ภาพเก่าเล่าตำนาน พระเมตตาธรรม…ค้ำจุนชีวิต โดย พลเอก นิพัทธ์ ทองเล็ก

ภาพเก่าเล่าตำนาน พระเมตตาธรรม…ค้ำจุนชีวิต โดย พลเอก นิพัทธ์ ทองเล็ก

ภาพยนตร์ เรื่อง ทุ่งสังหาร หรือ Killing Fields ที่ออกฉายทั่วโลกเมื่อ พ.ศ.2527 คือ โศกนาฏกรรมที่เปิดเผยการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวกัมพูชานับล้านคน เป็นเหตุการณ์จริงที่เกิดขึ้นตามแนวชายแดนไทย-กัมพูชา… เหยื่อแห่งสงครามนับแสนคน “หนีตาย” เข้ามาในแผ่นดินไทย

เหตุการณ์อึกทึกครึกโครม คนเป็นแสนมืดฟ้ามัวดินเดินเข้ามา ขอความเมตตาเยี่ยงนี้ เกิดขึ้นเกือบตลอดแนวชายแดน ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน หน่วยงานราชการ ภาคประชาชนตื่นตระหนกกับการจัดการ

หากแต่วันนั้น พระบารมีปกเกล้าฯ การตัดสินพระทัยสุขุม แฝงด้วยเมตตาธรรม คือ หมุดหมายของการช่วยรักษาชีวิตชาวกัมพูชานับแสนคน…คนเหล่านั้นที่รอดชีวิต วันนี้ก็ยังมาบอกเล่าได้

Advertisement

ภาพเก่า…เล่าตำนาน ขอย้อนอดีตไปราว 40 ปี เพื่อสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ พระเมตตาที่มีต่อเพื่อนมนุษย์นับแสนคน เป็นประวัติศาสตร์ที่ชนรุ่นหลังควรได้ทราบ

…สงครามกลางเมืองในกัมพูชา มหาอำนาจเข้ามาบงการ และแย่งชิงกันเอง ยืดเยื้อเรื้อรังหลายสิบปี มีตัวละครหลัก-รอง มีผลประโยชน์ยิ่งใหญ่ ยุ่งเหยิง สับสน ซึ่งจะไม่ขอเสียเวลาทวนความ

ขอตัดฉากรวบรัด… 17 เมษายน พ.ศ.2518 พอล พต ที่ได้รับการสนับสนุนจากจีนแบบเต็มพิกัดทำสงครามกองโจร นำกำลังทหาร ชิงอำนาจการปกครองประเทศกัมพูชาจากนายพล ลอน นอล มาได้

พอล พต คือ ผู้นำสายเหยี่ยว มีกองกำลังที่เรียกว่า “เขมรแดง” เป็นทหารป่าสายโหดถืออาวุธนับหมื่นนาย ทหารทุกนายถูกฝังรากลึกในสมองด้วยอุดมการณ์ที่จะเชื่อฟัง ภักดี ต่อผู้นำเป็นนักรบ นักฆ่า

พอล พต ขึ้นเป็นผู้นำประเทศ ตลอดชีวิตที่ผ่านมา เคยฝันที่จะให้ประเทศกัมพูชาเป็นสังคมนิยมแบบสุดโต่ง

พอล พต ออกคำสั่งให้ประชาชนกัมพูชาทุกคนต้องเป็น “แรงงาน” ในการผลิตพืชผล ต้องไปทำนา ปลูกข้าว ทำสวน ทำไร่ มีการจัดระเบียบประชากรใหม่ ทุกคนต้องอยู่ในการดูแล สอดส่องของ “องค์การ”

ชาวเมืองชายหญิงที่ทำงานในเมือง ทำมาค้าขาย ครู อาจารย์ นายธนาคาร นักศึกษา ต้องออกไปทำงานในชนบทให้หมด

ประชาชนกัมพูชาส่วนหนึ่งที่มองเห็น “นรก” อยู่ตรงหน้า รีบเผ่นออกนอกประเทศ กระจัดกระจายไปทั่วโลก

