เอาใจออกจากจอ โดย ทีปกร วุฒิพิทยามงคล

หากผมบอกคุณว่าคุณไม่ใช่ตัวคุณ – คุณคงคิดว่าผมบ้า ตัวคุณก็เป็นตัวคุณสิ จะไม่ใช่ตัวคุณได้อย่างไร แต่รู้ไหมครับว่าการถอด “คุณ” ออกจาก “ตัวคุณ” อาจทำให้คุณใช้ชีวิตง่ายขึ้น ทั้งในโลกออนไลน์และออฟไลน์

คุณเคยพบเจอกับเรื่องดราม่าบนโลกออนไลน์ไหม มันอาจเริ่มจากความขัดแย้งเพียงเล็กน้อย คุณเห็นข้อความบนเพจหนึ่ง บนกระทู้หนึ่งไม่ถูกใจ คุณจึงรี่เข้าไปตอบทันควัน อีกฝ่ายไม่ยอม พิมพ์ตอบสาดเสียเทเสียมาจนคุณคุกรุ่น ยิ่งเห็นฝ่ายตรงข้ามมีผู้สนับสนุนมากขึ้นๆ โจมตี “ตัวคุณ” บนนั้นมากขึ้น คุณก็ยิ่งเจ็บปวดรวดร้าวราวกับถูกน้ำร้อนราดเสียเอง ทั้งๆ ที่มันไม่ใช่ตัวคุณเลย

บทความในเดอะการ์เดี้ยนไม่นานนี้ พูดถึงเรื่องนี้แหละครับ เขาเล่าถึงนักข่าวชาวอเมริกันคนหนึ่ง คือ เวอร์จีเนีย เฮฟเฟอร์แมน ซึ่งเป็นนักข่าวธรรมดาๆ คนหนึ่ง แต่สิ่งที่ไม่ธรรมดาก็คือ เมื่อสามปีก่อน เธอไปเขียนบทความไว้ในเว็บยาฮู! หัวข้อว่า “ทำไมฉันเชื่อในการสร้างของพระผู้เป็นเจ้า” (Why I’m a Creationist) ซึ่งเรื่องนี้เป็นเรื่องที่จุดประเด็นดราม่าในสังคมอเมริกันได้พอๆ กับเรื่องซื้อบุญตัดบาปในเมืองไทยนั่นแหละครับ ฝ่ายผู้ไม่ศรัทธาในศาสนาก็โห่ฮาเธอกันใหญ่ บอกว่าเธองมงาย ทวิตเตอร์ชื่อ @page88 ของเฮฟเฟอร์แมนระอุเป็นไฟ เธอทั้งโกรธทั้งนอยด์ แต่จู่ๆ เธอก็ตัดสินใจได้ว่า

“ฉันจะมีความสุข, ในร่างกายที่เป็นของฉันนี้ฉันจะมีความสุข” แล้วเธอก็ปล่อยให้แอคเคาต์ @page88 เป็นตัวรับแรงกระทบไป โดยแยกมันจากตัวเธอ (ที่เป็นเธอ) เอง

Advertisement

เมื่อเราพูดแบบนี้ก็ดูราวกับว่าเป็นเรื่องง่ายนะครับ ตัวตนออนไลน์กับตัวตนของเราย่อมไม่เหมือนกันอยู่แล้ว (ถ้าจะพูดให้ชัด ตัวตนภายนอกที่คนอื่นมองเห็นเรา กับตัวตนของเราเองยังไม่เหมือนกันเลย ว่าไหม) แต่ในพายุแห่งอารมณ์ ก็เป็นเรื่องยากที่เราจะรำลึกถึงความจริงข้อนี้ เมื่อมีคนอื่น “ด่า” โปรไฟล์เฟซบุ๊กของเรา (ซึ่งเป็น “การแสดง” ที่เราเล่นให้คนอื่นดูทั้งสิ้น ถึงเราจะไม่รู้ตัวหรือรู้ตัวก็ตาม) ก็ราวกับว่าคนคนนั้นได้ด่าเราด้วย คำด่าเสียดแทงลอดผ่านโปรไฟล์เฟซบุ๊กเข้ามาถึงใจเราจนเราปวดร้าว ทั้งที่ถ้าเราระลึกได้ว่า นั่นไม่ใช่เรา นั่นเป็นเพียงภาพแทนของเรา เราก็จะไม่เจ็บปวดใดๆ เลย

คุณอาจคิดว่านี่คือการ “ลอยตัวเหนือสถานการณ์” ซึ่งมันก็ใช่แหละครับ-มันเป็นการถอดใจออกไปจากความขัดแย้ง แต่ไม่ได้แปลว่าเป็นการหนีจากปัญหา กลับกัน มันอาจทำให้คุณประเมินสถานการณ์ตรงหน้าแล้วเลือกหาวิธีตอบรับที่ดีที่สุดได้

