มนุษย์แพลตฟอร์ม โดย มิ่งสรรพ์ ขาวสอาด

ในอดีตกาลอันนานโพ้น มนุษย์เคยดำรงชีพอยู่ในถ้ำ เราก็เรียกมนุษย์ในยุคนั้นว่ามนุษย์ถ้ำ แต่มาวันนี้มนุษย์ก็มีที่อยู่อาศัยหลากหลายแตกต่างกัน บางคนก็เป็นมนุษย์คอนโด บางคนก็เป็นมนุษย์บ้านจัดสรรหรือมนุษย์ห้องแถว แต่ในอนาคตอีก 20 ปีข้างหน้า คนไทยเกือบทั้งหมดจะเป็นมนุษย์แพลตฟอร์ม!

คำยืนยันนี้มาจาก รศ.ดร.อภิวัฒน์ รัตนวราหะ หัวหน้าโครงการคนเมือง 4.0 ซึ่งมองภาพอนาคตของคนเมืองของประเทศไทย ภายใต้แผนงานคนไทย 4.0 ซึ่งสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) เป็นผู้สนับสนุนทุนวิจัย ที่จริงในขณะนี้ คนไทยจำนวนหนึ่งก็เป็นมนุษย์แพลตฟอร์มไปแล้ว เริ่มตั้งแต่ตื่นนอนตอนเช้าก็เปิด YouTube เพื่อออกกำลังกาย เสร็จแล้วก็อาจจะดู Google Maps ระหว่างขับรถไปทำงาน หรือบางคนก็อาจจะต้องเรียกแท็กซี่จาก Grab หรือ Line Man ระหว่างทำงานก็อาจจะต้องมีวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ผ่านแพลตฟอร์มการประชุม ขณะที่ทำงานก็อาจจะค้นหาข้อมูลประกอบการทำงานจาก Google พูดคุยและสั่งงานไปด้วยกับ LINE ตกเย็นก็สั่งอาหารจากพวก Food delivery application แม้เวลานอนยังนอนอยู่บนแพลตฟอร์ม เพราะผูกติดนาฬิกาที่วัดการเต้นของหัวใจหรือเครื่องอัดอากาศสำหรับคนนอนกรน ชีวิตของคนสมัยนี้จึงอยู่ในทวิภพ คือ โลกกายภาพหรือเรียกอีกอย่างหนึ่งได้ว่าโลกออฟไลน์ และอีกใบหนึ่งก็คือโลกบนแพลตฟอร์มที่เรียกว่าโลกออนไลน์หรือโลกเสมือน

