ปฏิรูปประเทศหลังโควิด – 19 โดย โคทม อารียา

หลัง (หรือต่อเนื่องจาก) โควิด -19 จะมีวิกฤตครั้งใหญ่ สุนัย เศรษฐ์บุญสร้างจึงเขียนหนังสือชื่อ “ปฏิรูปประเทศไทย เพื่อรับมือกับคลื่นมหาวิกฤต” ก่อนหน้านี้ สุวิทย์ เมษินทรีย์ก็เขียนหนังสือชื่อ “โลกเปลี่ยน คนปรับ หลุดจากกับดัก ขยับสู่ความยั่งยืน” โดยเนื้อหาแบ่งออกเป็น “1) ความพอเพียง 2) เตรียมคนไทยเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ และ 3) สังคมของพวกเรา … ในโลกหลังโควิด” และคงมีหนังสือออกมาอีกหลายเล่มในหัวข้อนี้ เนื่องจากผมได้เขียนบทความเกี่ยวกับหนังสือ “โลกเปลี่ยน คนปรับ” ไปบทหนึ่งแล้ว ในที่นี้ จะขอจับใจความบางประการของหนังสือของสุนัย ซึ่งแม้จะมีเนื้อหาไปในทำนองเดียวกันกับของสุวิทย์ เช่น เน้นความพอเพียงเหมือนกัน แต่มีการแสดงเหตุผลและข้อเสนอแนะที่ต่างไป

สุนัยเสนอให้ปฏิรูปประเทศไทยในสามด้าน (แบบสามเส้าหรือไตรภาค) คือ ปฏิรูปให้เกิด

1) ระบบเศรษฐกิจแบบกลไกตลาดที่เป็นธรรม

2) ระบบประชาธิปไตยที่มีทั้งคุณภาพและคุณธรรม

Advertisement

3) สังคมที่มีความสมานฉันท์บนรากฐานความเป็นไทยที่ประกอบด้วยสถาบัน ‘ชาติ ศาสน์ กษัตริย์’ ระบบเศรษฐกิจแบบกลไกตลาดที่เป็นธรรม

สุนัยเชื่อว่าวิกฤตเศรษฐกิจคราวนี้จะรุนแรงเทียบได้กับวิกฤติหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 ที่เรียกกันว่า the great depression (ค.ศ. 1929 – 1933) ที่เศรษฐกิจหดตัวอย่างหนักทั่วโลก จึงเสนอวิธีรับมือคือ การพัฒนาเศรษฐกิจแบบสองลู่วิ่ง กล่าวคือ ลู่วิ่งหนึ่งมุ่งยกระดับศักยภาพการแข่งขัน อันจำเป็นต่อการติดต่อค้าขายกับประเทศอื่น อีกลู่วิ่งหนึ่งมุ่งพัฒนา ‘หมู่บ้าน – ชุมชน ในระดับฐานราก’ เพื่อรองรับคนที่ไม่พร้อมหรือไม่อยากอยู่บนลู่วิ่งที่ต้องแข่งขันกับโลก วิธีพัฒนามี อาทิ ตั้งศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงชุมชน มีหน้าที่จัดอบรมให้ผู้คนรู้จัก ‘ลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ ขยายโอกาส’ ควบคู่ไปกับนโยบาย เช่น การพักชำระหนี้เกษตรกร การสนับสนุนกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง การจัดสรรเงินให้โครงการ SML ที่แต่ละหมู่บ้าน – ชุมชนไปบริหารจัดการเอง โดยรัฐเพียงแต่กำหนดกติกาและคอยส่งเสริม เป็นต้น