พวกที่หนีไม่ทัน ไม่รู้เหนือ-รู้ใต้ ถูกกวาดต้อนออกจากเมือง ในเวลานั้น พนมเปญและเมืองใหญ่ทั้งหมด กลายเป็นเมืองร้าง หากเขมรแดงตรวจพบว่าใครหลบซ่อนอยู่ จะถูกยิงทิ้งทันที ชาวโลกไม่รู้เรื่องเป็นตายร้ายดีในกัมพูชา สื่อถูกขับไล่ออกนอกประเทศ… ปิดประเทศเพื่อการพัฒนา

ที่ดินทุกแห่งต้องเป็นแหล่งผลิตอาหาร ชาวเมืองที่ไม่เคยจับจอบ จับเสียม ต้องแต่งชุดสีดำทำงานในชนบท อาหารการกินไม่พอ เจ็บป่วย ทยอยตายกันเป็นร้อย เป็นพัน และเป็นหมื่น…วันแล้ววันเล่า…

ซากศพทั้งปวงถูกโยนทิ้งในบึง ในบ่อ บุคคลที่อยู่ในบัญชีของพอล พต บ้างก็นำไปคุมขังที่คุก ตวลสเลง ในพนมเปญ (ปัจจุบันกลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยว) ศพที่เกลื่อนแผ่นดิน เป็นที่มาของชื่อภาพยนตร์ ทุ่งสังหาร

ประชาชนชาวกัมพูชามือเปล่า ไม่มีทางต่อสู้กับกองกำลังเขมรแดงที่เป็นสายโลหิตด้วยกัน ต่างหาทางดิ้นรน มองไปทางทิศตะวันตก ขอหนีตาย ขอมุ่งหน้าเดินเท้าในป่าลักลอบเข้ามาในดินแดนไทย ชาวเขมรผู้ทุกข์ยาก ทยอยหลบหนีเข้ามาเป็นกลุ่มๆ ตามช่องทางธรรมชาติ

เขมรแดงกดดัน สร้างความทุกข์ทรมานกับประชาชนเพื่อนร่วมชาติอย่างต่อเนื่อง พอล พต พอใจกับแนวทางการสร้างชาติขึ้นมาใหม่ โดยไม่แยแสกับความตายของประชาชนนับล้าน ต่อมา…เขมรแดงกลุ่มหนึ่ง ไปสวามิภักดิ์กับมหาอำนาจเวียดนามที่เกรียงไกร

25 ธันวาคม พ.ศ.2521 ทหารเวียดนามนับแสนนายบุกกัมพูชาเต็มพิกัด เข้ามาทำสงครามกับเขมรแดง ขับไล่ พอล พต

เพียง 2 สัปดาห์ ทหารเวียดนามบุกถึงพนมเปญ โค่นพอล พต ลงได้

พี่น้องชาวกัมพูชาโดน 2 เด้ง ทั้งเขมรแดงและเวียดนาม กลายเป็นคีมบีบคั้นชีวิตให้ลำบากแสนเข็ญ ถูกปล้น ข่มขืน เวียดนามเข้าปกครองประเทศ กองทัพเวียดนามรุกไล่เขมรแดง และประชาชนมาประชิดชายแดนไทย

เวียดนามเข้ามาวางกับระเบิด ทุ่นระเบิดนับหมื่น นับแสนลูก ตามแนวชายแดนไทยเพื่อสกัดการหลั่งไหลของประชาชนและเขมรแดงไม่ให้เข้ามาในดินแดนไทย
(พ.ศ.2563 ยังเก็บกู้กันไม่หมด)

ชาวเขมรหลายแสนคน ที่มีสภาพเหมือนคนตาย ทะลักเข้าไทยทาง ปราจีนบุรี จันทบุรี และตราด….

