กราบครู… จอห์น โอเคล : ภาษาพม่า เสรีภาพ กับครูผู้ยิ่งใหญ่ : โดย ลลิตา หาญวงษ์

กราบครู... จอห์น โอเคล : ภาษาพม่า เสรีภาพ กับครูผู้ยิ่งใหญ่ : โดย ลลิตา หาญวงษ์

ผู้เขียนมีครูบาอาจารย์ที่รักและนับถือประหนึ่งบุคคลสำคัญในครอบครัวอยู่ 2 ท่าน ท่านหนึ่งคืออาจารย์ที่ปรึกษาเมื่อครั้งทำวิทยานิพนธ์ปริญญาโทและเอก และอาจารย์อาวุโสผู้สอนภาษาพม่า ณ School of Oriental and African Studies (SOAS) นามว่า จอห์น โอเคล (John Okell, 1934-2020) อาจารย์จอห์น หรือที่ผู้เขียนเรียกติดปากว่า “สะยาจี” (sayagyi) อันแปลว่าอาจารย์ใหญ่ ผู้อาวุโส แต่เหนือสิ่งอื่นใดอาจารย์จอห์นคือ “ครู” ที่ผู้เขียนให้ความเคารพรักสูงสุด หลังได้รับข่าวราววันที่ 5 สิงหาคมว่าสะยาจีได้จากพวกเราไปแล้ว ผู้เขียนรู้สึกตกใจเพราะเพิ่งได้รับข่าวว่าอาจารย์ล้มป่วยเพราะมีเนื้องอกในสมองเมื่อไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา ในวันที่ 3 สิงหาคม สะยาจีจากไปด้วยอาการสงบโดยมีภรรยา ลูกๆ และหลานๆ อยู่ข้างกาย

ในปี 2008 เมื่อผู้เขียนกลับไป “โซแอส” (School of Oriental and African Studies หรือ SOAS) เพื่อศึกษาต่อในระดับปริญญาเอก และลงเรียนภาษาพม่าระดับกลางกับปรมาจารย์ด้านภาษาพม่าและว้าอีกคนหนึ่งคือจัสติน วัตกินส์ (Justin Watkins) แต่เนื่องจากจัสตินกำลังจะลายาว จึงมอบหมายให้สะยาจี ซึ่งเกษียณจากโซแอสไปตั้งแต่ 1999 กลับมาสอนในคลาสภาษาพม่าเบื้องต้น และการอ่านภาษาพม่าที่ผู้เขียนลงทะเบียนไว้

สะยาจีในวัย 70 เศษยังแข็งแรงและตื่นเต้นทุกครั้งเมื่อได้สอนวิชาที่ตนรักและผูกพันมามากกว่า 60 ปี นอกจากผู้เขียนจะรู้จักมักคุ้นกับสะยาจีในฐานะลูกศิษย์คนหนึ่งแล้ว ยังมีความผูกพันทางใจกับสะยาจีและครอบครัวมากเป็นพิเศษ เพราะเคยไปอาศัยบ้านของสะยาจีและภรรยาอยู่ถึง 2 ปีเต็ม ที่บ้านในเขต High Barnet ของแคว้นฮาร์ทฟอร์ดเชียร์ (Hertfordshire) ที่ห่างจากลอนดอนไปทางเหนือราว 19 กิโลเมตร

ผู้เขียนอาศัยอยู่ในห้องที่เคยเป็นของลูซี่ บุตรสาวของสะยาจี ส่วนเพื่อนบ้านห้องข้างๆ คือนเว นเว (Nwe Nwe) นักศึกษาชาวพม่าอีกคนหนึ่งที่ได้บ้านหลังเล็กๆ บนถนน King Edward นี้เป็นที่พักมานานหลายปี

