรือแม้แต่เหตุผลในการที่จะไปกระทำสิ่งเลวร้ายนั้นต่อผู้อื่นอีกทอด ผู้เขียนพบว่า เมื่อมนุษย์เข้าสู่จุดที่พบกับชะตากรรมแห่งความอยุติธรรม ความทารุณโหดร้าย รู้สึกว่าถูกโชคชะตาและชีวิตกลั่นแกล้งรังแกเอาจนถึงระดับสิ้นหวัง ถ้าไม่ถอดใจสิ้นหวังหรือหนีความจริง การตอบสนองอาจจะเป็นได้หลายวิธี วิธีที่มีปัญหาที่สุดก็คือโยนทุกสิ่งทุกอย่างให้เป็นความผิดของโลก มนุษย์ หรือสังคม แล้วทำการล้างแค้น เรียกว่า “เส้นทางทำลายล้าง” หรือไม่ก็รับว่าทั้งหลายทั้งปวงนั้นเป็นความผิดของตัวเขาเอง แล้วลุกขึ้นทำสิ่งที่เรียกว่า “เส้นทางปฏิรูป”

การที่มนุษย์บางคนนั้นยอมรับว่าสิ่งเลวร้ายทั้งหลายที่ได้รับนั้นตัวเขาเองก็มีส่วนต้องรับผิดชอบไม่ใช่แค่โชคร้ายหรือการกลั่นแกล้งของพระเจ้า ในอีกแง่หนึ่งย่อมแปลว่าเขาสามารถที่จะเปลี่ยนแปลงและแก้ไขได้โดยเริ่มที่ตัวเอง ไม่จำเป็นที่จะต้องยอมจำนนหรือไปเลือกใช้วิถีทางทำลายล้าง

หากการแก้ไขปัญหาโดยเริ่มจากตัวเองนั้นเป็นคนละเรื่องกับการแก้ไขหรือทำแต่ในเรื่องของ
ตัวเอง และการเปลี่ยนแปลงระบบ ระบอบ หรือกลไกอันยุติธรรมก็สามารถเริ่มที่ตัวเองได้

ผู้เขียนยกตัวอย่างของนักเขียนชาวรัสเซีย อะเล็กซันดร์ โซลเซนิตซิน ซึ่งเป็นผู้ถูกจับกุม ทำร้าย และคุมขังไว้ในค่ายกักกันกูลักของโซเวียตหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ในภายหลังเขาป่วยด้วยโรคมะเร็ง ชะตากรรมเลวร้ายขั้นหายนะในชีวิตนั้นจะทำให้เขาต่อต้านพระเจ้าหรือแช่งด่าชะตากรรมก็ยังอาจจะชอบธรรม แต่กลับเป็นตัวเขาเองที่ใคร่ครวญได้ว่า ชะตากรรมทั้งหลายทั้งปวงนั้นเขาก็ต้องมีส่วนรับผิดชอบด้วย เช่นการที่เขาเคยให้การสนับสนุนพรรคคอมมิวนิสต์เมื่อวัยหนุ่ม ที่เขาเคยทรยศตัวเองและโกหก และเขาจะรับผิดชอบในสิ่งที่ทำให้เขาตกลงมาสู่ชะตากรรมเช่นนี้ได้อย่างไร

ผลของการใคร่ครวญและยอมรับของเขา แปรความโกรธแค้นทั้งหลายให้เป็นสัจธรรมอันเที่ยงแท้ที่ทรงพลัง นำมาสู่ผลงานหนังสือเรื่อง เกาะกูลัก (The Gulag Archipelago) ซึ่งกล่าวถึงประวัติศาสตร์และระบบของค่ายกักกันของโซเวียต หนังสือของเขาเป็นหนังสือต้องห้ามในประเทศ แต่ถูกนำออกมาสู่โลกตะวันตกได้ และเป็นส่วนหนึ่งที่ทำลายความน่าเชื่อถือของภูมิปัญญาระบอบคอมมิวนิสต์ ซึ่งได้ล้มสลายลงในไม่กี่ปีต่อมาหลังจากนั้น แน่นอนว่ามันไม่ใช่เพียงหนังสือเล่มเดียวเปลี่ยนแปลงโค่นระบอบทั้งมวลได้ แต่ก็ต้องถือว่าโซลเซนิตซินเป็นคนหนึ่งที่ลงมือฟาดขวานลงใส่ต้นไม้ที่ออกดอกออกผลซึ่งสร้างความทุกข์ทรมานให้กับตัวเขา และเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้มันล้มลง นี่คือการตัดสินใจของชายผู้หนึ่งที่เลือกที่จะเปลี่ยนชีวิตตัวเองแทนที่จะนั่งสาปแช่งโชคชะตา และก็ไม่ใช่เขาคนเดียวที่สร้างปาฏิหาริย์เช่นนั้นได้