สื่อมวลชนของไทยของต่างประเทศ ลงพื้นที่ไปทำข่าวแพร่ไปทั่วโลก

ตลอดแนวชายแดน ตั้งแต่ศรีสะเกษยาวตลอดแนวลงไปถึงตราด คือ พื้นที่ “ปลอดภัย” สำหรับชาวกัมพูชา

ชาวกัมพูชา ระลอกใหญ่ ชุดใหญ่ที่สุดเข้ามาทางจังหวัดตราด

ในช่วงเวลานั้น…สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ประทับ ณ พระราชวังไกลกังวล หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ ทรงทราบถึงเหตุการณ์ดังกล่าว

สมเด็จพระนางเจ้าฯ มีพระประสงค์ เสด็จฯ ไปทรงเยี่ยม “พื้นที่เขาล้าน” จ.ตราด โดยเฮลิคอปเตอร์พระราชพาหนะ เพื่อขอทอดพระเนตรเหตุการณ์จริง ชาวเขมรนับแสนทะลักเข้ามา โดยที่ยังไม่มีหน่วยงานใดเข้ามาช่วยเหลือ

สภาพของผู้หนีตาย ล้วนป่วยเจ็บจากไข้มาลาเรีย ท้องเสีย มีบาดแผลตามร่างกาย ถูกปล้น ผู้หญิงล้วนโดนข่มขืนโดยเขมรแดง

วันที่ 26 พฤษภาคม 2522 สมเด็จพระนางเจ้าฯ ในฐานะองค์ประธานสภากาชาดไทย เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมผู้อพยพชาวเขมร ซึ่งรวมกันอยู่ที่บ้านเขาล้าน ต.ไม้รูด อ.คลองใหญ่ จ.ตราด

40 กว่าปีที่แล้ว เรื่องการติดต่อสื่อสาร เรื่องยานพาหนะ เจ้าหน้าที่ เครื่องมือ และหน่วยงานที่จะเป็น “เจ้าภาพ” แบบ Single Command เป็นเรื่องที่ยากยิ่ง การจัดการขั้นต้น ทำอะไรไม่ได้มากนัก ก็จะเป็นหน่วยทหารที่ประจำอยู่ตามแนวชายแดน…

หลังจากทรงรับทราบข้อมูลในพื้นที่…จึงมีพระราชกระแสรับสั่งฯ ให้จัดสร้าง “ศูนย์สภากาชาดไทย” ขึ้นที่บริเวณเขาล้านทันที…นี่ คือ พระบารมีอันยิ่งใหญ่ในยามวิกฤต

สภาพความอเนจอนาถของชาวเขมรที่นอนเกลื่อนพื้น เป็นตายเท่ากัน สิ่งปฏิกูลที่ขับถ่ายออกมาระเกะระกะไปทั่วพื้นที่ คนนอนรอตาย คนตายแล้ว สภาพพื้นดินที่สกปรก กลิ่นของอุจจาระ ปัสสาวะ ทั้งหลายทั้งปวงมิได้เป็นอุปสรรคใดต่อพระองค์แม้แต่น้อย

ท่านเสด็จฯ ไปทอดพระเนตรเพื่อนมนุษย์ผู้น่าสงสาร ด้วยพระองค์เอง พร้อมทั้งทรงมีรับสั่งให้ระดมความช่วยเหลือ ความเร่งด่วนคือ นมผง และน้ำเกลือสำหรับเด็กทารก และเด็กๆ ที่ป่วยและหิวโหย

ต้องยอมรับว่า ในเวลานั้น ส่วนราชการ ภาคเอกชน ในประเทศไทยยังไม่มีประสบการณ์ที่จะรับมือกับผู้อพยพนับแสน

ปัจจัย 4 อาหาร ยารักษาโรค เครื่องนุ่งห่ม ที่พัก คือ สิ่งที่ไม่มี

ที่น่าเวทนาที่สุด คือ เด็กทารก เด็กเล็ก

ประสบการณ์ของผู้เขียน ณ พื้นที่เขากกมะม่วง อ.วัฒนานครต้องยอมรับว่า องค์การระหว่างประเทศระดมอาหาร น้ำดื่ม ยา หน่วยแพทย์ ผ้ากันฝน ผ้าห่ม นมสำหรับเด็กเข้ามาในพื้นที่แบบท่วมท้น โดยมีเจ้าหน้าที่สภากาชาดเป็นผู้ชี้แนะ

1 สิงหาคม พ.ศ.2522 สมเด็จพระนางเจ้าฯ เสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วยสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ (พระอิสริยยศในขณะนั้น) ทรงเยี่ยมศูนย์สภากาชาด เขาล้าน จังหวัดตราด อีกครั้งด้วยทรงห่วงใย