จริงๆ ในสังคมทั่วไปที่พบหน้ากันตรงๆ เราก็อาจคิดในลักษณะเดียวกันได้ แต่บนโลกออนไลน์ การ “เป็นอื่น” กับการ “เป็นเรา” นั้นถูกแสดงให้เห็นชัดขึ้น ผ่านสิ่งที่เรียกว่าความเป็นอื่นบนโลกออนไลน์

ความเป็นอื่นบนโลกออนไลน์ เป็นทฤษฎีของจอห์น ซูเลอร์ ที่เสนอว่า บนโลกออนไลน์ เรามักจะมีตัวตนที่อาจแยกขาดจากตัวตนบนโลกจริงได้ด้วยปัจจัยส่งเสริมต่างๆ เช่น การที่ตัวตนเป็นความลับ เป็นนิรนาม การสื่อสารที่เวลาคลาดเคลื่อนกัน ไม่เป็นเวลาจริง การคิดไปเองถึงน้ำเสียงหรืออารมณ์ของคนอื่น หรือการแสดงบทบาทสมมุติ

ปัจจัยทั้งหมดนี้ส่งให้เกิดการแยกขาดจากตัวตนจริง จนซูเลอร์สังเกตว่าบนโลกออนไลน์คนเรามักจะเปิดเผยมากขึ้น มีเรื่องมีราวกันถี่ขึ้นหรือรุนแรงขึ้น แตกต่างจากตัวตนจริงๆ

ไม่นานมานี้รุ่นพี่นักเขียนคนหนึ่งตั้งข้อสังเกตว่า “พวกที่มีเรื่องในเน็ตกับพี่นะ พอมาเจอตัวก็พูดจาดีหมด เรียบร้อยหมด ไม่เห็นจะมีใครมีเรื่องมีราวกันมากมายเลย” ผมคิดว่านี่เป็นตัวอย่างหนึ่งของผลที่เกิดจาก “ความเป็นอื่นบนโลกออนไลน์” ได้ดี บนโลกออนไลน์เราสามารถเป็นอีกคนได้ (ไม่ว่าจะเป็นตัวเองมากขึ้นหรือน้อยลง) ด้วยมารยาทต่างๆ ที่ไม่ “เข้มงวด” “เห็นหน้ากัน” และด้วยความรับผิดชอบที่ต่ำกว่าโลกจริง ทำให้เรามีโอกาสในการสำรวจส่วนที่ตัวเองไม่รู้ว่ามีอยู่ ซึ่งนั่นไม่ได้แปลว่าส่วนที่คุณสำรวจขึ้นใหม่จะเป็นคำตอบว่านั่นคือตัวตนจริงๆ ของคุณ คุณอาจเป็นคุณ หรือคุณอาจเป็นใครก็ได้ ทั้งหมดนั้นอาจเป็นคุณ แต่เป็นคุณในด้านที่คุณเลือก “หันออก” หรือ “หันเข้า” ตามแต่ใจ

โดยส่วนตัวผมพบว่าหลายต่อหลายครั้ง ภาษาบนโลกออนไลน์ทำให้เราเข้าใจ “เฟรนด์” ผิดไป เราอาจอ่านคำติเตียนของใครคนหนึ่งบนโลกออนไลน์ที่ไม่ได้มีเป้าหมายที่เรา โดยคิดว่าเขาด่าเราอยู่ ทำให้เรากักเก็บความไม่พอใจไว้แล้วไประเบิดในสเตตัสอีกหย่อม ซึ่งเรื่องเหล่านี้อาจไม่เกิดขึ้นหากเราได้เจอหน้ากันและคุยกันจริงๆ

แน่นอนว่าการเปิดออกของบุคลิกภาพบนโลกออนไลน์หลายครั้งก็เป็นเรื่องดี เราได้สำรวจความคิดเห็นใหม่ๆ หรือได้พูดอย่างที่ใจคิดโดยไม่ต้องกังวลกับเรื่องมารยาทมากนัก แต่หลายครั้งมันก็เป็นเพียงการแสดงเพื่อให้คนอื่นเห็นคุณอย่างที่คุณอยากให้เห็น และเมื่อนั้น เราก็อาจต้องถามตัวเองว่าอะไรกันแน่ที่เป็นเรา (หรือกระทั่งไม่มีตัวเราเลย?)

และเมื่อไรก็ตาม หากเกิดสงครามบนโลกออนไลน์ ลุกลามจนเป็นสงครามที่กระทบต่อสภาพจิตชีวิตจริง ก็ยังมีทางเลือกหนึ่งอยู่เสมอ นั่นคือลองถอยหลังกลับมาก้าวหนึ่ง ประเมินสถานการณ์ด้วยตัวเราที่เป็นเรา ไม่ได้เป็นโปรไฟล์เฟซบุ๊ก หรือแอคเคาต์ทวิตเตอร์ และระมัดระวังก่อนจะพิมพ์อะไรลงไป เพราะอย่างที่ทราบแหละครับ, คำพูดออนไลน์ไม่เคยลอยหายไปตามสายลม

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image