สมิธ ดัน ‘นายพลสี่เท้า’ ผู้บัญชาการทหารสูงสุดคนแรกของพม่า (ตอนจบ) : โดย ลลิตา หาญวงษ์

สมิธ ดัน ‘นายพลสี่เท้า’ ผู้บัญชาการทหารสูงสุดคนแรกของพม่า (ตอนจบ) : โดย ลลิตา หาญวงษ์

ในตอนสุดท้ายว่าด้วยชีวิตและประสบการณ์ของสมิธ ดัน ทหารกะเหรี่ยงผู้ซื่อสัตย์ และผู้บัญชาการทหารสูงสุดคนแรกของพม่า เราจะกล่าวถึงความวุ่นวายที่เกิดกับพม่าทันทีที่พม่าได้รับเอกราช ก่อนอังกฤษมอบเอกราชให้พม่าไม่นาน ออง ซาน และคณะรัฐมนตรีอีก 6 คน ถูกลอบสังหารในปี 1947 นอกจากพม่าจะสูญเสียผู้นำที่เปี่ยมบารมีแล้ว คำมั่นสัญญาของเขาที่จะมอบสิทธิการปกครองตนเองให้กับชนกลุ่มน้อยบางกลุ่มหลังพม่าได้รับเอกราชไปแล้ว 10 ปี ก็ไม่ได้รับการเหลียวแลอีกเลย

ระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 กองกำลังของกลุ่มชาติพันธุ์ในพม่าเติบโตขึ้นอย่างก้าวกระโดด เพราะอังกฤษจำเป็นต้องใช้กองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์บางส่วนเพื่อต่อสู้กับกองทัพญี่ปุ่นที่บุกเข้ามาเพื่อเป้าหมายเข้าไปประชิดด่านหน้าของอังกฤษที่อินเดีย หลังสงคราม อาวุธยุทโธปกรณ์ที่ทันสมัยจำนวนมากตกอยู่ในมือของกองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์ ซึ่งต่อมาจะพัฒนาเป็นกองกำลังติดอาวุธ ที่ลุกขึ้นมาต่อต้านรัฐพม่าในที่สุด

หลังสงคราม ดันขึ้นมาเป็นผู้บัญชาการทหารสูงสุดอย่างรวดเร็ว ในห้วงที่พม่าประสบปัญหาการเมืองภายในมากมาย ดันเล่าว่า “คงเป็นสถานการณ์ที่แย่เอามาก ๆ ที่รัฐมนตรีและข้าราชการพม่าไม่สามารถเชื่อใจใครได้ แม้แต่คนเชื้อชาติเดียวกันเอง” คณะรัฐมนตรีของอู นุในเวลานั้นต่างกลัวความปลอดภัยของตนเอง บรรดาทหารที่อารักขาคณะรัฐมนตรีมีเพียงทหารจากกลุ่มชาติพันธุ์ฉิ่น กะฉิ่น และกะเหรี่ยงเท่านั้น เพราะทหารพม่าจำนวนหนึ่งหนีราชการเพื่อไปเข้ากับพรรคคอมมิวนิสต์

และคงจะเป็นความหวาดระแวงคนพม่าด้วยกันเองนี้ที่ทำให้ทหารกะเหรี่ยงอย่างดันสามารถขึ้นเป็นผู้บัญชาการทหารสูงสุดของพม่าได้ แต่ท่ามกลางความขัดแย้งทางเชื้อชาติระหว่างชาวพม่ากับชาวกะเหรี่ยงที่ยิ่งทวีความรุนแรงขึ้นตั้งแต่ปี 1948 ด้วยกองทัพส่วนกลางต้องรับมือกับกองกำลังพรรคคอมมิวนิสต์พม่าที่เข้มแข็งขึ้นเรื่อยๆ ดันเล็งเห็นศักยภาพของกองกำลังกะเหรี่ยง KNDO (Karen National Defence Organization) ที่มีกำลังมากถึง 10,000 นาย จึงส่ง KNDO ไปประจำตามเมืองสำคัญๆ ในพม่าตอนล่าง เพื่อต่อสู้กับกองกำลังฝ่ายคอมมิวนิสต์ แต่ก็ประสบปัญหาที่ไม่คาดคิดขึ้น