22-23 สิงหาคม พ.ศ.2522 สมเด็จพระนางเจ้าฯ เสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วยสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ ทรงเยี่ยมศูนย์สภากาชาดไทยแห่งใหม่ที่เพิ่งสร้างเสร็จตามพระราชเสาวนีย์

29 ตุลาคม 2522 สมเด็จพระนางเจ้าฯ เสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วยสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ ทรงเยี่ยมชาวเขมรอพยพ ณ ศูนย์สภากาชาดไทย เขาล้าน ทรงติดตามงานด้านมนุษย์ธรรมที่ดำเนินไปด้วยดี

ประวัติศาสตร์ต้องจารึกว่า สมเด็จพระนางเจ้าฯ ทรงพระราชทานกำเนิด “ศูนย์อพยพเขาล้าน” เพื่อรักษาชีวิตชาวเขมรนับแสน

ทรงมีพระราชเสาวนีย์ว่า “ฉันตัดสินใจที่จะช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์เหล่านี้ เท่าที่กำลังความสามารถของฉันจะมี”

พระองค์ฯ พระราชทานความช่วยเหลือ โดยมิได้ทรงคำนึงถึงเชื้อชาติ ศาสนาของเพื่อนมนุษย์ และทรงกำกับการทำงานทั้งปวง ผ่านเจ้าหน้าที่ของพระองค์เองที่ต้องอยู่ทำงานในพื้นที่ตลอดเวลา

เมื่อ พอล พต ถูกกองกำลังของเวียดนามโค่นลง สหประชาชาติรับรองว่าสถานการณ์ปลอดภัย การส่งกลับเข้าไปในกัมพูชาก็เริ่มขึ้นแบบทยอย

นับแต่เปิดศูนย์ฯ เมื่อเดือนพฤษภาคม 2522 สภากาชาดไทย ช่วยชีวิตพี่น้องเขมร ให้มีที่พักพิง โดยเฉพาะทารก เด็กเล็ก บางส่วนเดินทางไปประเทศที่สาม ส่วนที่เหลือเมื่อสงครามสงบ จึงทยอยส่งกลับ รวมระยะเวลาที่ดูแลให้ที่พักพิงชาวเขมรพื้นที่ตรงนี้ราว 7 ปี

องค์กรระหว่างประเทศจัดส่งชาวกัมพูชาบางส่วนไปอเมริกา ยุโรป

ค่ายอพยพที่ใหญ่ที่สุดอยู่ที่ เขาอีด่าง อ.ตาพระยา องค์กรระหว่างประเทศเข้ามา อุ้มชู ดูแล ชาวเขมรอีกราว 2 แสนคน รอดชีวิตทั้งหมด และเด็กๆ ยังได้รับการดูแลเรื่องการศึกษา

ศูนย์เขาล้านแห่งนี้ได้ปิดลงอย่างเป็นทางการเมื่อ 4 กรกฎาคม 2529 ต่อมาใน 29 เมษายน 2535 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี อุปนายิกาผู้อำนวยการสภากาชาดไทย เสด็จฯ ไปทรงวางศิลาฤกษ์ เพื่อจัดสร้างพิพิธภัณฑ์เฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าฯ ครบ 60 พรรษา

26 พฤษภาคม 2537 สมเด็จพระนางเจ้าฯ เสด็จฯ ไปทรงเปิดพิพิธภัณฑ์ที่ก่อสร้างขึ้นในพื้นที่ประวัติศาสตร์แห่งนี้ โดยอาคารได้รับพระราชทานนามว่า ศาลาราชการุณย์

น้ำพระทัย พระมหากรุณาธิคุณ ยังแผ่ไปถึงศูนย์อพยพตลอดแนวชายแดนไทย-กัมพูชา อีก 7 แห่ง ทรงช่วยชีวิตมนุษย์ นับแสนคน