แพลตฟอร์มเป็นพื้นที่ออนไลน์ ซึ่งสามารถเชื่อมโยงผู้ใช้งานดิจิทัลให้สามารถมีปฏิสัมพันธ์ต่อกันได้ เป็นโมเดลทางธุรกิจใหม่ ซึ่งสามารถให้ผู้ซื้อผู้ขายผู้บริโภคมาแจกจ่าย แสวงหาข้อมูล ทั้งที่เป็นตัวเลข ภาษาเขียน แผนที่ รูปภาพหรือวิดีโอ และสามารถสร้างธุรกรรมให้เกิดมูลค่าแลกเปลี่ยนได้ แพลตฟอร์มออนไลน์จึงเป็นตลาดขนาดใหญ่ที่ไร้พรมแดน ที่บริษัทต่างชาติสามารถแผ่ขยายเครือข่ายการขายไปทั่วโลกด้วยต้นทุนที่ต่ำลงอย่างมหาศาล ประเด็นที่น่าสนใจก็คือสินค้าและบริการที่ขายกันบนแพลตฟอร์มออนไลน์นั้น รวมเอามนุษย์แพลตฟอร์มเข้าไปด้วย กล่าวคือ ถ้าแพลตฟอร์มไหนมีมนุษย์แพลตฟอร์มเข้าร่วมธุรกรรมมาก แพลตฟอร์มนั้นก็จะมีบริษัทห้างร้านสนใจที่จะเข้ามาในแพลตฟอร์มเพื่อโฆษณาสินค้า เพราะเห็นว่าสามารถเข้าถึงซื้อผู้บริโภคได้มาก ยิ่งไปกว่านั้น ข้อมูลของมนุษย์แพลตฟอร์มเกี่ยวกับพฤติกรรมการกิน การอยู่ การเดินทาง การซื้อของก็กลายเป็นสินค้าที่เจ้าของแพลตฟอร์มจะเอาไปขายต่อได้ รศ.ดร.อภิวัฒน์ยังฟันธงต่อไปอีกว่า เมื่อการใช้ชีวิตของคนเมืองอยู่บนแพลตฟอร์มมากขึ้นทุกทีๆ แพลตฟอร์มจึงกลายเป็นพื้นที่สำคัญของการใช้ชีวิตของคนเมืองในแทบทุกด้าน ทุกช่วงเวลาของวันและทุกช่วงเวลาของชีวิตนับตั้งแต่ครรภ์มารดาจนถึงเชิงตะกอน แพลตฟอร์มจะกลายเป็นพื้นที่ทำมาหากินและสะสมความมั่งคั่งของมนุษย์ในอนาคต แทนการสะสมความมั่งคั่งจากการใช้พื้นที่ทางกายภาพดังเช่นปัจจุบัน พูดง่ายๆ ก็คือขณะนี้เรามีเศรษฐีที่ดิน แต่ในอนาคตเราอาจจะมีเศรษฐีที่เกิดจากแพลตฟอร์ม ที่ใช้คำว่า “อาจจะ” ก็เพราะในโลกนี้ตอนนี้ก็มีเศรษฐีแพลตฟอร์มจำนวนมากมายอยู่แล้ว แต่ล้วนไม่ใช่คนไทย มหาเศรษฐีต่างชาติที่เป็นแรงบันดาลใจของคนทั่วโลกก็น่าจะเป็นแจ๊ก หม่า ของอาลีบาบา จากครูโรงเรียนซึ่งไม่มีอะไรเลยกลายเป็นมหาเศรษฐีอสงไขย แต่ตอนนี้เศรษฐีแพลตฟอร์มของไทยยังเป็นวุ้นอยู่ ส่วนใหญ่พยายามทำสตาร์ตอัพเล็กๆ น้อยๆ เพราะแพลตฟอร์มที่คนไทยใช้อยู่เป็นส่วนใหญ่ในขณะนี้ก็ล้วนแต่เป็นแพลตฟอร์มของต่างชาติ

เมื่อเศรษฐกิจแพลตฟอร์มอยู่ในมือของต่างชาติหรือในมือบริษัทขนาดใหญ่ เศรษฐกิจแพลตฟอร์มก็มีโอกาสที่จะเป็นเศรษฐกิจกินรวบได้ เช่น มีการผูกขาดการซื้อ การขายหรือการบังคับให้ร่วมในแคมเปญลดราคาผู้ซื้อผู้ขาย ซึ่งรายเล็กรายน้อยของไทยก็จะตกอยู่ในสภาวะเสียเปรียบ

Advertisement

อีกประเด็นหนึ่งที่ไม่เกี่ยวกับเศรษฐกิจกินรวบก็คือ มนุษย์แพลตฟอร์มจะเป็นมนุษย์ที่เปราะบางกว่าเดิม ทั้งนี้ เพราะนอกจากคนไทย 4.0 จะเป็นมนุษย์แพลตฟอร์มแล้ว คนไทย 4.0 ก็จะเป็นมนุษย์ที่มีความเป็นเสรีนิยมและมีความเป็นปัจเจกมากขึ้น แต่การเป็นปัจเจกนี่เอง ทำให้มนุษย์แพลตฟอร์มกลายเป็นมนุษย์ที่เปราะบางมาก เพราะความเป็นปัจเจกจะไม่สามารถทำให้แต่ละคนรับมือกับปัญหาใหญ่ๆ อย่างปัญหาจากภัยพิบัติ เช่น น้ำท่วม แผ่นดินไหวหรือโรคระบาด