Advertisement

เพราะกองกำลังฝ่ายกะเหรี่ยงต้องเจอการต่อต้านจากประชาชนพม่า ซึ่งส่วนใหญ่เห็นอกเห็นใจพรรคคอมมิวนิสต์พม่า

ความไม่พอใจบทบาทของทหารกะเหรี่ยง ยังทำให้หนังสือพิมพ์ในย่างกุ้งประโคมข่าวโจมตีกองกำลังกะเหรี่ยง และยังมีกองกำลังพม่าไม่ทราบฝ่ายที่โจมตีฐานที่มั่นกะเหรี่ยงในอีกหลายเมืองในพม่าตอนล่าง นอกจากความขัดแย้งในระดับบน ความบาดหมางระดับประชาชนพม่ากับกะเหรี่ยงก็เป็นอีกหนึ่งชนวนเหตุให้เกิดสงครามกลางเมืองในพม่า ภายในกองทัพเอง ดันไม่สามารถไว้ใจผู้ใต้บังคับบัญชาชาวพม่าของเขาได้อีกต่อไป ตั้งแต่เกิดเหตุการณ์ที่มีรองผู้บัญชาการคนใดคนหนึ่งในกองทัพสั่งให้กองกำลังฝ่ายพม่าโจมตีกองกำลัง KNDO รอบๆ เมืองย่างกุ้ง เหตุการณ์นั้นเป็นเหมือนฟางเส้นสุดท้ายที่ทำให้สมิธ ดัน ลาออกจากตำแหน่งผู้บัญชาการทหารสูงสุด

แม้รัฐบาลจะมอบเงื่อนไขให้ดันลาพักร้อนยาว และยังได้รับเงินเดือนเต็มอยู่ แต่ดันก็มุ่งมั่นแล้วว่าเขาต้องลาออกและหลบให้พ้นจากการเมืองภายในพม่าที่กำลังร้อนระอุ เขาขึ้นเครื่องบินจากย่างกุ้งไปกับทหารอารักขาที่ไว้ใจได้จริงๆ มุ่งหน้าสู่เมืองมยิตจินา เมืองเอกของรัฐกะฉิ่น ที่ที่มีทั้งชาวกะเหรี่ยงและชาวพม่าอยู่น้อยมาก และในฐานะเป็น “ชนกลุ่มน้อย” และส่วนใหญ่เป็นชาวคริสต์เหมือนกัน ชาวกะเหรี่ยงกับกะฉิ่นจึงมีความใกล้ชิดกันมากกว่ากลุ่มชาติพันธุ์อื่นๆ

Advertisement

ก่อนจะถึงมยิตจินา ดันกับภรรยา และลูกๆ อีก 4 คน แวะที่เมเมี้ยว เมืองสำคัญอันเป็นที่ตั้งของโรงเรียนนายร้อย และเป็นเมืองที่เขาผูกพัน เขาขอให้สมาคมศาสนาคริสต์ของอังกฤษในนาม British Service Mission ช่วยเจรจากับรัฐบาลพม่าเพื่อให้เขาอพยพครอบครัวไปอยู่มยิตจินาได้ ดันส่งครอบครัวขึ้นเครื่องบินไปมยิตจินาก่อน ดันและครอบครัวอาศัยที่มยิตจินาราว 1 ปี ก็ได้พบกับนายทหารกะฉิ่นหนุ่มนามว่า ซอ ทุน ซึ่งได้ชวนดันไปล่าสัตว์และตั้งแคมป์ในป่า ท่ามกลางความเงียบสงัดในป่า

ซอ ทุนสารภาพกับดันว่าหลังดันเดินทางถึงมยิตจินาไม่นาน รัฐบาลพม่าเคยออกคำสั่งให้เขาไปเจรจากับดันและส่งตัวดันกลับย่างกุ้งให้ได้ แต่ซอ ทุน (ซอ แปลว่าผู้สืบเชื้อสายมาจากหัวหน้าเผ่า ในภาษากะฉิ่น/จิงพอ) ปฏิเสธไป เพราะรู้ดีกว่าสมิธ ดัน ไม่ได้ทำอะไรผิด สิ่งที่ซอ ทุนเห็นมีเพียงอดีตผู้บัญชาการกองทัพผู้หนึ่งที่ไปโบสถ์ทุกวันอาทิตย์ และฝึกยิงปืนกับทหารกะฉิ่นทุกๆ วันหยุด

