แท็งก์ความคิด : ความสุขของสตูล

มัสยิดมำบัง จังหวัดสตูล (ภาพจากการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย)

ได้เวลาลงพื้นที่ไปสัมผัสท้องถิ่นกันอีกแล้ว

ยกแรกไปชมความงามของจังหวัดสตูล … เป็นความงามเรื่องการมีส่วนร่วม

เรื่องนี้ มี นายสัมฤทธิ์ เลียงประสิทธิ์ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสตูล เป็นผู้ส่งเสริม

มีประชาชนชาวสตูลเป็นคนแต่งแต้มความงาม

Advertisement

แลดูแล้วแต่ละคนที่ได้พบมีความสำราญเปล่งออกมาให้สัมผัสได้จากรอยยิ้ม

มิน่า ล่าสุดผลการสำรวจของ ม.อ.จึงออกมาว่าประชาชนในสตูล เป็นประชาชนที่มีความสุขที่สุดใน 14 จังหวัดภาคใต้

แล้วสตูลเขามีความเป็นอยู่กันอย่างไร?

Advertisement

ตรวจสอบจากข้อมูลพื้นฐาน สตูลเป็นจังหวัดที่มีชาวไทยมุสลิมอยู่ประมาณ 80 เปอร์เซ็นต์

ส่วนชาวบ้านที่เหลือนับถือศาสนาอื่น

ชาวมุสลิมที่นี่แตกต่างจาก 3 จังหวัดชายแดน เพราะดินแดนสตูลไม่ลุกเป็นไฟเหมือน ยะลา ปัตตานี นราธิวาส

ส่วนหนึ่งได้ยินมาว่า เนื่องจากตอนสำรวจความเห็นประชาชน 4 จังหวัดในอดีต

สำรวจความเห็นว่าจะอยู่กับไทยหรือมาเลเซีย

ปรากฏว่าคนสตูลเลือกที่จะอยู่ฝั่งไทย

แตกต่างจาก 3 จังหวัดชายแดนใต้ที่ตอนนั้นเลือกไปอยู่กับมาเลเซีย…แต่ไม่ได้

สุดท้ายก็เลยกลายเป็นเรื่องที่เห็น…

นั่นเป็นอดีตที่ได้ยินมา

สำหรับปัจจุบัน ล่าสุดติดสอยห้อยตามคณะของสถาบันพระปกเกล้าลงไปในพื้นที่เมื่อสัปดาห์ก่อน

พบความก้าวหน้าด้านการมีส่วนร่วมถึงระดับประชาชนคิด ประชาชนทำ

ที่นั่น อบจ.ส่งเสริมให้ประชาชนเข้ามาสร้างฝัน โดยเมื่อปี 2556 สตูลกับสถาบันออกแบบอนาคตไทยจับมือกัน

ทำแผนอนาคตของสตูลปี 2560

เวลาล่วงเลยมาถึงบัดนี้ 2559 สตูลมีสภาความคิด 4 ด้าน คือ สภาพัฒนาการเกษตรกรรม สภาพัฒนาการท่องเที่ยว สภาพัฒนาการศึกษา และสภาพัฒนาสวัสดิการสังคม

สภานี้ไม่เกี่ยวกับ สภา อบจ. ที่ได้มาจากการเลือกตั้งนะ

สภาเหล่านี้เป็นการดึงเอาประชาคมเข้ามาร่วมคิดและร่วมทำเพื่อจังหวัดสตูล โดยมีสัดส่วนประชาคมเข้าประชุมประมาณร้อยละ 70 ของวงประชุม

ที่เหลือเป็นส่วนราชการ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

การพบปะพูดคุยประชุมหารือของสภาความคิดเหล่านี้ ได้ก่อเกิดโครงการสร้างสรรค์งอกเงย

ยกตัวอย่างสภาพัฒนาการเกษตรกรรม ได้สำรวจคุณสมบัติดินของสตูลทั้งจังหวัดเรียบร้อยแล้ว

ขณะนี้ใช้ผลการสำรวจเป็นข้อมูลพื้นฐาน แล้วปลูกยาง ปาล์ม ในแปลงทดลอง โดยใช้ปุ๋ยสั่งตัดมาเสริมคุณภาพดินตามข้อมูลที่ได้รับ

