ทรัมป์แบน TikTok ยุทธศาสตร์สกัดจีน โดย ศ.ชยานันต์ ศุกลวณิช

หลังจากที่รัฐบาลสหรัฐได้ประกาศทำการเชือด TikTok ซึ่งเป็นหนึ่งในแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียที่ได้รับความนิยมทั่วโลก กรณีได้กลายเป็นความขัดแย้งใหม่ระหว่างจีน-สหรัฐ

อัน TikTok คือแพลตฟอร์มของโซเชียลมีเดียมีจุดเด่นในการสร้างวิดีโอ แสดงทักษะ ลีลาการเต้นที่ใช้เวลาไม่มาก และแชร์ให้เพื่อนออนไลน์ เป็นการชมความบันเทิงมากกว่าสาระ

จึงเป็นที่นิยมของบรรดาวัยรุ่นหนุ่มสาวค่อนโลก

บัดนี้ “ไมโครซอฟท์” บริษัทผู้ผลิตและพัฒนาซอฟต์แวร์รายใหญ่ของโลก กำลังเจรจากับบริษัทแม่ที่ปักกิ่งชื่อ “ByteDance” เพื่อขอซื้อธุรกิจที่สหรัฐ แคนาดา ออสเตรเลียและนิวซีแลนด์

Advertisement

ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ได้ให้เวลาแก่ผู้จะซื้อจะขาย 45 วัน เพื่อทำการเจรจาเงื่อนไขเกี่ยวกับการซื้อขาย พร้อมทั้งเสนอว่า หากการซื้อขายประสบผลสำเร็จ รัฐบาลสหรัฐควรต้องได้รับผลตอบแทนจากการนั้นด้วย

โดนัลด์ ทรัมป์ เป็นพ่อค้าโดยกำเนิด ต่อมาผันตัวเป็นนักการเมือง ก็ยังไม่ทิ้งนิสัยการเป็นพ่อค้า จึงไม่แปลกที่เรียกเอาผลประโยชน์จากการซื้อขายในครั้งนี้ พูดกันว่า “born to be”

มรสุม TikTok ในครั้งนี้ สะท้อนให้เห็นว่า การที่รัฐบาลโดนัลด์ ทรัมป์ สกัดเทคโนโลยีและอินเตอร์เน็ตยักษ์ใหญ่ของจีน ได้ใช้กลยุทธ์สุดฤทธิ์สุดเดช

ไม่ธรรมดา

เป็นกรณีที่แอบแฝงซ่อนเร้นถึงเจตนาการแยกออกจากกันกับจีน ตลอดจนสกัดความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีของจีนในวงกว้าง

อันเป็นเป้าหมายเชิงลึกในทางการเมือง

TikTok แจ้งเกิดเมื่อเดือนกันยายน 2016 ต่อมาปี 2017 ได้มีผลิตภัณฑ์เวอร์ชั่นโพ้นทะเล พร้อมกับซื้อควบกิจการโซเชียลมีเดียประเภทวิดีโอดนตรีที่ชื่อ Musical.ly ของสหรัฐในจีน

ผลิตภัณฑ์ได้รับความนิยมจากคนทั่วโลกเป็นจำนวนมาก ผู้ใช้บริการเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว

จากตัวเลขการสำรวจเดือนพฤษภาคมปรากฏว่า มีผู้ดาวน์โหลดทั่วโลกถึง 2 พันล้านคน ส่วนแบ่งตลาดกลายเป็นคู่แข่งที่น่ากลัวของ facebook และ Twitter เป็นต้น

TikTok กลายเป็นความขัดแย้งจีน-สหรัฐตั้งแต่กลางปี 2019 ทั้งนี้ โดยเริ่มตั้งแต่เดือนตุลาคม “Mark Zuckerberg” ผู้ก่อตั้ง facebook กล่าวหาว่าได้ตัดทอนข้อความการเดินขบวน

เป็นการอันมิชอบ

ต่อมาเดือนพฤศจิกายน สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนต่างชาติได้ทำการตรวจสอบเกี่ยวกับพฤติกรรมการคุกคามความมั่นคง ซึ่งมีเจ้าหน้าที่ระดับสูงสหรัฐปล่อยข่าวว่า TikTok มีพฤติกรรมดังกล่าว จึงควรต้องสั่งให้ปิดกิจการ

จวบจนบัดนี้ รัฐบาลสหรัฐก็ยังไม่สามารถแสดงหลักฐานอันใดซึ่งแสดงว่ามีการกระทำอันคุกคามต่อความมั่นคงจริง

ประเด็นมีเพียงว่า บริษัทแม่อยู่ที่ปักกิ่ง จึงถูกมองว่า อาจส่งข้อมูลส่วนตัวของคนอเมริกันให้แก่รัฐบาลจีน แต่ก็ปราศจากหลักฐานมานำสืบ จึงเป็นการกล่าวหาที่เลื่อนลอย

ทว่ามีประเด็นที่มีเหตุผลเพียง 1 เดียวเท่านั้น คือ เมื่อซื้อธุรกิจ musical.ly ยังมิได้ผ่านขั้นตอนการพิจารณาอนุมัติจากสำนักคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนต่างชาติของสหรัฐ