สุนัยเชื่อว่าตลาดที่เป็นธรรมสอดคล้องกับหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งตรงกับพระราชดำรัสของในหลวงรัชกาลที่ 9 เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2540 ในยามที่ประเทศเผชิญกับวิกฤติ ‘ต้มยำกุ้ง’ ความตอนหนึ่งว่า “… การเป็นเสือนั้นไม่สำคัญ สำคัญอยู่ที่เรามีเศรษฐกิจพอมีพอกิน … ให้มีพอเพียงกับตัวเอง … ถ้าสามารถที่จะเปลี่ยนไปทำให้กลับเป็นเศรษฐกิจแบบพอเพียง ไม่ต้องทั้งหมด … อาจจะสักเศษหนึ่งส่วนสี่ ก็จะสามารถอยู่ได้” แม้รัฐอาจได้เงินภาษีจากภาคเศรษฐกิจพอเพียง หรือเศรษฐกิจฐานราก น้อยกว่าจากภาคอื่น แต่ก็ช่างเถอะ เพราะเป้าหมายของรัฐคือให้ทุกคน ‘พออยู่ พอกิน มีความสงบสุข’ มิใช่หรือภาคเศรษฐกิจส่วนใหญ่ขึ้นอยู่กับกลไกตลาด กลไกจึงต้องเป็นธรรมด้วย สุนัยอ้างถึง ‘กฎการถดถอยของอรรถประโยชน์หน่วยสุดท้าย’ (law of diminishing marginal utility) ที่ชี้ว่าถ้าเราบริโภคสินค้าหรือบริการชนิดหนึ่งไปเรื่อย ๆ อรรถประโยชน์จากการบริโภคหน่วยหลัง ๆ ก็จะลดน้อยลงเรื่อย ๆ เช่น การกินก๋วยเตี๋ยวชามแรกให้อรรถประโยชน์แก่เรามากที่สุด เราพอใจมากเพราะกำลังหิว สมมุติคิดความพอใจเป็น 10 หน่วย พอกินชามที่สอง ความพอใจจะลดลง เพราะเราเริ่มจะอิ่มแล้ว สมมุติคิดความพอใจเป็น 5 หน่วย พอกินชามที่ 3 ความพอใจอาจเหลือเพียง 1 หน่วย เพราะกินแทบไม่ไหวแล้ว รวมก๋วยเตี๋ยวสามชาม ให้ความพอใจแก่เรา 16 หน่วย แต่ถ้าเราเอาชามที่ 3 ไปให้แก่คนที่กำลังหิวกิน ความพอใจหรืออรรภประโยชน์รวมจะเพิ่มเป็น 25 หน่วยทันที ดังนั้น ถ้าผู้คนลดส่วนที่เกินความพอเพียง แบ่งปันทรัพยากรที่เหลือกินเหลือใช้ให้คนที่ขาดแคลนกว่า อรรถประโยชน์รวมขอ

Advertisement

สังคมจะเพิ่มขึ้น กล่าวอีกนัยหนึ่ง เราไม่ควรใช้แต่ผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ (GDP) เป็นตัววัดความเจริญทางเศรษฐกิจ หากควรใช้ตัววัด เช่น GDP/Gini index มากกว่า โดยที่ Gini index คือสัมประสิทธิ์ที่วัดความเหลื่อมล้ำของรายได้ เป็นต้นหากมีเป้าหมายเช่นนี้ รัฐจะต้องพยายามเพิ่ม GDP และพยายามลดความเหลื่อมล้ำ (เพิ่ม Gini index) ไปพร้อมกัน ทั้งนี้โดยทำความเข้าใจในเรื่องอรรถประโยชน์รวมในหมู่ประชาชนและคนรุ่มรวยที่มีรายได้สูงและถือครองทรัพย์สินมาก เช่น มีเงินในธนาคาร มีหุ้น และถือกรรมสิทธิ์ที่ดินมากมาย ให้เข้าใจว่าเขาควรลดส่วนที่เกินความพอเพียง ยอมจ่ายภาษีเต็มเม็ดเต็มหน่วย ยอมจ่ายภาษีมรดก ภาษีจากการกำไรหุ้น ยอมจำกัดการถือครองที่ดิน ฯลฯ ถึงอย่างไร ในวันที่เสียชีวิตก็เอาสมบัติไปด้วยไม่ได้! หากทำเช่นนี้ รัฐจะมีรายได้เพิ่มเพื่อไปจัดสวัสดิการ และไปส่งเสริมการมีงานทำให้แก่คนทุกคน

ระบบประชาธิปไตยที่มีทั้งคุณภาพและคุณธรรม

วิกฤติโควิด – 19 คงตามมาด้วยวิกฤติการเมือง ซึ่งจะต้องรับมือให้ดี มิให้บานปลายเป็นความเหลืออดและความรุนแรง เหมือนหลายครั้งที่ผ่านมา ทางเลือกที่จะรับมือมี เช่น ปรับ ครม. ตั้งรัฐบาลชาติ ยุบสภาเลือกตั้งใหม่ ทำรัฐประหาร ปฏิรูปการเมืองโดยการเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ เป็นต้น