Advertisement

สะยาจีเป็นผู้ที่มีความรู้และความสนใจหลากหลาย เป็นบุคคลที่น่าทึ่งที่สุดคนหนึ่งที่ผู้เขียนเคยพอเจอมา แต่ในขณะเดียวกันก็เป็นคนที่อ่อนน้อมถ่อมตัวและมีชีวิตที่สมถะอย่างเหลือเชื่อ นอกจากจะเป็นนักภาษาศาสตร์และครูสอนภาษาพม่าที่เก่งกาจหาผู้ใดเทียบได้ยากแล้ว สะยาจียังใช้ความรู้ด้านคอมพิวเตอร์เท่าที่มีคิดค้นชุดแบบอักษร (font) ภาษาพม่าในยุคแรกๆ

ในต้นทศวรรษ 1990 เมื่อการใช้คอมพิวเตอร์ในพม่ายังไม่แพร่หลาย ในประเทศที่อยู่ภายใต้การปกครองระบอบเผด็จการมายาวนาน สะยาจีมีความสนใจด้านการใช้ฟอนต์ภาษาพม่ามาก และยังเคยเขียนคู่มือแนะนำการติดตั้งฟอนต์ภาษาพม่าบนคอมพิวเตอร์ แต่สำหรับสะยาจี โลกไอทีคือโลกของคอมพิวเตอร์แมคอินทอช ผู้เขียนจำได้ว่าเมื่อครั้งสะยาจีกลับมาสอนที่โซแอสใหม่ๆ และต้องเข้าไปนั่งในห้องพักอาจารย์ที่มีเพียงคอมพิวเตอร์พีซี

สะยาจีบอกกับผู้เขียนว่าเขารู้สึกอึดอัดไม่น้อยที่ต้องเรียนรู้อะไรใหม่ๆ เมื่ออายุเข้าเลข 7

Advertisement

สะยาจี จอห์น โอเคล ผลิตสื่อการเรียนการสอนภาษาพม่าออกมามากมาย เรียกได้ว่าผู้คนจากทั่วโลกรู้จักเขาจากหนังสือสอนภาษาพม่า 3 ชุด ได้แก่ Burmese: An Introduction to the Spoken Language, Burmese: An Introduction to the Script และผลงานที่ออกมาในปี 2009 คือ Burmese By Ear แบบเรียนสนทนาภาษาพม่า ซึ่งสะยาจียืนยันว่าผู้คนทั่วโลกจะต้องเข้าถึงสื่อการเรียนชุดนี้ได้ฟรี หากผู้อ่านสนใจเรียนภาษาพม่าเบื้องต้น กรุณาเข้าไปที่ www.soas.ac.uk/bbe นอกจากนี้ยังมีตำราประเภทพจนานุกรมเล่มสำคัญ A Reference Grammar of Colloquial Burmese ที่สะยาจี รวบรวมคู่กับอันนา อัลลอท (Anna Allott) “สะยามะจี” ผู้ยิ่งใหญ่ในวงการพม่าศึกษาอีกท่านหนึ่ง ที่ตีพิมพ์มาตั้งแต่ปี 1969 และปรับปรุงเรื่อยมาจนมาถึงฉบับปัจจุบันที่ตีพิมพ์ในปี 2001

ในชีวิตหลังเกษียณ สะยาจีไม่เคยหยุดทำงานที่ตนรัก และยังสอนหนังสืออย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ปี 2001 บรรดาชาวต่างชาติที่ทำงานในเอ็นจีโอ และสนใจภาษาพม่า รวมตัวกันเปิดคอร์สเรียนภาษาพม่าขึ้นที่เชียงใหม่ อันเป็นแหล่งรวมเอ็นจีโอที่ทำงานด้านพม่า สะยาจีเดินทางไปสอนภาษาพม่าที่เชียงใหม่เกือบทุกปี เพราะตระหนักว่าชาวต่างชาติที่ทำงานด้านพม่าไม่มีแหล่งเรียนภาษาพม่าที่เป็นระบบ เพราะมหาวิทยาลัยในพม่ายังไม่เปิดให้ชาวต่างชาติไปเรียนภาษาได้