กรณีจึงไม่ต่างไปจากการฟ้องคดีที่ศาล แม้ศาลรู้ว่าจำเลยกระทำความผิดในประเด็นที่ผู้ร้องมิได้ฟ้อง ศาลก็จะไม่พิจารณาในประเด็นนั้นๆ

TikTok ปัจจุบันมีผู้ใช้บริการประมาณ 100 ล้าน ถ้าถูกสั่งปิด อาจมีผลกระทบต่อการป้องกันตำแหน่งประธานาธิบดีเดือนพฤศจิกายนของโดนัลด์ ทรัมป์

ฉะนั้น การที่ให้บริษัทอเมริกันรับซื้อกิจการ TikTok นั้น คือทางเลือกที่ดีที่สุด

วงการเมืองการค้าสหรัฐตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับ TikTok ไว้ 3 ประการคือ

1.ฝ่ายเหยี่ยวทำเนียบขาวอ้างความมั่นคงเป็นเหตุ ทั้งนี้เพื่อประสงค์ให้เผด็จศึกโดยพลัน

2.คู่แข่งทางธุรกิจพ่ายแพ้หมดรูป จึงใส่ร้ายป้ายสี และกดดันรัฐบาลให้ขับไล่

3.ผู้เก็งกำไรวอลสตรีตหวังรับประทานเนื้อก้อนโตจากการเชือด

ถ้าประเมินเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น “ไบท์แดนซ์” มิเพียงเจ็บตัวแล้วออกจากสนาม เรื่องก็จบกันตรงนั้น หากที่ปรึกษาการค้าทำเนียบขาว ปีเตอร์ นาวาร์โร ได้ส่งสัญญาณว่า “ไมโครซอฟท์” อาจมิใช่ผู้ซื้อที่เหมาะสม ถ้าจะซื้อธุรกิจ TikTok ก็ควรต้องย้ายฐานการลงทุนออกจากจีน

ต่อมา “จาง อี้หมิง” ผู้ก่อตั้งบริษัท ได้ระบุในเอกสารภายในฉบับหนึ่ง ว่า คนส่วนใหญ่หลงประเด็นที่สำนักคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนชี้ว่า การซื้อควบกิจการ musical.ly นั้นมิชอบ

แต่ความจริงปรากฏว่า “ธุรกิจอเมริกันขายให้แก่บริษัทอเมริกัน…”

กรณีเป็นการปิดกั้นตลอดแนว หรือปิดกั้นทั้งหมดนั่นเอง

ย้อนมองเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น แรกเริ่มสหรัฐคัดค้าน “ไมโครซอฟท์” ซื้อ TikTok ต่อมาก็เสนอให้ผู้ซื้อขายต้องจ่ายค่าคอมมิสชั่น
แต่ห้ามมิให้ “ไบท์แดนซ์” ถือหุ้น TikTok อีกต่อไป

ล้วนเป็นเงื่อนไขที่เกรี้ยวกราดและรุนแรงยิ่ง

วิเคราะห์แล้วเห็นว่า วัตถุประสงค์ที่แท้จริงของสหรัฐคือ ต้องการใช้มาตรการเดียวกันกับที่ปฏิบัติต่อ “หัวเว่ย” กล่าวคือ ไม่ว่าธุรกิจไฮเทคโนโลยี ไม่ว่าอินเตอร์เน็ตที่เป็นทุนจีน หากนำหน้าสหรัฐและขึ้นถึงจุดสูงสุดของโลก สหรัฐก็ต้องลงดาบให้ “ตายสนิท”

และในเวลาเดียวกันก็บังคับให้ประเทศต่างๆ ต้องเลือกข้าง และร่วมกัน “ล้อมจีน”

พลันที่พฤติการณ์สกัด TikTok เริ่มขึ้น ออสเตรเลียก็ตาม และยังมีประเทศอื่นร่วมด้วย

วันหนึ่งถ้า “ไบท์แดนซ์” ถูกขับไล่ให้กลับประเทศจีน ณ นาทีนั้นย่อมหมายความว่า

มิใช่บริษัทนานาชาติอีกต่อไป

TikTok เป็นปัญญาประดิษฐ์ของประชาชนจีน เป็นผลพวงที่กลั่นออกมาจากสมองของวิศวกรและสถาปนิกจีนโดยแท้ ถือเป็นทรัพย์สินทางปัญญาอันสูงยิ่ง

ต้องยอมรับว่า การที่รัฐบาลจีนจะทำการปกป้องหรือตอบโต้กรณี “หัวเว่ย” และ “TikTok” นั้น คงเป็นเรื่องยาก เพราะยังมองไม่เห็นความพยายามของรัฐบาลจีน

สิ่งที่เห็นเป็นประจักษ์คือ โฆษกกระทรวงต่างประเทศจีนก็นำเอากระดาษแผ่นหนึ่งออกมาอ่าน และแล้วเรื่องก็จบกันตรงนั้นและที่นั่น

คงมีอยู่ทางเดียวคือ บรรดานักลงทุน ผู้ถือหุ้น หรือเจ้าของธุรกิจต้องอาศัยกลไกทางกฎหมาย แต่ก็มิได้หมายความว่า กฎหมายจะช่วยได้ทุกประเด็นปัญหา แต่อย่างน้อยที่สุด

ก็ยังดีกว่าไม่ทำอะไรเลย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image