ในเรื่องการปฏิรูปการเมืองนั้น สุนัยมีข้อเสนอว่าควรร่างรัฐธรรมนูญขึ้นมาใหม่ แต่ก่อนที่จะทำเช่นนั้น ควรพยายามทำความเข้าใจกับวิกฤติการเมืองที่เกิดขึ้นในรอบสิบกว่าปีที่ผ่านมา เขาสรุปเพียงเพื่อให้เข้าใจเรื่องซับซ้อนให้ง่ายขึ้นว่า ฝ่ายเสื้อสีเหลืองต้องการการเมืองที่มีคุณธรรม ส่วนฝ่ายเสื้อสีแดงต้องการการเมืองที่ยึดโยงกับประชาชน ข้อเสนอของเขาจึงได้แก่การพัฒนาทั้งคุณภาพและคุณธรรมทางการเมืองไปพร้อมกันอย่างสมดุล รัฐธรรมนูญฉบับ ‘ปราบโกง’ แม้จะมีบทบัญญัติในรายละเอียดและมีความซับซ้อนมากมาย คงจะสร้างคุณธรรมทางการเมืองไม่สำเร็จ เพราะมัวแต่จะลงโทษ มัวแต่บังคับ อีกทั้งในการนำไปใช้ก็มีหลายมาตรฐาน

สุนัยเสนอว่า ก่อนอื่นควรทำให้เกิด ‘จุดหมายร่วม’ ของสังคมการเมือง โดยการบัญญัติจุดหมายร่วมไว้ในรัฐธรรมนูญอย่างกว้าง ๆ และเรียบง่าย ส่วนรายละเอียดที่ไม่ใช่หลักการใหญ่และยังตกลงกันไม่ได้นั้น ให้นำไปถกแถลงต่อในการบัญญัติกฎหมายลูก ขณะเดียวกัน ก็ช่วยกันสร้างประเพณีการตีความรัฐธรรมนูญตามหลักวิชาการอย่างเป็นธรรมเพื่อสร้างระบบการเมืองที่มีคุณธรรม สุนัยเสนอให้นำพระราชดำรัสของในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่ได้พระราชทานเมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2549 ในเรื่อ

คุณธรรม 4 ประการมาเป็นส่วนหนึ่งของจุดหมายร่วม เพื่อถือปฏิบัติต่อไป ซึ่งมีความโดยย่อว่า

1) ทุกคนคิด พูด ทำ ด้วยความเมตตา มุ่งดี มุ่งเจริญต่อกัน ซึ่งสอดคล้องกับหลักสาราณียธรรมข้อ 1., 2., และ 3 ที่ว่า ‘เมตตากายกรรม เมตตาวจีกรรม เมตตามโนกรรม’

2) แต่ละคนต่างช่วยเหลือเกิ้อกูลกัน ประสานงาน ประสานประโยชน์กัน ให้งานที่ทำสำเร็จผล ทั้งแก่ตน แก่ผู้อื่นและแก่ประเทศชาติ ตามหลัก ‘ สาธารณโภคี’ (แบ่งปันสิ่งที่ได้มาโดยชอบธรรม ร่วมทุกข์ ร่วมสุขกัน) ของสารณียธรรมข้อ 4

3) ทุกคนประพฤติปฏิบัติตนอยู่ในความสุจริต ในกฎกติกา อยู่ในระเบียบแบบแผนโดยเท่าเทียมกัน หมายถึงประพฤติสุจริตอย่างสม่ำเสมอ ไม่ประพฤติตนในทางแตกแยกจนเป็นที่ขัดข้องหมองใจต่อผู้อื่น ซึ่งสอดคล้องกับหลักสีลสามัญญตา ที่เป็นข้อ 5 ของสาราณียธรรม

4) ต่างตนต่างพยายามทำความคิดความเห็นของตนให้ถูกต้องเที่ยงตรง และมั่นคงอยู่ในเหตุและผล ตามหลักข้อที่ 6 คือ ทิฏฐิสามัญญตา ของสาราณียธรรม