สะยาจีกลายเป็นกัลยาณมิตรและเป็นครูของผู้ทำงานด้านสิทธิมนุษยชนในพม่ามายาวนาน เมื่อพม่าเริ่มเปิดประเทศในปี 2012 เอ็นจีโอที่ทำงานด้านพม่าเริ่มทยอยกลับไปเปิดสำนักงานของตนเองในย่างกุ้ง ก็มีเสียงเรียกร้องให้สะยาจีไปสอนภาษาพม่าที่ย่างกุ้ง แต่ด้วยความที่สะยาจีเป็นคนที่อ่อนน้อมถ่อมตนและขี้เกรงใจเป็นพิเศษ ทำให้เขาคิดอยู่นานว่าจะไปสอนภาษาพม่าที่พม่าได้จริงหรือไม่ และเห็นว่าเจ้าหน้าที่เอ็นจีโอเหล่านี้สมควรได้เรียนภาษาพม่ากับเจ้าของภาษามากกว่า

แต่เมื่อเสียงเรียกร้องเริ่มดังขึ้น สะยาจีจึงเริ่มเดินทางมาสอนภาษาพม่าที่ย่างกุ้งเป็นประจำอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ 2008

ผู้เขียนพบสะยาจีครั้งสุดท้ายที่ลอนดอนเมื่อต้นปี 2019 และนับเป็นครั้งแรกที่ผู้เขียนได้เดินทางกลับไปเยี่ยมเยือนถนน King Edward ย่าน High Barnet อีกครั้งนับตั้งแต่เรียนจบมา สะยาจีที่ผู้เขียนรู้จักไม่ต้องการให้ใครมาเรียนตนเองว่านักวิชาการ แต่ต้องการเป็นที่จดจำในฐานะ “ครู” และผู้สนใจภาษาพม่าอย่างจริงจัง

เมื่อครั้งที่อาศัยอยู่ที่ High Barnet สะยาจีพูดคุยกับผู้เขียนเป็นภาษาพม่า แม้นยามที่ผู้เขียนเหนื่อยล้าและไม่ต้องการคิดเป็นภาษาพม่าแล้ว สะยาจีก็มักให้กำลังใจและปล่อยมุขตลกเป็นภาษาพม่าให้ทั้งผู้เขียนและนเว นเว ขำกันไม่เคยขาด

เหตุการณ์หนึ่งที่ทำให้สะยาจีเป็นเสมือนคนในครอบครัวของผู้เขียน คือเมื่อครั้งที่เขาเดินทางมาสอนภาษาพม่าที่เชียงใหม่เมื่อ 12 ปีที่แล้ว ตอนที่กลุ่มพันธมิตรฯยึดสนามบิน จนทำให้สะยาจีไม่สามารถเดินทางกลับอังกฤษได้ ในระหว่างนั้น ผู้เขียนยังอยู่ที่อังกฤษ แต่ก็ขอให้แม่ของผู้เขียนเป็นธุระประสานสายการบินให้ และไปไบเทคบางนาเป็นเพื่อนสะยาจีเพื่อเช็กอิน และไปส่งสะยาจีขึ้นเครื่องที่สนามบินอู่ตะเภา

สะยาจีพูดถึงความ “ประทับใจ” ในเหตุการณ์ปิดสนามบินครั้งนั้นให้ผู้เขียนฟังทุกครั้งที่พบกัน

ผู้เขียนถือว่าตัวเองโชคดีที่มีโอกาสได้พบและเป็นลูกศิษย์ของอาจารย์ผู้มีคุณูปการสำคัญต่อการเรียนการสอนภาษาพม่าระดับโลกผู้นี้ และเป็นเกียรติของชีวิตที่ได้รู้จักสะยาจีในฐานะเพื่อน และในฐานะผู้มีอุปการคุณ ขอให้ดวงวิญญาณของสะยาจี จอห์น โอเคล ไปสู่สุคติ จนกว่าจะพบกันใหม่

Khinminlyet

ลลิตา หาญวงษ์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image