คุณภาพคือความอยู่รอด : สิ่งที่แก้ปัญหาซ้ำซากได้ โดย วิฑูรย์ สิมะโชคดี

คุณภาพคือความอยู่รอด : สิ่งที่แก้ปัญหาซ้ำซากได้ โดย วิฑูรย์ สิมะโชคดี

ทุกวันนี้เรามี “ปัญหาซ้ำซาก” มากมายในทุกองค์กรและในชีวิตประจำวัน ปัญหาหลายอย่างเกิดครั้งแล้วครั้งเล่า (ปัญหาซ้ำซาก) ก็เพราะเราไม่สามารถแก้ปัญหานั้นๆ ได้ น้อยครั้งก็เกิดเพราะการปล่อยปละละเลยจนกลายเป็นปัญหาสะสมที่แก้ไขได้ยาก
ว่าไปแล้วปัญหาที่เกิดจาก “ความผิดพลาด” ต่างๆ ในที่ทำงาน มักจะเกิดจาก (1) ทำงานโดยไม่ถูกขั้นตอน (2) ทำงานโดยไม่เข้าใจคำสั่ง/ไม่รู้จริง (3) ผู้ปฏิบัติงานไม่ยอมทำตามคู่มือหรือมาตรฐานการปฏิบัติงานที่มีอยู่ (4) การสอนงานของหัวหน้าไม่ชัดเจนหรือไม่ถูกต้อง และอื่นๆ ที่แสดงถึงความบกพร่องของหัวหน้าและหรือผู้ปฏิบัติงานเป็นส่วนใหญ่

บ่อยครั้งที่ปัญหามักเกิดจาก “การถ่ายทอด” หรือ “การสั่งการ” ของหัวหน้าโดยตรงหรือผู้บริหารตามลำดับชั้น จึงมีผลต่อความสำเร็จหรือล้มเหลวของแต่ละองค์กร ซึ่งเมื่อศึกษาวิเคราะห์ดูแล้ว จะเห็นว่าเกี่ยวข้องกับความสัมพันธ์ของ “หัวหน้า” กับ “ลูกน้อง” ในเรื่องการสั่งการหรือมอบหมายงานเป็นสำคัญ

โดยทั่วไปแล้ว เรามักจะได้ยินเสียงบ่นจากลูกน้องหรือคนทำงานเสมอๆ ว่า “สั่งอะไรไม่รู้เรื่องเลย” “ดีแต่สั่งไม่เห็นบอกว่าทำอย่างไรเลย” “สั่งแบบนี้ใครๆ ก็เป็นหัวหน้าได้” เป็นต้น ซึ่งสะท้อนถึง “ความเป็นมืออาชีพ” ของหัวหน้าหรือผู้บริหารจริงๆ

Advertisement

ปัญหาซ้ำซากดังกล่าวข้างต้นนี้ คือ ปัญหาที่เกี่ยวข้องกับคำว่า “คุณภาพ” จริงๆ เพราะเป็นการสื่อสารที่ไม่มีคุณภาพ (ออกคำสั่งที่ไม่มีคุณภาพ) คือ ทำตามสั่งแล้วไม่ได้ผลลัพธ์ตามต้องการ

เพราะถ้ามีคุณภาพแล้ว ผู้ได้รับคำสั่ง (ผู้ปฏิบัติงาน) ก็คงทำงานไม่ผิดพลาด ผลงานที่ออกมาก็ถูกต้องตามเป้าหมาย ทำให้สามารถประหยัดค่าใช้จ่ายจาก “ของเสีย” หรือเวลาและแรงงานที่ต้องทำใหม่

ผมขอใช้คำว่า “คำสั่งที่มีคุณภาพ” เพราะเป็นคำสั่งที่ทำให้ผู้ปฏิบัติงานทำงานได้ถูกต้องและบรรลุเป้าหมายตามที่ผู้สั่งต้องการ ซึ่งสามารถลดความสูญเสียจากความผิดพลาดต่างๆ ในการปฏิบัติงานได้

Advertisement

“คำสั่งที่มีคุณภาพ” จึงหมายถึง คำสั่งที่ทำให้ผู้ปฏิบัติงานเข้าใจในความต้องการของผู้สั่ง และสามารถปฏิบัติงานได้ถูกต้องจนบรรลุเป้าหมายหรือได้ผลลัพธ์ตามที่ต้องการ โดยไม่ต้องอธิบายซ้ำหรือตีความใดๆ

คำสั่งที่มีคุณภาพ จึงสามารถกำจัด “ปัญหาซ้ำซาก” ที่เกิดขึ้นในองค์กรและชีวิตประจำวันได้ หรือ “ลด” ปัญหาซ้ำซากอย่างได้ผล

แต่น่าเสียดายที่สังคมไทยเต็มไปด้วยคำพูดที่ฟังเพราะหู ซึ่งไม่สามารถจะเข้าใจความหมายที่แท้จริง อันนำไปสู่การปฏิบัติให้เกิดผลลัพธ์ได้ และบ่อยครั้งที่ต้องตีความคำพูดที่ดูดีเหล่านั้นก่อนลงมือปฏิบัติต่อไปด้วยซ้ำ

ในชีวิตจริงแล้ว จึงมีบ่อยครั้งที่เราอึดอัดกับการสั่งงานที่ไม่รู้เรื่องของหัวหน้าและผู้บริหาร (คือไม่รู้จะให้ทำอะไรหรือจะเอาอย่างไรแน่) ซึ่งทำให้เราต้องหาวิธีทำงานเอง บางครั้งก็ต้องคลำผิดคลำถูกเอง ทำให้เสียเวลา สิ้นเปลือง และเหนื่อยฟรีด้วย เพราะจบลงด้วยการต้องแก้ไขปรับปรุงงานหรือต้องทำใหม่เลย

สถานการณ์ทุกวันนี้ จึงทำให้เราต้องหันมาให้ความสำคัญกับเรื่องของ “คำพูดแห่งคุณภาพ” หรือ “ภาษาแห่งคุณภาพ” โดยเฉพาะ “คำสั่งที่มีคุณภาพ” อย่างจริงจังมากขึ้น เพื่อจะได้ไม่อยู่ในวังวนของการแก้ไข “ปัญหาซ้ำซาก” แบบไม่รู้จบ ครับผม!

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image