เมื่อมีหลักคุณธรรมแล้ว ก็พึงมีหลักคุณภาพด้วย คือจัดให้มีระบบเลือกตั้งที่สุจริตและเที่ยงธรรมเพื่อคัดเลือกคนที่มีคุณธรรมและความสามารถเข้ามาบริหารประเทศและออกกฎหมาย โดยยึด ‘จุดหมายร่วม’ ที่จะบัญญัติในรัฐธรรมนูญเป็นสำคัญ อีกทั้งรัฐธรรมนูญจะต้องส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชน และเป็นหลักประกันให้ประชาชนใช้สิทธิเสรีภาพโดยไม่เบียดเบียดหรือไม่ละเมิดสิทธิของผู้อื่นได้อย่างเต็มที่

สังคมที่มีความสมานฉันท์บนรากฐานความเป็นไทยที่ประกอบด้วยสถาบัน ‘ชาติ ศาสน์ กษัตริย์’

ผมมีความเห็นต่างจากสุนัย ซึ่งนำเรื่อง ‘ความเป็นไทย’ มาเป็นรากฐานของความสมานฉันท์ อันที่จริง ผมเห็นว่าการเคารพความหลากหลายเป็นพื้นฐานของความปรองดองกันมากกว่า อนึ่ง ความเป็นไทยถูกโต้แย้งโดยนักประวัติศาสตร์และนักสังคมวิทยาอยู่พอสมควร เพราะชาติพันธุ์ของผู้ที่อาศัยอยู่ในแผ่นดินนี้ มีหลากหลาย มีภาษาถิ่นที่ใช้พูดกันในครอบครัวราว 70 ภาษา มีวัฒนธรรมที่ไม่ใช่ ‘วัฒนธรรมหลัก’ อยู่มากมาย ชาติพันธุ์ ‘ไต’ น่าจะเป็นคนกลุ่มน้อยในอาณาจักรต่าง ๆ ที่อยู่ในดินแดนสุวรรณภูมินี้ หากมีจุดเด่นตรงที่ภาษาไตใช้เป็นภาษากลางทางการค้า จนต่อมาใช้เป็นภาษาทางการภายหลังจากที่เลิกใช้ภาษาเขมร ในทางสังคมการเมือง เราประสบความสำเร็จในการสร้างรัฐ-ชาติ รวมทั้งการสถาปนาภาษาไต เป็นภาษาชาติ แต่ต้องระวังว่า เราควรมองให้กว้าง และควรยอมรับ ‘ตัวเรา’ ที่ไม่ใช่ตัวเราตามนิยามที่แคบด้วย

หากสุนัยจะใช้สถาบัน ‘ชาติ ศาสน์ กษัตริย์’ เพื่อการรวมศูนย์ทางสังคม – วัฒนธรรม ก็อาจมีข้อติดขัดดังกล่าว หากจะใช้เพื่อการรวมศูนย์ความคิดทางการเมือง เกรงว่าจะมีอุปสรรคเช่นกัน น่าจะเหมาะสมไหมที่จะตีความว่า ชาติ เป็น ‘นาม (ธรรม)’ ส่วนประชาชนเป็น ‘รูป (ธรรม)’ และเพิ่มคำว่า ‘ประชาชน’ ที่เป็นเจ้าของอธิปไตย และเพิ่มคำว่า ‘รัฐธรรมนูญ’ ซึ่งแทนหลักนิติรัฐในการปกครองประเทศเข้าไว้ด้วย ก็จะได้ว่า สถาบันหลักของสังคมการเมืองคือ ‘ชาติ ศาสน์ กษัตริย์ รัฐธรรมนูญ และประชาชน’

อันที่จริง ผมชอบข้อเสนอของสุวิทย์ เมษินทรีย์ ที่เสนอค่านิยม ‘ปัจเจกนิทัศน์’ เสนอการสร้างวัฒนธรรมผู้ประกอบการ ค่านิยมจิตสาธารณะ และวัฒนธรรมการเกื้อกูลและแบ่งปัน อันจะนำไปสู่ ‘สังคมของพวกเรา’ แต่กระนั้น ข้อเสนอเหล่านี้ น่าจะมีการพูดถึง มีการถกแถลง เสวนา และโต้เถียงกันอีกพอสมควร เพื่อว่าองค์ประกอบของสังคมน่าอยู่จะได้รับความเห็นพ้องกันอย่างกว้างขวางยิ่ง ๆ ขึ้น เพื่อจะได้เป็นมติที่อยู่ในจิตใต้สำนึกของสังคมไทยในที่สุด

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image