การรุก การรับ อำนาจนำ ความคิด ผ่าน การเมือง

การรุก การรับ อำนาจนำ ความคิด ผ่าน การเมือง

ไม่ว่าการกระพือในเรื่องความน่ากลัวของสถานการณ์เมื่อเดือนตุลาคม 2519 ไม่ว่าการปล่อยข่าวในเรื่องรัฐประหารที่จะตามมา

ดำเนินไปเพื่อ “ป้องปราม”

เหมือนกับการออกโรง “อุ้ม” แกนนำเยาวชนปลดแอกที่พิษณุโลก เหมือนกับการเปิดปฏิบัติการฉีดยุงกะทันหันที่ขอนแก่นวิทยายน

ทั้งๆ ที่ข้อเรียกร้องหนึ่ง คือ “หยุดคุกคามประชาชน”

Advertisement

ทุกอย่างมีรากฐานมาจากความหวาดกลัวว่าการนัดชุมนุมใหญ่ในวันอาทิตย์ที่ 16 สิงหาคม ณ อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย จะประสบผลสำเร็จ

ทุกอย่างล้วนมีจุดเริ่มมาจากสถานการณ์วันเสาร์ที่ 18 กรกฎาคม

เพราะนั่นมาพร้อมกับข้อเรียกร้อง 1 หยุดคุกคามประชาชน 1 จัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ให้เป็นประชาธิปไตย และ 1 ยุบสภา

นี่ต่างหากคือ ประกายไฟ อันไหม้ลามทุ่งอย่างแท้จริง

ความหวาดกลัวอันนำไปสู่ความพยายามสกัด ขัดขวางอย่างเต็มกำลังความสามารถ มาจากการชุมนุมเมื่อวันเสาร์ที่ 18 กรกฎาคม เป็นสำคัญ

เพราะนั่นคือ “หัวเชื้อ” ในทางความคิด ในทางการเมือง

เพราะนั่นคือความสามารถในการรวมพลได้เป็นจำนวนมากจากที่เคยเป็นเรือนสิบ เรือนร้อย ทะยานไปสู่จำนวน “เรือนพัน”

ทั้งยังเป็นการลงจาก “บาทวิถี” ไปบน “ถนนราชดำเนิน”

จากนั้น ไม่เพียงแต่จะจุดประกาย 1 หยุดคุกคามประชาชน 1 จัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ และ 1 ยุบสภาเพื่อมอบโอนอำนาจให้ประชาชน

หากแต่ยังนำไปสู่ 1 คัดค้านรัฐประหาร 1 คัดค้านรัฐบาลแห่งชาติ

แม้จะมีการสกัดขัดขวางจากการคุกคามมากกว่า 70 กว่าสถานการณ์และรุนแรงถึงกับมีการออกหมายจับ นายอานนท์ นำภา นายภาณุพงศ์ จาดนอก

แต่ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ปริมาณก็ทะยานไปสู่ “เรือนหมื่น”

จากสถานการณ์เมื่อวันเสาร์ที่ 18 กรกฎาคม การจุดประกายที่สำคัญเป็นอย่างสูงคือ การจุดประกายให้ตระหนักในความเลวร้ายของ “รัฐธรรมนูญ”

รัฐธรรมนูญอัน DESIGN มาเพื่อ “พวกเรา”

รัฐธรรมนูญอันเป็นเครื่องมือและประเมินว่าเป็น “จุดแข็ง” อย่างยิ่งในกระบวนการเลือกตั้งเมื่อเดือนมีนาคม 2562

อย่างน้อยก็ประกัน “การสืบทอดอำนาจ” ในทางการเมือง

แต่พอผ่านสถานการณ์เมื่อวันเสาร์ที่ 18 กรกฎาคม เป็นต้นมา ที่เคยคิดและประเมินว่าเป็น “จุดแข็ง” ในทางการเมืองก็พลันกลับกลายเป็น “จุดอ่อน”

เกิดกระแสต้องการรัฐธรรมนูญ “ใหม่”

น้ำเสียงที่กระหึ่มจากวันเสาร์ที่ 18 กรกฎาคม มายังวันอาทิตย์ที่ 16 สิงหาคม คือการรวมศูนย์กระหน่ำไปยัง “รัฐธรรมนูญ” อย่างพร้อมเพรียงกัน

ปฏิเสธ “รัฐธรรมนูญ” ปฏิเสธ “อำนาจ” รัฐประหาร

พลันที่รัฐธรรมนูญอันคิดว่าเป็น “จุดแข็ง” เป็นเครื่องมือในการสืบทอดอำนาจแปรเปลี่ยนมาเป็น “จุดอ่อน” ในทางการเมือง

นั่นหมายถึงสถานการณ์ “ตั้งรับ”

เป็นการตั้งรับในทาง “ความคิด” และมีโอกาสสูงเป็นอย่างยิ่งที่การเคลื่อนไหวในความเป็นจริงจะนำไปสู่การตั้งรับในทาง “การเมือง”

แนวโน้มก็คือจะก่อให้เกิด “อำนาจนำ” ใหม่ขึ้นมาในทาง “ความคิด”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image