ผ่านมาราว 40 ปี …มีใครซักคนมั้ยที่นึกถึงเหตุการณ์ในช่วงเวลานั้น

เด็กชายชาวกัมพูชาคนหนึ่ง ที่เคยอพยพหนีภัยสงครามเข้ามาพักพิงในเมืองไทย โดยอาศัยอยู่ในศูนย์อพยพเขาล้าน จ.ตราด เมื่อปี 2522 ซึ่งสมเด็จพระนางเจ้าฯ ได้เคยเสด็จฯ เยี่ยมชาวเขมร ณ ศูนย์อพยพฯ และพระราชทานพระบรมราชานุเคราะห์ ต่อมาอพยพไปเติบโตในอเมริกา

ดนัย คมคาย ไปเติบโตใช้ชีวิตในสหรัฐอเมริกา เคยกลับมาเมืองไทย และได้กราบบังคมทูลถึงความรู้สึกซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ที่ทรงมีต่อตน ทั้งที่ไม่ใช่ชาวไทย

ผู้เขียนขออ้างข้อมูลของ “ไทยรัฐ” ….ระบุว่า ดนัย วัย 37 ปี ซึ่ง พูดภาษาไทยได้อย่างชัดเจนกล่าวว่า ในช่วงเวลานั้นตนมีอายุ 3 ขวบ แต่ยังจำได้ดีว่าเดินทางโดยเท้ากับแม่ หนีออกมาจากพนมเปญตอนที่เขมรแดงบุก

เดินไปเรื่อยไม่มีจุดมุ่งหมายนับเดือน ซึ่งตนเคยหลงกับแม่ไปพักหนึ่งแล้ว บังเอิญมาเจอกันอีกในป่า ก่อนที่จะเข้ามาสู่ชายแดนไทย ขณะที่เดินอยู่ใกล้ชายแดนนั้น ตนและแม่เกิดอาการเมาเห็ดเจียนตาย นอนสลบอยู่ แต่บังเอิญมีคนที่เคยรู้จักช่วยแบกเข้ามาถึงชายแดนไทย…

จากนั้นตนได้รับการดูแลรักษาจากทหารไทย ก่อนที่จะไปพำนักที่ศูนย์อพยพเขาล้าน ระหว่างที่อยู่เขาล้าน ได้รู้ว่าจะมีคนมาเยี่ยม เพราะมีรถยนต์ มีเฮลิคอปเตอร์ และคนจำนวนมากมาที่ศูนย์ฯ ทีแรกคิดว่าเป็นคนรวยที่มีน้ำใจจะมาเยี่ยม จากนั้นก็รู้ว่าเป็นคนสำคัญจากในพระราชวัง

…ตนไม่เคยคิดว่าเป็นสมเด็จพระนางเจ้าฯ เพราะที่ค่ายนั้นไม่ได้น่าดู มีคนป่วยคนเจ็บจากบาดแผล รวมทั้งอาจมีอันตรายจากระเบิดที่อาจจะยิงเข้ามาได้ เมื่อพระองค์เสด็จฯ มา ได้เสด็จฯเยี่ยมพวกเราอย่างใกล้ชิด อย่างไม่ทรงรังเกียจ นอกจากนี้ พระองค์ยังพระราชทานทุนให้ตนได้เรียนหนังสือไทยที่จังหวัดสุรินทร์ เป็นเวลาหลายปี

…ชีวิตที่มีอยู่ทุกวันนี้ บอกได้เลยว่าเป็นเพราะพระองค์ท่าน ผมได้เล่าให้ลูกฟังตลอด แม้จะผ่านมากว่า 30 ปีแล้ว ผมยังจดจำได้ตลอด ไม่มีคำพูดใดที่เกินคำว่าขอบคุณที่พระองค์ท่านทรงช่วยชีวิตผมและแม่

อยากให้พระองค์ท่านทรงพระเจริญยิ่งยืนนาน ผมจะทำตามรอยพระองค์ในการช่วยเหลือมนุษย์ทั้งปวง ไม่ว่าจะสัญชาติไหน ผมจะทำดีเจริญรอยตามพระองค์ท่าน อดีตผู้อพยพชาวกัมพูชากล่าวอย่างซาบซึ้งในน้ำพระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง…

ปวงชนชาวไทยขอถวายพระพร ทรงพระเจริญ…

พลเอก นิพัทธ์ ทองเล็ก

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image