การเมืองเหลื่อมล้ำ กติกาไม่เป็นธรรม จะจบอย่างไร

ถ้าข้อเรียกร้อง หยุดคุกคามผู้เห็นต่าง แก้รัฐธรรมนูญ และยุบสภา ไม่ถูกกระแสชังชาติที่ถูกปลุกขึ้นมากลบไปเสียก่อน

คำถามมีว่า การตอบรับข้อเรียกร้องทั้งสามประการจะเกิดขึ้นลักษณะใด และการชุมนุมเรียกร้องของนักเรียน นิสิต นักศึกษา ประชาชนจะจบลงอย่างไร

คำตอบเบื้องต้นคงอยู่ที่กระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญซึ่งบัญญัติไว้ให้ญัตติขอแก้ไขเพิ่มเติมมาได้ 4 ช่องทาง คือ 1.คณะรัฐมนตรี 2.ส.ส.ไม่น้อยกว่าหนึ่งในห้า 100 คน จาก 500 คน 3 ส.ส.และ ส.ว.ไม่น้อยกว่าหนึ่งในห้า 150 คน จาก 750 คน 4. ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งไม่น้อยกว่า 50,000 คน ช่องทางไหนจะเกิดผลสำเร็จขึ้นก่อน ที่สำคัญ วันไหน เมื่อไหร่

ตราบใดที่ยังไม่มีคำตอบที่เป็นรูปธรรม จนมีหลักประกันว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญจะเกิดขึ้นแน่นอน การรวมตัวชุมนุมเรียกร้องคงเกิดขึ้นต่อไปและถูกยกระดับขึ้นเรื่อยๆ

Advertisement

ขณะที่ความพยายามปลุกกระแสอื่นๆ เพื่อเบี่ยงเบนประเด็นและบั่นทอนความชอบธรรมของกลุ่มผู้ชุมนุมเรียกร้อง เป็นเรื่องล่อแหลมโดยเฉพาะอย่างยิ่งการใช้แนวทางแก้สถานการณ์แบบเดิมๆ ด้วยการปลุกม็อบชนม็อบ ยิ่งยั่วยุให้เกิดความรุนแรงตามมา

สถานการณ์การเรียกร้องในยุคนี้ ไม่ใช่เพียงแค่การเผชิญหน้าระหว่างความเห็นต่าง แต่เป็นความขัดแย้งของช่วงวัย ของคนต่างวัย ต่างยุคสมัย

ระหว่างคนยุคเก่าที่ต้องการดำรงรักษาสถานภาพของตนไว้ กับคนยุคใหม่ที่ต้องการสร้างอนาคตของพวกเขาเอง ไม่ใช่คนรุ่นเก่าคอยชี้นำ กำกับควบคุม ขีดเส้นให้เดิน ด้วยอำนาจที่เหนือกว่าตลอดเวลา

ยิ่งสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ การดำรงชีวิตฝืดเคือง การครองชีพอัตคัดขัดสน ความเดือดร้อนจากการทำมาหากินยากลำบาก คนตกงาน นักศึกษาจบใหม่ไร้งานทำนับแสน ยิ่งกระหน่ำซ้ำเติมความอึดอัดขัดข้อง ทำให้คนรุ่นใหม่ไม่พอใจสภาพที่เป็นอยู่ ล้วนเป็นผลพวงจากโครงสร้างอำนาจทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคม ที่เหลื่อมล้ำ ไม่เป็นธรรม เป็นเงื่อนไขให้ผู้คนออกมาร่วมชุมนุมกับนักศึกษาประชาชนมากขึ้นๆ

การแก้ปัญหาด้วยการหาช่องทางบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด ตั้งข้อหา จับกุม คุมขัง เพื่อกำราบให้หวาดกลัว กลับกลายเป็นเชื้อเพลิงให้ความร้อนแรงปะทุต่อไป เพราะขณะที่นายกรัฐมนตรีย้ำแล้วย้ำอีกพร้อมรับฟังความเห็นที่แตกต่าง อนาคตเป็นของคนรุ่นใหม่และอนาคตก็อยู่ในมือของคนรุ่นใหม่ แต่อีกด้านหนึ่ง การตั้งข้อหา จับกุม คุมขัง ดำเนินคดีแกนนำกลุ่มผู้ชุมนุมยังเกิดขึ้นต่อไป ความย้อนแย้งนี้จะทำให้สถานการณ์คลี่คลายไปด้วยดีได้อย่างไร