ในอดีตมนุษย์รวมตัวกันเป็นกลุ่มเป็นก้อน เพื่อแก้ไขปัญหาใหญ่ๆ ร่วมกัน เช่น การทำเขื่อน การระบายน้ำ นวัตกรรมทางสังคมเหล่านี้เป็นนวัตกรรมที่สำคัญของมนุษยชาติ ถัดมาก็คือ สถาบันหลักทางสังคมที่ค้ำจุนชีวิตมนุษย์ในโลกกายภาพ ได้แก่ ครอบครัว วัดและโรงเรียน ซึ่งก็เริ่มอ่อนแอลง มิหนำซ้ำบางสถาบัน เช่น สถาบันการศึกษาหรือแม้แต่วัด ก็พยายามพาตัวเองขึ้นไปอยู่บนแพลตฟอร์มเหมือนกันหมด แต่เมื่อมนุษย์ขึ้นไปอยู่บนโลกเสมือน การรวมกลุ่มกันเพื่อแก้ปัญหาทางกายภาพร่วมกันก็เริ่มลดลง มิหนำซ้ำยังปล่อยให้การแก้ปัญหาเป็นงานของรัฐไปเสียทั้งหมด ในขณะที่รัฐก็พยายามแก้ปัญหาผ่านแพลตฟอร์มเหมือนกันเช่นในกรณีการเยียวยาประชาชนเมื่อเกิดโควิด-19 แต่ไม่สามารถบูรณาการข้อมูลในแพลตฟอร์มให้ตรงกับความจริง ปรากฏว่าความช่วยเหลือจากรัฐไม่สามารถไปสู่มนุษย์ที่ยากไร้และตกต่ำที่สุดได้ ที่เชียงใหม่นั้นชุมชนที่ยังมีทุนสังคมแน่นหนาอยู่ ชาวบ้านต้องลุกขึ้นมาช่วยกันทำอาหารส่งให้เพื่อนบ้าน คนจน คนแก่ และผู้เจ็บป่วยที่ติดเตียง แลผู้ที่บอบช้ำจากการที่เศรษฐกิจตกต่ำ

นอกจากปัญหาที่กล่าวมาข้างต้นแล้ว เศรษฐกิจแพลตฟอร์มยังมีปัญหาเรื่องความเหลื่อมล้ำและความไม่เป็นธรรมที่เกิดจากการเข้าถึงข้อมูลและการใช้ประโยชน์และความเป็นส่วนตัวของข้อมูลผู้บริโภคบนแพลตฟอร์มดังกล่าว เมื่อผู้เขียนไปทัศนศึกษาที่สำนักงานใหญ่ของ WeChat บริษัทเท็นเซ็นต์ ประเทศจีน พบว่าบริษัทจ้างนักซอฟต์แวร์เอ็นจีเนียร์ถึง 6,000 คน ให้ทำหน้าที่ในการป้องกันการแฮกอย่างเดียวทุกวัน ดังนั้น มาตรการและกลไกในอนาคตที่จะส่งเสริมมนุษย์แพลตฟอร์มให้มีศักยภาพ ได้แก่ การสร้างกติกา และสัญญาประชาคมบนโลกแพลตฟอร์มจึงเป็นเรื่องจำเป็น

เมื่อเราหยั่งรู้อนาคตได้เช่นนี้แล้ว ยุทธศาสตร์ สำคัญของ Thailand 4.0 เพื่อลดความเปราะบางทางสังคมก็คือ การส่งเสริมการสร้างคติรวมหมู่ (Collectivism) หรือสร้างทุนสังคมให้แน่นหนาขึ้นนั่นเอง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image