แปลงทดลองแบ่งเป็น 3 ส่วน ส่วนแรกใช้ปุ๋ยแบบเดิม ส่วนที่สองใช้ปุ๋ยสั่งตัด ส่วนที่สามใช้ปุ๋ยสั่งตัดผสมกับปุ๋ยอินทรี

ขณะนี้ทดลองมาได้ 1 ปี ผลที่ออกมาแม้ยังไม่สมบูรณ์แต่ก็พอจะมองเห็นความเป็นไปได้

นั่นคือการใช้ปุ๋ยให้ตรงกับคุณสมบัติของดิน ทำให้ลดต้นทุนการผลิตลงได้ 15 เปอร์เซ็นต์

แต่สิ่งที่กำลังลุ้นคือ ผลจากการใช้ปุ๋ยแบบใด จะทำให้มีผลผลิตเพิ่มขึ้นมากที่สุด

นายกฯสัมฤทธิ์ตั้งเป้าหมายว่า เพิ่มสัก 20 เปอร์เซ็นต์ก็พอใจ

การทำงานของสภาพัฒนาเกษตรกรรมเพื่อประโยชน์ของจังหวัดสตูลเป็นไปอย่างแนบแน่น

เจ้าหน้าที่รัฐก็มีเป้าหมาย เกษตรกรก็มีเป้าหมาย อบจ.ก็มีเป้าหมาย

เป็นเป้าหมายเดียวกันตามยุทธศาสตร์ที่คุยกันไว้

สภาพัฒนาการเกษตรกรรมจึงพูดภาษาเดียวกัน

กลายเป็นว่าทั้งชาวบ้าน ข้าราชการ และนักการเมืองช่วยกันคิดช่วยกันทำ

ความสำเร็จที่เกิดจึงเป็นของทุกคน

ความก้าวหน้าที่มีก็เป็นของทุกคน

ทุกคนจึงมีความสุข เพราะได้ร่วมคิดได้ร่วมทำ และเสพความสำเร็จด้วยกัน

เหมือนกับอีกโครงการที่มี นั่นคือ การจัดงานซาลามัตฮารีรายา ซึ่งเป็นงานใหญ่ของจังหวัด

งานนี้เมื่อก่อน อบจ. เป็นผู้จัด มีประชาชนเป็นผู้ร่วม

แต่เมื่อปี 2558 อบจ.ยกให้ประชาชนไปจัดเองตามสมควร ปรากฏว่าชาวไทยมุสลิมพอใจเกือบร้อยเปอร์เซ็นต์

ด้านการศึกษาได้ยินมาว่า อบจ.ลงทุนเป็นสิบล้านบาทต่อปี เพื่อทำให้ชาวสตูลพูดภาษาอังกฤษได้

เรื่องนี้ก็ได้มาจากการพูดคุยกันของคนในจังหวัดสตูล

ทำแล้วปรากฏว่า คนสตูลมีพัฒนาการทางภาษา ไม่ใช่เฉพาะนักเรียนนักศึกษา แต่ชาวบ้านก็มีพัฒนาการด้วย

เสียดายที่โครงการนี้ใช้เงินมาก สตง.ไม่เห็นด้วย จึงต้องระงับไปก่อน

รอส่วนกลางไว้วางใจส่วนท้องถิ่นในการใช้งบประมาณเมื่อไหร่…โครงการสอนภาษาอังกฤษแก่คนสตูลจึงจะได้เริ่มใหม่

นอกจากนี้ สตูลยังมีโครงการดูแลคนพิการ ดูแลคนชรา โดยมีชาวบ้านเป็นตัวจักรสำคัญในการขับเคลื่อน

ฟังและดูความเป็นไปในสตูลแล้วมีความสนุก

เห็นรอยยิ้มบนใบหน้าของผู้คนแล้วก็มีความสุข

เป็นความสุขที่ได้ร่วมกำหนดชะตาของจังหวัด

ร่วมกันกำหนดชีวิตของชุมชน

รวมทั้งได้กำหนดชีวิตของตัวเอง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image