อ่านรัฐธรรมนูญไทยไม่รู้เรื่อง : โดย โกวิท วงศ์สุรวัฒน์

ผู้เขียนได้รับเชิญไปพูดถึงรัฐธรรมนูญในฝันเมื่อวันเสาร์ที่ 8 สิงหาคมที่ผ่านมานี้จึงได้ใช้เวลาตรึกตรองถึงประสบการณ์ในการเรียนการสอนเรื่องรัฐธรรมนูญที่ผ่านมาตลอดชีวิต โดยทั่วไปแล้วผู้เขียนได้อ่านรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยมาแล้วทั้ง 20 ฉบับ และอ่านกลับไปกลับมานับครั้งไม่ถ้วนจึงตระหนักว่า
ตัวเองอ่านไม่รู้เรื่องและไม่เข้าใจรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยเท่าใดนัก ด้วยสาเหตุ 2 ประการ คือ

1) ภาษาที่ใช้ในรัฐธรรมนูญมักใช้ภาษาแขกซึ่งอ่านแล้วต้องแปลเป็นไทยอีกทีหนึ่งและเมื่อแปลแล้วก็ไม่แน่ใจว่าแปลถูกหรือเปล่า เนื่องจากภาษาแขกที่นำมาใช้นั้นเมื่อนำมาใช้ในภาษาไทยนั้นบ่อยครั้งมักแปลผิดความหมายไปเป็นตรงกันข้ามเลยทีเดียว ยกตัวอย่างเช่น คำว่า “อาวุโส” ซึ่งขอยกคำแปลจากพจนานุกรมราชบัณฑิตยสถานเลยนะครับ

อาวุโส แปลว่า ว. ที่มีอายุแก่กว่าหรือมีตำแหน่งหน้าที่การงานสูงกว่าเป็นต้น เช่น ข้าราชการอาวุโส ครูอาวุโส ศิลปินอาวุโส น. ความมีอายุมากกว่าหรือมีประสบการณ์ในอาชีพมากกว่าเป็นต้น เช่น เขามีอาวุโสในการทำงาน ผู้มีอาวุโสทางการเมือง (ป. อาวุโส เป็นคํา อาลปนะ คือ คําที่พระผู้ใหญ่หรือที่มีพรรษามากกว่าเรียกพระผู้น้อย หรือที่มีพรรษาน้อยกว่า หรือเป็นคำที่พระใช้เรียกคฤหัสถ์ คู่กับ ภันเต ซึ่งเป็นคําที่พระผู้น้อยหรือที่มีพรรษาน้อยกว่าเรียกพระผู้ใหญ่หรือที่มีพรรษามากกว่า หรือเป็นคำที่คฤหัสถ์ใช้เรียกพระสงฆ์)

เห็นไหมครับ ในภาษาไทยเราแปลอาวุโสไปเป็น “ภันเต” อย่างช่วยไม่ได้ ขอยกตัวอย่างคำปรารภในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 ให้ท่านผู้อ่านที่เคารพดู เผื่อใครจะแปลเป็นภาษาไทยได้บ้าง

Advertisement

“ศุภมัสดุพระพุทธศาสนกาลเป็นอดีตภาค 2560 พรรษา ปัจจุบันสมัย จันทรคตินิยม กุกกุฏสมพัตสร จิตรมาสชุณหปักษ์ ทสมีดิถี สุริยคติกาล เมษายนมาส ฉัฏฐสุรทิน ครุวาร โดยกาลบริเฉท”

ครับ ! ใครก็ตามที่เริ่มหยิบรัฐธรรมนูญขึ้นมาอ่านพอเจอหน้าแรกคำปรารภเข้าเท่านั้นก็ถอดใจทุกคน วางรัฐธรรมนูญเลิกอ่านไปเลย รัฐธรรมนูญไทยเป็นอย่างนี้ทุกฉบับครับ ยกเว้นฉบับแรกที่ใช้บังคับในวันที่ 27 มิถุนายน พ.ศ.2475 เพียงฉบับเดียวที่ไม่มีเขียนแบบนี้

2) รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยส่วนใหญ่จะยาวจนเกินไป ซึ่งหากว่าใช้มาตรฐานของรัฐธรรมนูญที่ดีตามหลักวิชาการซึ่งมีอยู่ 5 ประการคือ

Advertisement

2.1) ใช้ภาษาเขียนให้ข้อความชัดเจน ไม่กำกวม

2.2) บัญญัติสิทธิเสรีภาพของประชาชนรวมทั้งการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพให้ชัดเจนโดยไม่มีการเขียนต่อท้ายไว้ว่า ทั้งนี้ “ตามที่กฎหมายกำหนด”

2.3) ครอบคลุมบทบัญญัติเกี่ยวกับการปกครองของรัฐให้ครบถ้วนรวมทั้งความสัมพันธ์ระหว่างองค์การปกครองของรัฐด้วย

2.4) ต้องไม่ยาวจนเกินไป******

2.5) ต้องมีวิธีแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญให้เหมาะสมกับกาลสมัย

รัฐธรรมนูญไทย 4 ฉบับแรกนั้นมีความยาว 10 กว่าหน้าเท่านั้นเอง คือ 12 หน้า, 11 หน้า, 18 หน้า และ 13 หน้าตามลำดับ

ครั้นมาถึงรัฐธรรมนูญฉบับที่ 5 พ.ศ.2492 ซึ่งเป็นรัฐธรรมนูญที่มี ส.ส.ร. เป็นฉบับแรกจึงเป็นรัฐธรรมนูญที่ยาวถึง 34 หน้า และตามด้วยรัฐธรรมนูญฉบับที่ 10 พ.ศ.2517 ที่บรรดาอาจารย์มหาวิทยาลัยช่วยกันร่างขึ้นมาก็ทำลายสถิติความยาวเพิ่มเป็น 44 หน้า

ต่อมารัฐธรรมนูญฉบับที่ 15 พ.ศ.2534 ที่ รสช.สั่งให้ร่างขึ้นยาวถึง 47 หน้า และแล้วรัฐธรรมนูญฉบับที่ 16 พ.ศ.2540 ที่มี ส.ส.ร.ช่วยกันร่างก็ทำลายสถิติความยาวของรัฐธรรมนูญแบบก้าวกระโดด โดยมีความยาวถึง 88 หน้าแต่ก็ยังแพ้รัฐธรรมนูญฉบับที่ 18 พ.ศ.2550 ที่มีความยาวที่สุดคือ 127 หน้า

ครับ ! ส่วนรัฐธรรมนูญฉบับที่ 20 พ.ศ.2560 ที่ประชาชนต้องการจะโละทิ้งมากที่สุดนั้นมีความยาว 90 หน้า

ความจริงรัฐธรรมนูญไม่น่าจะต้องเขียนให้ยาวเป็นน้ำท่วมทุ่ง เพราะถึงอย่างไรการขยายความรายละเอียดก็สามารถเขียนลงในกฎหมายลูกได้อยู่แล้ว เพราะฉะนั้นรัฐธรรมนูญในฝันของผู้เขียนก็คือ รัฐธรรมนูญที่มีความยาว 10-12 หน้าก็พอแล้วภาษาที่เขียนในรัฐธรรมนูญก็ควรชัดเจนไม่กำกวมและไม่พยายามใช้ภาษาแขกให้มากเกินกว่าเหตุ

เท่านั้นละครับ ความฝันของผู้เขียน เพราะทุกคนก็มีสิทธิที่จะฝันกันได้นะครับ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image