หา ‘คำตอบครั้งสุดท้าย’ โดย สุชาติ ศรีสุวรรณ

แฟ้มภาพ

“ถ้าร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่านประชามติจะเกิดอะไรขึ้น” เป็นคำถามที่ไม่ว่าใครก็ตาม โดยเฉพาะที่อยู่ในแวดวงการเมืองจะต้องได้ยิน วันละหลายครั้ง

เป็นคำถามที่เกิดถี่ขึ้นหลัง นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ออกมาประกาศเสียงดังฟังชัดว่า “ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ” ด้วยเหตุผลที่คล้ายกับจะบอกว่า “เป็นร่างรัฐธรรมนูญที่ฝืนกับอุดมการณ์ของพรรคประชาธิปัตย์ที่จะต้องยึดมั่นไว้ จึงผ่านให้ไม่ได้”

เป็นคำถามที่ต่อเนื่องพัฒนามาจากคำถามที่ว่า “ร่างรัฐธรรมนูญจะผ่านประชามติหรือไม่” ที่มักจะหาคำตอบกันก่อนหน้านั้น

คล้ายกับว่าหลัง “นายอภิสิทธิ์” ประกาศ “ไม่รับ” ก็เกิดเป็นข้อสรุปเรียบร้อยว่า “ไม่ผ่าน” แล้วพัฒนาสู่คำถามที่ว่า “จะเกิดอะไรขึ้น”

Advertisement

เหมือนกับว่า “ไม่ผ่าน” แน่นอน

มันเป็นเช่นนั้นจริงหรือ

เรื่องราวที่เกิดขึ้นในทุกวันนี้ ดูเหมือนว่ามีอะไรมากมายที่น่าจะเชื่อมากกว่าเสียด้วยซ้ำว่า “ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้จะผ่านประชามติ”

หากติดตามอย่างใกล้ชิด จะพบว่าช่วงสองสัปดาห์ก่อนการลงประชามติในวันที่ 7 สิงหาคมที่จะถึงนี้ การโฆษณาประชาสัมพันธ์ขององค์กรภาครัฐเกี่ยวกับเนื้อหาของร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ทำกันอย่างเข้มข้นและถี่ขึ้น ใช้เวลาของสื่อรัฐกันเต็มที่

และว่าไปแล้วประเด็นที่นำเสนอล้วนแล้วแต่ออกมาชี้ถึงประโยชน์ของร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ที่ประชาชนกลุ่มต่างๆ จะได้รับ อาจจะปิดท้ายด้วยการบอกว่าจะรับหรือไม่รับก็ได้ แต่ภาพรวมของสาระที่เอามาถ่ายทอดให้ความรู้สึกถึงการชวนให้ไปกาให้ผ่าน

ขณะที่ผู้มีหน้าที่รับผิดชอบในเรื่องประชาสัมพันธ์ความดีงามของร่างรัฐธรรมนูญโดยตรง ใช้วิธีการตอบโต้ฝ่ายที่ไม่ให้เหตุผลของการไม่รับด้วยถ้อยคำที่ไม่เกี่ยวกับสาระของรัฐธรรมนูญมากขึ้น อย่างเช่นคำว่า “จิตไม่ปกติ” หรือ “บิดเบือน” หรือ “ลวงโลก” หรืออะไรต่ออะไรอีกมากมาย การชี้ให้เห็นมุมมองในสาระของรัฐธรรมนูญเพื่อให้ความรู้กับประชาชนน้อยลงในช่วงหลัง

ขณะเดียวกันท่าทีของคณะกรรมการการเลือกตั้งที่มีหน้าที่ควบคุมการใช้กฎหมายการทำประชามติ กลับไม่ทำให้เชื่อว่าเข้มงวดกับทุกฝ่าย

เอกสารสาระของร่างรัฐธรรมนูญที่จัดทำขึ้นมาถูกโจมตีว่าชี้นำให้คนเห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญ

เพราะความไม่วางใจในท่าทีนี้ ทำให้การอำนวยความสะดวกให้จัดพาหนะรับคนมาลงประชามติถูกตั้งแง่ว่า “ขนคน”

ขณะที่หากมองไปอีกฟากหนึ่ง

ฝ่ายที่ไม่เห็นด้วย หรือประกาศไม่รับร่างรัฐธรรมนูญกลับถูกจัดการอย่างเข้มงวด

ทำให้เกิดข้อวิพากษ์วิจารณ์มากมายว่า การบังคับใช้กฎหมายเปิดช่องให้บางฝ่าย ขณะที่เข้มข้นกับบางฝ่าย ทั้งในเรื่องการใช้ถ้อยคำที่รุนแรง และการเบี่ยงเบนเนื้อหา

ด้วยตีความว่าการจัดการที่ถูกมองว่ามีเจตนาที่จะให้ร่างรัฐธรรมนูญผ่านอย่างเข้มข้นเช่นนี้ ทำให้หลายคนเชื่อว่า ยังไม่สามารถสรุปได้ว่า “ร่างรัฐธรรมนูญจะไม่ผ่านประชามติ”

เหตุผลของคนที่ไม่เชื่อก็คือ ลองว่าลงทุนลงแรง และจัดการกันเข้มแข็งขนาดนั้น ย่อมเป็นไปได้ว่าน่าจะต้องจัดการให้ผ่านให้ได้

อีกอย่าง “ผู้เฒ่า” มากประสบการณ์อย่าง มีชัย ฤชุพันธุ์ พูดไว้เสียงดังฟังชัดทำนองว่า “ไม่ผ่านจะยุ่ง”

ดังนั้น คำถามว่า “หากไม่ผ่านแล้วอะไรจะเกิดขึ้น”

อาจจะต้องตั้งคำถามใหม่ว่า “ผ่านแล้วจะเกิดอะไรขึ้น”

ว่าไป อะไรเกิดขึ้นหาคำตอบได้ไม่ยาก กระทั่งในการอธิบาย “อุดมการณ์ประชาธิปัตย์” โดย นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ก็มีคำตอบที่ชัดเจนไม่น้อยอยู่

อนาคตประเทศไทยจะเป็นอย่างไร หากรัฐธรรมนูญฉบับนี้ผ่าน

หาคำตอบไม่ยาก

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image