สมิธ ดัน ‘นายพลสี่เท้า’ ผู้บัญชาการทหารสูงสุดคนแรกของพม่า (4) โดย ลลิตา หาญวงษ์

เมื่อสมิธ ดัน สิ้นสุดการฝึกที่อินเดีย และกลับมาประจำการที่พม่า ในกองสารวัตรทหาร (Burma Military Police) สงครามโลกครั้งที่ 2 เริ่มขึ้นแล้วในภาคพื้นทวีปยุโรป แต่ไม่มีใครในพม่าคาดคิดว่าในปลายปี 1941 กองทัพญี่ปุ่นจะยกพลขึ้นบกที่มลายา และจะเข้ายึดครองแทบทุกประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้สำเร็จในอีกไม่กี่เดือนต่อมา เมื่อถึงเดือนกุมภาพันธ์ 1942 หลังกองทัพพม่ารับมือกับกองทัพญี่ปุ่นและเห็นว่าตนกำลังจะแพ้ รัฐบาลอาณานิคมเริ่มประกาศให้คนของตนเองอพยพออกนอกพม่า มุ่งหน้าสู่เขตเทือกเขาสลับซับซ้อนในอินเดียภาคตะวันออก ด้านชาวอินเดียและชาวจีนที่มีจำนวนรวมนับล้านคนในพม่าก็อพยพออกจากพม่า มุ่งหน้าสู่ตอนเหนือของพม่าในเขตกะฉิ่น ติดชายแดนจีนและอินเดีย

หนึ่งในท่าเรือย่างกุ้งที่ถูกระเบิดทำลายระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2, ค.ศ.1945 (ภาพจากหนังสือ The Collapse of British Rule in Burma: The Civilian Evacuation and Independence ของ Michal D. Leigh)

การอพยพครั้งใหญ่ระหว่างสงครามมหาเอเชียบูรพาในพม่านี้เป็นประเด็นที่นักวิชาการหลายคนให้ความสนใจ ทำให้ผู้เขียนนึกถึงวิทยานิพนธ์ปริญญาเอกของไมเคิล ลีห์ (Michael D. Leigh) ที่ต่อมาจะตีพิมพ์เป็นหนังสือในชื่อ The Evacuation of Civilians from Burma: Analysing the 1942 Colonial Disaster (การอพยพพลเรือนออกจากพม่า : การวิเคราะห์หายนะแห่งอาณานิคมในปี 1942) และบทความเก่าของปรมาจารย์พม่าศึกษา ฮิวจ์ทิงเกอร์ (Hugh Tinker) เรื่อง A Forgotten Long March: The Indian Exodus from Burma, 1942 (การเดินทางไกลที่ถูกลืม :การอพยพของชาวอินเดียออกจากพม่า, 1942) ที่ตีพิมพ์มาตั้งแต่ปี 1975

เมื่อเกิดสงครามขึ้น ชาวพม่าส่วนใหญ่อพยพออกจากย่างกุ้ง เพื่อไปอยู่กับญาติพี่น้องในชนบท เพราะย่างกุ้งเป็นเป้าการโจมตีทางอากาศที่สำคัญที่สุดของญี่ปุ่นในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ภาคพื้นทวีป สมิธ ดัน และนายทหารกะเหรี่ยง กะฉิ่น และกลุ่มชาติพันธุ์อื่นๆ มีประสบการณ์ที่ต่างออกไป เพราะพวกเขาต้องเดินเท้าออกจากพม่าไปพร้อมๆ กับกองร้อยอื่นๆ ของอังกฤษ ดันเล่าประสบการณ์ระหว่างการอพยพไว้อย่างละเอียด การยกพลขึ้นบกของญี่ปุ่นในพม่าใต้เป็นสิ่งที่น่าตกใจแล้ว แต่ที่น่าตกใจกว่าคืออานุภาพการทำลายล้างของกองทัพญี่ปุ่นทำให้เมืองท่าที่เจริญรุ่งเรืองสูงสุดอย่างย่างกุ้งแทบจะกลายเป็นเมืองร้าง เนื่องจากการอพยพเป็นไปอย่างรีบเร่งด้วยทรัพยากรที่มีอย่างจำกัด ทำให้ทหารในกองทัพอังกฤษต้องเดินเท้าบนถนนปยี (Pyi หรือที่คนไทยรู้จักกันในนามเมืองแปร) มุ่งสู่เมืองสารวดี (Tharrawaddy) ตีนเขาพะโคโยมา (Pegu Yoma) แต่เมื่อถึงสารวดีกองร้อยของดันได้รับคำสั่งให้เดินเท้ากลับย่างกุ้งเพื่อไปปราบโจรและพวกที่ใช้ช่วงเวลาชุลมุนปล้นสะดมบริษัทห้างร้านและเคหสถานของประชาชนที่เกือบทั้งหมดหลบหนีออกจากย่างกุ้งไปแล้ว