นี่คือสิ่งที่หนังสือนี้กล่าวถึงการ “ดูแลบ้านของคุณให้เรียบร้อย” ก่อนจะ “วิจารณ์โลก” แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าคุณจะปล่อยโลกไว้อย่างนั้นและเพียงพอใจกับสิ่งเล็กๆ น้อยๆ เช่นการช่วยแม่ล้างจานแล้วก็จบไป

ในวันนี้ เราได้เห็นเด็กๆ ของเรา ทั้งวัยแรกรุ่นหนุ่มสาว นิสิตนักศึกษา ไปจนถึงนักเรียนมัธยม ได้ยอมรับว่าสิ่งไม่ชอบมาพากลทั้งหลายทั้งมวลที่เกิดขึ้นในบ้านเมืองนั้นเป็นความรับผิดชอบของพวกเขา แม้เราอาจจะนึกไม่ออกว่าเขาจะผิดไปได้อย่างไรเมื่อในตอนที่กลุ่มอันธพาลการเมืองออกมาสร้างสถานการณ์จนเกิดการรัฐประหาร พวกเขาอาจจะวิ่งเล่นอยู่ในโรงเรียนประถม และเมื่อคณะกรรมาธิการของ สนช. ในระบอบเผด็จการ คสช. พยายามรื้อฟื้นคดีทายาทเรดบูลให้พ้นผิด พวกเขาอาจจะเพิ่งอ่านหนังสือออก

จะว่าเป็นบาปกำเนิดที่รับมาจากมีพ่อแม่เป็นสลิ่มก็ออกจะใจร้ายไป…

แต่เอาเป็นว่าวันนี้เขาลุกขึ้นทำสิ่งเล็กๆ เพื่อการ “จัดบ้าน” ของเขาให้เรียบร้อย ด้วยสิ่งเล็กๆ เช่นการชูป้ายกระดาษที่เต็มไปด้วยอารมณ์ขัน วิ่งและร้องเพลงที่ดัดแปลงมาจากแอนิเมชั่นแฮมทาโร่ จุดประกายไฟที่สว่างไสวแต่ไม่แรงร้อนด้วยเทคโนโลยีในมือของพวกเขาเอง พวกเขาไม่ได้ขับเคลื่อนด้วยความเกลียดชังกราดเกรี้ยว และข้อเรียกร้องของเขาก็เป็นรูปธรรมตรงไปตรงมา ภายใต้ระบบระบอบและเป็นสิ่งที่ควรจะเป็น

จนถึงตอนนี้ หากใครจะเชื่อแบบหลับหูหลับตาชี้ว่าพวกเขาถูกหลอกลวงปลุกปั่นหรือยุยงมา ก็อาจจะเป็นเพราะว่าคนพวกนั้นเคยผลักพาลูกหลานวัยยังไม่เดียงสาให้ไปเป่านกหวีดโดยไม่มีรู้ความ ป้อนยัดปากด้วยถ้อยคำเสียดสีด่าทออย่างเกลียดชังที่พวกเขาไม่ได้รู้ความหมาย วันนี้พวกเขาโตพอที่จะมีคำพูดของตัวเองแล้ว แต่คนพวกนั้นยังคงคิดว่านี่คือเด็กๆ ที่พวกเขายังสั่งให้ทำหรือพูดอะไรก็ได้

หากคุณยืนยันว่าวิถีความเชื่อ ความศรัทธา และค่านิยมทางการเมืองที่ผ่านมาของคุณคือเรื่องดี
เรื่องถูก แต่คุณไม่มีปัญญาปลูกฝังหล่อเลี้ยงให้พวกเขาเหล่านั้นเชื่อในสิ่งเดียวกับคุณหรือเห็นว่าดีว่างามไปได้ (ขนาดว่าได้อำนาจรัฐช่วยสนับสนุนด้วยค่านิยม 12 ประการและหลักสูตรล้าหลังเลอะเทอะแล้วด้วย) จนในตอนนี้ความคิดของเขาแตกต่างออกไป คุณก็ปลอบใจตัวเองโดยการกล่าวหาว่ามีใครสักคนมายุยงปลุกปั่นผลักดันลูกหลานของพวกคุณออกจากเส้นทาง

ทบทวนเอาเถิดว่าคุณไม่มีส่วนต้องรับผิดชอบกับผลลัพธ์ที่ไม่พึงประสงค์ของคุณนี้เลยจริงหรือ

เริ่มที่การขอโทษลูกหลาน ช่วยพวกเขา “จัดบ้าน” ของเราทั้งหลายให้เรียบร้อย หรือถ้านึกไม่ออกก็เริ่มจากการไปล้างจานที่มันก็มีใบที่คุณเองก็เป็นอีกคนที่กินแล้วเอามาวางซ้อนทิ้งไว้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image