ติ ดตามการชุมนุมเรียกร้องที่ขยายตัวเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ทำให้ย้อนนึกถึงเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 วันมหาวิปโยค คราวนั้น ไม่มีรัฐธรรมนูญฉบับถาวร เพราะใช้เวลาร่างยืดเยื้อยาวนานกว่า 12 ปีไม่เสร็จ

คราวนี้ 47 ปีผ่านมา สถานการณ์ปัจจุบัน มีรัฐธรรมนูญ แต่รัฐธรรมนูญบิดเบี้ยว ภายใต้ข้ออ้างว่าผ่านการลงประชามติจากผู้ลงคะแนนกว่า 15 ล้านคนก็ตาม แต่เมื่อบังคับใช้จริง เกิดปัญหาตามมามากมาย เพราะเนื้อหาทำให้เกิดความได้เปรียบ เสียเปรียบอย่างชัดเจน ภายในเวลาไม่ถึง 2 ปี ต้องตั้งกรรมาธิการขึ้นศึกษาปัญหาและแนวทางแก้ไข

ต้นเหตุจากบทบัญญัติเอื้อประโยชน์ให้กับอภิสิทธิ์ชนส่วนน้อย ไม่สอดคล้องกับยุคสมัยซึ่งความเปลี่ยนแปลงทุกด้านเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว

แนวทางแก้ด้วยการเปิดประชุมรัฐสภาอภิปรายทั่วไปเพื่อรับฟังความคิดเห็นและหาทางคลี่คลายสถานการณ์หากอดทนรับฟังกันด้วยเหตุด้วยผล ไม่เกิดการกระทบกระทั่งระหว่าง ส.ส.และ ส.ว.เสียก่อน หากต่างยอมสละอำนาจและผลประโยชน์ คืนประชาธิปไตยปกติให้ประชาชนอีกครั้งหนึ่ง โอกาสเกิดความรุนแรงจากการปะทะระหว่างสองฝ่ายอาจจะลดลง

แม้กระนั้นก็ตามไม่มีใครตอบได้ว่าจะใช้เวลาอีกนานเพียงไร การทำคลอด ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะสำเร็จ

ขณะเดียวกันหากเริ่มต้นด้วยการกำหนดจุดยืนในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่ชัดเจนของคณะรัฐมนตรี โดยเฉพาะประเด็นที่เกิดปัญหาโต้แย้งซึ่งเป็นต้นเหตุของการเรียกร้อง อาทิ ที่มา คุณสมบัติ อำนาจหน้าที่ของวุฒิสมาชิก จะเป็นทางออกแรก ทำให้สถานการณ์คลี่คลายไปในทางที่ดี

แม้ยังมีฝ่ายเห็นต่าง หรือไม่เห็นด้วยก็ตาม สุดท้ายแล้วก็ต้องมีการลงประชามติ ว่าประชาชนผู้มีสิทธิส่วนใหญ่ลงความเห็น เอาด้วยกับฝ่ายไหน

ประเด็นเฉพาะหน้าต่อสถานการณ์ที่กำลังดำเนินไปอย่างน่ากังวลจึงอยู่ที่ว่า คนยุคเก่ายอมรับความเปลี่ยนแปลงของยุคสมัย ยอมสละอำนาจและผลประโยชน์ของตนและพวกพ้อง หรือไม่

ถ้าความเหลื่อมล้ำ ไม่เป็นธรรมทางการเมือง ไม่ถูกขจัดปัดเป่าไปเสียก่อน ความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจ สังคม ก็ไม่มีทางเป็นไปได้ ยิ่งสะสมชนวนนำไปสู่ความรุนแรงมากขึ้น

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image