ก่อนอพยพออกจากย่างกุ้งเป็นครั้งที่ 2 ฝ่ายของดันปะทะกับกองทหารญี่ปุ่น การสู้รบดำเนินอยู่จนถึงรุ่งสาง กองทัพฝ่ายของดันเป็นผู้กำชัยชนะ อย่างไรก็ดี ระหว่างทางนั้น ดันเล่าให้เราฟังว่ามีทหารกะเหรี่ยงจำนวนหนึ่งที่จู่ๆ ก็วิ่งหนี ทิ้งตำแหน่งและหน้าที่ในกองทัพไว้เบื้องหลัง เพราะทุกคนล้วนกังวลสวัสดิภาพของคนในครอบครัว ในช่วงเวลาปกติ การละทิ้งหน้าที่ของทหารหรือตำรวจกะเหรี่ยงเกิดขึ้นไม่บ่อยนัก และอังกฤษเองก็รู้ซึ้งถึงคุณลักษณะเฉพาะของชาวกะเหรี่ยง ที่มีความซื่อสัตย์และมีความสามารถในการรบมากกว่ากลุ่มชาติพันธุ์ใดในพม่า โดนัลด์ แมคเคนซี สมีตัน (Donald Mackenzie Smeaton) ข้าราชการระดับสูงชาวสก๊อตที่เคยทำงานในพม่ายาวนานร่วม 2 ทศวรรษ และมีรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับภาษาและวัฒนธรรมชาวกะเหรี่ยงอย่างถ่องแท้ยังเคยเขียนยกย่องคุณความดีของชาวกะเหรี่ยงไว้ในหนังสือ The Loyal Karens of Burma (ชาวกะเหรี่ยงที่ซื่อสัตย์แห่งพม่า-ตีพิมพ์ครั้งแรกปี 1887) จนกลายเป็นขนบในกองทัพพม่าที่ต้องการเกณฑ์ชาวกะเหรี่ยง และกลุ่มชาติพันธุ์อื่นๆ ที่เป็น “ชนชาตินักรบ” ในพม่ามาเป็นกำลังหลักในกองทัพและกองตำรวจ เพื่อทดแทนชาวอินเดีย ที่มีอัตราการตายจากโรคภัยไข้เจ็บในพม่าสูง และยังมีค่าบำรุงรักษาที่แพงลิ่ว (ทหารจากอินเดียต้องได้รับประทานอาหารของตนเอง ไม่สามารถรับประทานอาหารพื้นเมืองได้)