เขายังบอกดันว่าเขาหลีกเลี่ยงไม่อยากเล่าเรื่องนี้ให้ดันฟัง เพราะไม่อยากซ้ำเติมดันไปมากกว่านี้ เพราะรู้ว่าทหารอย่างดันประสบพบอะไรมาบ้าง

สมิธ ดัน ถูกบังคับให้ลาออกจากตำแหน่งผู้บัญชาการทหารสูงสุดก่อนเวลาอันควร ด้วยถูกบีบจากสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างชาวพม่าและกะเหรี่ยงหลังพม่าได้เอกราช ดันกล่าวถึงที่มาของความขัดแย้งระหว่างคนสองกลุ่มไว้ในอัตชีวประวัติอย่างละเอียด ด้วยความที่ประชากรกะเหรี่ยงกึ่งหนึ่งหันไปนับถือศาสนาคริสต์เมื่ออังกฤษเข้าไปยึดครองพม่า ความแตกต่างทั้งด้านชาติพันธุ์และศาสนาทำให้ทั้งชาวกะเหรี่ยงและกะฉิ่นมีความต้องการปกครองตนเองอย่างแรงกล้า เมื่ออังกฤษออกจากพม่าไปแล้ว ชาวกะเหรี่ยงรู้สึกว่าตนถูกทิ้งให้อยู่กับประชากรส่วนใหญ่ของประเทศที่มองตนเป็นศัตรู

ระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 ชาวกะเหรี่ยงตั้งขบวนการใต้ดินขึ้น และแสดงเจตนารมณ์ชัดเจนว่าต้องการให้อังกฤษกลับเข้าไปปกครองพม่าหลังสงครามสงบ และปะทะกับกองกำลังเอกราชพม่า (BIA: Burma Independence Army) ที่นำโดยตะขิ่น ออง ซาน และเกิดการปะทะกันจนนำไปสู่การสังหารหมู่ชาวกะเหรี่ยงที่เมืองปาปัน และหม่องเมียะขึ้น

ชาวกะเหรี่ยงเก็บความคับแค้นนั้นไว้ตลอดมา แต่สำหรับดัน ในฐานะที่เขาเป็นทหารที่ถูกฝึกมาอย่างดี แม้เขาจะมีความเห็นอกเห็นใจชาวกะเหรี่ยงด้วยกัน แต่ก็ไม่สามารถแสดงท่าทีลำเอียงได้ เป้าหมายของเขาคือทำหน้าที่ผู้นำกองทัพให้ดี และเป็นคนกลางประสานประโยชน์ระหว่างพม่ากับกลุ่มชาติพันธุ์อื่นๆ แต่กระแสความเกลียดชังกะเหรี่ยงมีมากเกินไปเมื่อพม่าได้รับเอกราช ดันเป็นเหมือนเหยื่อของความขัดแย้งทางชาติพันธุ์ในพม่า ที่แม้จะผ่านมาหลายสิบปีแล้วก็ยังดำเนินต่อไป

จริงอยู่ หลังพม่าเริ่มปฏิรูปตั้งแต่ปี 2010 รัฐบาลพม่าพยายามเจรจากับผู้นำกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ และ KNU ซึ่งเป็นกองกำลังที่เข้มแข็งที่สุดของกะเหรี่ยงก็เห็นชอบในหลักการการปรองดอง และการยุติสงครามกลางเมืองที่ยืดเยื้อมาหลายสิบปี แต่ในปัจจุบัน รูปแบบของความขัดแย้งทางเชื้อชาติในพม่าเปลี่ยนไปแล้ว KNU ไม่ใช่คู่ปรับที่สำคัญที่สุดของรัฐบาลและกองทัพพม่าอีกต่อไปแล้ว แต่ไม่ได้หมายความว่าความขัดแย้งระหว่างคนสองกลุ่มนี้จะหายไป

ประวัติศาสตร์บาดแผลและผลประโยชน์ทับซ้อนตามแนวชายแดนยังเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้นโยบายปรองดองแห่งชาติของพม่ามีโอกาสสำเร็จได้ยาก

ลลิตา หาญวงษ์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image