Advertisement

เหตุการณ์ที่ทหารกะเหรี่ยงเกือบทั้งหมดละทิ้งหน้าที่ทำให้ดันรู้สึกเสียใจมาก แต่เมื่อมีนายทหารชาวอังกฤษที่รู้จักมักคุ้นกัน ดันก็รู้สึกดีขึ้น เพราะในเวลานั้น พม่าตกอยู่ในสภาวะไร้ขื่อไร้แป และเต็มไปด้วยอาชญากรที่ออกปล้มสะดมชาวบ้านไปทั่ว ในภาษาอังกฤษที่ใช้ทั่วไปในบริติชอินเดียและพม่า มีคำที่ใช้เรียกอาชญากรรมประเภทปล้นหรือปล้นแล้วฆ่าอยู่หลายคำ แต่คำที่เห็นบ่อยที่สุดคือคำว่า “dacoit” หรือที่อาจเรียกรวมๆ ว่า “โจร” และยังมีคำที่ดันใช้คือคำว่า “bad hats” ซึ่งผู้เขียนเพิ่งเคยเห็นเป็นครั้งแรก โจรเหล่านี้ไม่ได้ใช้อาวุธที่ทันสมัย มีแต่เพียงมีดชนิดหนึ่งที่เรียกว่า “ดาห์” (dah) เท่านั้น แต่โดยปกติกองโจรแบบพม่า ซึ่งโด่งดังไปทั่วบริติชอินเดีย มักทำงานเป็นกองโจรขนาดใหญ่ บางครั้งมีสมาชิกนับร้อยๆ คน ในสายตาของอังกฤษ พม่าเป็นจังหวัดของอินเดียที่มีอัตราส่วนอาชญากรมากที่สุด (the most criminalised province) แต่อาชญากรรมในพม่าโดยมากเป็นคดีลักเล็กขโมยน้อย ขโมยวัวควาย หรือคดีปล้นราว ไม่บ่อยครั้งนักที่จะเจออาชญากรรมร้ายแรง

เส้นทางการอพยพของดันและกองสารวัตรทหารของเขาผ่านมัณฑะเลย์ อังวะ สะกาย ในพม่าเหนือ โดยมีจุดมุ่งหมายที่เมืองอิมฟาล (Imphal) เมืองเอกแห่งมณีปุระ ทางตะวันออกของอินเดีย ภาพระหว่างทางการอพยพเต็มไปด้วยความสยดสยอง ผู้คนนับล้านเดินเท้าจากพม่าตอนล่างสู่พม่าตอนบน เพื่อต่อไปยังอินเดีย ระยะทางโดยรวมกว่า 1,200 กิโลเมตร ในระหว่างนี้มีทั้งคนที่เดินทางถึงอินเดียโดยสวัสดิภาพ และอีกจำนวนหนึ่งที่เสียชีวิตระหว่างทาง ดันบรรยายไว้ว่าระหว่างทางสู่อิมฟาลเขาเห็นซากศพมาตลอดทาง และครั้งหนึ่งยังพบสตรีผู้หนึ่งที่อ้อนวอนขอน้ำนมให้กับบุตรของตนเอง ดันตัดสินใจให้นมกระป๋องกับเธอ ทั้งๆ ที่เสบียงของกองทัพในเวลานั้นร่อยหรอ และเขาตั้งใจจะเก็บนมกระป๋องสุดท้ายไว้ดื่มระหว่างทาง และยังมีภาพชีวิตอีกมากมายที่ดันพบเจอในช่วงเวลาอันยากลำบากนี้ ก่อนถึงอิมฟาลไม่นาน ดันทำความรู้จักกับกองทหารกุรข่า ชนพื้นเมืองกลุ่มสำคัญในเนปาล ซึ่งอังกฤษยกย่องให้เป็นทหารที่มีความสามารถทางการรบยอดเยี่ยมที่สุดกลุ่มหนึ่ง และเนื่องจากดันมีหน้าตาละม้ายกับทหารกุรข่า ทำให้เขาเข้ากับทหารกุรข่าแบบไม่ยากเย็นนัก

ในสัปดาห์หน้า เราจะสิ้นสุดการเดินทางตามรอยนายทหารกะเหรี่ยงคนสำคัญนามสมิธ ดัน ผู้นี้ ซึ่งเป็นช่วงคาบเกี่ยวก่อนพม่าได้รับเอกราช หลังจากนี้จะเกิดความขัดแย้งระหว่างรัฐบาลพม่ากับชาวกะเหรี่ยงขึ้นอย่างรุนแรง จนนำไปสู่สงครามกลางเมืองที่ยาวนานที่สุดในประวัติศาสตร์โลกในที่สุด

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image